ชำแหละชีวิตพิทักษ์ป่า-รายได้ไม่สมหน้าที่ แฉกลโกงอมเงินเดือน-สวมชื่อแต่ไม่มีตัว บางแห่งใช้งบหลวงจ้างให้ทำงานส่วนตัว

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 31 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 39913 ครั้ง

 

ชำแหละชีวิตคนเฝ้าป่ากับค่าตอบแทนที่ไม่สมหน้าที่ 1 คน ดูแลผืนป่าแทนคนไทย 5 พันไร่ แต่ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท แถมยังไม่มีสวัสดิการ สวัสดิภาพอะไรเลย ขณะที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์บางแห่ง ยังฉวยโอกาสทุจริตงบประมาณรัฐ จ้างเจ้าหน้าที่ผี มีแต่ชื่อไม่มีตัวจริง แต่ยังเบิกเงินเดือนเหมือนเดิม บางแห่งใช้เงินหลวงจ้างเจ้าหน้าที่ แต่เอาไปทำงานส่วนตัว ทั้งเฝ้าบ้าน เฝ้าไร่นา หัวหน้าอ้างต้องเก็บไว้รับรองแขกของเจ้านาย และผู้ใหญ่ ด้านรองอธิบดีกรมอุทยานฯระบุ ถ้าตรวจสอบพบโทษถึงขั้นไล่ออก ยอมรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเงินเดือนน้อย งานหนัก เมื่อเทียบกับหน้าที่ แต่ก็หาคนมาทำยาก พยายามเร่งปรับปรุงทั้งสวัสดิการและสวัสดิภาพ

พิทักษ์ป่า 1 คน ลาดตระเวนดูแลป่า 5,000 ไร่

วันนี้ประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ คิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่  พื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 73 ล้านไร่  โดยแบ่งออกเป็น อุทยานแห่งชาติ 140 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางบก 116 แห่ง อุทยานแห่งชาติทางทะเล 24 แห่ง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 55 แห่ง  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 48 แห่ง  ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 20,000 คน เพื่อดูแลพื้นที่ 73 ล้านไร่นี้

จากการคำนวณโดยประมาณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 5,000 ไร่ ตัวอย่างเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่มรดกโลก มีพื้นที่ประมาณ 1,000,000 ล้านไร่ มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 200 คน เมื่อหารแล้วเจ้าหน้าที่  1 คนจะต้องดูแลพื้นที่ 5,000 ไร่ ด้วยเงินเดือน ๆ ละ 4,000 กว่าบาท และปรับมาเป็น 7,000 – 9,000 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา ในขณะที่สวัสดิการยังเหมือนเดิม เพียงบ้านพักในพื้นที่ ไม่มีค่ารักษาพยาบาล หรือสวัสดิการอื่นใดมากไปกว่านี้ เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านี้เป็นเพียงพนักงานราชการ พนักงานจ้างเหมาบริการ แต่เดิมคือ ลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาล ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ

เผยปัญหาขาดแคลนพิทักษ์ป่า ค่าจ้างไม่คุ้ม

แม้ว่าในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับการยอมรับและยกระดับความสำคัญ ในการทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องราวการทำงานต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้สังคมได้รับรู้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงหันมาให้ความสนใจและให้การสนับสนุน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตกเบิก รายได้น้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจ หรือสวัสดิการ สวัสดิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่อนุรักษ์ ระบุว่า ปัญหาต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบางเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณค่าตอบแทนบุคคลากรยังล่าช้า ซึ่งปัญหาดังกล่าวมาจากการบริหารงานภายในกรมอุทยานฯ เรื่องแบบฟอร์มรายละเอียดการเบิกจ่ายต่าง ๆ ที่มีขั้นตอนรายละเอียดมาก จนเจ้าหน้าที่สำนักงานของแต่ละพื้นที่อนุรักษ์ ต้องแก้ไขหนังสือเบิกเงินดังกล่าวหลายรอบ กว่าจะเบิกเงินได้

“แบบฟอร์มก็แก้แล้วแก้อีก เขียนผิดนิดหน่อยก็ต้องส่งกลับมาแก้ไข แต่ละครั้งนานหลายสัปดาห์สรุปว่า ระบบการจัดการเอกสารทั้งการตั้งเรื่องขอเบิก และการเบิกมีส่วนสำคัญทำให้ล่าช้า” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้การเบิกจ่ายล่าช้าหรือการตกเบิก รวมถึงค่าตอบแทนที่น้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่หนักและเสี่ยงภัย ทำให้ลูกจ้างหลายคนลาออกไปทำไร่ทำนา ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพราะไม่มีคนมาสมัคร “คนที่ทำงานอยู่ส่วนใหญ่ คือคนที่รักป่าจริง ๆ”

ใช้งบประมาณจ้างผี-ทำงานให้นาย-ส่งส่วย

นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นที่รู้กันในวงการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือ การทุจริตการจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หรือ ลูกจ้างผี ซึ่งในเอกสารทางราชการ มีรายชื่อการจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อเบิกเงินค่าจ้าง แต่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งหากเป็นไปอย่างถูกต้องแต่ละหน่วยงานจะมีเอกสารการจ้าง และหลักฐานการรับเข้าทำงานที่ชัดเจน ลูกจ้างทุกคนมีตัวตนอยู่จริง แต่ลูกจ้างผีจะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น และรู้กันในระดับการบังคับบัญชา จะมีทั้งลูกจ้างผีแบบทำงานให้นาย และผีแบบจ้างชื่อไว้ ตัวไม่ต้องทำงานไม่ต้องรับเงิน

“ผีแบบทำงานให้เจ้านายมีเกือบทุกพื้นที่คือ มีหน้าที่เฝ้าไร่ เฝ้าสวน เฝ้าบ้าน ให้กับหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ หรือผู้บังคับบัญชาในกรมฯ ที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ถูกเลือกไปก็จะพอใจ เพราะไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องประจำหน่วย ไม่ต้องลาดตระเวน อยู่สบายแถมยังได้เงินเดือนด้วย ซึ่งเงินเดือนที่ได้ก็เป็นเงินของรัฐนั่นเอง”

ส่วนการจ้างชื่อ ก็จะมีนายหน้ารวบรวมคนมากรอกใบสมัคร ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อหัวหน้าแต่ละหน่วยงานรับเข้าทำงาน ก็จะไปเปิดบัญชีเงินเดือน จากนั้นหัวหน้าแต่ละหน่วยจะเก็บบัตรเอทีเอ็มไว้ โดยเจ้าของบัตรจะลงชื่อรับเงินเดือนล่วงหน้าไว้ที่แต่ละหน่วยงาน คนสมัครก็รับค่าตัวเพียงเล็กน้อยเป็นค่าจ้าง แล้วกลับไปทำไร่ทำนาต่อไป แต่จะไม่ได้รับเงินเดือนอีกเลย เพราะเมื่อถึงสิ้นเดือนที่เงินเดือนออกมา หัวหน้าแต่ละหน่วยงานก็จะไปกดเงินมาเอง แต่ละคนจะมีสัญญาจ้าง 1 ปี คือ 12 เดือน เมื่อทำงานครบเพียง 1 เดือนหัวหน้าจะให้ลาออกไป แต่หัวหน้าจะไม่แจ้งมายังส่วนกลางว่าลาออกไปแล้ว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบ ก็ยังจ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีต่อไป เงินที่เหลืออีก 11 เดือน ก็จะเป็นของหัวหน้าไปโดยปริยาย ขณะที่คนรับจ้างก็เซ็นชื่อรับเงินไปแล้ว 12 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นจะเข้าสู่ระบบส่วย ที่มีการส่งต่อกันเป็นทอดๆ เช่น ผู้ช่วย 1 คน สองต่อไปยัง หัวหน้า 3 คน และผอ. 3 คน ฯลฯ

แหล่งข่าวให้ข้อมูลด้วยว่าหัวหน้าต้องทำแบบนี้เพราะต้องมีเงินสำรองไว้ สำหรับเลี้ยงรับรอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือแขกของนายที่จะลงไปในพื้นที่

รองอธิบดีกรมอุทยานฯระบุคนทำงานเฝ้าป่าน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่า

ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ในภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คือ การป้องกันดูแลรักษาป่าและป้องกันลักลอบล่าสัตว์ป่า ในภารกิจนี้จากจำนวนเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประมาณ 40,000 คน มีทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานจ้างเหมาบริการ ประมาณ 20,000 คน เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนสำคัญในการดูแลรักษาป่า ที่ทำงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยแบ่งเป็นข้าราชการ 1,297 คน ลูกจ้างประจำ 2,281 คน พนักงานราชการ 8,454 คน และพนักงานจ้างเหมาบริการ 11,278 คน ซึ่งรวมแล้วประมาณ 22,310 คน ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าโดยตรง

กรมอุทยานฯ พยายามดูแลให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทั้งลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานจ้างเหมาบริการ ซึ่งพนักงานจ้างเหมาบริการส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานพิทักษ์ป่า พนักงานจัดเก็บข้อมูล หรืออาจจะเป็นนักวิชาการ โดยทั้งหมดนี้จะทำงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติประมาณ 148 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกือบ 60 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 60 แห่ง  ที่มีหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ดูแลรักษาเดินลาดตระเวนในป่า

ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จะมีหน่วยพิทักษ์ป่าและหน่วยพิทักษ์อุทยานไม่เท่ากัน ในภาพรวมของกรมอุทยานฯ ที่ดูแลพื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ที่มีทั้งหมด 73 ล้านไร่ จะมีหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหน่วยพิทักษ์อุทยานของอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 1,000 แห่ง แต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 8-10 คน ดูแลพื้นที่ 40,000-50,000 ไร่ ในพื้นที่รอบหน่วยของตัวเอง การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในปัจจุบันนี้ เทียบไม่ได้กับพื้นที่ป่าที่มีอยู่ แต่หน่วยพิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ของเรามีไม่เพียงพอ เราพยายามที่จะปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเฝ้าป่าพัฒนาขึ้นใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานไม่ครอบคลุมพื้นที่ แต่ก็ไม่มีปัญหาในการปรับระบบการทำงาน หรือต้องเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันรักษาป่า ในการทำงานแต่ละพื้นที่ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทางอากาศ เข้ามาช่วยในการตรวจจับ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า เราใช้ระบบการลาดตระเวนแผนใหม่ เข้ามาเพื่อตรวจสอบการลาดตระเวน ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่อนุรักษ์ โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ช่วยอบรมให้การใช้วิธีนี้จะทำให้การเดินลาดตระเวนป่าทำได้มากขึ้น

“เมื่อเรานำระบบ Smart Partrol มาใช้ ปีนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเดินได้ 15,000 กิโลเมตรต่อปี เขตฯทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เดินได้ 10,000 กิโลเมตรต่อปี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อาจจะน้อยหน่อยปีละ 3,000-5,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่”

ปรับสวัสดิการ ขึ้นเงินเดือน ศึกษาดูงานเพิ่มประสิทธิภาพ

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยให้นโยบายว่า ต้องปรับปรุงเรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก่อน ส่วนของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ เป็นส่วนของผู้ที่มีเงินเดือนประจำ มีสวัสดิการในส่วนราชการค่อนข้างดี ในขณะที่พนักงานราชการเป็นตำแหน่งใหม่ ซึ่งปรับมาจากลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือนที่ได้เป็นเงินเดือนประจำเหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงที่สวัสดิการ ซึ่งจะได้น้อยกว่าลูกจ้างประจำและข้าราชการ

นอกจากนี้พนักงานจ้างเหมาบริการ ที่เป็นพนักงานพิทักษ์ป่าโดยตรง อันนี้ยิ่งมีสวัสดิการน้อยถึงไม่มีเลย แต่ตอนนี้กรมฯ จะเน้นในภาพรวมว่า ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างเหมา แม้แต่พนักงานราชการด้วย กรมอุทยานฯพยายามหาสวัสดิการให้ เช่นเรื่องขวัญและกำลังใจ เพิ่มเงินในแต่ละปีสำหรับคนที่ทำงานดี หมายถึงการขึ้นเงินเดือนประจำ ส่วนในเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน กรมได้ประสานงานกับทางมูลนิธิฯ ต่างๆ เช่น กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และหน่วยอื่น ๆ ในการที่จะสนับสนุนงบประมาณ หรือเงินให้เป็นขวัญและกำลังใจ

“อย่างกรณี มูลนิธิสืบฯจะมีกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ให้เงินเมื่อเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่  และเลี้ยงลูกของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยให้ทุนการศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย  ถ้าบาดเจ็บจะให้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าทำขวัญ ในส่วนของมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะทำประกันชีวิตให้กับพิทักษ์ป่าทุกคนทั่วประเทศ และเมื่อเสียชีวิตจะได้คนละ 250,000 บาท ส่วนบาดเจ็บจะลดหลั่นลงไป อย่างไรก็ตาม เงินในส่วนนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับ เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือเสียชีวิตเท่านั้น”

นอกจากนี้กรมฯยังได้ประสานกับทางสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมป่าไม้ ซึ่งข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน เหล่านี้เป็นสมาชิกอยู่ จะมีเงินประกันชีวิตและเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ต้องสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะมีสมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ ตามหลักเกณฑ์  ซึ่งกรมฯพยายามผลักดันให้ พนักงานราชการและลูกจ้างเหมาเป็นสมาชิกสมทบ รวมถึงมีการจัดให้ พนักงานข้าราชการ พนักงานจ้างเหมาไปดูงานที่ต่างประเทศหลายแห่งทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย เวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการให้สวัสดิการ ให้ความรู้

จนท.พิทักษ์ป่าเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับหน้าที่

ในส่วนของเงินเดือน  นายธีรภัทรกล่าวว่า สำหรับพนักงานจ้างเหมา เงินเดือนเฉลี่ยจะไม่เกิน 6,000 บาท ต่ำสุดประมาณ 4,000 บาท อาจจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ได้รับผิดชอบ ปีที่ผ่านมาอธิบดีกรมอุทยานฯ จึงขอการสนับสนุนจากทางรัฐบาล สำนักงบประมาณ ให้กรอบวงเงินของเจ้าหน้าที่เหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 – 9,000 บาท โดยขอไปที่กรมบัญชีกลาง และได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว  ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะได้เงินเดือน 7,500 บาท หมายความว่า วันละ 300 ทำงาน 25 วัน โดยประมาณ ส่วนพนักงานอื่นๆ จะลดหลั่นลงมาการทำงานของบุคคลเหล่านี้

“ตำแหน่งพนักงานราชการ และพนักงานจ้างเหมาบริการ เริ่มเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ตามสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาจากลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานรายวัน ซึ่งสวัสดิการจะน้อยกว่า อยู่ไปวันวัน แต่เมื่อมีการปรับแบบนี้ ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ทำงานไปวันวัน”

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมอุทยานกล่าวว่า ในส่วนของพนักงานราชการ และลูกจ้างประจำไม่มีปัญหา ในขณะที่พนักงานจ้างเหมาจะมีปัญหา ทั้งเรื่องการเบิกจ่ายเงินเดือนสวัสดิการ เนื่องจากกรมบัญชีกลาง หรือ ก.พ. มองว่าพนักงานจ้างเหมา เป็นการจ้างคนนอกเข้ามารับจ้างทำงาน เหมือนจ้างยามมาทำงาน ซึ่งกรมอุทยานฯ พยายามหางบประมาณจากส่วนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ และกรมอุทยานฯ ตระหนักกลับปัญหานี้มาตลอด เนื่องจากภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ต่างจากภารกิจของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่น

กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาเงินเดือนตกเบิก

สำหรับเรื่องเงินเดือนล่าช้า เป็นปัญหาที่เรื้อรังของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แต่เดิมนั้นมีความล่าช้ามาก เนื่องจากกรมอุทยานฯ จะต้องเขียนแผนปฏิบัติงาน กว่าแผนจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลา 2-3 เดือน มีทั้งแผนในการทำงาน และแผนเงิน เป็นสาเหตุให้เงินเดือนตกเบิก ซึ่งตามหลักการอาจจะไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาในแต่ละปี บางครั้งเช่นต้นปีงบประมาณ มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.บ.งบประมาณที่กำลังจะผ่าน ไม่ชอบหรือไม่สมบูรณ์ ต้องมีการดึงกลับมารอเวลา ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบบ้าง เพราะต้องมีการจัดทำแผนใหม่

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมอุทยานฯ พยายามเร่งรัดให้เงินเดือนออกให้เร็วที่สุด ซึ่งในปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อนมาก นอกจากนี้แต่ละพื้นที่ ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นใช้เงินจากกการเก็บค่าเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ ยืมส่วนนั้นมาจ่ายเงินเดือนก่อนก่อนล่วงหน้า เมื่องบประมาณปกติมาจึงเบิกมาคืนในภายหลัง ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากำลังจะใช้แนวเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติดำเนินการ

“ความล่าช้าของเงินเดือน มาจากการตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินด้วย ถ้าเอกสารไม่ถูกต้อง ต้องกลับไปแก้เอกสารให้ถูกต้อง จึงจะได้เงิน ซึ่งผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ธุรการในพื้นที่ว่า ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ กับใบสำคัญรับเงินของพนักงานจ้างเหมา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมทั้งเรื่องของการเบิกเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ต้องเร่งออกมา เพราะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้งานขับเคลื่อนได้” นายธีรภัทรกล่าว

ไล่ออก พวกทุจริตจ้างผี แจงแนวบริหารในพื้นที่

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังกล่าวถึง การเบิกจ่ายเงินเดือนของพิทักษ์ป่า ที่มักถูกครหาว่าไม่มีความโปร่งใส  และมีปัญหามาโดยตลอดนั้น กรมอุทยานฯพยายามจะแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสอันนี้แล้ว ขณะนี้ระบบการเบิกจ่าย โปร่งใส  ที่ผ่านมาที่มีปัญหาเกิดขึ้น กรมอุทยานฯ ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทางวินัย  ทำให้คนที่ดำเนินการไม่ถูกต้องมีทั้งถูกลงโทษ ไล่ออก ปลดออก

“กรมฯ มีการปรับระบบให้จ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารของแต่ละคน ไม่มีการให้รับโดยการให้หัวหน้าไปแจก ไม่ใช้วิธีนั้นแล้ว ให้หัวหน้าแต่ละคนทำบัญชีของพนักงานพิทักษ์ป่า เปิดไว้ กรมก็ให้เงินตามบัญชีเหล่านี้”

ส่วนประเด็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในแต่ละพื้นที่ ที่อาจจะไม่ตรงกับยอดที่แจ้งไป หรือที่เรียกว่า บัญชีผี นายธีรภัทรกล่าวว่า การบริหารขึ้นอยู่กับหัวหน้าในแต่ละพื้นที่ เช่น บางพื้นที่มีความต้องการเจ้าหน้าที่ 100 คน เงินที่ได้คือ 100 คน แต่เมื่อมีการจ้างจริง อาจจะมีพนักงานที่จบปริญญาตรีด้วย ทำให้การจ้างไม่ได้อัตราหรือจำนวนเท่ากับเจ้าหน้าที่ทั่วไป และตอนนี้ปริญญาตรีกำหนดเงินเดือนที่ 15,000 บาท ทำให้เงินบางส่วนถูกดึงไปตรงนั้นมากขึ้น อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นต้องลดจำนวนลงไป แทนที่จะได้ 100 คน อาจจะเหลือ 90 คน ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดหัวหน้าแต่ละพื้นที่ จะเป็นคนดูความสำคัญของการจ้าง นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกรอบเงินเดือนที่ต้องเพิ่ม อยู่ในกรอบระหว่าง 7,500-9,000 ซึ่งหากใครมีผลงานดี จะมีการพิจารณาปรับเงินเดือนให้

“เราได้เงินคนละ 7,500 บาท โดยประมาณ แต่เราสามารถเพิ่มให้ถึง 9,000 บาท ถ้ามีเงินมาเสริม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีกรอบวงเงินงบประมาณ ภารกิจในพื้นที่เป็นกรอบจำกัด บางครั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มอัตราจ้าง เพราะงบประมาณมีจำกัด ในพื้นที่จึงต้องเกลี่ยคนจากหน่วยอื่นที่มี 8 คน ให้เหลือ 5 คน เป็นต้น”

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเรียกร้องรัฐดูแล

ทางด้าน นายวิชัย (นามสมมุติ) ลูกจ้างประจำ เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในจ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานภาพของพนักงานพิทักษ์ป่า ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่อาจจะมีบ้างที่เงินเดือนออกช้า ซึ่งจะเกิดขึ้นกับพนักงานราชการ พนักงานจ้างเหมาบริการ ที่จะมีเงื่อนไขในการจ้าง การบริหารงานทั้งหมดในพื้นที่ขึ้นกับหัวหน้าแต่ละพื้นที่ ที่จะเป็นคนดูแลการจัดจ้างทั้งหมด

แม้ว่าในปัจจุบันสวัสดิการ สวัสดิภาพ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่หากเทียบภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นยังแตกต่างกันมาก เช่น เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย มีบ้านพักฟรี ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าฟรี ในขณะที่พิทักษ์ป่า บางพื้นที่ยังไม่มีบ้านพัก แต่ต้องทำงานเสี่ยงภัยมาก

“อย่างพื้นที่ที่ผมอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ลำบากนัก ถ้าเทียบกับพื้นที่อย่างเขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องเดินลาดตระเวน ทำงานหนัก อยากขอให้มีการปรับปรุงหรือปลูกบ้านให้พิทักษ์ป่า เพราะเขาทำงานเพื่อคนทั้งประเทศ กลับมาจากลาดตระเวนต้องมาอยู่เพิง บางทีต้องสร้างเองด้วย”

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งตอนนี้แบ่งเป็น 3 แบบ คือ ลูกจ้างประจำจะได้สิทธิเบิกตรงแบบข้าราชการ ในขณะที่พนักงานจ้างเหมาบริการ จะใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งทั้งสองตำแหน่งนี้ไม่ต้องจ่ายเงิน ในขณะที่พนักงานราชการ จะใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งต้องจ่ายเงินทุกเดือน เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะทำให้เป็นสิทธิเดียวกันทั้งหมด หรือใช้บัตรทองโดยไม่ต้องเสียเงินประกันสังคม

มูลนิธิสืบฯแนะให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นนโยบายของชาติ

ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายภาณุเดช เกิดมะลิ รองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ว่า รัฐต้องกำหนดให้งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสำคัญเป็นนโยบายของชาติ เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ รวมทั้งต้องมีการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีสวัสดิการและสวัสดิภาพที่ดีด้วย

รองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปรียบเทียบว่า ทหารยังมีสวัสดิการที่ดี ซึ่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เดินลาดตระเวนปกป้องผืนป่า ทำงานไม่ต่างกับทหาร ควรจะมีการฝึกให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และควรจะมีเงินเดือนหรือสวัสดิการเทียบเท่ากับทหารด้วย

“ทหารยังทำได้ ถ้ากรมอุทยานฯ หรือรัฐบาลตั้งใจจริง หรือมีความปรารถนาดี ก็น่าจะทำได้ เพราะคนเหล่านี้ต้องปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ มีการใช้อาวุธ มีการปะทะคนร้าย คุณต้องฝึกเขาให้เหมาะสม ไม่ใช่ใช้ใครก็ได้ รับเข้ามาทำงานแล้วให้มาถือปืน”

 

ภาพประกอบจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ http://www.oknation.net/blog/petpetpe/2009/02/18/entry-1

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: