แพทย์ไร้พรมแดนชี้อีโบลา ระบาดหนัก-หวั่นคุมไม่อยู่

31 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1348 ครั้ง

หน่วยแพทย์ไร้พรมแดนซึ่งเป็นหน่วยแพทย์อาสาที่ทำงานในหลายประเทศทั่วโลกระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติเพราะยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ อีกทั้งยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

อีโบลาเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มฟิโลไวรัส พบครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา ใกล้แม่น้ำอีโบลา จึงตั้งชื่อโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2519 และเกิดมีการระบาดมากกว่า 20 ครั้งในแอฟริกา สันนิฐานว่าอาจจะมีค้างคาวเป็นตัวนํา และยังพบโรคดังกล่าวในสัตว์ตระกูลลิง (Nonhuman Primates) ในแอฟริกา แต่ติดต่อมาสู่คนด้วยวิธีใดยังไม่ทราบแน่ชัด สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสเชื้อโดยตรง จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อม

ไวรัสอีโบลาจะใช้เวลาฟักตัวตั้งแต่ 2 วัน ไปจนถึง 21 วันหลังรับเชื้อมา จึงทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะดูไม่ออกว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อบ้าง

มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้เดินทางข้ามประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ในแอฟริกา โดยสายการบินไม่มีมาตรการในการคัดกรองผู้โดยสารเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสแต่อย่างใด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบายเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลาไว้ว่า ไวรัสอีโบลาเป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เมื่อได้รับเชื้อจะมีการติดเชื้อเฉียบพลัน ผู้ได้รับเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 โดยเมื่อรับเชื้อแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะรุนแรง ท้องเสีย มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรงอาจมีภาวะไตวายและตับเสื่อมสภาพ เชื้อไวรัสอีโบลามีด้วยกันทั้งหมด 5 สายพันธุ์ โดย 3 ใน 5 สายพันธุ์เป็นเชื้อที่รุนแรง ได้แก่ สายพันธุ์ดิบูเกียว สายพันธุ์ซูดาน และสายพันธุ์ซาอี

แพทย์แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่านำเข้า ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะลิงและค้างคาว

สำหรับประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคอีโบลา ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย

2.หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เนื่องจากเชื้ออาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต

4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็น ให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159,3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: