จี้เลิกหมกลดคอร์รัปชั่น หวังดึงภาคเอกชนร่วมแก้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 29 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2126 ครั้ง

เอกชนหวั่นทุจริต โทรคมนาคม-เกษตร-พลังงาน ติดโผทุจริตสูง

นายกิตติเดช ฉันทังกูล กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยผลการวิจัยศึกษาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย พบว่า กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่าระดับความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งจากผลการศึกษาการคอร์รัปชั่นในมุมมองของภาคเอกชนไทยสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจ 1,066 ราย ในปี 2556 พบว่า เอกชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 มองว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยร้อยละ 68 ระบุว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก และ ร้อยละ 55 มองว่าเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่นจะมีต้นทุนหรือสัดส่วนของธุรกิจที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ10 ซึ่งกระบวนการที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุดคือ การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ รองลงมาคือขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ รวมทั้งการประมูลโครงการของภาครัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยช่องโหว่จากกฎระเบียบสร้างโอกาสในการทุจริต ซึ่งรูปแบบการทุจริต 3 อันดับแรกคือ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การให้ของขวัญหรือติดสินบน และการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มทุจริตมากที่สุด 3 อันดับแรกนั่นคือ ธุรกิจโทรคมนาคม การเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค

การนำเสนองานวิจัยของนายกิตติเดช ฉันทังกูล

ปปช.ยอมรับ สอบทุจริตยังติดกฎหมาย

นางสิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมรับว่า การดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีความล่าช้า เนื่องจากมีการแก้กฎหมายหลายครั้งและทำไปตามขั้นตอนการเก็บข้อมูลหลักฐานด้านเอกสารที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบและได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการของรัฐบาลอยู่

            “ปัจจุบันฐานข้อมูลการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชันของ ป.ป.ช.ดำเนินการอย่างมีระบบและสามารถเชื่อมโยงได้หลาย ๆ ทาง ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาพิจารณาทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น แม้ว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยยังมีอยู่ แต่หากได้รับความร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปราบปรามทุจริตต้องทำหลาย ๆ ด้านจึงจะประสบผลสำเร็จ” นางสิริลักษณากล่าว

พบท้องถิ่นร้อยละ 70ปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง

ด้าน นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลการสำรวจข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) หน่วยงานในกำกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า หน่วยงานของรัฐยังคงถูกร้องเรียน โดยเฉพาะเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง หรือเปิดเผยข้อมูลช้าถึงร้อยละ 30 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากนัก รองลงมาคือ การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐร้อยละ 19 ส่วนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นกว่าร้อยละ 70 ไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 22 ถูกจัดอยู่ในระดับที่แย่-แย่มากในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ซึ่งบางหน่วยงานไม่สามารถตรวจสอบจำนวนรายการจัดซื้อจัดจ้างได้ทั้งหมด เนื่องจากขาดฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่สมบูรณ์ รวมทั้งยังขาดรูปแบบบนเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: