เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่อาคารพญาไทพลาซ่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) องค์กรมหาชน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสมศ. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงกรณีการนำผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ ยูเน็ต ที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบที่ 4 นั้น สมศ.เป็นหน่วยงานที่ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ไม่ได้เป็นหน่วยงานจัดสอบ เพียงแต่จะหยิบผลคะแนน การประเมินจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการอยู่แล้วมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ อย่างในส่วนของมหาวิทยาลัยจะมีการนำคุณลักษณะตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดโดยครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ 1.ด้านคุณธรรมจริยธรรม 2.ความรู้ 3.ทักษะทางปัญญา 4.ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ 5.ทักษะการวิเคราะห์ การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้ง TQF ตามสาขาวิชาชีพ และบัณฑิตระดับปริญญาตรีมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สอดคล้องกับตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต มาใช้เป็นตัวบ่งชี้
ดังนั้นในส่วนการนำการจัด ยูเน็ต จะนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้หรือไม่นั้นหากมีความสอดคล้องกับกรอบทีคิวเอฟ สมศ.ก็จะใช้ยูเน็ต เพราะไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรถ้าสามารถวัดคุณลักษณะและความพอใจของผู้ใช้บัณฑิตได้ สมศ.ก็จะนำมาใช้ โดยจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือน มิ.ย.2557 นี้
สมศ.จะนำร่องตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ เพื่อปรับปรุงและจะประกาศเกณฑ์การประเมินรอบสี่ภายในวันที่ 1 ต.ค.2557 ซึ่งจะเป็นการประกาศล่วงหน้า 1 ปี ก่อนการเข้าสู่การประเมินรอบ 4 ซึ่งหากยูเน็ตยังไม่ชัดเจน สมศ.ก็จะใช้ทีคิวเอฟมาเป็นตัวประเมินเช่นเดิม ทั้งนี้ ในการดำเนินการยูเน็ต ไม่อยากให้ยูเน็ตใช้วิธีการจัดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของเด็ก แต่อยากให้เป็นการวัดคุณลักษณะของเด็กมากกว่า
“สมศ.ยังไม่เห็นข้อสอบยูเน็ต ว่ามีหน้าตาอย่างไร และสามารถวัดคุณลักษณะเช่นเดียวกับกรอบทีคิวเอฟได้หรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมาสมศ.ไม่ได้มีนโยบายให้จัดสอบยูเน็ตเพื่อนำผลมาใช้ประเมินรอบ 4 แต่ถ้าภารกิจของสทศ.ต้องจัดสอบ ก็จะมาดูก่อนว่าเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของเด็กเป็นเพียงผ่านปากกาและกระดาษหรือไม่ ถ้าใช้เพียงการวัดผ่านกระดาษสมศ.ก็คงจะไม่ใช้ ทั้งนี้ ผมอยากเสนอให้ 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สกอ. สมศ. และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มาหารือร่วมกันเพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ข้อสอบยูเน็ต ส่วนกรณีที่ สกอ.ออกมาระบุว่าทีคิวเอฟ ควรใช้เพื่อการประเมินภายในของสถาบันการศึกษาเท่านั้น ทางสมศ.ก็จะนำเสนอประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาว่าจะใช้หรือตัดทีคิวเอฟ ออกจากตัวบ่งชี้ และจากที่สกอ.ระบุว่าได้ทำหนังสือขอให้สมศ.ทบทวนตัวบ่งชี้ในการประเมินรอบ 4 ขณะนี้ผมยังไม่เห็นการประเมินรอบ 4 ดังกล่าว” ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว
ด้าน ศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานบอร์ดสมศ. ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ไม่เห็นความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องสอบยูเน็ต และก็คิดว่าจะไม่ร่วมสอบ เพราะนิสิตนักศึกษาต้องสอบมากอยู่แล้ว ภาพรวมการศึกษาขั้นพื้นฐานกับระดับอุดมศึกษามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในส่วนของมหาวิทยาลัยมี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ของตนเองที่จะควบคุมการเรียนการสอนและคุณภาพบัณฑิต โดยผ่านสภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลคุณภาพหลักสูตร คุณภาพการเรียนการสอนตั้งแต่รับเด็กเข้ามาเรียนจนจบปริญญาตรี หากสอบยูเน็ตตนเกรงว่า เด็กจะไปกวดวิชาเพื่อสอบยูเน็ต
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายกำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสทศ. เพื่อให้แนวทางแก้ปัญหากรณีนักเรียน นักศึกษา ออกมาคัดค้านการสอบยูเน็ตว่า สมศ.ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับการของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง แต่ได้มอบหมายให้สกอ.ไปหารือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล และผู้บริหารของสมศ. เพื่อหาทางผ่อนคลายการใช้คะแนนยูเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในตัวบ่งชี้การประเมิน คุณภาพภายนอกสถานศึกษา รอบ4 (พ.ศ.2559-2563) ทั้งนี้เพื่อจะได้ลดปัญหาต่าง ๆ เชื่อว่าสมศ.จะต้องเห็นด้วย
“เท่าที่หารือกับสทศ. มีข้อมูลชี้ชัดว่า ไม่สามารถพัฒนาข้อสอบยูเน็ตทั้ง 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต:การรู้เท่าทันสื่อ และการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้ทันในการประเมินรอบ 4 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 แน่นอน แม้แต่วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นข้อสอบที่พัฒนาง่ายที่สุดก็มีแนวโน้มว่าไม่สามารถทำได้เสร็จทัน เพราะขั้นตอนการทำข้อสอบยูเน็ตเพื่อใช้ในการประเมินภายนอกนั้น เมื่อพัฒนาข้อสอบเสร็จแล้ว จะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ และทำให้เกิดการยอมรับโดยเฉพาะจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลานานมาก ไม่สามารถทำได้เสร็จภายใน 1-2 ปี” นายจาตุรนต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีการศึกษา 2557 สทศ.จะเริ่มนำร่องจัดสอบยูเน็ตในวิชาภาษาอังกฤษ โดยการทดสอบจะดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษา โดยไม่มีการบังคับ และจะไม่มีการสร้างสภาพบังคับหรือกึ่งบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ถ้าไม่สอบจะไม่จบการศึกษา หรือหากไม่สอบจะไม่สามารถไปสมัครงานได้ ขณะเดียวกันจะมีผู้สอบเท่านั้นที่จะรู้ผลสอบของตนเอง แต่สถาบันที่ประเมินผลทั้งภายนอก และภายในจะรูปผลโดยรวม เพื่อดูในเชิงคุณภาพ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ