สช.หวั่นนร.ชิงลาออก-หนีค่าเทอมขยับ คาดขึ้นได้เพียง900โรง-ไม่เกี่ยวรร.ดัง

30 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4942 ครั้ง

ขึ้นชื่อว่า “โรงเรียนเอกชน” พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนก็ต้องทำใจแล้วว่า “ค่าเทอม” ย่อมสูงกว่า “โรงเรียนรัฐบาล” อย่างแน่นอน เพราะนอกจากค่าเทอมแล้วยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ต้องจ่ายประกอบอีกจำนวนมาก ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะคิดค่าเทอมแบบ “ลอยตัว” ตามแต่จะกำหนด ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของโรงเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งรัฐจะเข้าไปดูแลเพียงหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น

แต่ยังมีโรงเรียนเอกชนประเภทอื่นอีกที่ไม่เข้าข่ายข้างต้น นั่นคือ โรงเรียนเอกชนประเภทที่เป็นการกุศลของมูลนิธิ องค์กร ศาสนาต่าง ๆ ซึ่งทุกคนมีโอกาสเรียนฟรี เพราะรัฐอุดหนุนให้ทั้งหมด 100 เปอร์เซนต์ ส่วนกลุ่มหลังสุดคือประเภทที่รัฐอุดหนุน “เงินรายหัว” ให้ 70 เปอร์เซนต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซนต์ โรงเรียนต้องไปเรียกเก็บจากผู้ปกครองเอง

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เห็นชอบปรับเพิ่มเพดานการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐ จำนวนกว่า 3,000 โรงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มหลังสุดนี้ แต่ไม่มีผลกับ 2 กลุ่มแรก

แจงปรับเพิ่มแค่โรงเรียน 70:30

ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ผู้รับผิดชอบโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ให้สัมภาษณ์ TCIJ ว่า โรงเรียนเอกชนแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลทั้งของวัด ของศาสนา ของมูลนิธิ หรือสำหรับผู้พิการ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อมาเข้าเรียนแล้วไม่เสียค่าเล่าเรียนใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐอุดหนุนให้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 โรง

กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่เก็บค่าเล่าเรียนลอยตัว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 แห่ง โรงเรียนกลุ่มนี้สามารถขึ้นค่าเล่าเรียนจำนวนเท่าใดก็ได้ เพราะไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องให้รัฐควบคุมคุณภาพการศึกษา และต้องประกาศให้ผู้ปกครองทราบก่อนนำลูกไปสมัครเรียน หรือก่อนมอบตัวว่าในรอบ 1 ปี 3 ปี หรือ 6 ปีมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เช่น ประเภทโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร English Program (EP) เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่เก็บค่าธรรมเนียมลอยตัวตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ปกครอง

            “สองกลุ่มแรกคือ โรงเรียนเอกชนที่ไม่เรียกเก็บเงิน กับเรียกเก็บเงินในอัตราที่สูงที่สุด ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในข่ายที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่ม ส่วนกลุ่มที่เข้าข่ายคือ กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 70 เปอร์เซนต์ ของอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐ และอนุญาตให้เรียกเก็บจากผู้ปกครองได้ 30 เปอร์เซนต์” ดร.บัณฑิตย์กล่าว

ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มเฉลี่ย 1,000-2,000 บาท

สำหรับอัตราใหม่ที่โรงเรียนเอกชนกลุ่มนี้จะนำไปใช้ในการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษานั้น สช.ได้ใช้ฐานจากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายรายหัวปี 2553 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มาใช้ดำเนินการในปีการศึกษา 2557 นี้ โดยแบ่งเป็น

  • ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) อัตราเพดานสูงสุดเดิมที่เรียกเก็บได้ 13,260 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 14,900 บาท
  • ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 12,960 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 14,900 บาท
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อัตราเดิม 15,652 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 17,780 บาท
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ อัตราเดิม 15,952 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 17,780
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ อัตราเดิม 16,222-22,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 19,910-29,970 บาท

โดยการปรับอัตราเพดานดังกล่าว สช.ระบุว่า เฉลี่ยแล้วผู้ปกครองจะต้องจ่ายเฉพาะในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ประมาณปีละ 3,000 บาท และในระดับมัธยมศึกษาอยู่ที่ 2,000 บาทต่อปี หรือจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000-2,000 บาท โดยเพดานใหม่นี้อาจจะใช้เพียง ปีการศึกษา 2557 นี้เท่านั้น โดยจะมีการทำวิจัยหาตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันขึ้นใหม่ และอาจจะนำมาใช้ปรับเพดานค่าธรรมเนียมการเรียนของโรงเรียนเอกชนใหม่อีกครั้งในปีการศึกษา 2558

             “การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อผู้ปกครองไม่มากนัก เพราะหากรับราชการก็สามารถเบิกค่าเล่าเรียนลูกได้ และกระทรวงการคลังยังปรับเพดานการเบิกค่าเทอมให้อีก 400 บาทด้วย โดยมีข้อแม้ว่า โรงเรียนกลุ่มนี้จะต้องประกาศแจ้งให้ผู้ปกครองทราบก่อนเปิดภาคเรียน ว่าจะเรียกเก็บเงินรายการใด อัตราเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ปกครองได้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายประกอบการตัดสินใจ” ดร.บัณฑิตย์ระบุ

 

ปรับเพิ่ม 900 โรง ยังไม่กล้าทั้งหมด หวั่นเด็กหนี

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลในปีการศึกษา 2557 แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ดร.บัณฑิตย์กล่าวว่า การขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาก็อาจจะไม่สามารถทำได้ในโรงเรียนเอกชนทุกแห่งที่อยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจากการพิจารณา ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของโรงเรียน สภาพเศรษฐกิจ และความพึงพอใจของผู้ปกครอง เพราะหากผู้ปกครองไม่พอใจที่ต้องเสียเงินเพิ่ม อาจตัดสินใจย้ายให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนของท้องถิ่น หรือโรงเรียนเอกชนที่ไม่ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่น ที่จะเป็นผลทำให้โรงเรียนเดิมอาจจะเปิดการเรียนการสอนต่อไปไม่ได้ ดังนั้นแม้ว่าจะมีประกาศออกมาในปีการศึกษา 2557 แต่ สช.ประเมินจะมีโรงเรียนที่ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไม่เกิน 900 โรงเท่านั้น และจะขึ้นค่าธรรมเนียมในอัตราประมาณ 300-500 บาทเท่านั้น ขณะในส่วนที่ปรับขึ้นเต็มเพดาน 100 เปอร์เซนต์ มีการประเมินว่าจะมีประมาณ 100 โรง ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพและผู้ปกครองยินดีจ่ายเงินเพิ่ม

ร.ร.เอกชนภาระมากกว่าร.ร.รัฐ แต่ติดเพดานค่าเทอม

สำหรับการปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาครั้งนี้ นับเป็นการเพิ่มครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยสช.ให้เหตุผลว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ขณะที่นโยบายการปรับเพิ่มเงินเดือนครูระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ส่งผลให้โรงเรียนต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นด้วย ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่โรงเรียนเอกชนต้องแบกรับเอง ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ สาธารณูปโภค คอมพิวเตอร์ หรือยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้นี้หากเป็นโรงเรียนของรัฐได้รับการจัดสรร ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องแบกรับภาระมาโดยตลอด ไม่สามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตั้งแต่ปี 2544 การปรับครั้งนี้จึงถือว่าสมเหตุสมผล และน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาที่จะปรับมากขึ้นกว่าโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ที่หากปรับขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เรียนได้

ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) 

ตั้งเป้าเพิ่มให้ได้ 30 เปอร์เซนต์ แบ่งเบาภาระงบการศึกษา

แม้ส.ช.จะให้เหตุผลในการปรับขึ้นอัตราคาธรรมเนียมการศึกษาอย่างชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามต่อมาว่า เมื่อผู้ประกอบการด้านการศึกษาสมัครใจมาประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชนแล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงต้องเข้าไปอุดหนุน เพราะดูเหมือนว่าปัจจุบันโรงเรียนเอกชนจำนวนมากเริ่มมีการดำเนินการออกไปในลักษณะทางธุรกิจมากขึ้น ดร.บัณฑิตย์อธิบายว่า ภาระด้านงบประมาณการศึกษาของรัฐ จะขึ้นอยู่กับจำนวนของโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะหากเอกชนเข้ามาจัดการศึกษาได้มากเท่าไหร่ ก็จะแบ่งเบางบประมาณของรัฐได้มากเท่านั้น แม้กระทั่งโรงเรียนเอกชนการกุศล โรงเรียนการศึกษาพิเศษ หรือโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ที่จัดการศึกษาฟรี 100 เปอร์เซนต์ ก็แบ่งเบาภาระของรัฐได้ เพราะรัฐไม่ต้องสร้างอาคารเรียนให้ ไม่ต้องดูแลครูตลอดชีวิต หรือไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ ดังนั้นที่ผ่านมากลุ่มเอกชนที่เข้ามาจัดการศึกษา จึงช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของรัฐได้ถึง 4 เท่า คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 40,000,000,000 บาทต่อปี (สี่หมื่นล้านบาท) ดังนั้นรัฐจึงเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาจัดการศึกษา

ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการ และสช. วางเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000,000 กว่าคน หรือ 20 เปอร์เซนต์ ของนักเรียนทั้งประเทศ ให้ขยับสูงขึ้นเป็น 30 เปอร์เซนต์ เพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้ถึง 60,000,000 บาทต่อปี

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 11,971 แห่ง นักเรียน 3,591,155 คน และครู 160,307 คน จำแนกได้ดังนี้ โรงเรียนในระบบจำแนกเป็น

  • ประเภทสามัญศึกษา จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เตรียมอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งจัดการศึกษาตามหลักสูตรของศธ. หรือเป็นหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากศธ. โดยทั้งสองประเภทนี้หมายรวมถึงกลุ่มโรงเรียนที่จัดการศึกษาในลักษณะโรงเรียนการกุศล โรงเรียนการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์
  • ประเภทนานาชาติ ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศ  ไม่ใช่หลักสูตรของศธ.

โรงเรียนนอกระบบ จำแนกเป็น

  • ประเภทสอนศาสนา ประเภทศิลปะและกีฬา ประเภทวิชาชีพ ประเภทกวดวิชา ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวต
  • โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จับตา : การใช้งบอุดหนุนจากรัฐของร.ร.เอกชน

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4306

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: