ภายหลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะมีการออกคำสั่งออกมาเพื่อใช้ในการดูแลความสงบภายในประเทศหลายฉบับ หนึ่งในคำสั่งเหล่านั้นคือ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก หรือยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ นำมาสู่การยึดพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่ในแนวขอบพื้นที่ป่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ยังคงยึดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 ในการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าต่อมา คสช.จะมีคำสั่งที่ 66 ในการระบุแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อนโยบายนี้แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้ผลกระทบต่อชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีความยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกิน ลดน้อยลง ทำให้ปัจจุบัน ยังคงเกิดการร้องเรียน เรียกร้องความเป็นธรรมในที่ดินทำกินหลังปฏิบัติการของคสช.จนมาสู่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพจาก http://park.dnp.go.th/
มหาดไทยระบุที่ดินรัฐถูกบุกรุกกว่า 6 ล้านไร่
จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทย ช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาระบุว่า มีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐทั่วประเทศรวม 370,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ แยกเป็นบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 58,000 ราย เนื้อที่ 1.5 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 37,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ ที่ดินราชพัสดุ 190,000 ราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 55,000 ราย เนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ และบุกรุกที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. 25,000 ราย เนื้อที่ 490,000 ไร่
ทั้งนี้ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่จัดทำขึ้นหลังคำสั่งคสช. โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สาเหตุของการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตร การบุกรุกจับจองของนายทุน การออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง การขาดจิตสาธารณะ และการบริหารจัดการต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดประสิทธิภาพ ข้อปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ซึ่งรัฐบาลในอดีตได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทากิน และ ทรัพยากรป่าไม้อย่างต่อเนื่องโดย การออกกฎหมาย และนโยบายต่าง ๆ เพื่อสงวนและอนุรักษ์ป่าไม้ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง ข้อจำกัดของเทคโนโลยีการจัดทำแผนที่ในอดีต ที่ไม่สามารถกำหนดรายละเอียดขอบเขตของพื้นที่ป่าไม้ได้อย่างชัดเจน จึงเกิดความสับสนในการนำไปใช้ ทำให้เกิดปัญหาโดยตลอด อีกทั้งยังพบข้อผิดพลาดที่มิได้กันพื้นที่ชุมชน พื้นที่ทำกินของประชาชน ที่อยู่ก่อนการประกาศเขตป่าไม้ ออกจากพื้นที่ป่าไม้ที่สงวนคุ้มครอง ทำให้ประชาชนที่ควรเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้กลายเป็นผู้บุกรุก มาเป็นระยะเวลามากกว่า 70 ปี ขณะเดียวกันมีการบุกรุกพื้นที่ ป่าไม้ต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นตามสภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยช่องว่างที่เกิดจากแนวเขตป่าไม้ในแผนที่ไม่ชัดเจน
ขอบคุณภาพจาก http://pr.prd.go.th/surin
นโยบายรัฐแต่ละยุคส่งเสริมให้มีการบุกรุกป่า
“รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามนำผืนป่าเสื่อมโทรม มาจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตร พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของแนวเขตที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวเขตที่ดินของรัฐและแนวเขตป่าไม้ทับซ้อนกัน เพราะแผนที่แนวเขตของแต่ละหน่วยงานไม่ได้จัดทำบนพื้นฐานเดียวกัน จึงทำให้เกิดความสับสนและยากต่อการป้องกันและปราบปรามการบุกรุก และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิผล
นโยบายของรัฐบางเรื่อง มีส่วนทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าอย่างกว้างขวาง เริ่มจากการเข้าไปตัดไม้ถางป่าเพื่อทำกิน การซื้อขายพื้นที่ป่า การเปลี่ยนมือเข้าครอบครองป่า มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตป่า การขยายการครอบครองพื้นที่ของกลุ่มคน เพื่อทำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และทำการเกษตรแปลงใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย จนยากที่จะแก้ไขตามหลักกฎหมายได้”
เปิดชื่อ 12 จังหวัดวิกฤตป่ารุนแรง
ขณะเดียวกันในแผนแม่บทฉบับดังกล่าวยังมีการประเมินความรุนแรงของพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง จนอยู่ในสถานะอันตราย โดยระบุว่า พื้นที่ป่าภาคเหนือ ถือเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์การบุกรุกรุนแรงที่สุด รองมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ
โดยพื้นที่ที่มีวิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่านลำปาง อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่, เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ขณะที่พื้นที่ที่อยู่ในระดับวิกฤต มี 33 จังหวัด คือ กาญจนบุรี กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด, บุรีรัมย์ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พังงา พัทลุง แพร่ ภูเก็ต ระนอง ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี สุรินทร์อุทัยธานี สระแก้ว มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองบัวลาภู สระบุรี หนองคาย อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์
ส่วนพื้นที่ที่ไม่ถูกจัดว่าอยู่ระดับวิกฤตมี 31 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชลบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปราจีนบุรี ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยาพิจิตร เพชรบุรี มหาสารคาม ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุดรธานี
ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ในระดับวิกฤตินับว่า เป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการป้องกันปราบปรามอย่างเร่งด่วน โดยใช้แนวทางในการตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าประจำแต่ละภาค (ฉก.ปปม.) ลงพื้นที่ยึดคืนผืนป่าทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เข้มข้นโดยตั้งเป้าหมายจะฟื้นผืนป่าของประเทศให้ถึง 40 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ประเทศ หรือให้มีพื้นที่ป่ารวมไม่ต่ำกว่า 128 ล้านไร่
‘ทวงคืนผืนป่า’นายทุนลำบากแต่ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า
ด้วยสาเหตุทั้งหมด ทำให้การทวงคืนผืนป่าของคสช. ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปอย่างเข้มข้นหลังการประกาศคำสั่งคสช.ฉบับที่ 64 โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ดำเนินการตามแผนในพื้นที่ชายขอบป่าต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ แล้ว อีกส่วนหนึ่งจำนวนมากเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคยได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำกินอยู่แต่เดิมตามนโยบายของรัฐบาลในยุคก่อน ทำให้การยึดพื้นที่คืนไม่เพียงแต่จะได้ผืนป่ากลับมาจากนายทุนเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าต่อมาคสช.จะมีคำสั่งฉบับที่ 66/2557 ออกมาตรการผ่อนปรนสำหรับผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกิน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าก่อนมติครม. 30 มิ.ย.2541 จะให้สิทธิทำกิน (ส.ท.ก.)
2.ราษฎรยากจนไม่มีที่ดินอยู่อาศัยทำกิน อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินต่อไปได้ โดยออกเอกสาร ส.ท.ก.ให้
3.นายทุนจากพื้นที่อื่นบุกรุกป่า จะขอยึดคืนพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะฟ้องร้องดำเนินคดี
4.บุคคลทั่วไปที่ฐานะไม่ได้ยากจนหากเข้าอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่า 1-10 ปีจะให้ประชาคมในพื้นที่ตัดสินชี้ขาดว่าจะให้อยู่ในพื้นที่ต่อหรือให้ออกจากพื้นที่ที่บุกรุก
แต่ก็ไม่ได้ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะผลกระทบจากการยึดคืนพื้นที่ป่าดังกล่าว ทำให้เกิดความเดือดร้อนมากมาย เช่น กรณีของนายอาแม อามอ ชาวบ้านห้วยน้ำตื้น ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และทหาร ตัดฟันสวนยางพารา 3,200 ต้น ทุเรียน 208 ต้น และเงาะ โดยอ้างว่าบุกรุกป่า ขณะที่นายอาแมระบุว่า ครอบครองและทำกินพื้นที่นี้มานานกว่า 30 ปี และทำกินใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ปลูกยางพาราตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐ ได้ปลูกข้าวโพด ทำนาข้าวและช่วง 4-5 ปีก่อน จึงตัดสินใจหันมาปลูกยางพารา ทุเรียน และสวนเงาะ เพียงเพื่อหวังว่าได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ขายเป็นรายได้เลี้ยงชีพยามชราแต่ขณะนี้ที่ดินทำกินผืนสุดท้ายถูกยึด และตนยังต้องถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าโดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาว่าบุกรุกป่า 80 ไร่ ทั้งที่มีที่ทำกินเพียง 30 ไร่ ซึ่งตามกฎหมายนายอาแมจะต้องถูกดำเนินคดีและชดใช้ค่าเสียหายถึง 12 ล้านบาท
ขอบคุณภาพจาก http://pr.prd.go.th/surin
จากความเดือดร้อนดังกล่าวทำให้ชาวบ้านบางส่วนจำเป็นต้องเดินทางมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ล่าสุดถึง 18 ข้อร้องเรียน จากประชาชนที่ถูกดำเนินการในหลายพื้นที่ เช่น
- อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า กรณีทับที่ดินทำกินของประชาชน ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง
- บ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดิน จ.บุรีรัมย์
- พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย และต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.พิษณุโลก
- บ้านห้วยมะแกง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ฯลฯ
ซึ่งแต่ละพื้นที่มีประชาชนระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จากมาตรการนี้ โดยเฉพาะการที่มีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าไปติดป้ายปักหลักหมุดในพื้นที่ทำกิน การไล่ประชาชนออกจากพื้นที่พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน และห้ามไปเข้าทำกินในพื้นที่ดังกล่าวโดยขอให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยประสานงานแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน
กสม.เสนอแนวทางต่อรัฐบาล แต่ยังไร้การตอบสนอง
ต่อมาคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหนังสือเสนอความเห็นถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบว่ามีเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เข้าขับไล่ บุกยึด และรื้อทำลายทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าในหลายจังหวัด 3 ประเด็นคือ
1.กระบวนการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกระบวนการจัดทำแผนการปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง จากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว
การขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว ส่งผลให้การกำหนดวิธีการปฏิบัติงานตามแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขาดการพิจารณา “ทางเลือก” อื่น ที่อาจบรรลุเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ ได้แก่ การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 10 ปี ได้เช่นกัน นอกจากการมุ่งเน้นวิธีการไล่รื้อชุมชนเพื่อยึดคืนพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย และยังรวมถึงขาดการพิจารณาทางเลือกของเทคโนโลยี เครื่องมือ และหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์สิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่า เช่น แผนที่ต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการพิจารณาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนนั้นด้วย มิใช่มุ่งเน้นแต่เพียงการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว
2.การปฏิบัติการที่ผ่านมาตามแผนแม่บทดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการกลั่นกรองและแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่ที่มีบริบทความเป็นมาของปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน และไม่มีความชัดเจนในการกำหนดลักษณะการกระทำและผู้กระทำว่าลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่มีเจตนาในทางการค้าหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน และลักษณะใดเป็นการกระทำเพื่อการดำรงชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้หลายพื้นที่ตามกรณีร้องเรียนได้ผ่านตรวจพิสูจน์และการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจากรัฐบาลในอดีตและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานาน แต่การปฏิบัติการโดยไม่แยกแยะกลั่นกรองตามกรณีร้องเรียนดังกล่าว ได้ทำให้สภาพปัญหากลับไปมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น และความขัดแย้งก็มีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
3.เกิดปัญหาความไม่ประสานสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทที่มีไม่ต่ำกว่า 25 หน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับนโยบายหรือระดับส่วนกลาง กับหน่วยงานในระดับปฏิบัติการหรือในระดับพื้นที่ ส่งผลให้การปฏิบัติการของหน่วยงานในระดับพื้นที่ อาจปฏิบัติการไปโดยขาดความเข้าใจ ละเลยต่อการยึดกุมหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนที่ควรจะเป็น
หัวใจสำคัญของการปฏิบัติการ ที่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย เช่น พบว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อชุมชนในพื้นที่ป่าหลายพื้นที่ทางภาคใต้ เช่น การไล่รื้อชุมชน การจับกุมดำเนินคดี และการตัดต้นยางพาราหรือการทำลายทรัพย์สินของราษฎรนั้น เป็นการดำเนินการไปก่อนที่การจัดทำแผนปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามแผนแม่บทฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งที่จากการพิจารณาเบื้องต้นต่อร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวของกรมอุทยานฯนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการที่พอจะถือได้ว่า เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่การปฏิบัติการที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในบางพื้นที่นั้นมีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน
และแม้ว่าจะยื่นข้อเสนอไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากคสช.หรือรัฐบาลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการปฎิรูปที่ดินและการทวงคืนผืนป่าก็กำลังเดินหน้าเต็มที่ เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ ก็ยื่นหนังสือร้องเรียนไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์ดำรงธรรม ในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยความหวังว่าจะได้รับการชะลอ ผ่อนปรนจากการทวงคืนผืนป่าครั้งใหญ่นี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านพบว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย มิได้เพียงเพื่อการทำกินหรืออยู่อาศัยอย่างเพียงพอของแต่ละครอบครัวเท่านั้น แต่ชาวบ้านบางคนบางกลุ่มก็ยังอาศัยโอกาส ในการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาขายแบบมือเปล่าหรือไม่มีเอกสารให้กับบุคคลอื่นหรือนายทุนด้วย และตนเองก็ไปบุกรุกใหม่เพิ่มเติม
นอกจากนี้ด้วยนโยบายหรือกลไกทางธุรกิจต่าง ๆ ที่พยายามสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชแบบอุตสาหกรรมจำพวก ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านยอมเสี่ยงเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ทำให้ปัจจุบันพบว่า มีพื้นที่ป่าในที่สูงหรือเขตภูเขา โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก ที่กลายเป็นพื้นที่การเกษตรเต็มไปหมด และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตรวจสอบ จับกุม หรือยึดคืน กลับมีการเรียกร้องด้วยข้ออ้างว่า ได้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายชั่วคนแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้เช่าพื้นที่ป่าของรัฐเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายแห่งครบระยะการเช่าแล้ว แต่ผู้เช่าซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่กลับไม่ยอมคืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้รัฐ โดยอาศัยอิทธิพลทั้งทางธุรกิจและทางการเมือง ทำให้รัฐไม่สามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดสรรให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนและขาดแคลนที่ดินทำกินจริงมีโอกาสได้รับบ้าง จนเกิดกรณีความขัดแย้งโดยตรงระหว่างชาวบ้านกับนายทุนที่เช่าที่ดิน
ทำให้ปัญหาการแย่งชิงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐไม่รู้จบ และไม่มีบทสรุปว่าใครคือคนถูกใครคือคนผิดอย่างแท้จริง
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ