ข่าวศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมุติ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกาย บาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ จากกรณีที่จำเลย ซึ่งยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ขณะก่อเหตุ ขับรถพุ่งชนรถตู้บนทางยกระดับโทลล์เวย์ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลย 3 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่ เพราะอยู่ในรถ
ในระยะใกล้เคียงกับเหตุการณ์ นายใจดล ไกรฤกษ์ อายุ 61 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายตกแต่ง ในเครือ MBK กรุ๊ป ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ซิ่งรถเบนซ์ รุ่นซีแอลเค พุ่งชนนายทวีป แสนคำ อายุ 27 ปี พนักงานเก็บขยะเขตสัมพันธวงศ์ บาดเจ็บสาหัส และนายสมชาย ขำผิวพรรณ อายุ 57 ปี พ่อค้าขายกระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือที่ตลาดสำเพ็ง เสียชีวิต โดยหลังการจับกุมตำรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ 97 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
นายใจดล ไกรฤกษ์
กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคมว่า การกระทำผิดของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น คนรวย ไฮโซเหล่านี้จะได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมกับสิ่งที่กระทำผิดลงไปหรือไม่ โดยหากกลับไปตรวจสอบคดีในลักษณะเดียวกันนี้ พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนลงเอยด้วยการดำนินการทางกฎหมายที่ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันนัก
ย้อนกลับไปในเวลาไม่ไกลนัก เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 นายวรายุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ลูกชาย นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง ขับรถหรูยี่ห้อเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ งานป. สน.ทองหล่อ เสียชีวิตคา ระหว่างการปฏิบัติงาน บริเวณซอยสุขุมวิท 47 แล้วขับรถเข้าไปในบ้านพัก แต่เมื่อถูกตำรวจกดดัน พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป.สน.ทองหล่อ ได้นำ “สุเวศ หอมอุบล” พ่อบ้านของตระกูลอยู่วิทยาเข้ามอบตัวแทนนายวรายุทธ ที่สน.ทองหล่อ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเป็นที่ทราบว่า พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ มีความใกล้ชิดกับครอบครัวอยู่วิทยา แต่กลับนำคนอื่นเข้ามอบตัวแทน ทั้งที่ตำรวจที่เสียชีวิตเป็นลูกน้องในสน.เดียวกัน
นายวรายุทธ อยู่วิทยา (ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์)
อย่างไรก็ตามต่อมานายวรายุทธจึงเข้ามอบตัว ก่อนที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายวรยุทธต่ออัยการใน 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน แต่ทางอัยการพิจารณาแล้วเห็นควรให้ฟ้องฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีก 1 ข้อหา เนื่องจากหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพรถยนต์ขณะที่ผู้ต้องหาขับผ่าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า มีความเร็วสูงถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนข้อหาขับรถขณะมึนเมาสุรานั้น พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ขณะขับรถหรือไม่
แต่หลังจากนั้นอัยการต้องเลื่อนสั่งคดีหลายครั้งและไม่สามารถติดตามตัวนายวรายุทธได้ จนมีข่าวว่า นายวรายุทธเดินทางออกนอกประเทศ จนเรื่องเงียบหายไปในที่สุด
ขอบคุณภาพจากมติชน
วันที่ 25 มี.ค.2554 นายพีรพล ทักษิณทวีทรัพย์ นักศึกษาวัย 19 ปี ทายาทนักธุรกิจชื่อดัง ได้ขับรถยนต์ปอร์เช่ป้ายแดง พุ่งชน นายคำใบ อินทิลาด ชาวลาว วัย 17 ปี จนร่างขาด
2 ท่อน บนถนนย่านนนทบุรี แต่ต่อมาได้มีการตกลงจ่ายเชิงชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิต เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมเงินสินไหมทดแทน 2 แสนบาท และเงินช่วยเหลืออีกจำนวนหนึ่ง คดีจบเมื่อญาติผู้ตายไม่เอาความต่อ
นายพีรพล ทักษิณทวีทรัพย์
อีกคดีดังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2550 นายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ “หมูแฮม” ได้ใช้ก้อนหินทุบใบหน้านายสถาพร อรุณศิริ พนักงานขับรถโดยสาร สาย 513 และขับรถเบนซ์ พุ่งชนผู้โดยสารที่ยืนบนทางเท้า และพนักงานเก็บเงินรถเมล์สาย 513 เสียชีวิต เพราะไม่พอใจที่รถเมล์ขับปาดหน้าให้หยุดบริเวณปากซอยสุขุมวิท 26 หลังเกิดเหตุ ครอบครัวของหมูแฮม แจ้งว่า เขาเป็นบุคคลที่มีโรคประจำตัว เป็นอาการทาง ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่ามีสติฟั่นเฟือน และมีอาการเกร็งขณะเกิดเหตุ จึงถือว่ากระทำผิดตามฟ้อง กระทั่งศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปี 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในปี 2552 แต่จำเลยรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ จึงเห็นควรลดโทษลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 10 ปี 1 เดือน
ขอบคุณภาพจากช่อง 3
นอกจากนั้น ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ2 ราย เป็นเงิน 8 แสนบาท และ 1 แสนบาท ตามลำดับ และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิตรายละ 2 ล้านบาท แต่นายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ และนางสาวิณี ปะการะนัง พ่อแม่ของหมูแฮมได้วางประกัน 5 ล้านบาท ระหว่างยื่นอุทธรณ์คดี
ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุเกิดจากการขับรถหรูของบรรดาไฮโซ ที่สังคมยังคาใจ ทั้งนี้ยังไม่รวมคดีที่เกิดขึ้นจากการขับรถของเหล่าดารา ผู้มีชื่อเสียง เช่น กรณี นักร้องหนุ่ม “โดม” ปกรณ์ ลัม ขับเบนซ์ ซีแอลเค 230 ชนรถยนต์แท็กซี่อัดก๊อบปี้เสาสัญญาณไฟใกล้กับแยกตึกชัย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คนขับแท็กซี่ได้รับบาดเจ็บสาหัส “แอนนิต้า” นิษิตา พงศ์ทรง นักร้องค่ายแกรมมี่ ขับรถยนต์ชนคนข้ามถนนเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัส กรณี “หนุ่ม”- ศรราม เทพพิทักษ์ ขับรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู สีดำ พุ่งชนคนรับซื้อของเก่าบริเวณริมทางเท้าเสียชีวิต หรือ “บีม” ศรัณยู ประชากริช ดารานักแสดง และดีเจ ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีดำคาดขาว ก่อเหตุขับชนแล้วหนี ที่บทลงโทษส่วนใหญ่จบท้ายด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย และรอลงอาญา
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามกฎหมายแล้ว การขับรถชนคนตาย ถือว่าเป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ โดยอุบัติเหตุขับรถชนคนนั้น เกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมายอาญา 2 มาตราด้วยกัน ได้แก่
1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท"
2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
กล่าวคือ หากขับรถโดยประมาทจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่หากมีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยประมาท มาตรา 78 ระบุไว้ว่า หากผู้ใดขับรถแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของฝ่ายใด ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ซึ่งถือเป็นสามัญสำนึกของผู้กระทำการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ไม่หลบหนี
ที่เกิดเหตุคดีสาว 17 ขับรถชนรถตู้บนทางด่วยดอนเมืองโทลล์เวย์ มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ
โดยศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่า ผู้กระทำผิดกระทำการโดยประมาทหรือไม่ แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ประสบเหตุอย่างไร นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหรือไม่ เข้าไปเยี่ยมอาการตามสมควรหรือไม่ มีการชดใช้ค่าเสียหายตามสมควรเพียงใด สิ่งเหล่านี้ตำรวจจะรวบรวมหลักฐานส่งให้อัยการ เพื่อให้ศาลปราณีลดโทษจำคุก รอลงอาญา ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แทน เป็นต้น
แต่หากมีการหลบหนี กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และตำรวจมีอำนาจยึดรถไว้ได้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่แม้ว่าผู้กระทำผิดจะได้รับการพิพากษารอลงอาญา โดยไม่ต้องถูกจำคุก ผู้กระทำผิดยังคงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นความกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฐานละเมิดจากความประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สินที่เสียหายอยู่ดี แต่ผลที่ออกมาจากการบังคับใช้กฎหมาย กลับกลายเป็นการสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมว่า โทษที่ได้รับเพียงพอกับความสูญเสียต่อชีวิตของแต่ละคนหรือไม่ และโดยเฉพาะผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย ให้ลูกหลานผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการขับรถ ควรจะถูกลงโทษด้วยหรือไม่
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ