สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย

28 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2410 ครั้ง


การขัดแย้งกันด้วยอาวุธยังดำเนินต่อไปในภาคใต้ เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบยังพุ่งเป้าโจมตีทำร้ายพลเรือน ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ระบุว่า คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553 อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ทำให้เกิดความรับผิดยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป ในขณะที่ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยยังคงเผชิญกับความเป็นไปได้ในการบังคับส่งกลับไปยังประเทศของตนเอง

การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ

พลเรือนยังคงตกเป็นเป้าโจมตี ส่งผลให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางส่วนของสงขลา ครูและโรงเรียนรัฐได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ ส่งผลให้มีการปิดโรงเรียนหลายครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้นำการก่อความไม่สงบกล่าวหาฝ่ายความมั่นคงว่าได้ทำการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในยะลา การลอยนวลพ้นผิดยังเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการละเมิดสิทธิส่วนใหญ่ที่เป็นการกระทำของฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้

• ในวันที่ 29 มกราคม หน่วยทหารพรานได้ยิงพลเรือนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ 9 คนระหว่างเดินทางด้วยรถกระบะที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ 4 คนเสียชีวิต และอีก 4 คนได้รับบาดเจ็บ ทหารพรานอ้างว่าเป็นการยิงพลเรือนซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และเกี่ยวข้องกับการโจมตีฐานที่ตั้งทหารพราน คณะกรรมการไต่สวนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้พบว่า พลเรือนเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลย

• ในวันที่ 21 กันยายน ผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารบุคคล 6 คน รวมทั้งที่เป็นอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 50 คนโดยเป็นการยิงโจมตีเข้าไปในร้านขายทอง จากนั้นมีการกดระเบิดที่ซุกซ่อนในรถยนต์บริเวณตลาด อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

• ในวันที่ 30 ตุลาคม นายมาหะมะ มะแอ ครูโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามซึ่งตำรวจสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ถูกยิงเสียชีวิตที่ จ.ยะลา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ อิหม่ามชาวยะลาที่เคยตกเป็นเป้าทำร้ายในปี 2554 และเป็นเหตุให้ลูกสาวเสียชีวิต ได้ถูกยิงสังหาร ผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบกล่าวหาว่าฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ยิง

• ในวันที่ 3-4 ธันวาคม ผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารครูคนหนึ่งและทำให้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน ในสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.นราธิวาส และต่อมาผู้อำนวยการโรงเรียนและครูได้ถูกยิงสังหารในโรงเรียนที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ซึ่งเป็นเหตุให้มีการสั่งปิดโรงเรียนในจ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลาเป็นเวลาหลายวันพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ตลอดทั้งปี โดยรัฐบาลได้ต่ออายุทุก 3 เดือน เป็นกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจทำาการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งการทรมาน

ความรับผิดต่อความรุนแรงทางการเมือง

ในเดือนกันยายน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ว่าด้วยความรุนแรงในระหว่างการประท้วงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 92 คน โดยระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลรวมทั้งฝ่ายทหารและกลุ่ม “ชายชุดดำ” ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วง และมีความเชื่อมโยงกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่มักเรียกว่า “คนเสื้อแดง” มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ รายงานยังระบุว่า กองกำลังของรัฐได้ใช้อาวุธสงครามและกระสุนจริงกับผู้ประท้วง และมีข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรวมทั้งการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิที่กระทำโดยทุกฝ่าย ผ่านระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมและไม่ลำเอียง และให้จัดให้มี “การเยียวยาและการฟูสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง”

ในเดือนมกราคม รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ในเดือนพฤษภาคม มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติซึ่งส่วนหนึ่งกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในปี 2553 แต่กระบวนการพิจารณาร่างได้ชะงักลงเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังจากศาลระบุว่าฝ่ายความมั่นคงมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายพัน คำากอง ผู้ประท้วงนปช.ที่ถูกสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ได้มีการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม นับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรายแรก ๆ ที่ถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 นอกจากนี้การไต่สวนคดีก่อการร้ายต่อแกนนำนปช. 24 คน ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม

เสรีภาพในการแสดงออก

เสรีภาพในการแสดงออกยังคงถูกปราบปรามต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งให้อำานาจคุมขังบุคคลที่เชื่อว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความพยายามที่จะให้มีการทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2555 ล้มเหลว ในเดือนตุลาคมศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในเดือนพฤศจิกายนรัฐสภาได้ปฏิเสธที่จะบรรจุร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่วาระการพิจารณา

• ในเดือนพฤษภาคมนายอำาพล ตั้งนพกุล นักโทษทางความคิด วัย 60 ปีเศษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อากงเอสเอ็มเอส” เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในระหว่างถูกคุมขังตามโทษ 20 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 และถูกศาลสั่งจำคุกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ฐานที่ส่งข้อความสั้นที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลได้ปฏิเสธไม่ยอมให้มีการประกันตัวเขาออกมาทั้ง ๆ ที่มีการยื่นเรื่องขอถึง 8 ครั้งและแม้ว่าเขาจะมีสุขภาพไม่ดี

• ในเดือนพฤษภาคม น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร จากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ถูกศาลสั่งจำาคุกเป็นเวลา 1 ปี ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และถูกปรับ 30,000 บาท แต่ได้รับการลดหย่อนให้รอลงอาญาเป็นเวลา 8 เดือนและปรับ 20,000 บาท เนื่องจากไม่สามารถลบความเห็นที่มีผู้โพสต์ในเว็บบอร์ดของประชาไท 10 ข้อความได้ทันท่วงที โดยเป็นข้อความที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2555)

• นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารยังคงถูกควบคุมตัวตลอดทั้งปี และมีโอกาสถูกคุมขังถึง 30 ปีหลังจากถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดือนเมษายน 2554 จากการตีพิมพ์บทความสองชิ้นในนิตยสาร “เสียงทักษิณ” ที่ผ่านมาศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวของเขาหลายครั้ง

ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง

ผู้แสวงหาที่พักพิงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อการจับกุมและควบคุมตัวเป็นเวลานาน และเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศของตนที่ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ภายหลังการเจรจากับรัฐบาลพม่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แสดงท่าทีว่าผู้ลี้ภัยจากพม่าจำนวน 146,900 คนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถกลับไปในประเทศตนเองได้ภายในเวลา 1 ปี แม้จะยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และไม่มีมาตรการคุ้มครองเพื่อประกันกระบวนการส่งกลับบุคคลที่ปลอดภัย อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นไปโดยสมัครใจคนงานข้ามชาติทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารทางการยังคงเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

โทษประหารชีวิต

ไม่ปรากฏว่ามีรายงานการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา ศาลยังคงกำหนดโทษประหารตลอดทั้งปี ในเดือนสิงหาคม รัฐได้ลดโทษให้กับนักโทษประหาร 58 คนให้เหลือเพียงจำาคุกตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 25 เมษายน2556 นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวในเวทีสาธารณะ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน...ชีวิตที่ต้องได้รับการคุ้มครอง”  ว่า
               “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องสูญเสียชวีิตจากการถูกสังหารไปเป็นจำนวนมากถึง 35 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และสาธารณชนก็มิได้ถือเป็นกรณีสำคัญกว่าคดีฆาตกรรมทั่วไป แสดงให้เห็นว่าแม้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนหรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานานเกือบ 15 ปีแล้ว แต่กลไกในการคุ้มครองบุคคลเหล่านั้นยังไม่มีความเข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น...”

******************************

ที่มา

รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2556 สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ข้อเท็จและสถิติด้านมนุษยชน ปี2556 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ขอบคุณรูปภาพ http://mai250733.blogspot.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: