ในเว็บบล็อกหรือเฟซบุ๊กของใครไม่ทราบ เอาบทความของผมชิ้นหนึ่งไปแปะ มีเม้นต์ตามมาสักสิบเม้นต์ กว่าครึ่งไม่อ่านเพราะยาวเกินไป แต่เม้นต์ไม่อ่านที่ผมชอบที่สุดคือ "กรูคนไทย ไม่อ่านอะไรเกิน 4 บรรทัด" เพราะมันมีสำเนียงของชาตินิยมแบบไทยอยู่ด้วย จึงสะท้อนประชาธิปไตยแบบไทยที่เขากำลังเร่งสร้างกันอยู่ได้ดี
คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้ว่าการศึกษาไทยมีปัญหา แต่คนไทยจำนวนน้อยกว่านั้นรู้ว่าปัญหาของการศึกษาไทยคือคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ หมายความว่าเวลาที่เด็กส่วนใหญ่ใช้ในโรงเรียนนั้นไม่ได้น้อยเกินไปอย่างแต่ก่อน โรงเรียนและครูไม่ได้ขาดแคลนเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ (แม้มีฐานะทางเศรษฐกิจเท่ากับเรา) งบประมาณที่รัฐทุ่มไปแก่การศึกษาของเด็กแต่ละหัวถือว่าสูงมาก แม้แต่เปรียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โอกาสด้านอุดมศึกษาเปิดกว้างมากและกำลังเปิดกว้างขึ้นไปอีก เมื่อจำนวนของผู้ต้องการเรียนมีน้อยลง อันเป็นผลมาจากนโยบายประชากรของรัฐและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
หลายรัฐบาลที่ผ่านมาจึงจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาไว้สูง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ตามแต่แทบไม่มีรัฐบาลใดให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคุณภาพของการศึกษาอย่างจริงจัง ยิ่งรัฐบาลทหารซึ่งไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของประเทศในเรื่องอะไรเรื่องเดียว ก็ยิ่งไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการศึกษาไทยขึ้นไปใหญ่ เคยมีรัฐบาลพลเรือนที่ดูเหมือนจะพยายามสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ แต่ส่วนใหญ่ของความพยายามที่ลงไปมักเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เช่น การแจกแท็บเล็ต, ส่งนักเรียนเรียนดีในแต่ละอำเภอให้ได้เป็น "นักเรียนนอก", แม้กระทั่งสร้างโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาพเศรษฐกิจไทยขณะนี้ แต่ก็ไม่ใส่ใจที่จะทำให้โครงการนี้มีความยั่งยืนได้จริงมากไปกว่าการหาเสียง
ที่น่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีรัฐมนตรีศึกษาของรัฐบาลใดสนใจส่งเสริมการอ่าน (มากไปกว่าการจัดงานเพื่อขายหนังสือซึ่งทำกันเป็น "ประเพณี" มานานแล้ว)
เพราะหัวใจของคุณภาพการศึกษา (ในทุกความหมาย ไม่ว่าในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน) คือการอ่าน เพื่อจะทำให้คนไทยมีความสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างใช้งานได้จริงในชีวิตสมัยใหม่ของโลกปัจจุบัน
อ่านออกเขียนได้อย่างใช้งานได้ในชีวิตจริงไม่ได้หมายความเพียงการอ่านออก เมื่อเพ่งพินิจตัวสะกดไปทีละคำ รู้ศัพท์น้อย และแยกความหมายของศัพท์ที่ใกล้กันไม่ได้ จับความหมายที่เน้นแตกต่างในการเลือกใช้คำและวางรูปประโยคไม่ได้ จับความสิ่งที่อ่านให้เชื่อมโยงกันเองไม่ได้ หรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเองไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น ถึงอ่านหนังสือได้ก็ไม่ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมที่ตัวมีชีวิตอยู่ ถึงเขียนหนังสือได้ก็มักเขียนตามคำบอก (ดังๆ หรือเงียบๆ ผ่านมาทางวัฒนธรรม) แต่ไม่สามารถสื่อความที่ตัวประสงค์ได้ ด้วยความหมายหนักเบาตามความต้องการด้วย
อ่านออกเขียนได้ในโลกปัจจุบันจึงไม่ใช่ความสามารถที่จะบรรลุได้ง่ายๆ และไม่มีหลักประกันแต่อย่างใดว่าการศึกษามวลชนที่ขยายไปอย่างกว้างขวางเพียงอย่างเดียวจะสามารถทำให้ผู้คน "อ่านออกเขียนได้" จริง มีงานวิจัยที่ชี้ว่า หากคนเราไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างน้อย 74 คำต่อนาที ด้วยความเข้าใจอย่างสบายๆ เขาจะอ่านอะไรไม่รู้เรื่องเลย (นอกจากนิทานเด็กอนุบาล) เพราะไม่สามารถเชื่อมความคิดระหว่างประโยคต่อประโยค หรือย่อหน้าต่อย่อหน้า หรือหน้าต่อหน้าได้
ในสหรัฐ เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ตามความหมายนี้ จึงไม่ได้อ่านสลากยาหรือคู่มือการติดตั้งเครื่องเสียง ในจำนวนนี้มีอยู่ 20% ที่มีความสามารถอ่านได้ต่ำกว่าประถม 5 จึงไม่สามารถหางานอะไรได้มากไปกว่าขายแรงงาน ประมาณว่าใน ค.ศ.2020 คนอเมริกันจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างที่กล่าวแล้ว แต่ในปัจจุบันคนที่สามารถทำอย่างนั้นได้มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น
อังกฤษก็ไม่ได้ดีไปกว่าสหรัฐสักเท่าไร 70% ของเด็กนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนไปอย่างเด็ดขาดในชั้นประถมไม่มีทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน เด็กอังกฤษอายุ 10 ขวบเพียง 40% เท่านั้นที่มีทัศนคติเชิงบวกกับการอ่าน ในอิตาลีเป็น 64% และในเยอรมนี 58% เกือบครึ่งหนึ่งของคนอังกฤษในช่วงอายุ 16-24 ไม่เคยหาความเพลิดเพลินจากการอ่าน ในหมู่ผู้ใหญ่กว่านั้น 35% ก็ไม่เคยหาความเพลิดเพลินจากการอ่านเช่นกัน คนอังกฤษวัยทำงานถึง 15% หรือ 5.1 ล้านคน มีความสามารถอ่านออกเขียนได้เท่ากับหรือน้อยกว่าเด็กอายุ 11
ทั้งสหรัฐและอังกฤษเหมือนกันตรงที่ ระดับความสามารถของคนในการอ่านหรือปริมาณของการอ่านลดลงทั้งสองประเทศ (รวมการอ่านหนังสืออีบุ๊กด้วย) โดยเฉพาะสหรัฐนั้นเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม OECD ที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับการศึกษาน้อยกว่าคนรุ่นก่อน (ส่วนหนึ่งก็เพราะสหรัฐขยายการศึกษาถึงมวลชนได้กว้างกว่าเมื่อก่อน)
ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้จึงเป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพการศึกษาและเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จทางด้านการศึกษาที่แท้จริง เพราะเพียงแค่อ่านออกเขียนได้ตามความหมายนี้เพียงอย่างเดียว คนเราอยากจะเรียนรู้อะไรก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการศึกษาใดๆ อีกเลยก็ได้ แต่ข้อสอบโอเน็ตไทยแทบไม่ให้ความสนใจจะวัดความสามารถด้านนี้เลย
ราคาที่สังคมซึ่งด้อยด้านการอ่านออกเขียนได้ต้องจ่ายนั้นสูงมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อในสหรัฐซึ่งเก็บสถิติค่อนข้างละเอียดปรากฏว่า เฉพาะราคาของความไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ทำให้ทั้งธุรกิจเอกชนและชาวอเมริกันต้องจ่ายถึงปีละ 20 พันล้านเหรียญ (ทำเครื่องจักรพัง, กินยาผิดต้องเร่งส่งโรงพยาบาล ฯลฯ) ในแต่ละปีมีเด็กอเมริกันเลิกเรียนกลางคันไปกว่า 1 ล้านคน หากเด็กเหล่านี้เรียนต่อและทำงาน อเมริกาก็ไม่ต้องสูญเสียรายได้อันควรได้ไปปีละ 240 พันล้านเหรียญ เขาพบว่าเด็กที่ไม่ได้พัฒนาความสามารถการอ่านระดับพื้นฐานได้ก่อนเข้าโรงเรียนชั้นประถม มีแนวโน้มจะทิ้งการเรียนไปมากกว่าเด็กอื่น 3-4 เท่าตัว 2/3 ของเด็กที่จบ ป.4 ในสหรัฐที่ยังอ่านหนังสือไม่คล่องมักจะลงเอยที่คุกหรือยังชีพด้วยสวัสดิการของรัฐ
ทั้งนี้ ยังไม่ต้องนับความสูญเสียทางสังคมอีกมโหฬาร ซึ่งเกิดจากการที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เช่น พบในอังกฤษว่า 60% ของผู้ต้องขังอ่านหนังสือได้ไม่คล่อง เป็นตัวเลขเดียวกับที่พบในสหรัฐ ยิ่งกว่านั้น 80% ของอาชญากรวัยรุ่นในสหรัฐมีปัญหาความสามารถด้านการอ่าน
จึงขอย้ำอีกครั้งว่า ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้จนใช้งานในชีวิตจริงของปัจจุบันได้ คือแก่นสารสำคัญที่สุดของการศึกษาทุกระดับ และการศึกษาต้องให้ความสามารถด้านนี้แก่นักเรียน-นักศึกษาอย่างกว้างขวางที่สุด
ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือนั้นก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามความหมายนี้ (functional illiterate) แม้จะส่งเสริมการอ่านสักเพียงไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความสามารถที่จะอ่านไม่มี เพราะอ่านมาน้อยวงศัพท์ก็แคบ จับประเด็นหลักของสิ่งที่อ่านไม่ได้ จับไม่ได้ตั้งแต่ประเด็นหลักในแต่ละย่อหน้า จึงไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดระหว่างย่อหน้าได้ ด้วยเหตุดังนั้นจึงอ่านจบโดยไม่รู้ว่าผู้เขียนต้องการเสนออะไร ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความหมายระหว่างบรรทัดและแฝงอยู่ในการเลือกคำและประกอบประโยค พบทั้งในอังกฤษและอเมริกาว่า มีครูจำนวนเกือบ 20% ที่อ่านหนังสือไม่ออก (ตามความหมายนี้) เหมือนกัน หากมีการสำรวจในเมืองไทยอาจตกใจยิ่งกว่านี้
เรากำลังส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่าน แต่การอ่านแทบไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้นคำขวัญส่งเสริมการอ่านก็มักเน้นคุณค่าการอ่านที่ประโยชน์ทางวัตถุต่างๆ นับตั้งแต่ทำให้มีความรู้กว้างขวาง ไปจนถึงทำให้รวย เป็นต้น แต่เขาพบกันมานานแล้วว่า การอ่านเพื่อความบันเทิงนั่นแหละคือสิ่งสำคัญสุดในการสร้างนิสัยการอ่าน อ่านเพราะมันสนุกที่จะอ่าน เพราะมันเป็นความสนุกจากเครื่องมือสื่อสารอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรเหมือน
ดูหนัง ฟังเพลงก็สนุก แต่เป็นสนุกอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือ การอ่านสร้างสมาธิคนละอย่างกับการดูหนังฟังเพลงหรือเชียร์กีฬา เพราะเป็นการรับความหมายที่ไม่ดูดกลืนผู้อ่านไปจนหมดตัวเหมือนดูหนังฟังเพลง เกิดจินตนาการของตนเองได้มากกว่า กระทบทั้งใจและความคิดได้ลึกกว่า โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง การอ่านเป็นความบันเทิงในตัวของมันเอง สิ่งที่อ่านเสียอีกอาจเป็นรอง คือเลือกอ่านตามที่ใจอยากอ่านเพื่อได้บรรลุความสนุกของการอ่าน ถึงแม้เรามีสื่อชนิดอื่นเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันและล้วนมีข้อดีทั้งนั้น แต่ไม่มีสื่ออะไรที่สามารถทดแทนหนังสือได้ (ไม่ใช่ในแง่เนื้อหานะครับ แต่ในแง่ประสบการณ์)
แต่ประสบการณ์เช่นนี้ต้องสั่งสม นับตั้งแต่เริ่มหมายตัวอักษรซึ่งแทนเสียง และเสียงแทนคำ ไปจนกระทั่งสามารถอ่านได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ และดื่มด่ำไปกับการอ่านที่ให้ความบันเทิงแก่ตนเอง
พบอีกด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างนิสัยรักการอ่านคือครอบครัว นับตั้งแต่เด็กได้ฟังผู้ใหญ่อ่านหนังสือนิทานให้ ไปจนถึงหัดเดาคำและตัวสะกดเอง ซึ่งมักเกิดที่บ้านทั้งสิ้น แต่ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ครอบครัวนักอ่าน (ครอบครัวอเมริกันก็ไม่ใช่ 1/3 ของคนที่จบมัธยมไม่เคยอ่านหนังสืออีกเลยสักเล่มเดียวตลอดชีวิต 40% ของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยไม่เคยอ่านหนังสืออีกเลยสักเล่มเดียว 70% ของผู้ใหญ่อเมริกันไม่เคยเข้าร้านหนังสือเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา) พ่อแม่ไทยมักไม่ได้เป็นแบบอย่างทางบทบาทการอ่านแก่ลูกๆ ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างมาก พบในสหรัฐว่า แค่ครูจัดให้เด็กเล็กๆ ได้อ่านเองวันละ 15 นาที ก็สามารถเพิ่มความสามารถด้านศัพท์และความเข้าใจภาษาขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
จะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพก็ต้องหากลวิธีที่แนบเนียนนานาชนิด (ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากที่คนอื่นเขาทำมาแล้วทั้งนั้น) ในการทำให้เด็กสนุกในการอ่านโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ (ครูไทยต้องถูกทำให้มีความสามารถสัมพันธ์กับนักเรียนได้โดยไม่ต้องผ่านอำนาจ นี่ก็เป็นการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาที่ต้องเร่งทำเหมือนกัน)
หากจะปฏิรูปการศึกษาไทย อ่านออกเขียนได้คือเป้าหมายสำคัญที่สุด อะไรอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้น เช่น หากจะแจกแท็บเล็ตก็ต้องมุ่งให้เด็กได้อ่านมากๆ อ่านอะไรก็ได้ที่เขาสนุก ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาความรู้ที่ครูหรือกระทรวงคิดว่าสำคัญเพียงอย่างเดียว
เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่งชาติเชื้อไทยจะสามารถอ่านอะไรที่เกิน4บรรทัดได้บ้าง
ที่มา: มติชนรายวัน 29 ธันวาคม 2557
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ