ผลวิจัยชี้โครงการ‘ถนนเลียบเจ้าพระยา’ 20ปีผ่านมานักวิชาการยันแก้รถติดไม่ได้

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 28 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2451 ครั้ง

หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียง 2 วัน โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกหยิบขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนบรรจุในแผนพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคสช. ระบุเพื่อจัดการน้ำและแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ

จากการตรวจสอบของ TCIJ พบว่า โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เป็นโครงการใหม่แต่อย่างใด เคยถูกนำเสนอไปเมื่อปี พ.ศ.2536 ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาล มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2536 พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดโครงการและการสำรวจประชามติ ที่จะมีขึ้นปลายปี 2536 ในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ระบุตอนหนึ่งว่า เป็นโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อแก้ปัญหารถติด โดยเริ่มโครงการจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งกรุงเทพฯ ไปจนถึงอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ฝั่งธนบุรีเริ่มจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงเชิงสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งการทำถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ต้องเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำ เพราะตอม่อเสาและคาน สร้างลงในน้ำคล้ายกับการนำถนนดอนเมืองโทลเวย์มาสร้างเหนือน้ำในลักษณะถนน 6 เลน

ภาพร่างเดิมของโครงการจากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์

สร้างโทลเวย์เหนือน้ำ ดึงเอกชนร่วมโครงการ

เป็นทางยกระดับเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน ด้านกรุงเทพฯทางตะวันออก เริ่มต้นจากสะพานปิ่นเกล้าถึงตลาดท่าน้ำปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร ฝั่งธนบุรี-นนทบุรีทางตะวันตก เริ่มจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าบริเวณคลองบางกอกน้อยถึงเชิงสะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 15 กิโลเมตร

ระดับถนนเหนือผิวน้ำขึ้นมาประมาณ 1-2 เมตร ในกรณีที่ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน โบราณสถาน ฯลฯ ก็จะลดระดับลงมา เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ หากผ่านคลองที่ใช้เพื่อการเดินเรือและมาบรรจบกับแม่น้ำ ก็จะยกถนนให้โก่งตัวสูงขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการเดินเรือในคลอง ขนาดของถนนจะมีผิวจราจรฝั่งละ 6 ช่อง แต่ละฝั่งมีช่องกลับทิศละ 3 ช่อง มีไฟฟ้าแสงส่วาง ไหล่ถนนทำเป็นทางจักรยานและสวนหย่อม ความกล้าวงผิวถนนทั้งหมดฝั่งละประมาณ 23 เมตร มีทางต่างระดับทั้งแบบลอดถนนมาเชื่อมที่ข้างติดแม่น้ำและทางแยกระดับเดี่ยวกับแม่น้ำมาเชื่อมข้างติดแผ่นดิน เพื่อไม่ต้องติดสัญญาณไปจราจรใต้ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างท่าเทียบเรือยื่นออกจากฝั่งเป็นจุดๆตลอดสายเพื่อบริการประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางหรือขนส่งสินค้าทางน้ำ

สำหรับวงเงินก่อสร้างประมาณ  25,000 ล้านบาท โดยเสนอให้เอกชนลงทุนเอง หรือเป็นผู้ร่วมลงทุนกับรัฐบาล หรือให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

เส้นสีแดงเป็นแนวการก่อสร้างจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-สะพานพระนั่งเกล้า ทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา

ทุ่มงบประชาสัมพันธ์กว่า 1.5 ล้านบาท ทำอีไอเอ 48 ล้าน

และเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้งบประมาณกว่า 25,000 ล้านบาท (ราคาเมื่อปี พ.ศ.2536-2537) จึงต้องผ่านการทำประมติจากประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ซึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ.2537 สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ทั้งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี จำนวน 10,175 คน โดยใช้งบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร 720,000 บาท และงบประมาณกว่า 1.5 ล้านบาท ถูกใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อีกทั้งยังว่าจ้างบริษัท เอเชีย เอ็นจิเนียริ่ง คอนเซาท์แตนท์ จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาความเป็นได้และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยงบประมาณจากแหล่งเดียวกันเป็นเงิน 48.678 ล้านบาท

สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ภาพจาก http://cms.toptenthailand.net/file/journal/20131119135124784/20131119135124784.jpg

ไม่มีงานศึกษายืนยัน เผยแต่ข้อมูลด้านดี

ขณะที่ รศ.ดร.จักกริศน์ กนกกัณฑพงษ์ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุผ่านงานศึกษาเมื่อปี 2537 ว่า สาระสำคัญของโครงการนี้ผู้เข้าใจหรือรู้น้อยมาก เพราะเทคนิคในการตั้งชื่อโครงการว่า “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นถนนระดับเดียวกับพื้นดิน ที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกซอยที่มาสุดที่ริมแม่น้ำ ขณะที่ข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าวเป็นทางด่วนที่จำกัดจุดเข้าออกและถนนต่างระดับเหนือผิวน้ำ นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นยังไม่ปรากฎตัวอย่างในต่างประเทศมาก่อน เนื่องจากถนนในประเทศอื่นเป็นลักษณะถนนระดับพื้นดินเลียบแม่น้ำ หรือทางด่วนต่างระดับคร่อมคลองทำให้ไม่สามารถใช้ตัวอย่างผลดีผลเสียจากที่อื่นได้

แม้ว่าผลจากการสำรวจประชามติจะมีผู้เห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 87 จากประชากรผู้ถูกสำรวจ 10,175 คน แต่ในการเสนอข้อมูลประชาสัมพันธ์ เป็นการนำเสนอเฉพาะข้อมูลด้านดีของโครงการ ทำให้ประชาชนไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด

สะพานพระนั่งเกล้า

ภาพจาก http://www.siamfishing.com/_pictures/board/upload2011/201110/1319708693638438.jpg

ไม่มีที่ดินสำหรับพัฒนา หวั่นเกิดสลัมใต้ทางด่วน

อีกทั้งจากงานศึกษายังระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากสาระสำคัญของโครงการพบว่า พื้นที่ผิวถนนที่อยู่เหนือน้ำประมาณ 2 เมตร จะลดเหลือ 1 เมตร ช่วงผ่านสะพานหรือสถานที่สำคัญและจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีทางเชื่อมตลอดทางด่วนหรือทำเป็นจุดท่าน้ำ ซึ่งความสูงระดับนี้เพียงพอต่อการจูงใจให้คนบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณใต้ทางด่วนใช้เป็นที่อยู่อาศัย อีกทั้งโครงการนี้ไม่มีที่ดินสำหรับพัฒนา สร้างความลำยากในการชักนำเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหรือก่อสร้าง รูปแบบที่ออกมาคล้ายกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวลย์ที่ผู้ขับขี่ต้องเสียเงินเอง ไม่ว่าการลงทุนก่อสร้างจะมาจากภาคเอกชนหรือรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นงานศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดร.จักกริศน์ ยังคงยืนยันถึงผลการศึกษาเดิม โดยให้เหตุผลว่า โครงการที่ คสช.หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่นั้นยังไม่มีงานศึกษาใดยืนยันว่าสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: