ถกสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็นยังไร้ทิศทาง สะดุดการเมือง-กองทัพหวั่นแยกดินแดน

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 31 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2186 ครั้ง

แม้การเปิดหน้าพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มการบีอาร์เอ็น นับเป็นความก้าวหน้าของนโยบายรัฐ ทว่าส่วนรัฐบาลที่เป็นผู้ดำเนินการยังไร้เอกภาพและความต่อเนื่อง ชัดเจนจากแกนหลักการขับเคลื่อนการพูดคุย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านข้าราชการหลักอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใต้สมญานามสามทหารเสือ ผู้คุมทิศทางหลักในการพูดคุย แม้ว่าจะมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมก็ตาม อีกทั้งยังไม่ปรากฏตัวแทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศ, สำนักงานอัยการสูงสุด

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลสำคัญที่ยังไม่ได้นำเอาหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยว่า อาจเป็นเพราะบนโต๊ะเจรจายังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ในทิศทางของกระบวนการ โดยเฉพาะฟากกองทัพ ซึ่งในช่วงต้นมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการลงนาม เพื่อเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการ และแม้ว่าในรอบหลายเดือนที่ผ่านมากองทัพจะมีท่าทีสนับสนุนการพูดคุยมากขั้น ทว่ายังคงมีความอิหลักอิเหลื่อในหลายประเด็น มีความหวั่นเกรงว่าการเลื่อนขั้นจากการพูดคุย เป็นการเจรจาโดยให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (mediator) นั้น จะเป็นการยกระดับขบวนการต่อต้านรัฐ อีกทั้งการนำเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้การแก้ปัญหาหลุดออกไปจากมือของรัฐไทย และมีความเสี่ยงที่จะผลักสถานการณ์ให้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

(จากซ้ายไปขวา) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก 

การเมืองส่วนกลางไร้เสถียรภาพ การพูดคุยชะงัก

แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีความกล้าหาญในการริเริ่มการพูดคุยสันติภาพ แต่ความขัดแย้งของการเมืองส่วนกลาง กลับทำให้รัฐบาลนี้ต้องยุติบทบาทลง ก่อนที่จะครบวาระ ทำให้การพูดคุยต้องหยุดชะงักและเกิดความไม่แน่นอนว่า การพูดคุยจะเดินต่อไปในทิศทางใด ในสภาวะที่การเมืองส่วนกลางยังคงไม่นิ่งและไร้เสถียรภาพ การดำเนินการเจรจาในเนื้อหาเพื่อนำมาสู่ข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งจะกระทำได้ยาก โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง อาทิ การตั้งเขตปกครองพิเศษ อาจจะถูกคู่ตรงข้ามทางการเมืองหยิบฉวยไปเป็นประเด็นโจมตี เพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลลง

รัฐ-บีอาร์เอ็น ยังไร้จุดร่วม ยอมรับ-แยกตัว?

การที่บีอาร์เอ็นยินยอมที่จะพูดคุยสันติภาพ “ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย” แสดงถึงความต้องการที่จะประนีประนอมและแสวงหาทางออกร่วมกับรัฐไทย บีอาร์เอ็นได้ระบุในเอกสารอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ต้องการที่จะแยกตัวออกไปจากรัฐไทย พวกเขาต้องการเพียงให้รัฐไทยยอมรับ “สิทธิความเป็นเจ้าของ” เหนือดินแดนปาตานี ด้วยการมอบอำนาจในการปกครองตนเอง รุ่งระวีตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้นับว่าเป็นการ “ยอมถอย” ในระดับหนึ่ง จากเดิมที่เคยมุ่งแต่จะต่อสู้เพื่อ MERDEKA หรือการประกาศเอกราชเหนือดินแดน แต่ทั้งนี้ ในขบวนการเอง ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แน่นอนว่ายังคงมีปีกที่ยืนกราน ว่าต้องการเอกราช ตามรายงานขบวนการฯ พบสื่อไทย ส่งสัญญาณเดินหน้ากับสันติภาพ โดย FT Media สื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานว่า แกนนำของบีอาร์เอ็นออกมายอมรับว่า มีผู้ที่สนับสนุนการพูดคุยประมาณ 30 เปอร์เซนต์ อีก 30 เปอร์เซนต์ ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ ในขณะที่อีก 40 เปอร์เซนต์ ยังไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐเองมีทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ คือทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนแนวทางการพูดคุยสันติภาพเช่นกัน

(ซ้ายสุด) รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ขอบคุณภาพจาก http://www.matichon.co.th/

แนะบีอาร์เอ็นอย่าเป็น “เด็กดื้อไร้เหตุผล” เผชิญหน้าการเมืองระหว่างประเทศ

การพูดคุยเพื่อสันติภาพมีแนวโน้มที่จะสร้างโอกาสในการลดท่าทีที่แข็งกร้าว และทำให้เกิดการประนีประนอมมากขึ้น บีอาร์เอ็นจะต้องเปิดตัวและต้องเผชิญกับการเมืองในระดับชาติและระหว่างประเทศ พวกเขาจำเป็นจะต้องตัดสินใจอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อสร้างและดำรงความชอบธรรมของฝ่ายตนในเวทีการพูดคุย ตัวอย่างที่เห็นอันหนึ่งคือ บทบาทของมาเลเซียและองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ซึ่งมีผลอย่างสำคัญที่ทำให้บีอาร์เอ็นยอมลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน แม้ว่าในภายหลังจะมีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม เมื่อขบวนการให้ความสำคัญกับ OIC พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องไม่ปฏิบัติตัวเป็น “เด็กดื้อไร้เหตุผล” ในสายตาของOIC กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า องค์กรระหว่างประเทศนั้น สามารถมีบทบาทในการสนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวกของกลุ่มต่อต้านรัฐได้ ซึ่งความคิดที่ว่าการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพจะเป็นผลลบต่อรัฐบาลไทยนั้น รุ่งรวีตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพียงแค่มายาคติ

แถลงผ่านยูทูปเรียกศรัทธาสมาชิกบีอาร์เอ็น

กรณีการออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทูป แสดงให้เห็นว่า ขบวนการต้องการที่จะสื่อสารกับมวลชนทั้งผู้สนับสนุนและสาธารณชน เพื่อสร้างการยอมรับต่อการดำเนินการในการพูดคุยสันติภาพ เพราะหากขบวนการถูกมองว่า “ขายตัว” ในทางการเมืองแล้ว ย่อมทำให้พวกเขาสูญเสียความชอบธรรมในหมู่มวลชนผู้สนับสนุน ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงของขบวนการ หลังการลงนามการพูดคุยอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดีได้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และความสงสัยอย่างกว้างขวาง ในช่วงการออกแถลงการณ์ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ เหตุใดจึงยอมที่จะพูดคุยภายใต้เงื่อนไขที่ดูเหมือนว่าถูกตั้งโดยฝ่ายไทยได้อย่างง่ายดาย

บีอาร์เอ็นแถลงผ่านยูทูป ขอบคุณภาพจาก http://narater2010.blogspot.com/

ทั้งนี้รุ่งรวีระบุอีกว่า แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับขบวนการระบุว่า การออกมาแถลงเรื่องข้อเรียกร้องห้าข้อ ส่งผลในการเรียกศรัทธาจากสมาชิกและผู้สนับสนุนขบวนการได้พอสมควร ปัจจัยนี้น่าจะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดท่าทีของบีอาร์เอ็นในอนาคต อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่ปรากฎชัดเจนว่า ปัจจัยเรื่องมวลชนจะทำให้ขบวนการมีความแข็งกร้าวมากขึ้นหรือน้อยลง

แนะรัฐไทยตั้งหน่วยงานถาวรประสานพูดคุย

ในการพูดคุยสันติภาพควรให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของรัฐ อาทิ สมช. ศอ.บต. กอ.รมน. กระทรวงการต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด ฯลฯ ล้วนมีตัวแทนในระดับสูงอยู่ในคณะผู้แทนแล้ว รัฐบาลควรตั้งหน่วยงานถาวรทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการและประสานงานการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการทำงาน โดยไม่สะดุดลงในช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ควรตั้งคณะที่ปรึกษาทางวิชาการทำหน้าที่ในการให้ข้อเสนอทางเลือก และศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่คู่ขัดแย้งยังคงมีความเห็นไม่ตรงกัน

สำหรับขบวนการปลดปล่อยปาตานี ควรมีการพูดคุยภายในระหว่างและภายในกลุ่มของตนเอง เพื่อสร้างความเห็นและท่าทีร่วมต่อประเด็นต่าง ๆ ในการพูดคุยสันติภาพ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปีกที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวขัดขวางการพูดคุย ขบวนการควรศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมนำเสนอทางเลือกรูปแบบทางการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และเป็นไปได้ในเงื่อนไขทางการเมืองภายในประเทศและเหมาะสมกับบริบทโลกในยุคโลกาภิวัตน์ อีกทั้งยุติการโจมตีเป้าหมายพลเรือนที่ไม่ได้ถืออาวุธ (non-combatants) ปราศจากเงื่อนไข

ภาคประชาสังคม วิชาการควรสร้างความเข้าใจสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่ต่อประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันในการพูดคุยสันติภาพ ของคนทุกเชื้อชาติในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบกติกาทางการเมืองใหม่ที่พวกเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้านสื่อมวลชนควรที่จะนำเสนอข่าวและรายงานที่ลึกมากกว่าเพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน และควรที่จะรายงานความเคลื่อนไหว เพื่อให้คนไทยมีความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: