รณรงค์เลิกกิน-ซื้อ-ขาย หวั่น‘ปลานกแก้ว’สูญพันธุ์

28 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2960 ครั้ง

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บล็อกส่วนตัว ในเฟซบุ๊กชื่อ “Sunshine Sketcher”

https://www.facebook.com/sunshine.sketcher ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปกป้องทรัพยากรทางทะเล ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระบุประเด็นในหน้าว่า “อยากรู้ว่า Supermarket ที่ไหนจำหน่ายปลานกแก้วบ้างครับ” ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นรณรงค์ให้ประชาชนเลิกกินปลานกแก้ว ซึ่งเปนปลาทะเลหายาก ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในฟาร์มเลี้ยง และกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลไทย มีเนื้อหาระบุว่า

จากกระแสการตอบรับของผู้อ่านที่ไม่อยากให้ปลานกแก้วถูกจับมาบริโภค กลุ่มอนุรักษ์กำลังเตรียมทำการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ห้างร้านขนาดใหญ่ ยุติการจำหน่ายปลานกแก้ว เพื่อไม่เป็นการสร้างความต้องการของตลาด จนส่งผลกระทบต่อประชากรปลานกแก้ว และระบบนิเวศปะการัง เพราะปลานกแก้วไม่ใช่ปลาที่เป็นที่นิยมมาบริโภคอยู่แล้ว จึงไม่ควรนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ปลานกแก้วยังไม่ใช่ปลาที่เพาะพันธุ์ได้ แต่ยังต้องจับทั้งปลาตัวเต็มวัยและตัวอ่อนมาจากธรรมชาติ ซึ่งแหล่งอาศัยของปลานกแก้วก็คือแนวปะการัง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองปลานกแก้ว แต่ความจริงปลานกแก้วอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็เป็นพื้นที่คุ้มครองจากการประมง การจับปลานกแก้วจากเขตพื้นที่คุ้มครองจึงผิดกฎหมาย

เราเชื่อว่าคนไทยไม่อยากให้ปลานกแก้วหมดไปจากทะเลไทยเหมือนฉลาม โดยเฉพาะในช่วงยามที่พวกเขากำลังช่วยทำหน้าที่ฟื้นฟูแนวปะการังที่บอกช้ำจากปรากฎการณ์ฟอกขาวอย่างขมักเขม้น

เพื่อเป็นการเตรียมการรณรงค์ อยากขอข้อมูลจากทุกคนว่า มีห้างร้านไหนบ้างครับที่มีการนำปลานกแก้วมาจำหน่ายเป็นประจำ ถ่ายรูปส่งมาด้วยยิ่งดีครับจะได้เป็นข้อมูล ทุกคนมีส่วนช่วยปลานกแก้วได้ครับ

อ่านคำขอร้องของปลานกแก้วได้ที่ http://on.fb.me/1qI04Dp

และทำไมต้องอนุรักษ์ปลานกแก้ว http://on.fb.me/1jrcXu8

ทำไมเราต้องอนุรักษ์ปลานกแก้ว (และปลาอื่นๆในเขตอนุรักษ์)

งานวิจัยระยะยาวโดยดร.ปีเตอร์ มัมบี้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และคณะที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letter (2013) พบว่าแนวปะการังในเขตที่ไม่มีการจับปลา (No-take areas) โดยเฉพาะแนวที่ยังมีประชากรปลานกแก้วอุดมสมบูรณ์สามารถฟื้นตัวจากปรากฎการณ์ฟอกขาวได้เร็วกว่าแนวปะการังอื่นนอกเขตอนุรักษ์ถึง 6 เท่า

งานวิจัยชื้นนี้ใช้ข้อมูลสถานภาพแนวปะการังและประชากรปลาในเขตอนุรักษ์และนอกเขตอนุรักษ์ ที่ประเทศเบลิซ ในอเมริกากลาง แล้วนำมาทำโมเดลพยากรณ์การฟื้นตัวของปะการังในระยะยาว

ผลปรากฎว่าแนวปะการังนอกเขตอนุรักษ์ที่มีกิจกรรมประมงมีโอกาสฟื้นตัวภายในปี 2030 เพียง 12% เท่านั้น ในขณะที่ภายในเขตอนุรักษ์ที่ยังมีประชากรปลานกแก้วมีโอกาสฟื้นตัวสูงถึง 79% หรือสูงกว่า 6 เท่า ในกรณีที่ปะการังไม่ฟื้นตัวนานๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่แนวปะการังบริเวณนั้นจะเสื่อมโทรมและอาจเปลี่ยนผ่านกลายเป็นระบบนิเวศที่มีสาหร่ายขึ้นคลุมแทนที่

ปลานกแก้วเป็นกลุ่มปลากินพืชที่หากินโดยการครูดกินตามพื้นผิว (grazer) โดยเฉพาะสาหร่ายที่มักจะขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายลงเนื่องจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวหรือภัยคุกคามอื่นๆ ปลานกแก้วทำหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้พื้นผิวบริเวณแนวปะการังเปลี่ยนสภาพและถูกขึ้นคลุมด้วยสาหร่าย ตัวอ่อนปะการังจึงสามารถลงเกาะและเติบโตขึ้นใหม่ได้ แนวปะการังที่มีปลานกแก้วชุกชุมจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าและเร็วกว่าแนวปะการังที่ปล่อยให้มีประมงเกิดขึ้น

เขตอนุรักษ์ที่มีการควบคุมกิจกรรมประมงอย่างจริงจัง จึงเป็นความหวังสำคัญในการฟื้นฟูปะการังตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาวะที่ระบบนิเวศที่เปราะบางประเภทนี้ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนและปรากฎการณ์ฟอกขาวกลายเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าในอดีตอย่างมาก

ปลานกแก้วนอกจากจะเป็นสีสันของแนวปะการังแล้วยังเป็นกลุ่มปลาที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของแนวปะการัง เราช่วยฟื้นฟูปะการังแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้ง่ายๆด้วยการไม่จับและไม่บริโภคปลานกแก้ว

น่าเสียดายที่ปัจจุบันปลานกแก้ว เริ่มกลายเป็นปลาที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคมากขึ้น ซึ่งส่วนมากถูกจับมาจากแนวปะการังนั่นเอง แม้แต่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือตามแนวปะการังส่วนใหญ่ซึ่งมีกฎหมายให้ความคุ้มครองจากกิจกรรมประมงก็ยังคงมีการลักลอบจับปลาอยู่เป็นประจำ

หากปลานกแก้วยังคงถูกจับมาขายมากมายเช่นนี้ น่าเป็นห่วงเหลือเกินว่าระบบนิเวศปะการังอาจสูญเสียสมดุลและขาดผู้ช่วยสำคัญในการฟื้นฟูปะการัง และเมื่อถึงเวลานั้นแม้จะมีเงินทุน งบประมาณมากมายขนาดไหน มนุษย์ก็อาจจะพบว่าเราไม่สามารถสร้างแนวปะการังตามธรรมชาติขึ้นเองได้

อ้างอิงจากงานวิจัย: P. J. Mumby et al. 2013. "Operationalizing the resilience of coral reefs in an era of climate change." Conservation Letters. doi: 10.1111/conl.12047

นอกจากนี้ในเพจดังกล่าวยังระบุถึง “อิทธิพลของปลากินพืช” ไว้เป็นความรู้ด้วยว่า เราเข้าใจกันมานานแล้วว่า ปลากินพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับแนวปะการัง แต่คงจะไม่มีผลการศึกษาครั้งไหนที่ชัดเจนเท่ากับการทดลองของคณะนักนิเวศวิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊ก ประเทศออสเตรเลีย นำโดย Terry Hughes และ David Bellwood โดยใช้แนวปะการังแห่ง Great Barrier Reef เป็นห้องทดลอง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปะการังแข็งทั่วโลกเสียหายและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก สองนักวิทยาศาสตร์และคณะจึงตัดสินใจใช้โอกาสนั้นทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์บทบาทของปลากินพืชต่อการฟื้นตัวของปะการัง โดยทำการสร้างกรงขนาด 5x5 เมตรจำนวน 12 กรงครอบแนวปะการัง (ภาพ A) โดยแบ่งการทดลองออกเป็นสามแบบคือ กรงที่มีตาข่ายขึงโดยรอบ กรงที่มีตาข่ายคลุมแค่ครึ่งเดียว และกรงแบบเปิด จริง ๆ ก็คือเป็นการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระหว่าง ระบบนิเวศแบบที่มีปลาขนาดกลางและขนาดใหญ่กับแบบที่ไม่มี

การทดลองดังกล่าวใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งโดยนักวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดทุกอย่างโดยเฉพาะอัตราการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ชนิดปลา และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทั้งหมด มีการติดตั้งกล้องวีดีโอเพื่อบันทึกชนิดและการเปลี่ยนแปลงปริมาณด้วย

30 เดือนผ่านไปผลปรากฎว่าพื้นที่ภายในกรงที่ไม่มีปลากินพืชขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เล็ดลอดเข้าไปได้เลยกลายสภาพเป็นระบบนิเวศที่มีสาหร่ายขึ้นคลุมไปทั่ว โดยมีสาหร่ายยักษ์ Sargassum ที่สูงถึง 3 เมตรขึ้นคลุมจนแทบไม่เหลือสภาพแนวปะการังอยู่เลย (ภาพ B กลางขวา) บางกรงมีสาหร่ายขึ้นคลุมถึงร้อยละ90 ในขณะที่กรงที่ปิดบางส่วนและกรงที่เปิดซึ่งยังมีปลากินพืชเข้ามาหากินตามปกติมีสาหร่ายปกคลุมเพียง 7-10 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ในขณะเดียวกันจำนวนตัวอ่อนปะการัง (ภาพ D ล่างขวา) ในกรงเปิดและปิดบางส่วนมีจำนวนสูงถึง 100-120 ตัวต่อกรงและมีปะการังปกคลุมเพิ่มขึ้นถึง 70-80 เปอร์เซนต์ เทียบกับกรงที่ไม่มีปลากินพืชซึ่งมีตัวอ่อนปะการังลงเกาะน้อยกว่าถึงสองในสาม (ไม่ถึง40 ตัว) นอกจากนี้ปะการังที่เหลือรอดจากปรากฎการณ์ฟอกขาวในกรงปิดยังทะยอยล้มตายลงไปเรื่อยๆในในขณะที่สาหร่ายงอกงามเบ่งบาน

จากระบบนิเวศที่หลากหลาย มีโครงสร้างที่ซับซ้อนของแนวปะการังและปลานานาชนิด กลายเป็นระบบนิเวศที่เหลือเพียงสาหร่ายใบเมือกกับปลาตัวเล็กปลาน้อย การเปลี่ยนสภาพจากระบบนิเวศหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่งอย่างสมบูรณ์เช่นนี้นักนิเวศวิทยาเรียกกันว่า Phase shift ซึ่งพบเห็นในธรรมชาติเมื่อสภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นจากมลภาวะ การจับปลาเกินขนาด หรือการรบกวนรูปแบบอื่นๆ

การทดลองดังกล่าวจำลองสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบนิเวศปะการังหลายๆแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียและคาริเบียน เมื่อปลากินพืชขนาดกลางและขนาดใหญ่ถูกจับออกจากระบบไปจนหมด สมดุลทางระบบนิเวศก็ปั่นป่วนและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

โชคดีที่การทดลองนี้จบลงแบบ Happy Ending เพราะหลังจากเปิดกรงให้ปลากินพืชขนาดกลางและขนาดใหญ่กลับคืนสู่ระบบ พวกมันก็ทำหน้าที่กัดกินสาหร่ายอย่างไม่ลดละ ภายในเวลาแค่สองอาทิตย์ สาหร่ายปกคลุมก็ลดปริมาณลงไปกว่า 2 ใน 3 และหมดไปอย่างสิ้นเชิงภายในเดือนเดียว แล้วดงสาหร่ายก็กลับกลายสภาพมาเป็นระบบนิเวศปะการังอีกครั้ง

ท่ามกลางสภาวะโลกร้อนและปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยปะการังคือการปล่อยให้ปลากินพืชเช่นปลานกแก้วได้ทำหน้าที่ช่วยฟื้นฟูปะการังของเขาต่อไป... เพราะไม่มีใครรักแนวปะการังเท่าปลานกแก้วอีกแล้ว

อ้างอิง Hughes, T.P. et al. 2007 Phase shift, herbivory, and the resilience of coral reefs to climate change. Current Biology 17: 1-6.

อ่านงานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982207008822

อย่างไรก็ตามมีผู้แสดงความเห็นในเพจดังกล่าวด้วยว่า

            “ผมอาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งริมทะเล คนบ้านผมทำอาชีพประมงขนาดเล็ก ประมงชายฝั่ง ชาวประมงบ้านผม ไม่เคยมีเจตนาจับปลานกแก้วโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยกินกัน เพราะมีเนื้อปลาอื่นที่อร่อยกว่าอีกเป็นร้อยพันชนิด เราไม่ใช่ชั่วร้ายทั้งหมดครับ แต่เมื่อมันตายติดอวนมา และมันขายได้ เราก็ต้องขาย โปรดเข้าใจชาวประมงส่วนใหญ่ด้วย อย่าได้ประนามเขาแบบไม่เขาใจนะครับ ผมจะช่วยรณรงค์ ว่าให้เขาปล่อยไปถ้ามันยังไม่ตาย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: