ธุรกิจ ‘ฟาร์มไส้เดือน’ กำไรเรือนแสน องค์ความรู้-ความตั้งใจคือหัวใจความสำเร็จ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 1 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 34468 ครั้ง

‘ฟาร์มไส้เดือน’ อาจไม่ใช่แค่ฝันเล็กๆ ในสวนหลังบ้านสำหรับมนุษย์เงินเดือน หากเลี้ยงจริงจังทำรายได้หลักแสนต่อเดือน แต่ต้องสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับไส้เดือนและมีความตั้งใจสูง จึงจะประสบความสำเร็จได้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งอาจล้มไม่เป็นท่า

แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเกษตร เมื่อกล่าวถึงปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้วัตถุดิบเพาะปลูกจากธรรมชาติทั้งหมด การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์จึงเป็นทางเลือกหลักของเกษตรปลอดสารพิษ

ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS) ระบุว่ามูลไส้เดือนดินมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดมากกว่าที่พบในปุ๋ยหมักธรรมดา นอกจากนั้น ยังมีรายงานการวิจัยพบสารฮอร์โมนสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของพืชในมูลไส้เดือนดินเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้แน่ใจได้ว่าในมูลไส้เดือนดินมีสารต่างๆ คือ ฮิวมัส (Humus) ออกซิน (Auxins) ไคเนตินส์ (Kinetins) จิเบอเรลริล (Giberellin) และไซโตไคนิน (Cytokinin) เป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจความสำคัญของสารอินทรีย์เหล่านี้ ว่า ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์พืช ทำให้รากรับอาหารไปใช้ การหันหน้าของดอกไม้เข้ารับแสงแดด ควบคุมความยาวของเซลล์ และแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสารต้านการแก่ตัวของพืชไม่ให้เน่าเปื่อยเร็ว นอกจากนั้น ยังค้นพบว่ามีเอนไซม์ไคติเนส (Kitinase) ซึ่งสามารถละลายไคตินส์ สารชีวะเคมีชนิดหนึ่งที่ประกอบกันเป็นเปลือกชั้นนอกของแมลง ด้วยเหตุนี้มูลไส้เดือนดินจึงมีฤทธิ์ในการขับแมลง (Insect Repellent) อีกด้วย

ธีรวัฒน์ ศรีปฐมศวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งฟาร์มไส้เดือน ‘ฟาร์มดี’ ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิวิถีชีวิตอิสระคนพิการ ให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการเลี้ยงไส้เดือนว่า ไส้เดือนมีอยู่มากมายหลายพันธุ์ โดยที่ฟาร์มดีเลือกเลี้ยงพันธุ์แอฟริกันไนท์ครอเลอร์ (African Night Crawler) หรือที่เรียกกันติดปากว่า AF เนื่องจากพันธุ์นี้ มีคุณสมบัติขยายพันธุ์รวดเร็ว และเหมาะเป็นปุ๋ยคุณภาพดี ส่วนวัสดุที่ใช้เลี้ยง ประยุกต์ได้หลากหลาย เช่น กะละมัง บ่อซีเมนต์ ลังไม้ ฯลฯ หรือชั้นกล่องพลาสติกลิ้นชัก ซึ่งเหมาะกับผู้มีพื้นที่น้อยในการเลี้ยง ซึ่งทุนในการเริ่มต้นอาชีพนี้ ธีรวัฒน์ระบุว่า แค่ประมาณ 5,000 บาท ก็สามารถจะทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนแบบเล็กๆ ได้แล้ว

สังเกตเพื่อสะสมองค์ความรู้

ธีรวัฒน์ ระบุว่า แรกเริ่มนั้นตนเองก็ประสบความล้มเหลวอย่างเช่นหลายคนที่เข้าวงการนี้เจอมา แต่กระนั้นหลังจากลองผิดลองถูก หมั่นสังเกต และสะสมองค์ความรู้ได้ระดับหนึ่ง จึงเข้าใจว่า ‘อาหาร’ และ ‘การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม’ นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่าไส้เดือนของเราจะรอดหรือไม่

โดยวิธีการเลี้ยงเริ่มจากเตรียมทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นที่อยู่และอาหารสำหรับไส้เดือน (Bedding) ใช้ส่วนผสม เช่น มูลวัว เศษเปลือกผักผลไม้ ฟาง ขี้เลื่อย ใบไม้ ขุยมะพร้าว นำมาคลุก แล้วหมักรวมกันประมาณ 1-2 เดือน ระหว่างนั้นให้รดน้ำพอชุ่มชื่น เมื่อได้แล้วใส่ปุ๋ยหมักลงในภาชนะที่จะเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นกะละมัง  บ่อซีเมนต์ และชั้นพลาสติก จากนั้นปล่อยไส้เดือนลงไป แล้วคอยให้อาหารไส้เดือนสม่ำเสมอ

ปัจจัยที่จะทำให้ไส้เดือนเจริญเติบโตดี ตัวโต ขยายพันธุ์รวดเร็ว รวมถึงได้มูลไส้เดือนที่จะไปทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี คือต้องให้ไส้เดือนกินอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง

“ธรรมชาติของไส้เดือนจะกินซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยแล้วเท่านั้น  อาหารเลี้ยงไส้เดือนจึงต้องผ่านกระบวนการหมักเพื่อให้อาหารเน่าเปื่อยและลดค่าความเป็นกรด โดยปกติแล้วไส้เดือนจะกินอาหารทุกประเภท แต่อาหารที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนได้ดีคือมูลวัวนม เพราะอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่ไส้เดือนต้องการ การเตรียมอาหารเลี้ยงไส้เดือนเริ่มจากใช้มูลวัวนมหมักในกะละมังหรือบ่อซีเมนต์ รดน้ำให้ชุ่มและพลิกกลับไปกลับมาทุก 3-5 วัน นาน 60 วัน หลังเตรียมอาหารเสร็จให้ปล่อยตัวไส้เดือนพ่อแม่พันธุ์ลงในภาชนะที่ใช้เลี้ยง”

ในด้านการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับวงจรชีวิตของไส้เดือน ธีรวัฒน์ระบุว่าสิ่งที่แรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ ธรรมชาติของไส้เดือนหายใจทางผิวหนัง โดยขับเมือกห่อหุ้มร่างกาย การเตรียมที่อยู่ให้ไส้เดือนจึงต้องคำนึงถึงความชื้น ไม่แห้งหรือชื้นเกินไปจนเปียก อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 20-30 องศาเซลเซียส หากมีอากาศที่เย็นจัดหรือร้อนเกินไป จะทำให้ไส้เดือนกินอาหารและขยายพันธุ์ได้น้อย สังเกตจากการใช้มือกำดินผสมอาหาร หากมีความชื้นที่ดี อาหารจะเป็นรูปทรงโดยไม่แตกหรือมีน้ำซึมออกมาก หากแห้งเกินไปเนื้ออาหารจะแตกร่วน ไส้เดือนจะหนี หรือหากแฉะเกินไปจะทำให้ผิวหนังไส้เดือนเน่าเปื่อยได้

นอกจากนี้ การจัดแสงให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของไส้เดือนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะไส้เดือนไม่สามรถทนต่อความร้อนของแสงแดดได้และชอบอยู่อาศัยในที่มืด จึงควรเลี้ยงไส้เดือนในที่ร่ม ให้มีเพียงแสงส่องรำไร หรือใช้เศษใบไม้คลุมผิวดินเพื่อพรางแสง

หลังปล่อยไส้เดือนลงภาชนะเลี้ยง ประมาณ 30 วัน ไส้เดือนจะเริ่มเปลี่ยนอาหารเป็นมูลและเริ่มเกิดตัวอ่อนขึ้นใหม่ ตรงนี้เป็นขั้นตอนการคัดแยกตัวไส้เดือนพ่อ-แม่พันธุ์ ตัวอ่อน ไข่ และมูลไส้เดือนออกจากกัน เริ่มจากคัดพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือนย้ายไปลงภาชนะใหม่ที่เตรียมอาหารไว้ จากนั้นให้นำตระแกรงความถี่ขนาด 3 มิลลิเมตรร่อนดินออกเพื่อคัดแยกอาหารที่ไส้เดือนกินไม่หมดหรือเรียกว่ากากอาหาร หลังจากแยกกากอาหารออก จะได้มูลไส้เดือนที่มีไข่ไส้เดือนปนอยู่ แยกไข่ไส้เดือนออกจากมูลด้วยการร่อนอีกครั้งโดยใช้ตระแกรงขนาด 1มิลลิเมตร จะได้มูลไส้เดือนพร้อมใช้ ส่วนดินปนไข่ไส้เดือนให้นำไปรวมกับกากอาหารที่เหลือจากการคัดแยกครั้งแรกเพื่อรอฟัก ในเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนลูกไส้เดือนใช้เวลาเลี้ยงต่อไปก็จะได้ผลผลิตทั้งมูลไส้เดือนทำปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ตัวอ่อนก็จะมีออกใหม่เรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ โดยตัวที่โตก็จะแยกออกไปเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อลงภาชนะใหม่ต่อๆ กันไป

รายได้ขึ้นอยู่กับความจริงจังในการเลี้ยง

สำหรับเรื่องตลาดมูลไส้เดือน ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยม เกิดผู้ผลิตขึ้นใหม่หลายราย จากเดิมที่ราคาปลีก กิโลละ 70-80 บาท ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 35-50 บาท ผู้ผลิตแต่ละรายจึงต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิตของตัวเอง อาทิ การคิดสูตรอาหารเลี้ยงไส้เดือนที่โดดเด่นและตรงความต้องการของตลาด เป็นต้นว่า หากต้องการตีตลาดผักก็จะใช้สูตรอาหารที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ใส่กากถั่วเหลืองผสมกับอาหารเลี้ยง เป็นต้น หรือการผลิตน้ำหมักมูลไส้เดือน ใช้เป็นธาตุอาหารชนิดน้ำ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดสินค้าปลอดสารพิษ ปัจจุบันจำหน่ายราคาปลีกลิตรละ 150 บาท

สำหรับฟาร์มขนาดเล็กอย่างฟาร์มดี ใช้แรงงานเพียงคนเดียว ยอดขายเฉพาะมูลไส้เดือนอย่างเดียว อยู่ที่เดือนละ 20,000–30,000 บาท ส่วนการขายตัวไส้เดือนก็สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 500–800 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากเป็นฟาร์มครบวงจรขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์ครบวงจร อาทิ มูลไส้เดือน ตัวไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพจากไส้เดือน ก็สามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อเดือนได้

ทั้งนี้ หากจะเลี้ยงไส้เดือนอย่างจิรงจัง ผู้เลี้ยงจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เลี้ยงไส้เดือนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร จะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพหลัก หรือเลี้ยงเพื่อเป็นงานอดิเรกหารายได้เสริม หรือเลี้ยงเพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิม เช่น อาชีพเกี่ยวกับการจัดสวนหรือเกษตรกรรมอื่นๆ เพราะประสบการณ์จากผู้ที่เคยล้มเหลวมาแล้วพบว่า การวางเป้าหมายที่ผิดพลาด การไม่พยายามหาตลาด และการดูแลเอาใจใส่ไส้เดือนที่ไม่ดีพอ ทำให้ผู้ที่ริจะทำฟาร์มไส้เดือนไปไม่ถึงฝั่งฝันมาหลายรายแล้ว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: