เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ ‘ภาษาไทยบนสังคมออนไลน์ของคนรุ่นใหม่’ โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 15-35 ปี ที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,218 คน พบว่า
ประชาชนร้อยละ 55.7 ไม่ทราบว่าวันที่ 29 กรกฎาคมที่จะถึงนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ขณะที่ร้อยละ 44.3 บอกว่าทราบ ทั้งนี้ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 เห็นว่าการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตและควรช่วยรณรงค์อย่างจริงจัง และมีเพียงร้อยละ 15.3 เท่านั้นที่เห็นว่า ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตจึงไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์
สำหรับผู้ที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันมากที่สุด คือดารา/นักร้อง (ร้อยละ 36.0) รองลงมาร้อยละ 33.3 คือ สื่อมวลชน/นักข่าว และร้อยละ 19.2 คือครู/อาจารย์
ส่วนแหล่งที่มักจะพบเห็นการใช้ภาษาไทยที่สะกด/ออกเสียงผิดเพี้ยนไป หรือคำแปลกๆ บ่อยที่สุดนั้น ร้อยละ 77.4 บอกว่าเห็นจากการคุยไลน์และการเขียนคอมเมนท์ผ่านเฟซบุ๊ค รองลงมาร้อยละ 15.8 เห็นจากการพูดคุยตามๆ กันในหมู่เพื่อนๆ และ ร้อยละ 6.8 เห็นจากพิธีกร ตัวละครในทีวี/ภาพยนตร์
ทั้งนี้ร้อยละ 38.8 ให้เหตุผลที่มักนิยมใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปในสังคมออนไลน์ ว่าใช้ตามๆ กันจะได้เกาะกระแส รองลงมาร้อยละ 32.4 ให้เหตุผลว่า สะกดง่าย สั้น และสื่อสารได้เร็ว และร้อยละ 26.9 ให้เหตุผลว่า เป็นคำที่ใช้แล้วรู้สึกขำ คลายเครียดได้
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่เห็นการพูดหยาบคายของตัวละครทีวี/ภาพยนตร์ หรือการโพสต์ข้อความหยาบคายผ่านสังคมออนไลน์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 65.9 รู้สึกว่ารับได้ แต่บางครั้งก็มากเกินไป รองลงมาร้อยละ 25.6 รู้สึกว่ารับได้/ไม่ซีเรียส และมีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้นที่รู้สึกว่ารับไม่ได้เลย
สุดท้ายประชาชนร้อยละ 55.0 เชื่อว่าการให้สื่อมวลชน นักร้อง นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องจะสามารถสร้างจิตสำนึกให้เกิดความนิยมใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องได้ ขณะที่ร้อยละ 14.0 เชื่อว่าไม่ได้ และร้อยละ 31.0 ไม่แน่ใจ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ