เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มศึกษาปัญหายา ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมแพทย์ชนบท ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้ตรวจสอบ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ด้วยปรากฎมีพฤติกรรมส่อทุจริตและทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ได้แก่ การเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ และการจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (CAPD) ส่อไปในทางทุจริต
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ภาพจาก www.manager.co.th/)
ในหนังสือร้องเรียนปปช. ของ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ระบุว่า โครงการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน กับ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เนื่องจาก นพ.สุวัช แต่งตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD มี นพ.สุวัช เป็นประธาน นพ.ดำรัส โรจนเสถียร เป็นที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ต่อมามีการประชุมคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2557 โดยมีนายสุวัช เป็นประธาน นายดำรัส เป็นที่ปรึกษา มีมติให้ใช้สถานที่ของรพ.มหาสารคามอินเตอร์ จ.มหาสารคาม เป็นสถานที่ดำเนินโครงการ พร้อมทั้งจ้าง นพ.ดำรัส โรจนเสถียร เจ้าของโรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์ เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ
นพ.ดำรัส โรจนเสถียร (ภาพจาก thaipublica.org/)
นอกจากนี้ ในที่ประชุมนี้ยังเห็นชอบในการกำหนด Specification ของสาย Tenckhoff ซึ่งบริษัทของลูก นพ. ดำรัส เป็น ผู้แทนจำหน่าย สาย Tenckhoff ด้วย (Natural Media Co.,Ltd) โดยมีข้อสังเกตว่า เหตุใดรพ.มหาสารคามอินเตอร์ จึงส่งใบเสนอราคาได้ทันทีที่ประชุมเสร็จเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก่อนวันอนุมัติโครงการ 29 ก.ค. ทั้งนี้ใบเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่ 924 ตารางเมตรรายเดือน ในอัตราตารางเมตรละ 500 บาท เป็นเงิน 462,000 บาท
โครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ นพ.สุวัชอนุมัติเมื่อวันที่ 29 ก.ค. มีมูลค่าโครงการ 25 ล้านบาท เป็นค่าจัดหาสถานที่ 9 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการ 3 ล้านบาท พัฒนาระบบ IT 13 ล้านบาท ทาง 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพได้ตั้งข้อสังเกตในหนังสือร้องเรียนต่อ ปปช.ว่า การดำเนินโครงการนี้มีพฤติกรรมพยายามหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ เพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของผู้อำนวยการ และมีพฤติการณ์ส่อทุจริต โดยวงเงินที่ตั้งเรื่องขออนุมัติอยู่ในวงเงินเกือบสูงสุดที่ผอ.อนุมัติได้ ทำไมต้องเช่า 18 เดือน เหตุใดไม่เช่า 12 หรือ 24 เดือน
“ยังมีการจ้าง นพ.ดำรัสเป็นที่ปรึกษาโครงการ 6 เดือน ในค่าจ้าง 1 ล้านบาท โดยวิธีตกลงราคา ทั้งที่ในโครงการได้กำหนดค่าจ้างที่ปรึกษา 18 เดือน จำนวนเงิน 3 ล้านบาท ส่อให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของ นพ.สุวัชที่จะหลีกเลี่ยงอำนาจในการอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากในการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลงราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของผู้อำนวยการ หากเกินกว่านั้นเป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม”
นอกจากนี้ ข้อกำหนดการเช่าพื้นที่สำหรับโครงการที่แนบสัญญา (TOR) มีเพียง 1 หน้า ซึ่งกำหนดรายละเอียดน้อยมาก เอื้อประโยชน์ให้ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เช่น กำหนดให้ผู้เสนอราคาเสนอราคาที่เป็นราคาสุทธิ ซึ่งรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และในข้อกำหนดไม่มีระบุถึงการบริการที่ อภ.ประสงค์จะได้จากการเช่าสถานที่ คืออะไรบ้าง อีกทั้งข้อบังคับของ อภ.ในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในส่วนภูมิภาค กำหนดให้ขอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของสถานที่ และอัตราค่าเช่าจากจังหวัดนั้นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย แต่การนี้อภ.ไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งอาจแสดงถึงความเร่งรีบและไม่สุจริต
ทั้งนี้ สัญญาเช่าพื้นที่สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง นพ.สุวัช ผอ.อภ.ได้ลงนามร่วมกับ นพ.ดำรัส ที่ปรึกษาในฐานะผู้ให้เช่าพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 เช่นเดียวกับสัญญาจ้าง นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ