คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อยุติประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยยังคงระบบเดิมคือให้มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. อ้างเพื่อเปิดช่องไว้หากเกิดกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ ส่วน ส.ส. ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทั้งแบบเขตและสัดส่วน รวม 450 คน และที่มา ส.ว. ระบุมาจาก 5 ช่องทาง จำนวนไม่เกิน 200 คน
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างจับจ้องไปที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประเด็นที่สำคัญได้แก่ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.
โดยในวันที่ 23 ธ.ค. พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวนิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายสุจิต บุญบงการ ประธานคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 3 รับผิดชอบประเด็นผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการถึงข้อเสนอที่ให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการหารืออย่างละเอียด โดยมีความเห็นว่าให้คงไว้ซึ่งรูปแบบรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร เพราะการแบ่งแยกการใช้อำนาจยังมีหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีความเสี่ยง
ส่วนระบบการเลือกตั้งที่ประชุมเห็นตรงกันให้บัญญัติให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใหญ่จะเข้ามาควบคุมอำนาจ ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส. ได้มีการหารือกันในที่ประชุม โดยเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนคะแนนนิยมอย่างแท้จริง แต่ต้องยอมรับว่าที่มาของประธานรัฐสภายังคงต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงสูงสุด ส่วนรองประธานทั้ง 2 คนให้มีที่มาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนรองลงมา และประธานคณะกรรมาธิการสำคัญก็ควรให้ฝ่ายค้านเป็นประธาน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน
ต่อมาในวันที่ 24 ธ.ค. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง ระบบการเลือกตั้งและผู้นำทางการเมืองที่ดี ซึ่งมีมติให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบระบบสัดส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่ควรมีทั้งผู้แทนของประชาชนในเขตจังหวัด และเป็นผู้แทนของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัด โดยให้การเลือกตั้งแบ่งเป็น แบบแบ่งเขตจำนวน 250คน และการเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนจำนวน 200คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 450 คน แต่ทั้งนี้ อาจจะมีส.ส.เกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้ ประมาณ 20-30 คน ซึ่งมาจากการคำนวณระบบสัดส่วนที่นำคะแนนระบบเขตมาคิดรวม เพื่อให้ได้ ส.ส.ระบบสัดส่วน ซึ่งแนวคิดนี้ จะเป็นการสะท้อนทุกคะแนนเสียงของประชาชน และมีข้อดีที่จะให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามาเป็นตัวแทนในสภาฯมากขึ้น ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าว ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ แต่เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมากจนเกินไปและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังให้ ส.ส. สามารถสมัครอิสระได้ โดยไม่สังกัดพรรค แต่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งแบบกลุ่มได้ ส่วนนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่นั้นที่ประชุม ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้
จากนั้นในวันที่ 25 ธ.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการพิจารณาที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ว่า ที่ประชุมมีฉันทามติให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200คน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยคัดเลือกจาก 5ช่องทาง คือ 1. มาจากอดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.อดีตข้าราชการตำแหน่งสำคัญ เช่น อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตปลัดกระทรวง 3.ประธานองค์กรวิชาชีพหรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม 4.กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหภาพต่างๆ องค์กรภาคประชาชน และ5.คัดสรรจากกลุ่มวิชาชีพที่หลากหลาย โดยใช้เลือกตั้งทางอ้อม ส่วนอำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่แตกต่างออกไปจากเดิม คือ สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และที่สำคัญได้เพิ่มอำนาจการตรวจสอบประวัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมถึงตรวจสอบประวัติจริยธรรมของหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน ก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีสามารถร่วมลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา
นายคำนูญ ยังกล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ให้มาจากการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540และ 2550 โดยไม่บังคับว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เพื่อเปิดช่องไว้หากเกิดกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ
22 ธ.ค. 57
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย วันนี้คณะกรรมาธิการนัดประชุมพิจารณาเพื่อตกลงแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ส่วนในวันพรุ่งนี้นัดถกประเด็นเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง
สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ เกี่ยวกับหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ. 2554
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเสนอประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญจากทุกภาคส่วน เริ่มต้นที่ประเด็นภาคพลเรือนและประชาชน ขณะที่ในวันพรุ่งนี้เตรียมหาข้อสรุปประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง ชี้แจงเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่ระบบซุปเปอร์ประธานาธิบดี ย้ำมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติชัดเจน จี้ให้ตรวจสอบข้อมูล หวั่นทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ วอน คณะกรรมาธิการส่งข้อเสนอเร่ง ครม. ดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติมีผลทางปฏิบัติ ระบุ ที่ผ่านมามีกฎหมายแต่ไม่ปฏิบัติทำให้ประชาชนเสียโอกาส
สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเอกฉันท์ เห็นชอบในรายงานที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ เสนอ เพื่อเร่งรัฐบาลดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 หวังสร้างหลักประกัน ชราภาพให้คนไทยได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีพ
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือขอให้ กมธ.ยกร่าง รธน. บัญญัติการปฏิรูปแรงงานไว้ในรัฐธรรมนูญ จากสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทยให้ดีขึ้น
คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ปรับแก้กฎหมายประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายประการให้กับผู้ประกันตน ก่อนเสนอที่ประชุม สนช.พิจารณาต่อ วาระ 2 และ 3 พร้อมเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งจากผู้ประกันตน และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน
23 ธ.ค. 57
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยวันนี้จะเป็นการพิจารณาข้อสรุปในหัวข้อสถาบันการเมือง คาดได้ข้อยุติประเด็นที่มาของนายกฯ – ครม. รวมถึง ส.ส.และ ส.ว. ขณะที่ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมแจงประเด็นข้อโต้แย้งของประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองผ่านเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมชุมชนฯ ระบุ สปช. มีมติ 212 เสียง เสนอเร่งรัฐบาลเดินหน้า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ย้ำ ถ้าล่าช้าจะทำให้ประชาชนกว่า 24 ล้านคนเสียโอกาส ขณะที่เครือข่ายผู้ผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ยื่นหนังสือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน
รองประธาน สปช. รับข้อเสนอแนะการปฏิรูปการศึกษา จากตัวแทนนักศึกษาภูมิพลังแผ่นดิน รุ่นที่ 3 ระบุสิ่งสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาคือต้องสร้างความเท่าเทียม ขณะที่รองประธาน สปช. เผย ยินดีรับข้อเสนอแนะและจะนำไปข้อมูลเพื่อปฏิรูปประเทศต่อไป
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อยุติประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยยังคงระบบเดิม คือให้มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. ยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้น ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง คาดวันพรุ่งนี้ได้ข้อยุติประเด็นที่มา ส.ส.-ส.ว.
24 ธ.ค. 57
ประธาน สนช. ชี้ ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ แต่เป็นการยืนยันว่าทุกคนมีอิสระทางความคิดและไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุประบบการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว โดยจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทั้งแบบเขตและสัดส่วน รวม 450 คน ยืนยันเป็นระบบที่สะท้อนคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง
25 ธ.ค. 57
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยข้อสรุปที่มา ส.ว. ระบุมาจาก 5 ช่องทาง จำนวนไม่เกิน 200คน พร้อมเพิ่มอำนาจตรวจสอบประวัติและจริยธรรมรัฐมนตรีก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ย้ำที่มานายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ จี้ กสทช. เร่งบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ประกอบการคิดค่าโทรศัพท์มือถือเกินจริง พร้อมเผยปัจจุบันผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านบาท
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยัน วางกรอบยกร่างฯ อย่างตรงไปตรงมา ไม่อิงฝ่ายใด และพร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย ขณะที่ภารกิจรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ เริ่ม ที่แรก จ.สุพรรณบุรี 17 ม.ค. นี้
ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องครอบคลุม เหมาะสมกับสังคมไทยและนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ย้ำความเห็นจากประชาชนมีความสำคัญขณะไม่เห็นด้วยเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
26 ธ.ค. 57
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมทำ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” เป็นแนวทางถามความเห็นจากสังคม เผยต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ตอบคำถามสังคมได้ ย้ำต้องเสร็จก่อน 5 ม.ค. 58
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย มติคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังให้คง กกต. และป.ป.ช. ไว้เช่นเดิม โดยให้ กกต. มีอำนาจกำกับดูแลการเลือกตั้ง และให้ใบเหลืองเท่านั้น แต่ไม่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ด้าน ป.ป.ช. ยังไม่ได้ข้อยุติจะมีวาระดำรงตำแหน่งนานกี่ปี
สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่างๆ ในสัปดาห์นี้
- คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (http://goo.gl/3mlvtp)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง (http://goo.gl/sv7B0M)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (http://goo.gl/fQYZdX)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น (http://goo.gl/LgiKX7)
- คณะกรรมาธิการปฏฺิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (http://goo.gl/wKvWDV)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง (http://goo.gl/ncty5a)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (http://goo.gl/qa2NEM)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ (http://goo.gl/4IwuIK)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน (http://goo.gl/7dvaVL)
- คณะกรรมาธิการปฏฺิรูปการกีฬา (http://goo.gl/FMe4tw)
- คณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา (http://goo.gl/kXkZZA)
- คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (http://goo.gl/fwEpZn)
- คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย (http://goo.gl/6b2BqQ)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ