จำเลยคดีรับจำนำข้าวแจง ยิ่งลักษณ์ตอบทุกข้อสงสัย

30 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2113 ครั้ง

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ขณะที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญกับอากาศที่ “ร้อนตับแตก” ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ต่อเนื่องเดือนพ.ค.นี้ อุณหภูมิทางการเมืองยังคงร้อนระอุเสียยิ่งกว่า กับคิวร้อนชี้ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้าย ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็น “จุดจบ” ของความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นมาตลอดช่วงเวลาเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา

กรณีแรก ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน และคณะ ยื่นคำร้องถอดถอนนายกฯต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) เข้าข่ายมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญที่ก่อนหน้าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษานำร่องไปแล้วว่า เป็นการโยกย้ายไม่เป็นธรรมจนรัฐบาลต้องคืนตำแหน่งให้

โดยศาลรัฐธรรมนูญ “ขีดเส้นตาย” ให้ทุกฝ่ายยื่นเอกสารชี้แจงนัดสุดท้ายในวันที่ 6 พ.ค.นี้ จากนั้นศาลอาจจะมีคำตัดสินในวันเดียวกัน หรือจะยืดเส้นตายนัดฟังคำชี้ขาดอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป

อีกกรณีคือ “เผือกร้อน” ที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ ป.ป.ช.กำหนดนัดชี้ชะตา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ทั้งที่ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งเตือนมาก่อนหน้า

โดยวันที่ 29 เม.ย.นี้จะต้องลุ้นว่า ป.ป.ช.จะยินยอมสอบพยานเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 ปากตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ร้องขอหรือไม่ จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะขีดเส้นเร่งรัดประชุมเพื่อพิจารณาชี้ขาดกรณีนี้ภายใน 1 สัปดาห์

อุณหภูมิการเมืองในเดือน พ.ค.จึงจ่อร้อนทะลุปรอทแตก!!!!

เพราะหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้คดีมีมูล ไม่เพียงจะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลไปให้คณะรัฐมนตรีหมดสภาพตามไปด้วย และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะส่งผลไปถึงการวางนโยบายข้าวประเทศอย่างฉับพลันทันที

แต่ในขณะที่สื่อต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอเนื้อหาการชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วน “จำเลยทางการเมือง” อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำลังเผชิญมรสุมรอบด้านอยู่เวลานี้ ยังไม่เคยมีใครได้รับฟังคำชี้แจงจากปากของเจ้าตัวอย่างเป็นทางการ

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงเปิดพื้นที่นี้ให้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้ถ่ายทอดก้นบึ้งเผือกร้อนโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังถั่งโถมเข้าใส่อยู่ในเวลานี้อย่างหมดเปลือก แต่สุดท้าย ผลแห่งคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดออกมาอย่างไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยจะได้พิจารณากันเอง ดังนี้ :

ถาม : สรุปข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.กรณีจำนำข้าวมีกี่ประเด็น?

ตอบ : ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาฐานละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ส่อไปในทางทุจริตทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จากการที่ ป.ป.ช.และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยส่งเอกสารเป็นคำแนะนำมาให้ พร้อมระบุว่าให้ดำเนินการไม่ให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และถึงขั้นที่หน่วยงานทั้งสองให้ความเห็นว่าให้ยุติโครงการ

ประเด็นที่ว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือไม่ ต้องขอชี้แจงว่า รัฐบาลดำเนินการ โครงการรับจำนำข้าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยส่วนของตัวในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้เสนอนโยบายนี้ทั้งในการหาเสียงและแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้ง และสัญญาไว้กับประชาชน และเมื่อแถลงต่อรัฐสภาแล้วรัฐบาลก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่แถลงไว้ โดยไม่สามารถละเว้นได้

           “นอกจากเราจะต้องทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ยังทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจในเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ระบุว่า รัฐมีหน้าที่ดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของการเสนอระบบรับจำนำข้าวเข้ามา เพื่อที่จะทำให้ชาวนามีรายได้ที่ดีขึ้น”

ส่วนขั้นตอนการนำนโยบายรับจำนำข้าวไปปฏิบัตินั้น เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบายจากคณะรัฐมนตรี ส่งมายังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่ได้มอบให้รองนายกรัฐมนตรีคือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และต่อมาเป็น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทำหน้าที่เป็นประธาน กขช.แทน

ขณะที่ระดับปฏิบัติ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละเรื่องขึ้นมารับผิดชอบ เช่น อนุกรรมการระบายข้าว เป็นต้น และต้องถือว่า เป็นรัฐบาลแรกที่ให้มีการตั้งอนุกรรมการปิดบัญชี ตรวจสต๊อกข้าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในเรื่องข้าว และให้มีระบบตรวจสอบ

ถาม : เมื่อ ป.ป.ช.เสนอให้ยกเลิกโครงการรับจำนำ ทำไมรัฐบาลไม่ทำตาม?

ตอบ : วันที่ ป.ป.ช.มีหนังสือส่งคำแนะนำให้รัฐบาลนั้น เป็นวันที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว ชาวนาทั่วประเทศรับรู้แล้ว จู่ๆรัฐบาลจะไปยกเลิกโครงการทั้งหมดคงไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐที่ต้องค่อยๆประคองให้เดินหน้าต่อไป

ที่สำคัญโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยคณะบุคคล ส่วนนี้ต้องเห็นใจ อยู่ดีๆจะบอกให้เลิกเลยคงไม่ได้ เพราะมีฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ เมื่อฝ่ายนโยบาย คือ ครม.และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติออกนโยบายมาแล้ว ฝ่ายปฏิบัติคือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมทั้งระดับจังหวัดต่างๆ ได้รับนโยบายไปขับเคลื่อน ระบุวันเริ่มต้นโครงการและวันสิ้นสุดไว้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป

            “ป.ป.ช.ให้เบรกโครงการรับจำนำข้าวในวันที่เริ่มโครงการไปแล้ว และไม่มีใครมารายงานนายกฯ ว่าให้เลิกโครงการหรือดำเนินโครงการไปไม่ได้ ฉะนั้น สถานะของนายก-รัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา กับกรอบดำเนินโครงการที่เป็นคณะบุคคล อยู่ดีๆ นายกรัฐมนตรีที่เป็น 1 ใน ครม.และคณะกรรมการ กขช.จะบอกให้เลิกโครงการก็จะผิดกฎหมาย เพราะเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติราชการ ขนาดบริษัทมหาชนจะยกเลิกโครงการยังทำไม่ได้เลย เพราะมีผู้ถือหุ้นอยู่”

ในช่วงที่กำลังขับเคลื่อนโครงการ แค่รัฐบาลจะขอปรับลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท เป็น 12,000 บาทยังทำไม่ได้เลย ชาวนามาร้องขอให้กลับไปที่ตันละ 15,000 บาท ขนาดผู้นำ ฝ่ายค้านยังบอกให้ใช้ราคาเดิมที่ 15,000 บาท และรัฐบาลก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ราคารับจำนำ 12,000 บาทนั้นชาวนาอยู่ไม่ได้ ถือว่าไม่ได้ตอบโจทย์พื้นฐานแห่งรัฐที่ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนา

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทักท้วงจาก ป.ป.ช.หรือ สตง.รัฐบาลรับฟังหมด และได้ส่งให้ฝ่ายปฏิบัตินำไปปรับปรุง แม้กระทั่งเรื่องที่อภิปรายในสภา อะไรที่ผิดก็ให้ดำเนินการตรวจสอบ ส่วนนี้จึงต้องการให้เลขาธิการ ครม.มีส่วนร่วมชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ด้วย เพราะเวลามีข้อสงสัย หรือการตั้งข้อสังเกตในปัญหาที่จะเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำใน ครม.ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย จะสั่งการให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการแก้ไขตลอด

อย่างไรก็ตาม อะไรที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติก็ต้องปล่อยให้ทำหน้าที่ไป ถ้านายกรัฐมนตรีต้องรู้ทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ และเราจะไปรู้ดีกว่าผู้ปฏิบัติได้อย่างไร เอาแค่ในระดับบริษัทใครที่เป็นเจ้าของต้องรู้ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เลยก็จะกลายเป็นว่าผู้ถือนโยบายไม่ได้ให้ทิศทางนโยบายแต่ลงไปปฏิบัติเสียเอง และนายกรัฐมนตรีอาจถูกฟ้องได้อีกว่า ไปก้าวก่าย หรือเข้าไปแทรกแซงการทำงาน

            “ถ้าลงไปดูรายละเอียดก็ถูกหาว่าล้วงลูก ไม่ลงไปดูก็หาว่าละเลย”

ถาม : ผลขาดทุนโครงการรับจำนำมีมากน้อยเพียงใด?

ตอบ : ประเด็นที่มองว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวมาในราคาแพง แล้วขายไปในราคาถูก ทำให้เกิดการขาดทุนนั้น ส่วนนี้จริงๆแล้ว รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ในการค้าขาย แต่ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย ที่ต้องเรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายก็เพราะได้มีการประมาณการที่จะต้องดูแล และตั้งสำรองไว้ในงบประมาณเป็นภาระหนี้ของกระทรวงการคลังไว้แล้ว

สมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่เป็นโครงการประกันรายได้ ก็ต้องมีงบประมาณก้อนหนึ่งดูแลเกษตรกร ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยโครงการประกันรายได้ใช้งบประมาณไป 130,000 ล้านบาท และรัฐบาลชุดปัจจุบันยังต้องตั้งงบประมาณใช้หนี้ดังกล่าวนี้อยู่ ปัจจุบันยังเหลือหนี้อยู่อีกจำนวน 38,000 ล้านบาท

             “นี่คือที่มาที่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ก็ต้องดูแลประชาชน หลักการอันดับแรกคือต้องช่วยผู้ยากไร้ และสองคือ ต้องทำให้พวกเขามีรายได้ดีขึ้น นั่นคือต้นทุนหรือ Cost ของรัฐที่จะต้องทำ ไม่ได้มองว่า เป็นการซื้อมา–ขายไปแล้วขาดทุน เราต้องดูแลเกษตรกร แต่จะดูแลด้วยวิธีไหน รับจำนำข้าว ระบบประกัน หรือระบบให้เปล่าก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ และทุกอย่างได้วางแผนการใช้จ่ายกับกระทรวงการคลังไว้แล้ว”

ตรงนี้อยากขอความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช.ไม่ใช่ว่าจะมองแต่ตัวเลขว่าขาดทุนเท่านั้นเท่านี้ ส่วนนี้ขอเรียนว่ามันเป็นภาระของรัฐ ไม่ว่าประเทศไหน ถ้าประชาชนยังมีรายได้น้อยก็ต้องดูแล และอยากให้มองว่า เมื่อวงจรทางเศรษฐกิจเดินไปได้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะกลับมาเท่าไหร่มากกว่า

วันนี้เราคงได้เห็นว่า เมื่อรายได้ของชาวนาลดลงจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในภาพรวมอย่างไร เพราะเมื่อชาวนามีรายได้ ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาเช่นได้มา 100 บาทก็ใช้ 100 บาท ไม่ได้เก็บ นำไปซื้ออาหาร รัฐก็มีรายได้กลับมาเป็นภาษีนิติบุคคล ที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเข้ามาขายในระบบเศรษฐกิจ

             “นี่คือสิ่งสำคัญว่า ทำไมเราต้องกลับไปดูแลผู้มีรายได้น้อย ผลประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการทำให้เศรษฐกิจหมุนดีขึ้น มีการจ้างงาน การผลิตมากขึ้น ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมมีถึง 400,000 ล้านบาท ถ้ามองเฉพาะตัวโครงการอาจจะขาดทุน แต่ในภาพรวมที่ได้กลับมาในระบบเศรษฐกิจควรมองด้วยว่า ได้กลับมาเท่าไหร่”

นโยบายรับจำนำข้าวนี้ รัฐบาลไม่ได้มองแค่เรื่องของกำไรหรือขาดทุน แต่สิ่งที่รัฐบาลมองคือ ช่องว่างระหว่างผู้ที่มีรายได้น้อยกับผู้ที่มีรายได้มากที่มีช่องว่างมาก จึงได้ไปดูตัวฐานพีระมิดที่เป็นผู้มีรายได้น้อยซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่แล้วประกอบอาชีพทำนา และเมื่อมาคำนวณรายได้ที่ชาวนาได้รับต่อวัน พบว่า มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก รัฐบาลจึงบอกว่าถ้าไม่ช่วยเหลือชาวนาแล้ว เขาจะอยู่รอดได้อย่างไร และเศรษฐกิจประเทศจะหมุนไปได้อย่างไร

ถาม : คิดอย่างไรกับตัวเลขผลขาดทุนในรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี?

ตอบ : ประเด็นที่ ป.ป.ช.ระบุว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ความเสียหายที่ ป.ป.ช.อ้างอิงมาจากรายงานของอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้นเป็นประธาน ซึ่งจริงๆแล้ว ประธานคือปลัดกระทรวงคลัง แต่มอบหมายให้ น.ส.สุภาเป็นประธานแทน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ น.ส.สุภาระบุว่า มีผลขาดทุนกว่า 200,000 ล้านบาทนั้น ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ เพราะในรายงานปิดบัญชีไม่ได้รวมเอาตัวเลขข้าวที่หน่วยงานปฏิบัติยังอยู่ระหว่างการรายงาน หรือรายงานล่าช้าไปอีก 2.98 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ดังนั้น ผลขาดทุนที่ว่าจึงน่าจะขาดทุนประมาณแสนกว่าล้านเท่านั้น

ซึ่งแม้ในเวลาต่อมารัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบสต๊อกข้าวทั่วประเทศ ซึ่ง น.ส.สุภาได้เข้าร่วมตรวจสอบด้วย แต่เมื่อมีผลตรวจสอบออกมาว่าสต๊อกข้าวไม่ได้หาย น.ส.สุภากลับไม่ลงนามรับรองผลการตรวจสอบดังกล่าว

           “สิ่งที่จะยืนยันตัวเลขได้ดีที่สุดก็คือ น่าจะไปตรวจสต๊อกให้ชัดอีกครั้ง จึงเสนอขอ ป.ป.ช.ไปว่า เพื่อให้ข้อโต้แย้งเรื่องสต๊อกว่าตัวเลขใครถูก-ใครผิด เพื่อความบริสุทธิ์ใจ จึงอยากให้มีการตรวจที่ตัวสต๊อกไปเลยจะได้รู้แน่ชัดกันไปเลย ไม่ใช่แค่ตรวจบนกระดาษ”

อีกข้อโต้แย้งคือ การคิดมูลค่าข้าวในสต๊อกที่ยังไม่ได้ขาย ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี เช่น คิดราคาเต็ม คิดตามค่าเสื่อมสภาพ หรือคิดตัวที่ต่ำสุด แต่ น.ส.สุภาเลือกวิธีต่ำสุด ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุผลที่อยากให้มีคนกลางเข้ามาชี้แจงเรื่องของระบบบัญชีสากลเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องตัวเลขผลขาดทุน ซึ่งตามหลักสต๊อกจะระบุตัวที่ขายไปแล้ว ที่ยังไม่ขายจะทิ้งเป็นสต๊อกคงค้าง ไม่นำมาคำนวณแต่น.ส.สุภาได้นำมาคำนวณด้วย จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งในคณะกรรมการ กขช.

          “จริง ๆ แล้วข้าวที่ยังไม่ได้ขาย จะบอกว่าเป็นผลขาดทุนเสียทีเดียวไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบว่า สภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร ราคาข้าวจะเป็นเท่าไหร่ จะขายได้เร็วหรือช้าซึ่งต้องยึดวันที่ขายเป็นหลัก และตามหลักแล้วจะไม่มีการคำนวณในส่วนนี้เลย เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ขายยังต้องถือเป็นสินทรัพย์อยู่”

อีกประเด็นคือ เรื่องของค่าเสื่อม เช่น โต๊ะ เก้าอี้จะมีการลงบัญชีมีค่าเสื่อมประมาณ 20 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่ข้าวไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ แต่ น.ส.สุภาก็ใช้ค่าเสื่อม 20 เปอร์เซนต์ ซึ่งในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการศึกษาค่าเสื่อมข้าวว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ก็ระบุว่าหลังจาก 1 ปีค่าเสื่อมข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 0-10 เปอร์เซนต์ หลัง 3 ปี ตัดค่าเสื่อมไป 30-40 เปอร์เซนต์ แต่น.ส.สุภา ไปใส่บัญชีคิดค่าเสื่อม 20 เปอร์เซนต์ ทำให้ผลขาดทุนมากขึ้น ดังนั้น 5 ปีราคาข้าวจะเหลือ 0 บาท

นายกรัฐมนตรียืนยัน "ทำทุกอย่างเพื่อชาวนา"

ยืนยัน “ทำทุกอย่างเพื่อชาวนา”

ถาม : นายกฯมีแนวทางการต่อสู้คดีอย่างไรต่อไป?

ตอบ : ขั้นตอนการสืบพยานของ ป.ป.ช.จนถึงขณะนี้ ถือว่ายังไม่ยุติการไต่สวน เพราะ ป.ป.ช.จะมีการประชุมเพื่อทบทวนว่าจะอนุญาตให้พยานที่เหลืออีก 7 ปากที่ ป.ป.ช.ยังไม่อนุญาตให้เข้าชี้แจงได้เข้าชี้แจงหรือไม่ ซึ่งพยานเหล่านี้ได้ยื่นขอ ป.ป.ช.ไปครั้งแรก 11 ปาก แต่ถูกตัดออก 7 ปาก ต่อมาขอยื่นเพิ่มอีก 2 ปากคือ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. รวมเป็น 13 ปาก

แต่ได้ชี้แจงจริงแค่ 4 คน คือ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ และ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พยานส่วนที่เหลือจะให้ข้อคิดเห็นในมุมวิชาการ เช่น นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชี ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องทางบัญชี เพราะพยานบางท่านที่เข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ถูกถามว่า มีความรู้เรื่องบัญชีหรือไม่ แต่พอจะเอานายกสภาวิชาชีพบัญชีเข้าชี้แจง ป.ป.ช.กลับไม่อนุญาต เพราะรายงานของอนุกรรมการปิดบัญชีมีข้อไม่สมบูรณ์ เมื่อ น.ส.สุภาปิดบัญชีไปแล้วต้องส่งตัวเลขขาดทุนให้คณะกรรมการ กขช. ซึ่ง กขช.แย้งว่าระบบการปิดบัญชีไม่ได้รับการยอมรับกัน จึงต้องการฝ่ายที่สามมาให้ข้อคิดระบบการปิดบัญชีสากลว่า มีวิธีการอย่างไร

              “ที่เถียงกันคือ จุดตัดที่ว่าความเสียหายจะต้องมากขนาดไหนถึงจะยุติโครงการ เรื่องนี้เถียงกันไม่จบ โดยระบบการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นคนค้ำประกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นคนกู้เงิน และมีกรอบการควบคุมโดย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ตัวเลขบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวยังไม่ถึงขั้นวิกฤติที่จะส่งผลต่อภาระหนี้สาธารณะ ดังนั้นจึงเป็นเหตุที่ต้องร้องขอให้นายสมชัย ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังขณะนั้น ไปให้ข้อมูลวิเคราะห์ให้ ป.ป.ช.เข้าใจ”

ถาม : จะชี้แจงกรณีที่ถูกมองเรื่องการทุจริตอย่างไร?

ตอบ: ขอชี้แจงแยกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีทุจริตหรือไม่ต้องดูคดีให้ถึงที่สุด ณ วันนี้คดีถูกตรวจสอบว่าทุจริตแต่ยังไม่ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน อยู่ในชั้นของ ป.ป.ช. ซึ่งในส่วนของตัวนายกรัฐมนตรีที่โดนคดีไม่ได้โดนเรื่องการทุจริต แต่โดนเรื่องละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ใช้คำว่าส่อไปในทางทุจริต คนเลยมองว่าเราทุจริตไปแล้ว แต่โดยหลักยุติธรรม ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด จะกล่าวหาผู้ใดว่าทุจริตไม่ได้

อีกส่วนคือประโยชน์ที่ได้รับ ถามว่า ถ้าไม่ทำโครงการดูแลชาวนาแล้วชาวนาอยู่ไม่ได้ หันไปทำอาชีพอื่นเลิกปลูกข้าวแล้ว ความมั่นคงทางอาหารจะเป็นอย่างไร ขณะนี้ชาวนาก็เลิกปลูกข้าวกันไปเยอะแล้ว โจทย์ในระยะยาวคือ ทำให้ชาวนายืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง แต่การยืนด้วยลำแข้งตัวเองไม่สามารถทำได้ภายในปีเดียว เราถึงต้องค่อยไป จะยืนได้ด้วยตัวเองอย่างไร ในเมื่อหนี้สินยังล้นตัวอยู่จึงเป็นที่มาของนโยบายที่ต้องลงไปช่วย

หลังจากนั้นคือการสร้างระบบให้ได้ราคาที่เป็นธรรม เพราะเมื่อก่อนข้าวมักถูกกดราคารับซื้อ จึงต้องใช้นโยบายรับจำนำข้าว เพื่อให้ราคาข้าวเกิดความเป็นธรรมกับชาวนา ชาวนาก็จะมีรายได้ พอมีรายได้สักพักจะเริ่มทำเกษตรโซนนิ่งเพื่อปรับสมดุล สุดท้ายจะไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเราอยากเห็นตรงนั้นและมีแผนที่ต้องทำ

              “แต่ตอนนี้เพิ่งทำไปปีสองปีจะให้อยู่ได้คงไม่ใช่ ในทางกลับกัน ถ้าบอกว่าจะเลิกนโยบายทั้งหมดก็ต้องถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นในเมื่อยังมีหนี้สินล้นตัว ถ้ารัฐไม่เข้าไปช่วยเขาจะช่วยตัวเองได้อย่างไร เขาอาจถูกยึดบ้านยึดที่ดิน อาจผูกคอตายไปมากกว่านี้ด้วยซ้ำ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาว่าต้องแก้ปัญหาระยะสั้นไปก่อนให้ชาวนายืนได้ก่อน จากนั้นก็ทำให้เขาช่วยตัวเอง ซึ่งเราจะเน้นการช่วยเหลือเป็นทุนหมุนเวียน ไม่ใช่การให้เปล่า”

             “สุดท้ายหากจะถามว่า การประกันรายได้ต่างกับรับจำนำตรงไหน? นโยบายรับจำนำข้าวนั้นเราให้อาชีพเขาให้เขารู้จักปลูกข้าว เราเน้นส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดีเพื่อที่จะมีรายได้ดี แต่ถ้าประกันรายได้ไม่ต้องทำอะไร แค่จ่ายส่วนต่างราคาให้ไป ถามว่า ชาวนาจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าราคาตกก็ต้องจ่ายส่วนต่างตลอดเวลาไม่ได้มีกลไกอะไรที่จะส่งเสริมให้ชาวนาช่วยตัวเองได้”

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า มูลฐานการไต่สวนครั้งนี้มาจากการยื่นถอดถอนของพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พอกระบวนการเดินมาสู่ ป.ป.ช.ที่ต้องไต่สวนคำร้องถอดถอน ป.ป.ช.กลับมากล่าวหาเพิ่มเรื่องนายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติในคดีอาญา ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้คนละส่วนกันเลย ระหว่างบทบัญญัติเรื่องถอดถอนกับบทบัญญัติเรื่องคดีอาญา ซึ่งควรจะแยกกัน แต่กลับเอาคดีที่ ป.ป.ช.กล่าวหามารวมกับคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอน

             “ตามหลัก ป.ป.ช.ต้องฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายในการยื่นถอดถอน แต่กลับกล่าวหาซ้ำ เสริมกับที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอน แถมเอาพยานของ ป.ป.ช.มารวมให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีโดนชี้มูลในคดีนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะบอกว่าเขาเป็นพรรคแรกที่ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจนประสบความสำเร็จ”

นี่คือสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกฯและ รมว.กลาโหม ชี้แจงกับเรา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: