จี้หยุดแช่แข็งกระจายอำนาจ เลิกภูมิภาค-เพิ่มงบท้องถิ่น

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 29 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2287 ครั้ง

ข้อเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกกล่าวถึงในฐานะรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้อำนาจท้องถิ่นมากที่สุดฉบับหนึ่ง ถูกประกาศใช้ การขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจต่างมีให้เห็นเป็นระยะๆ ทั้งในทางวิชาการและทางการเมืองภาคประชาชน ผ่านมากว่าสิบเจ็ดปี การกระจายอำนาจก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และถูกนำไปใช้จริงในทางปฏิบัติ อำนาจยังคงถูกสงวนไว้แต่เพียงการปกครองจากส่วนกลาง

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย (TEF) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ”

การกระจายอำนาจ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ยังคงเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เป็นปัญหาในทุกรัฐบาล

ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ กล่าวถึงปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจของไทยในปัจจุบันว่า ยังคงถูกครอบด้วยมายาคติเหมารวมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งคอรัปชั่นของนักการเมืองท้องถิ่น โดยที่หลายฝ่ายมองไม่เห็นความหลากหลายของผลงาน หรือความสามารถและพฤติกรรมของอปท. ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขณะที่มายาคติสำคัญที่กลายเป็นภาพประทับตราของการเมืองท้องถิ่นว่าถูกครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลผ่านการซื้อเสียงก็เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิด แม้ว่าการซื้อเสียงจะแพร่หลายในท้องถิ่นหลายพื้นที่ แต่ก็มิใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่น

        “สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำในขณะนี้คือ การชะลอการกระจายอำนาจแช่แข็งการเลือกตั้ง โดยระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว แต่ตั้งข้าราชการแทนที่ เหล่านี้ต่างไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพราะข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งเหล่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อพื้นที่ที่ตนปฏิบัติงานอยู่ นั่นเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความต้องการของประชาชนจึงไม่มีผลกระทบต่อเขา” ดร.อภิชาติกล่าว

ลดอำนาจมหาดไทย ดันประชาชนกำหนดงบฯท้องถิ่น

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันควรทำ ดร.อภิชาติเสนอว่า ประการแรกคือ เพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น โดยแก้กฎหมายที่กำหนดจำนวนผู้ที่เข้าชื่อสำหรับการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและการเข้าชื่อเสนอเทศบัญญัติโดยประชาชนให้น้อยลง รวมถึงผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดงบประมาณของ อปท. (Participatory budgeting)

ประการที่สองคือ ลดอำนาจการควบคุมอปท. ของกระทรวงมหาดไทย และเปลี่ยนวิธีกำกับตรวจสอบในแง่กระบวนการ ทำให้เป็นกำกับในแง่มาตรฐานภาระหน้าที่ กล่าวคือ ให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับควบคุมอปท. อย่างกว้างขวาง ทั้งอำนาจระงับการปฏิบัติงานของนายกองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) อำนาจยุบสภาและปลดผู้บริหารของอบต. ไปจนถึงงบประมาณประจำปีของอบต. ต้องผ่านการอนุมัติของนายอำเภอแม้ว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาอบต.แล้วก็ตาม

ผันงบฯ ตามความเหลื่อมล้ำ เพิ่มงบฯ อุดหนุนทั่วไป

ประการที่สามคือ จัดสรรงบประมาณแบบใหม่โดยใช้ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เป็นตัวตั้ง เนื่องจากเป็นการปฏิรูปวิธีการจัดสรรงบประมาณสู่อปท. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ กำหนดให้พื้นที่ที่ยากจนที่สุดได้รับเงินอุดหนุนมากที่สุด อีกทั้งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดอำนาจวินิจฉัยของผู้มีอำนาจส่วนกลางในการกำหนดว่า อปท.ใด ควรจะได้งบประมาณมาก-น้อยเพียงใด อันเป็นบ่อเกิดของการใช้เส้นสายในการ “วิ่งงบ” 

ประการที่สี่ คือ ลดสัดส่วนงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจ เพิ่มสัดส่วนงบประมาณอุดหนุนทั่วไปเพื่อเพิ่มอิสระทางการคลังของท้องถิ่น เหตุเพราะการให้เงินอุดหนุนทั่วไปจะทำให้อปท.มีอิสระในการใช้จ่าย แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนที่ลดลง ขณะที่การให้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จะทำให้อปท. ไม่มีอิสระในการใช้จ่าย เพราะถูกกำหนดมาแล้วจากรัฐบาลว่า อปท.จะต้องนำเงินไปใช้อะไรบ้าง นอกจากนี้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจยังเป็นที่ซ่อนงบประมาณของรัฐบาลกลาง เช่น เบี้ยเลี้ยง อสม.,เบี้ยเลี้ยงคนชรา แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เลิกงบฯ เร่งด่วน ชูสร้าง “เมืองพิเศษ”

ประการที่ห้า ยกเลิกงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาอปท. กรณีเร่งด่วน เนื่องจากเป็นงบประมาณที่มีเกณฑ์การจัดสรรไม่โปร่งใส เน้นงานก่อสร้าง ซึ่งอาจไม่ตรงความต้องการของท้องถิ่น นำไปสู่การใช้เส้นสายทางการเมือง สร้างความไม่เท่าเทียม-ไม่เป็นธรรม

ประการสุดท้าย ยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น “เมืองพิเศษ” เพราะความท้าทายของการกระจายอำนาจอยู่ที่การตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของท้องถิ่น ไม่จะเป็นที่จะต้องมีแต่ อบต. อบจ. เทศบาลเพียงเท่านั้น ควรมีเมืองพิเศษเชิงหน้าที่ ที่มีหน้าที่พิเศษตามความต้องการของพื้นที่ เช่น เมืองพิเศษเพื่อการค้าชายแดน (แม่สอด) เมืองพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (ภูเก็ต อยุธยา) เมืองพิเศษอุตสาหกรรม (มาบตาพุด) เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: