เปิดเบื้องหลังปลดฟ้าผ่า‘2บิ๊กศธ.’เข้ากรุ คาดถูกจับตา‘ไม่สนองนโยบาย-เด็กพท.’

28 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4486 ครั้ง

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ฉบับที่ 79/2557 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ที่ประกาศออกมาเมื่อคืนวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

มีข้าราชการระดับ 11 ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งปลัดกระทรวง จากรั้วเสมาวังจันทร์เกษม ถูกหวยโดนเด้งเข้ากรุไปนั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี” 2 ราย คือ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

โดยคำสั่งฉบับเดียวกัน สั่งให้น.พ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการกกอ. และ นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ.พ้นจากตำแหน่งเดิม และให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กกอ. และเลขาธิการ กพฐ.ตามลำดับแทน โดยให้มีผลตั้งแต่คำสั่งประกาศใช้

ก่อนระบุพ่วงท้ายว่า เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

จึงหมายความว่า นับตั้งแต่วินาทีที่คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คสช.ได้ยกสถานะของน.พ.กำจร และนายกมล จากผู้บริหาร ระดับ 10 ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับ 11 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดของข้าราชการ เพราะประจักษ์ชัดแจ้งว่า น.พ.กำจร และนายกมล เป็นบุคคลที่คสช.มั่นใจว่า สามารถสนองนโยบายที่มอบหมายให้ได้เป็นอย่างดี

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

และประจักษ์ชัดเจนอีกเช่นกันว่า ซี 11 ที่ถูกสั่งให้ไปนั่งที่สำนักนายกฯ นั้น ไม่เป็นที่โปรดปรานหรือทำงานไม่สนองนโยบาย คสช.ด้วยเช่นกัน

สำหรับ 2 ที่ปรึกษาสำนักนายกฯ หมาดๆ แบบไม่ทันตั้งตัวนี้ กล่าวได้ว่ามีชะตาชีวิตที่ละม้ายคล้ายกันอยู่มาก เพราะก่อนจะมานั่งเก้าอี้เลขาธิการกกอ. ที่เพิ่งหลุดกลางอากาศไปนั้น นายทศพร เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ขณะที่นายอภิชาติ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กกอ.

กระทั่งในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมครม.ได้พิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายผู้บริหารระดับ 11 แทนผู้เกษียณอายุราชการ จึงมีมติโยกนายทศพรข้ามห้วยมาคุมสำนักงานคณะกรรมการกรอุดมศึกษา (สกอ.) แล้วย้ายนายอภิชาติกลับไปดูสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  แทนนายชินภัทร ภูมิรัตน ที่เกษียณฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา

ซีกนายทศพรนั้นถือเป็นสายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ สมัยนั้น ซึ่งกำกับดูแลก.พ.ร. จึงเล็งเห็นว่าเป็นบุคคลที่คลุกคลีกับแวดวงอุดมศึกษามาพอตัว เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคลและงานราชการ เหมาะสมกับงานของ สกอ. โดยเฉพาะการเป็นกาวใจเชื่อม สกอ.กับกลุ่มมหาวิทยาลัย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาทางความคิดได้เป็นอย่างดี

ฟากนายอภิชาติได้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ขณะนั้น ส่งเข้าประกวดเพราะมีความรู้ความสามารถในงานบุคคลและงานกฎหมาย และเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก่อน นายจาตุรนต์จึงเสนอให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มบารมีให้กับนายอภิชาติ เนื่องจากตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปโครงสร้างใหม่ โดยแบ่งสายงานออกเป็น 5 แท่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถือเป็นแท่งที่มีบทบาทต่อการศึกษาไทยสูงที่สุด จึงได้รับจัดสรรงบประมาณในเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดตามไปด้วย

มาวันนี้ชะตาชีวิตที่ละม้ายคล้ายกันของ 2 ผู้บริหารระดับ 11 ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.และเลขาธิการ กพฐ.วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ท้ายสุดแล้วยังต้องมาพ้นสภาพพร้อมกันในวันที่ 27 มิถุนายน 2557 แถมยังถูกแขวนไว้ในสถานที่ที่ไม่มีใครอยากไปอยู่ด้วยกันอีก

น.พ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการกกอ.

วกกลับมาถึงมูลเหตุที่น่าจะทำให้ผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 คนนี้ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง พิจารณาจากมุมไหนก็ได้ข้อสรุปเพียง 2 ประเด็นคือ เป็นคนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และไม่สนองนโยบายของ คสช. ซึ่งน้ำหนักเอียงไปทางประเด็นหลังมากกว่า โดยเฉพาะนายอภิชาตินั้น แทบจะไม่เคยเข้าประชุมกับฝ่ายสังคมจิตวิทยาเลย โดยการประชุมเกือบทุกครั้งจะมอบหมายให้ เลขาธิการกพฐ.ป้ายแดง อย่างนายกมล เข้าชี้แจงการดำเนินงานของสพฐ. งานตามนโยบายของรัฐบาลเก่า รวมถึงรายงานความคืบหน้าในมาตรการต่างๆ ที่ สพฐ.ได้ดำเนินการตามนโยบายที่ คสช.มอบหมายการบ้านไว้

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการกพฐ.

จึงไม่แปลกที่นายอภิชาติจะถูกเพ่งเล็ง ขณะที่นายกมลโกยคะแนนเป็นพะเรอเกวียน เพราะสถานการณ์บังคับให้นายกมลต้องออกโรงแสดงผลงาน วิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแท็บเล็ต หรือนโยบาย คสช.เรื่องการเพิ่มความสำคัญ ตลอดจนจุดเน้นในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของชาติไทย ไปจนถึงสิทธิ์ที่พึ่งมี และการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น

แต่นายอภิชาติกลับไม่แสดงตน แต่หากมองอย่างเป็นธรรมแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด เพราะการบริหารราชการของ สพฐ.เน้นการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การกุมอำนาจไว้ในมือเลขาธิการเพียงผู้เดียว แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้นายอภิชาติปฏิบัติตัวเช่นนี้ ก็น่าจะมาจากการที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอาวุโสงานและอาวุโสในตำแหน่งผู้บริหารระดับ 11 น้อยกว่านายอภิชาติ เพราะเพิ่งเลื่อนขั้นจากผู้บริหารระดับ 10 ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับ 11 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 (ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 มีมติเลื่อนขั้นจากรองเลขาธิการสภาการศึกษา ขึ้นดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับการแต่งตั้งนายทศพรและนายอภิชาติ)

ดังนั้นเมื่อ คสช.มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่ รมว.ศึกษาธิการ นายอภิชาติจึงมอบหมายให้นายกมลทำหน้าที่ประสานงานกับนางสุทธศรี รวมถึงดำเนินภารกิจตามนโยบาย คสช.แทน

แต่นานวันเข้ากลายเป็นว่า นายกมลเริ่มมีบทบาทที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่ชื่อของนายอภิชาติค่อย ๆ เงียบหายไป ที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในนโยบายต่างๆ ที่ คสช.มอบหมายไว้ ก็ค่อนไปทางล่าช้าไม่อัพเดตเหมือนข้อมูลของนายกมล เช่น นายกมลให้สัมภาษณ์ว่า สพฐ.มีมติปรับปรุงหลักสูตรและเพิ่มจุดเน้นในวิชาประวัติศาสตร์ อาทิ ความเป็นมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย พร้อมกันนี้ยังมีมติให้ยกระดับหน้าที่พลเมืองขึ้นเป็นวิชา มีหน่วยกิตและการวัดประเมินผล แต่นายอภิชาติกลับให้ข้อมูลตรงกันข้ามว่าไม่มีมติแยกหน้าที่พลเมืองออกมา เป็นวิชา เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ฟางเส้นสุดท้ายระหว่าง คสช.กับนายอภิชาติขาดลง เพราะสถานการณ์ที่ออกมาดูเหมือนว่า นายอภิชาติไม่ได้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับ นโยบายของคสช.เท่าที่ควรจะเป็น ส่วนนายกมลเมื่อได้รับโอกาสแล้ว ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะนำพาการศึกษาขั้นพื้นฐานไปในกรอบทิศทางที่คสช.วางไว้ได้หรือไม่

ส่วนน.พ.กำจร ด้วยความรู้ความสามารถ รวมถึงคุณวุฒิวัยวุฒิแล้ว ถือว่ามีความเหมาะสมกับเก้าอี้ตัวใหม่อยู่มิใช่น้อย ด้วยเป็นผู้ที่คน สกอ.ให้การยอมรับ ขนาดที่เมื่อรู้ว่ามติครม.ให้คนนอกอย่างนายทศพรมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.ก็บ่นอุบเสียดายและเห็นใจกันอยู่เนือง ๆ

ขณะที่นายทศพรเอง ขณะที่ดำรงตำแหน่งก็ไม่สามารถเป็นกาวใจได้ดังหวัง ที่เด่นชัดคือพิษพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ที่ชาวมหาวิทยาลัยรวมพลังต่อต้าน จนนายพงศ์เทพ นายจาตุรนต์ ต้องสั่งให้นายทศพรเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาทำความเข้าใจ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เลย บ้างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับเทียบเชิญ บ้างส่งรองอธิการฯ มานั่งทะเลาะแทน

อย่างไรก็ดี แม้คนสกอ.จะยอมรับในตัวน.พ.กำจร แต่ใช่ว่าสิ่งที่คุณหมอซี 11 ต้องเจอต่อจากนี้ จะเรียบง่ายเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากบรรดาสมาชิกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะมีความพยายามเสนอให้ยุบ สกอ.แล้วจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย ขึ้นมาแทน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระ (จากนักการเมือง) สามารถยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น เนื่องจากตั้งแต่มหาวิทยาลัยมาอยู่ในกำกับของ สกอ. คุณภาพของมหาวิทยาลัยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องแล้ว

ยังมีอภิมหาโปรเจคอย่าง “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” ที่สกอ.และทปอ.พยายามทั้งผลักทั้งดันมาโดยตลอด แต่ติดปัญหาตรงที่อภิมหาโปรเจคที่ว่านี้ ใช้งบประมาณสูงถึง 140,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท) จึงถูกเมินหน้าหนีทุกครั้งที่เสนอ ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'บิ๊กเข้' พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย  รองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา

2 ประเด็นที่ยกมากล่าวอ้างนี้ จึงเป็นเสมือนชนักติดหลังสำหรับเลขาธิการ กกอ.คนนี้ ไหนจะปัญหาการแสดงพลังต่อต้าน คสช.เชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักศึกษา ที่วันดีคืนดีก็ปรากฏว่าไปนั่งกินแซนวิช อ่านหนังสือ 1984 ตามสถานที่ต่างๆ อยู่เนื่องๆ ถึงจะเป็นปัญหาที่เกินการควบคุมของ สกอ.แต่ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลขาธิการ กกอ.คนเก่ากระเด็นตกจากเก้าอี้ก็เป็นได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: