สถานการณ์การฆ่าตัวตาย

30 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 6766 ครั้ง


อัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวม

อัตราการฆ่าตัวตายทั้งประเทศ (รายต่อประชากรแสนคน)

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อัตราการฆ่าตัวตายในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิต ปี พ.ศ.2545 พบว่า อัตราความสูญเสียจากการฆ่าตัวตายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4,000 ล้านบาทต่อปี ภูมิภาคที่มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง ภาคอิสาน และภาคใต้ตามลำดับ

อัตราการฆ่าตัวตายทั้งประเทศ แยกตามอายุ

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อัตราการฆ่าตัวตายทั้งประเทศ แยกตามเพศ

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดในปี พ.ศ.2554

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดในปี พ.ศ.2554 ได้แก่ 1.ลำพูน 2.ระยอง 3.เชียงใหม่ 4.น่าน 5.เชียงราย 6.พะเยา 7.เพชรบูรณ์ 8.นครสวรรค์ 9.แพร่ 10.อุตรดิตถ์

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี พ.ศ.2553 พบว่าในจำนวนของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้น มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,761 คน และมีผู้ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ 23,815 คน

อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ

จากงานวิจัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จ: กรณีศึกษาจังหวัดสุโขทัย โดยอนุพงศ์ คำมา ทำการศึกษากลุ่มผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จในช่วงปี 2549-2554 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2553 เป็นดังนี้ 5.77, 5.95, 5.96, 5.72, 5.90 ต่อประชากรแสนคน แม้จะมีการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของคนไทยอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยยังคงติดอันดับ 56 ของโลก

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านเพศพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง 2.4 เท่า โดยผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 30.00 มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 65.45 ประกอบอาชีพรับจ้าง/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 40.90 ส่วนกลุ่มผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มีสองช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 31-40 ปี และ อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 24.55 มีสถานภาพสมรสเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.91 อาชีพ เกษตรกรรม ร้อยละ 43.18

สำหรับวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตายนั้น พบว่าในกลุ่มฆ่าตัวตายสำเร็จ ใช้วิธีการผูกคอตาย ร้อยละ 52.73 ตามด้วยการใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ร้อยละ 44.54 ส่วนในกลุ่มพยายามฆ่าตัวตาย วิธีการที่ใช้ในการพยายามฆ่าตัวตาย คือ การใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ร้อยละ 54.09 รองลงมาเป็น การกินยาเกินขนาด ร้อยละ 31.82

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จอื่นๆ ได้แก่ การมีโรคประจำตัวที่เป็นโรคทางกายและโรคทางจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น อัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง/ไขสันหลัง มะเร็งในทุกอวัยวะ โรคตับเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง พิการที่หู ตา แขน ขา รวมไปถึงภาวะปวดไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือปวดข้อ/ปวดเข่า/ปวดหลังเรื้อรัง มีปัญหาการใช้แอลกอฮอล์ มีภาวะซึมเศร้า และมีปัญหายาเสพติด

ส่วนกลุ่มปัญหาหรือเหตุการณ์กระตุ้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) ในกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพบปัญหาต้องการการเอาใจใส่/ตามใจ/ร้องขอแล้วไม่ได้ และปัญหาเกี่ยวกับความผิดหวังในความรัก/หึงหวง

2) ปัญหาเศรษฐกิจ การสูญเสียทรัพย์/ประสบภัย/เสียพนัน ปัญหาค้าขายขาดทุน/ล้มละลาย และปัญหายากจน/ขัดสน

3) ปัญหาอื่นๆ เช่น มีคดี/หนีความผิดที่ตนเองก่อ

นอกจากนี้ พบปัจจัยเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือการป่วยด้วยอาการปวดข้อ/ปวดเข่า/ปวดหลัง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 2.4 เท่า การป่วยอัมพาต/หลอดเลือดสมอง/ไขสันหลัง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 5.9 เท่า การป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 3.9 เท่า โรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 2.0 เท่า ปัญหาติดแอลกอฮอล์เรื้อรังมีความเสี่ยงต่อ การฆ่าตัวตายสำเร็จ 4.7 เท่า ปัญหาผิดหวังเรื่องความรัก/ หึงหวงมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 2.2 เท่าและปัญหาสูญเสียทรัพย์/ประสบภัย/เสียพนัน มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จ 13.3 เท่า

ตำรวจฆ่าตัวตายมากขึ้น

เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยสถิติข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2551-2556 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ย 29.17 นายต่อปีเฉพาะปี พ.ศ.2556 มีตำรวจฆ่าตัวตายถึง 31 นาย

ตามสถิติรวบรวมไว้ว่า ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด อยู่ระหว่าง อายุ 41-50 ปี ชั้นยศที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ นายดาบตำรวจ สายงานที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ สายปราบปราม กองบัญชาการที่มีการฆ่าตัวตายมากสุด 3 อันดับ คือ บช.ภ. 5 บช.ภ. 3 และ บช.น.

ย้อนกลับไปดูสถิติตำตรวจฆ่าตัวตาย เมื่อปลายปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะ วิเคราะห์ไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย อาทิ ปัญหาครอบครัว, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาส่วนตัว, ปัญหาหนี้สิน และปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ซึ่งมีหลายปัจจัยประกอบกัน รวมทั้งสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจเองด้วย นอกจากนี้ จากสภาพการปฏิบัติหน้าที่ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดและกดดันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายเช่นกัน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งขณะนั้น) จึงกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย โดยให้ผู้บังคับบัญชาสำรวจข้อมูลผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้ทราบว่าใครมีความเสี่ยง โดยมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง อาทิ มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาทางบุคลิกลักษณะ หรือสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพ หรือมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตาย

การทำงานของกรมสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วนงานสำคัญที่ดูแลปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงในปี พ.ศ.2554 มีทั้งสิ้น 4,983 คน เป็นข้าราชการ 3,142 คน ลูกจ้างประจำ 1,419 คน และพนักงานราชการ 422 คน คิดเป็นร้อยละ 94.46 ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่มีอยู่

โดยสถิติการให้บริการผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต พ.ศ.2551-2553 พบว่า ผู้พยายามฆ่าตัวตายและผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมีการใช้บริการลดลงและน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตโรคอื่นๆ แต่อาจสอดคล้องกับนโยบายของกรมสุขภาพจิตในการป้องกันการฆ่าตัวตายสำเร็จและการค้นหาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

*********************************

ที่มา

งานวิจัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จ: กรณีศึกษาจังหวัดสุโขทัย, อนุพงศ์ คำมา, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 58 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2556

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.oknation.net/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: