ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงิน

30 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4516 ครั้ง


เราตกลงกันตรงนี้ก่อนว่า “การตรวจสุขภาพ” หรือ “การตรวจคัดกรองสุขภาพ” ในที่นี้หมายถึงการเข้ารับการตรวจเบื้องต้นในขณะที่เรายังไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย และเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเท่านั้น

ย้ำอีกที ... การตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค

เราควรรับการตรวจคัดกรองอะไรบ้าง

เราคงไม่บอกคุณว่าควรหรือไม่ควรตรวจอะไร เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ทราบถึงปัจจัยแวดล้อมตัวเองดีที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน และเรายังอยู่ในระหว่างการรอคู่มือการตรวจสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉลาดซื้อ จึงขออ้างอิงผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ศึกษารายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการรวมกันของทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ในปัจจุบัน*)

สิทธิประโยชน์ในบริการตรวจคัดกรองสุขภาพของแต่ละระบบ

·         สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมการตรวจในห้องปฏิบัติการ 16 รายการ
·         ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมการตรวจมะเร็งปากมดลูก ภาวะกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก การติดเชื้อเอชไอวี
·         ระบบประกันสังคม ปัจจุบันไม่มีการระบุไว้ ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง

งานวิจัยได้เสนอการตรวจคัดกรองในระดับประชากร ที่มีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์จริงไว้ตามตารางข้างล่างนี้

การตรวจทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาทต่อคนต่อปี  (เทียบกับระบบการตรวจคัดกรองตามสวัสดิการข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง 530 – 1,200 บาท เพราะมีการตรวจบางรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจน)

อาจต้องเลิกใช้คำว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” เพราะบางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางอย่างตรวจได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง

งานวิจัยพบว่า การตรวจต่อไปนี้ยังไม่มีมาตรการเหมาะสมและยังไม่คุ้มค่าที่จะทำในระดับประชากร

-          การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ทั้งโดยการคลำเต้านมโดยแพทย์และโดยตนเอง
-          ไตอักเสบ/นิ่วในไต โดยการตรวจ BUN (Blood Urea Nitrogen) หรือ Creatinine หรือ การตรวจปัสสาวะ
-          วัณโรค โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก
-          โรคหืด

ในกรณีที่คุณรู้สึกว่ารายการตรวจข้างต้นน่าจะยังไม่เพียงพอ และกำลังชั่งใจกับแพ็คเกจตรวจสุขภาพสุดคุ้มที่ฝ่ายการตลาดของสถานบริการสุขภาพปล่อยออกมาเอาใจ “คนรักสุขภาพ” ที่มีรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ด้วยสนนราคา “พิเศษ” เราขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้คุณพิจารณา

ข้อคิดก่อนตัดสินใจควักกระเป๋าเหมาแพ็คเกจตรวจสุขภาพ

·         ยังไม่มีการตรวจคัดกรองใดๆ ที่ให้ผลได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์
·         ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานควบคุมการตรวจสุขภาพ และไม่มีหน่วยงานระดับชาติที่เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้โดยตรง และการควบคุมคุณภาพการตรวจก็ทำได้ยากมาก
·         เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจนั้นจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าปกติ” ซึ่งค่านี้จะได้จากการสะสมข้อมูลจากผู้เข้ารับการตรวจ แต่ละเครื่องในแต่ละสถานบริการจะมีช่วงค่าปกติที่แตกต่างกันไป หลายคนจึงเคยได้ยินเรื่องราวว่าบางคนตรวจแล้วได้ผลไม่ปกติ แต่ทำไมพอไปตรวจอีกที่หนึ่งแล้วปกติ เป็นต้น
·         การที่เรามีความผิดปกติทางพยาธิวิทยา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเกิดอาการเจ็บป่วยจากโรคนั้นเสมอไป เช่น ผู้ที่มีเซลล์มะเร็งบางชนิดสามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติจนกระทั่งเสียชีวิตไปด้วยโรคอื่น
·         มีมะเร็งเพียงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถให้การรักษาได้ผลดีเมื่อถูกตรวจพบในระยะแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก แต่วิธีการตรวจจะต้องมีความแม่นยำ และราคาไม่แพง
·         รายการตรวจคัดกรองสุขภาพบางรายการยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทั้งในทางประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจการทำงานของไตและตับ เป็นต้น
·         การตรวจคัดกรองโรคบางอย่างมีขั้นตอนซับซ้อนและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น กรณีผู้เข้ารับการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีสวนหัวใจ ที่เสียชีวิตเพราะหลอดเลือดใหญ่ถูกสายสวนหัวใจแทงทะลุขณะตรวจ เป็นต้น
·         ผลข้างเคียง ภาวะแทรกซ้อน อาจเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อมีการใช้ยา สารเคมี หรือเครื่องมือมากระทำต่อร่างกาย จึงควรสอบถามถึงวิธีการตรวจก่อนตัดสินใจ
·         มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันว่าการตรวจสุขภาพแบบเหวี่ยงแห (ไม่ได้ชี้เฉพาะว่าต้องการตรวจหาโรคอะไร) นั้นเป็นโทษมากกว่าประโยชน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี

ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

บทความ “การตรวจคัดกรองที่เหมาะกับสังคมไทย” โดย ภญ.ธนัญญา คู่พิทักษ์ขจร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

ตารางแสดงผลการเปรียบเทียบราคาและรายการตรวจของตัวอย่างโปรแกรมตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่มีอายุ  35 ปีขึ้นไป ของโรงพยาบาลต่างๆ

*หมายเหตุ : ร.พ.วิภาวดี, ร.พ.กรุงเทพ, ร.พ.ลาดพร้าว และ ร.พ.สมิติเวช มีการให้คูปองทานอาหาร (สำหรับใช้ในโรงพยาบาล) รวมอยู่ในราคาที่จ่ายในการตรวจสุขภาพด้วย
**เป็นการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกานยน 2554 ราคาและรายละเอียดการตรวจอาจมีการเปลี่ยนแปลง ผู้อ่านที่อยากไปตรวจสุขภาพควรสอบถามไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ ก่อนไปใช้บริการ

*****************************************

ที่มา

นิตยสารฉลาดซื้อออนไลน์ ฉบับที่ 157 ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงิน ไม่เปลืองตัว เขียนโดย เตือนใจ รอดสกุล

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ประเภทอาหาร/สุขภาพ ฉบับที่ 130 ตรวจสุขภาพประจำปี จ่ายเท่าไหร่ ได้ตรวจอะไรบ้าง!!!

 

ขอบคุณรูปภาพ www.chaladsue.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: