โรฮิงยา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

1 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 1936 ครั้ง


ส่วนใครคือต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องลอยเรือเสี่ยงตายเช่นนี้ ไม่ใช่คำถามที่จะรีดเอาคำตอบในตอนนี้ หรือแม้แต่คำถามว่าจะจัดการกับเขาอย่างไรต่อไป ก็ไม่ใช่คำถามที่จะต้องเอาคำตอบให้ได้ในเวลานี้เช่นกัน ความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาต้องมาก่อน เรื่องอื่นๆ ค่อยคิดกันข้างหน้า

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นของบทความนี้

แม้แต่ผู้ที่เห็นพ้องว่า ต้องรักษาชีวิตของชาวโรฮิงยาบนเรือให้ปลอดภัยก่อน ก็ยังคิดว่าเราไม่อาจให้เขาพักพิงอยู่เป็นเวลานานได้ เขาจะต้องกลับไปสู่ที่เขาออกเรือมา (คือบังคลาเทศและรัฐยะไข่ของพม่า), หรือไปตั้งรกรากในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ไทย นอกจากความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว บางคนยังมองคุณค่าทางเศรษฐกิจของการช่วยเหลือชาวโรฮิงยาด้วย เช่นทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นในสายตาของสังคมที่รังเกียจสินค้าประมงของไทย หรือความช่วยเหลือที่ต่างชาติและองค์กรโลกให้แก่ค่ายผู้อพยพ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างดี

ผมอยากถามว่า เหตุใดเราจึงให้เขาพักพิงถาวรไม่ได้ และชาวโรฮิงยาหรือผู้อพยพจากเพื่อนบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของไทยได้อย่างดี ในฐานะพลเมือง ไม่ใช่ในฐานะแรงงานข้ามชาติ

ประเทศไทยเคยรับผู้อพยพมาหลายครั้งหลายหน ฉะนั้นเราเคยชินกับการตั้งค่ายผู้อพยพมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง แต่ก็มีเจตนามั่นคงมาแต่ต้นว่า ผู้อพยพเหล่านี้จะอยู่ในแผ่นดินไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอสถานการณ์ในบ้านเกิดที่ปลอดภัยมากขึ้น แล้วก็จะอพยพกลับ หรือเพื่อให้ประเทศอื่นรับเอาไปตั้งรกรากเป็นพลเมืองของตน ดังนั้นเราจึงถนัดที่จะมองหาต้นตอของการอพยพ เช่นม้ง, เขมร, ลาว, เวียดนาม ก็หวังว่าสหรัฐซึ่งเป็นต้นตอของสงครามอินโดจีน ควรรับผิดชอบต่อประชากรอพยพเหล่านี้

ในฐานะค่ายชั่วคราว ผู้อพยพไม่มีผลิตภาพอะไรเลย เพราะถูกควบคุมให้อยู่แต่เฉพาะในค่าย จึงเป็นภาระหน้าที่ของผู้ดูแลค่ายอพยพต้องจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้ นี่เป็นภาระทางงบประมาณที่ใหญ่มาก ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งใหญ่ แต่ไทยโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือด้านนี้จากองค์กรโลกบ้าง ต่างประเทศบ้างเสมอมา จึงควักกระเป๋าน้อย

ตรงกันข้ามกับค่ายอพยพ หากเป็นค่ายพักพิงเพื่อเตรียมการเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศเจ้าของบ้าน สภาวะก็จะต่างออกไปอย่างมาก ประการแรกผู้อพยพประเภทที่ไม่คิดกลับบ้านแล้ว ย่อมกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ (หากเขาไม่มี) รวมทั้งวัฒนธรรมของประเทศเจ้าบ้าน เพื่อจะได้ถูกจ้างโดยเร็ว ในขณะเดียวกัน เพราะคิดไว้แล้วว่าคนเหล่านี้จะเป็นพลเมืองในอนาคต ก็ย่อมให้การปฏิบัติที่ดีพอสมควรมาแต่ต้น เช่น ระวังเรื่องโรคติดต่อ หรือโรคที่ไม่น่าจะนำไปสู่ความตาย มิให้ระบาดหรือลิดรอนกำลังคนในค่ายพักพิง รวมทั้งการฝึกทักษะพื้นฐานที่มีตลาดงานจ้างรองรับ และนำเข้าสู่วัฒนธรรมของเจ้าบ้าน เช่นสอนภาษาพูด

เจ้าของกิจการอาจเข้ามาดูแรงงาน เลือกสรรคนที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ทำสัญญากับรัฐที่จะรับผิดชอบต่อแรงงานนั้นในด้านสวัสดิการ, ค่าแรง, และสภาพการทำงาน รัฐสามารถตรวจสอบได้และต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนผู้อพยพก็ได้บัตรประจำตัวซึ่งต้องแสดงแก่เจ้าหน้าที่ได้เสมอ เพื่อมิให้ถูกจับฐานหลบหนีเข้าเมือง อาจมีระเบียบให้รายงานตัวต่อราชการทุกปีหรือหกเดือน ทั้งเพื่อตรวจตราควบคุมและเพื่อสวัสดิภาพของผู้อพยพเอง

ลูกหลานของผู้อพยพซึ่งได้งานจ้างแล้ว ก็จะออกจากค่ายพร้อมผู้ปกครอง พร้อมทั้งบัตรประจำตัว บัตรเหล่านี้ให้สิทธิแก่เขาให้ได้รับการรักษาพยาบาลในโครงการประกันสุขภาพทั่วหน้า (สมาชิกของครอบครัวเสียภาษีให้รัฐแล้ว เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการในตลาด) และสิทธิในการเข้าเรียนหนังสือเท่ากับที่เด็กไทยได้รับ แน่นอนผู้มีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาด ก็จะได้รายได้ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาด้วย (เราอาจหวังบุคคลระดับนี้ในหมู่ผู้อพยพชาวโรฮิงยาในปัจจุบันไม่ได้ แต่เราเคยได้ผู้อพยพระดับนี้มาแล้วในกรณีการอพยพของชาวลาวและกัมพูชา – รวม”มนุษย์เรือ”เวียดนามด้วย ซึ่งเราไม่ยอมให้ขึ้นฝั่งเหมือนกัน – )คุณสมบัติของผู้อพยพระดับนี้ ทำให้ประเทศเจ้าบ้านใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้ทันที แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เขาจะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างรัฐไทยและวัฒนธรรมไทย กับผู้อพยพอื่นได้ดี การกลืนผู้อพยพให้กลายเป็นพลเมืองจะราบรื่นขึ้น

จำนวนมากของค่าใช้จ่ายในกระบวนการนี้ ประเทศไทยคงต้องเป็นผู้จ่าย ซึ่งก็เป็นธรรมดี เพราะเราคือผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด คือได้พลเมืองจากผู้อพยพในช่วงที่อย่างไรเสียแรงงานทุกระดับของไทย โดยเฉพาะระดับล่าง ขาดแคลน และจะขาดแคลนหนักขึ้นเมื่อแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งพากันกลับบ้าน เพราะเศรษฐกิจของเขากำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ว่าที่จริงก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการสร้างพลเมืองจากครรภ์มารดาอย่างเทียบกันไม่ได้ (เพียงแค่ยุให้หญิงไทยตั้งครรภ์บ่อยขึ้น ก็เป็นค่าใช้จ่ายก้อนไม่เล็กแล้ว) นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายนี้มีแต่จะลดลง เพราะภาระการเลี้ยงดูผู้คนลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

กระบวนการได้สัญชาติไทยคงต้องมีเงื่อนไข นับตั้งแต่เงื่อนไขด้านเวลา เช่นต้องอยู่ในประเทศไทยมากี่ปีแล้ว เงื่อนไขด้านการศึกษา เช่นต้องได้วุฒิไม่ต่ำกว่าป.๖ (จากโรงเรียนหรือจากการสอบเทียบก็ตาม) ด้านวัฒนธรรม เช่นต้องเขียนอ่านภาษาไทยได้ ต้องรู้ระบบการเมืองการปกครองของไทยระดับหนึ่ง ต้องรู้จักประเทศไทยโดยเฉพาะด้านความหลากหลายของพลเมือง ต้องมีความรู้ที่แสดงว่าน่าจะมีขันติธรรมกับความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และศาสนาในระดับหนึ่ง

(ในขณะที่เราหวังให้ผู้อพยพได้รับการศึกษาที่ตระหนักถึงความหลากหลายแตกต่างของพลเมือง ก็คงต้องให้การศึกษาแก่คนไทยให้ตระหนักเหมือนกันด้วย ทั้งผ่านโรงเรียนและผ่านสื่อ โดยสรุปคือทำให้สังคมไทยพร้อมจะอยู่ร่วมกับความหลากหลายแตกต่างได้ดีขึ้น เช่นจะมีคนพูดภาษาไทยมาตรฐานที่ออกเสียงแปร่งหูแก่คนกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจขับแท็กซี่ และบางคนอาจเป็นผู้ประกาศข่าวทางทีวี – แปลว่ากรมประชาสัมพันธ์ควรยกเลิกสำเนียงภาษาไทยมาตรฐานที่ตายตัวในการสอบผู้ประกาศทางทีวีและวิทยุเสียที)

เรื่องของเงื่อนไขคงคิดกันในรายละเอียดได้ แต่ต้องไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงมาร่วมคิดด้วย เพราะเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ฝ่ายความมั่นคงถือเอาเป็นอำนาจเด็ดขาดของตนเองในการสร้างเงื่อนไขที่จะรับพลเมือง แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดหรือมีเหตุผลใดๆ ในการตัดสิน มีแต่ความหวาดระแวงคนต่างชาติพันธุ์ กว่าลูกหลานชาวเวียดนามอพยพซึ่งพูดหรืออ่านภาษาเวียดนามไม่ได้แล้ว จะได้รับสัญชาติไทย ก็ต้องรอจนกระทั่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเวียดนามราบรื่นขึ้น จึงอนุมัติให้รับคนเหล่านั้นเป็นพลเมืองไทย ลองคิดถึงความสูญเสียโอกาสของคนเหล่านั้น ในการศึกษา, ในอาชีพการงาน, ในการสะสมทุน ฯลฯ เกือบตลอดชีวิต โอกาสที่สูญเสียไม่ได้เป็นของบุคคลอย่างเดียว แต่เป็นของชาติไทยโดยรวมด้วย เช่นเดียวกับชาวเขา ชาวเล, คนไทยพลัดถิ่น, ผู้ตกสำรวจ ฯลฯ ที่ยังประสบชะตากรรมเดียวกันมาจนถึงทุกวันนี้ ประเทศไทยสูญเสียโอกาสไปแค่ไหนภายใต้อำนาจที่ไร้การถ่วงดุลของฝ่ายความมั่นคง

กลับมาถึงเรื่องโรฮิงยาโดยเฉพาะ มีข้อกังวลบางอย่างที่ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ไม่น่าจะกังวลมากจนเกินไป

ข้อแรกก็คือ หากชาวโรฮิงยาได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นนี้ ก็จะมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยอีกมาก (ปัจจุบันเขาอยากไปมาเลเซีย แต่เพื่อเข้าเมืองมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย จึงต้องลักลอบผ่านไทย และกลายเป็นโอกาสของการค้ามนุษย์ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว) ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่ที่ว่า”มาก”นั้นเท่าไรกันแน่ ปัจจุบันมีชาวโรฮิงยาอยู่นับตั้งแต่ ๘ แสนคนไปถึงล้านกว่า (ที่ตัวเลขไม่แน่นอนเพราะไม่เคยมีการสำรวจอย่างเป็นทางการและถี่ถ้วนจริง) หากดูเฉพาะค่ายอพยพในบังคลาเทศ ก็มีประชากรหลายแสน ฉะนั้นถ้าชาวโรฮิงยามุ่งหน้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ก็คงมีคนเป็นแสนขึ้นไปทยอยกันลอยเรือเข้ามา ผมเดาไม่ถูกว่าจำนวนทั้งหมดจะเป็นเท่าไร แต่ที่แน่นอนคือไม่มีทางที่จะเป็นทั้งหมดของชาวโรฮิงยาแน่นอน หากไทยจะเพิ่มประชากรสัก ๓-๕ แสนคนในระยะ ๕ ปี คงมีปัญหาอยู่บ้างเช่นขยายบริการของรัฐไม่ทันในช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับคอขาดบาดตายหรอก

ชาวโรฮิงยาเป็นมุสลิม หลายคนคิดถึงปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ทันที แต่ความบาดหมางที่รัฐไทยมีกับประชากรบางกลุ่มในภาคใต้ไม่ใช่ความแตกต่างทางศาสนา ทั้งประเทศไทยมีคนนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าประชากรในสามจังหวัดภาคใต้เสียอีก แต่นั่นก็ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งอะไรกับรัฐ ที่มีความขัดแย้งกับคนบางกลุ่มในภาคใต้ เป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์มากกว่า ศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์แน่ แต่อัตลักษณ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐในระดับที่ประชากรในภาคใต้พอใจ คือชาติพันธุ์ มากกว่าศาสนา การกระจุกตัวของชาวมลายูในพื้นที่สามจังหวัด ทำให้สามารถแสดงความไม่พอใจนั้นได้อย่างชัดเจน ด้วยวิถีความรุนแรงหรือด้วยวิถีที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

ผู้อพยพโรฮิงยาที่จะค่อยๆ ถูกกลืนเป็นพลเมืองย่อมถูกกระจายไปทั่วประเทศ ตามแต่แหล่งงานจะดึงไป ยิ่งเมื่อระดับการศึกษาของเขาขยับสูงขึ้น ลักษณะตั้งถิ่นฐานที่กระจายก็ยิ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่รัฐไทยไม่ค่อยมีปัญหากับศาสนาอิสลาม (คืออาจมีบ้างแต่ไม่ร้ายแรงนัก) พลเมืองโรฮิงยามุสลิมก็จะเหมือนมุสลิมทั่วไปอื่นๆ ถึงจะมีข้อขัดแย้งกับรัฐไทย ก็มาจากเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เหมือนพลเมืองพุทธไทยอีกมากที่มีข้อขัดแย้งกับรัฐไทยไม่ใช่หรือ (หรือกลับกัน คือรัฐไทยชอบมีปัญหากับพลเมืองทุกศาสนาอยู่แล้ว)

ในระยะยาว สัดส่วนของมุสลิมในประชากรไทยทั้งหมดย่อมสูงขึ้น (อาจเพิ่มขึ้นไม่ถึง ๒%) แล้วยังไง ถึงอย่างไรก็ยังเป็นส่วนน้อยมากๆ ของพลเมืองไทย เพราะสัดส่วนชาวพุทธในประเทศไทยสูงมาก

การคุมกำเนิดเป็นวิถีอิสลามหรือไม่ สำนักโต๊ะครูแต่ละแห่งในประเทศไทยหาได้มีมติตรงกันในเรื่องนี้ไม่ จำนวนหนึ่งซึ่งไม่น้อยเห็นว่าขัดกับศาสนบัญญัติ แต่นั่นไม่น่าเป็นเหตุให้วิตกกังวลว่า โรฮิงยาจะมีลูกหลานมากจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ของประชากรไทย ได้พบมานานแล้วว่า จำนวนของบุตรในครอบครัวจะมากหรือน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการคุมกำเนิดเท่ากับระดับการศึกษาของพ่อ-แม่, สถานะทางสังคมและอาชีพของพ่อ-แม่, สถิติการอยู่รอดของทารกและเด็ก ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือปัจจัยทางสังคมที่อยู่ในวิถีชีวิตของครอบครัว หากประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเมืองและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและบริการในอัตราดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ชาวโรฮิงยาซึ่งเป็นพลเมืองไทย ก็ย่อมต้องเข้ามาอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมที่ไม่ต้องการมีครอบครัวที่ใหญ่เกินไปนักอยู่เอง พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นคนไทยไม่นานก็ไม่อยากมีลูกมากแล้ว

โดยสรุปก็คือ โรฮิงยาในค่ายพักพิงจะถูกเตรียมให้สามารถกลืนตัวเองเป็นพลเมืองของไทยได้โดยสะดวก สร้างทักษะที่จำเป็นขั้นพื้นฐานในการกลืนตัวเองกับสังคมไทย การได้ออกมาทำงานข้างนอกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของกระบวนการกลืนตัวเอง ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องทำเฉพาะในค่ายพักพิงเท่านั้น ในระหว่างนั้นเขาย่อมพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ อาจค่อยๆ สะสมทุน (เช่นมีลูกได้เรียนหนังสือและหางานจ้างได้อีกแรงหนึ่ง)จนมีฐานะมั่นคงขึ้น รัฐก็จะมีรายได้จากภาษีทางอ้อมเพิ่มขึ้น บางรายที่ตั้งตัวได้ดีกว่านั้น ก็ยังต้องจ่ายภาษีทางตรงแก่รัฐด้วย ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงรากฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเขา จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของสังคมไทย

กระบวนการกลืนตัวเอง คือเราจะสร้างพลเมืองที่มีสมรรถภาพ และมีความสุข จากพวกเขา

การมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นแสนอย่างฮวบฮาบ โดยที่คนเหล่านั้นไร้รากเหง้าในสังคมมาก่อน จะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ เกิดแน่ครับ แต่ล้วนเป็นปัญหาที่ประเทศไทยพอจะจัดการได้ ที่จริงสังคมไทยมีศักยภาพในการ "กลืน" คนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสูงมาก อย่างที่เรากลืนคนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมาแต่โบราณ รัฐไทยสมัยใหม่ต่างหากที่คอยขวางกั้นและบ่อนทำลายศักยภาพในแง่นี้ของสังคม หากรัฐเปลี่ยนนโยบายเสีย ทั้งรัฐและสังคมไทยก็จะก้าวข้ามปัญหาของการกลืนคนไร้รากในสังคมไทยเป็นแสนๆ คนได้ไม่ยาก อย่างที่เราเคยกลืนคนจีน, คนมอญ, ฝรั่ง, ชวา, พม่า ฯลฯ มาแล้วในอดีต

นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานคนหนึ่งทำนายว่า ใน ๑๐ ปีข้างหน้า เศรษฐกิจใหญ่ๆ ของอาเซียนจะขาดแคลนแรงงานในเกือบทุกระดับ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และระยะยาวไปพร้อมกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: