เชื่อชาวนาไม่บุกกรุงฯทวงเงินจำนำข้าว นโยบายผิดแต่ต้น-แนะแบงก์ชาติร่วมแก้

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 29 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1807 ครั้ง

ยังคงเป็นประเด็นร้อนกับปัญหาเงินค่าข้าวของชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าล่าสุดจะมีความพยายามในการจัดหาเงินเพื่อจ่ายให้กับชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว แต่หลายฝ่ายก็ยังเห็นว่าเป็นเพียงมาตรการบรรเทาระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากพิจารณาจากรายละเอียดทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้น่าจะส่งผลระยะยาวให้กับชาวนาทั่วประเทศ สถานการณ์ของชาวนาไทยในขณะนี้จึงยังน่าเป็นห่วง

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้สิ่งที่ชาวนาเดือดร้อน เป็นปัญหาเรื่องการค้างจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งต้องย้อนถึงวิธีคิดที่ไม่ซับซ้อนของรัฐบาลที่คิดเพียงหลักการอย่างง่ายว่า หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขายข้าว รัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก เพราะการซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงเกินความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐบาลในฐานะพ่อค้า ไม่สามารถขายข้าวได้

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ผลที่ตามมาคือ ชาวนาขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกเช่นกัน ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาตามกลไกราคา เมื่อประเทศไทยขายข้าวในราคาสูง ทั่วโลกก็ต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า รัฐบาลยังต้องใช้งบประมาณบริหารจัดการโครงการ ที่อาจสูงกว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในปีการเพาะปลูก 2555/56 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวรวมทั้งประเทศ 61.715 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.640 ล้านไร่หรือร้อยละ 1.05 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 26.186 ล้านตัน ข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.920 ล้านตัน หรือร้อยละ12.55 ผลผลิตต่อไร่ทั้งประเทศ 424 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 43 กิโลกรัม หรือร้อยละ 11.29

สำหรับโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2556 มีปริมาณข้าวเปลือกรับจำนำรวม 45 ล้านตัน เป็นเงินจ่ายเกษตรกรกว่า 680,000 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20 ล้านครัวเรือน สำหรับโครงการปี 2556 และ 2557 ได้จ่ายเงินเกษตรกรไปแล้ว 54,950 ล้านบาท

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ต้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลต้องรับภาระขาดทุนมหาศาล ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ชาวนาตัวจริงกลับไม่ได้รับราคาสูงสุดตามที่รัฐได้หาเสียงไว้ คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ขณะที่เกษตรกรได้รับจริง ๆ อยู่ที่ 9,000-11,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท แต่เกษตรกรได้รับจริงอยู่ในระดับเฉลี่ย 15,000 บาท (บวกลบ) มีส่วนต่างถึงตันละ 5,000 บาท

3 สัปดาห์ รัฐบาลยังไม่จ่ายเงิน จะฟ้องแทนชาวนา

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินจำนำข้าวว่า สภาเกษตรกรฯ จะเดินหน้าอย่างไร นายประพัฒน์กล่าวว่า ได้ติดต่อไปยัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เพื่อเร่งให้มีการช่วยเหลือชาวนา และจากนี้ภายใน 3 สัปดาห์จะรอดูท่าทีว่าจะทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาได้หรือไม่ หากไม่มีรูปธรรมในทางบวก ขอให้เชื่อว่าทางสภาเกษตรกรฯ ก็จะไม่อยู่เฉยอย่างแน่นอน และพร้อมจะเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามการดำเนินการใด ๆ จะเป็นไปตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ

            “ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประสานกับประธานสภาฯ แต่ละจังหวัด ให้กำลังใจและให้การสนับสนุนชาวนาทุกรูปแบบ รวมถึงมีการพูดคุยกับสภาทนายความ หากมีกรณีฟ้องร้องทางสภาทนายความจะให้การช่วยเหลือแก่ชาวนา ซึ่งหากเกษตรกรไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐบาลภายใน 3 สัปดาห์ ก็จะเรียกประชุม เพื่อลงมติของสภาเกษตรฯ และดำเนินการทางคดีความต่อไป” นายประพัฒน์กล่าว

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลนายกรัฐมนตรี ในความผิดพลาดกรณีโครงการรับจำนำข้าว นายประพัฒน์กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นเกษตรกรยืนยันได้ว่า ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นในทางกฎหมาย มากไปกว่านั้นชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข่าวสาร เพราะวิถีชีวิตในแต่ละวันอยู่กับแปลงเกษตร ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่ชาวนาหรือเกษตรกรจะมีท่าทีกับเรื่องที่เกิดขึ้น

            “ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ ทุกภาคส่วนในฐานะรัฐต้องบูรณาการ ทำอย่างไรก็ได้ให้เงินตกถึงมือชาวนา ไม่ว่าจะไปเอาเงินจากไหนก็ตาม และปัญหานี้ผมคิดว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจต้องลงมาแก้ปัญหาร่วมกัน ในฐานะที่เป็นคนดูแลธนาคารทั้งหมดด้วย” นายประพัฒน์กล่าว

สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่า หากชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ อาจจะส่งให้เกิดการชุมนุมใหญ่ลงมาสมทบกับการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ นายประพัฒน์ระบุว่า ตนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดชาวนาในภาคเหนือและภาคอีสาน จึงไม่ออกมารวมตัวกดดันรัฐบาลเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ จึงอยากให้มองว่า มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และหากชาวนาจะรวมตัวใหญ่ทั้งประเทศจริงย่อมทำได้ แต่ต้องมีปัจจัยที่มากกว่าเรื่องการจำนำข้าว

ส่วนที่มีการพูดกันว่า หากชาวนาอยากได้เงินจำนำข้าวจากรัฐบาล การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ชาวนาต้องเลือกพรรคเพื่อไทย นายประพัฒน์กล่าวว่า อยากให้มองว่าเป็นเรื่องการเมืองส่วนบุคคล ที่ผ่านมาชาวนาและเกษตรกรถูกนำภาพไปใช้ในทางการเมือง จนสังคมมองว่า เป็นพวกเสพติดประชานิยม ในความเป็นจริงมีเหตุปัจจัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น

            “ธรรมชาติของชาวนาหรือคนชนบท จะรักใครชอบใครนั้น รักชอบนานเกลียดนาน การเลือกตั้งไม่ใช่แค่ 2 กุมภาฯ ไม่ว่าครั้งไหนนับไปอี ก 10 ครั้ง เขาก็ยังเลือกพรรคไทยรักไทย คนที่ชอบประชาธิปัตย์เขาก็ยังเลือกประชาธิปัตย์” นายประพัฒน์กล่าว

ประชานิยมขายออก เพราะพึ่ง(ตนเอง)ไม่ได้

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาชาวนาและเกษตรกร นายประพัฒน์กล่าวว่า ปฏิรูปคือทางออก โดยเร่งปฏิรูปภาคการเกษตรให้พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่แก้ไขผ่านนโยบายประชานิยม ให้เกษตรกรพึ่งตนเองไม่ได้ ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนต่างแย่งชิงมวลชนของตนผ่านนโยบายต่าง ๆ แต่กลับสร้างผลกระทบมากมาย เช่น นโยบายจำนำข้าว ในทางกลับกันหากรัฐบาลนำเงินที่เสียไป มาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวทั้งประเทศ อาจใช้งบประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้นายประพัฒน์ยังย้ำถึงมุมมองต่อชาวนาที่ถูกมองว่าเสพติดนโยบายประชานิยมว่า ชาวนาในต่างจังหวัดไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เมื่อเทียบกับคนในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคืออาชีพการเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง ฉะนั้นเขาต้องพึ่งรัฐบาล หากจะแก้ไข จำเป็นต้องให้เขาพึ่งพาตัวเองได้

            “เพราะพึ่งตัวเองไม่ได้ ประชานิยมจึงขายออก คนกรุงเทพฯประชานิยมซื้อไม่ได้ เพราะไม่จำเป็นสำหรับเขา แค่ประกาศราคาข้าวตันละ 15,000 บาท เขาตาโต เพราะมันจำเป็น เหมือนกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” นายประพัฒน์กล่าว

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากโพสต์ทูเดย์, เดลินิวส์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: