ค่า‘เครื่องแบบนักเรียน’ 1.2 หมื่นล้าน สะท้อนการศึกษาไทยไร้ประสิทธิภาพ ?

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 1 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 6278 ครั้ง

ฟังเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยมีงบประมาณด้านการศึกษาสูงมาก  เชื่อหรือไม่ว่ามากกว่าเกาหลีและญี่ปุ่นเสียอีก ขณะเดียวกันก็ชวนให้ประหลาดใจและเกิดคำถาม  ด้วยข่าวคราวคุณภาพการศึกษาของไทยกลับดูสวนทางกับเม็ดเงินที่ลงไป พูดด้วยภาษาเศรษฐศาสตร์คือ การศึกษาไทยกำลังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่าการลงทุน

ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ชวนขบคิดว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ เพราะหากตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้ จะช่วยให้รัฐและผู้ปกครองประหยัดเงินไปได้ถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี

เรากำลังพูดถึงค่าใช้จ่ายในหมวดเครื่องแบบหรือชุดนักเรียน โดยสามัญสำนึกทั่วไป คงมองเห็นได้ว่าเครื่องแบบกับความ สามารถในการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์  ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ยังมีบางแง่มุมของการมีเครื่องแบบที่ชวนไตร่ตรองไม่น้อย เพราะการแก้ปัญหาหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอีกแบบที่ไม่พึงประสงค์ก็ได้

ค่าใช้จ่ายการศึกษาไทยสูงล้ำโลก แต่คุณภาพต่ำ

จากงานศึกษาเรื่อง ‘ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย’ ของ รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า รายจ่ายด้านการศึกษาของไทยปี 2556 ซึ่งหมายรวมถึงงบประมาณของภาครัฐ ของท้องถิ่น ผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ รวมกันสูงถึงกว่า 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP

เมื่อแยกแยะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาออกเป็นหมวดๆ  พบว่า ปี 2556 เฉพาะรายจ่ายด้านการศึกษาเฉพาะของภาครัฐ (ไม่รวมอาชีวะ) เงินร้อยละ 86 หมดไปกับเงินเดือนครูและการบริหารจัดการ ร้อยละ 4 ไปอยู่กับพวกครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เงินที่ไปถึงผู้เรียนจริงๆ แค่เพียงร้อยละ 10 ของทั้งหมดเท่านั้น  นี่ยังไม่นับค่าแป๊ะเจี๊ยะที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ

จะยิ่งเห็นนัยชัดเจนขึ้นอีกเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น รายจ่ายด้านการศึกษาของภาครัฐไทยเท่ากับร้อยละ 5.1 ของ GDP ขณะที่รายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี  (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 3.78 เกาหลี ร้อยละ 4.86 สิงคโปร์ ร้อยละ 3.07 และฮ่องกง ร้อยละ 3.42 ของจีดีพี ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกก็อยู่เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น

ทั้งที่รัฐไทยทุ่มเทงบประมาณกับการศึกษาถึงเพียงนี้  รายงานของ World Economic Forum กลับรายงานว่า ปี 2556 อัตราการเข้าเรียนของเด็กไทยอยู่ในอันดับ 101 ของโลก อันดับ 9 ในอาเซียน คุณภาพของระบบการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก อันดับที่ 8 ของอาเซียน ขณะเดียวกัน ยังมีเด็กยากจนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางครัน ลูกคนมีเงินได้เรียนต่อในระดับสูงมากกว่า คุณภาพการจัดการ ศึกษาระหว่างเมืองกับชนบทแตกต่างราวฟ้ากับเหว

นี่คือปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยจึงควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

ไม่มีเครื่องแบบ ประหยัดเงินได้ 1.2 หมื่นล้านต่อปี

รายจ่ายภาครัฐสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 428,985 ล้านบาท (ไม่รวมอาชีวะ) คิดรวมทั้งค่าเครื่องแบบ หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 4 หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ในส่วนรายจ่ายเพื่อการศึกษาที่ภาคครัวเรือนร่วมจ่ายด้วยนั้นตกประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเครื่องแบบร้อยละ 10

รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า เมื่อคิดเฉพาะค่า’เครื่องแบบนักเรียน’ เป็นตัวเลขกลมๆ รวมทั้งส่วนที่รัฐจ่ายและครัวเรือนจ่าย จะตกปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ประเด็นคือถ้าไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนย่อมหมายถึงจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี และสามารถนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนด้านการศึกษาอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า

“ในแง่ความคุ้มค่า ถ้าตัดตรงนี้ออกจะประหยัดขึ้น แล้วจะเอาไปใส่กับอะไร ถ้าตัด ผู้ปกครองก็มีเงินไปใช้ในด้านอื่นๆ เขาจะลงทุนด้านการศึกษาเหมือนเดิมมั้ย เงินของรัฐ 3 พันล้านมีที่ใช้เยอะแยะ เอามาช่วยเด็กยากจนให้เข้าโรงเรียนดีกว่า ซึ่งก็ใช้งบประมาณ 3 พันล้านพอ ตรงนี้จะเกิดประโยชน์มากที่สุด” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว

กลยุทธ์เปลี่ยนเครื่องแบบ-ใบเสร็จลอย ทำเปลืองงบประมาณ

แหล่งข่าวรายหนึ่ง ซึ่งเป็นครูในจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นด้วยที่นักเรียนควรใส่เครื่องแบบเพราะเป็นเรื่องของระเบียบวินัยและการรู้จักกาลเทศะ แต่แหล่งข่าวรายนี้ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจที่สะท้อนให้เห็นว่า ความสิ้นเปลืองของค่าใช้จ่ายด้านเครื่องแบบส่วนหนึ่งก็เกิดจากตัวระบบงบประมาณ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากงบประมาณของโรงเรียนจะถูกคิดเป็นรายหัว งบประมาณจึงเพิ่มขึ้นแบบแปรผันตามกับจำนวนนักเรียน เช่นนี้แล้วผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งจึงใช้วิธีปรับเปลี่ยนชุดนักเรียนหรือชุดยูนิฟอร์มเพื่อดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียน  ซึ่งแหล่งข่าวรายนี้ยืนยันว่ามีผลจริง การเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบทำให้ผู้ปกครองต้องซื้อใหม่ ทั้งที่ชุดเดิมยังใช้การได้

ในทางกลับกัน เพราะผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จมาเบิกค่าเครื่องแบบกับทางโรงเรียนได้ ดังนั้น ต่อให้เครื่องแบบชุดเดิมของเด็กยังใช้ได้ ผู้ปกครองก็อาจใช้วิธีซื้อถุงเท้า 5 คู่เพื่อนำใบเสร็จมาเบิกเงิน หรือหนักกว่านั้น นำใบเสร็จมาเบิกโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าซื้อเครื่องแบบจริงหรือไม่ และดังที่รับรู้กันดีว่าวิธีการทำงานของราชการคือการทำงานตามงบประมาณ  ทางโรงเรียนจึงไม่ได้ทำการตรวจสอบว่ามีการซื้อเครื่องแบบจริงหรือไม่ ขอแค่มีใบเสร็จเพื่อนำไปยืนยันกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการได้ก็เพียงพอ

หลากหลายมุมมองเรื่องเครื่องแบบนักเรียน

วารินทร์ มั่นศรี ส่งลูกสาวสองคนเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอินเตอร์ทั้งคู่ เล่าว่า เธอต้องจ่ายค่าเล่าเรียน 45,000 ต่อคน ต่อเทอม โดยยังไม่รวมค่าเครื่องแบบ ซึ่งเธอไล่เรียงให้ฟังว่า เธอซื้อเครื่องแบบให้ลูกคนละ 5 ชุด (ทั้งชุดนักเรียนและชุดกีฬา) สำหรับใส่ 3 ปี ชุดละ 700 บาท ตกปีละ 1,200 อาจจะมีซื้อเพิ่มบ้าง คิดรวมแล้วประมาณ 1,500 บาท ส่วนรองเท้าต้องซื้อใหม่ทุกปี ปีละ 2 คู่ เนื่องจากขนาดเท้าของเด็กมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี รองเท้าสองคู่คู่ละประมาณ 300 บาท ถุงเท้าอีก 9 คู่ 300 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านเครื่องแบบต่อคนต่อปีที่ประมาณ 2,400 บาท

เมื่อถามว่า เครื่องแบบจำเป็นหรือไม่ เธอตอบว่า

“จำเป็น ถึงจะไม่เกี่ยวกับการเรียน แต่เพราะจะได้ไม่ต้องคิดว่าจะใส่ชุดอะไรไปโรงเรียน ที่สำคัญคือลูกเราและเพื่อนๆ ก็จะเท่าเทียมกัน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะรวย ใครจะจน เพราะก็ใส่ชุดเดียวกันนั่นแหละ คือส่วนตัวไม่มีปัญหาว่าจะให้ใส่ชุดอะไร แต่จะมีปัญหาว่าเวลาเด็กไปอยู่ด้วยกัน ชุดนั้นก็สวย แม่ อยากได้ชุดเจ้าหญิงเหมือนเพื่อนคนนี้ๆ เคยเจอมาแล้ว ถึงบอกว่าให้เป็นเครื่องแบบเดียวกันนั่นแหละดีแล้ว เพราะจะลดเรื่องตรงนี้ได้ ไม่รู้หรอกใครรวย ใครจน สุดท้ายมาโรงเรียนชุดเดียวกัน”

คราวนี้ลองมาฟังความคิดเห็นของฝ่ายนักเรียนดูบ้าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนมัธยมศึกษาและเป็นเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ผู้ที่ชูป้าย ‘สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรมหรือดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง’ ในการปาฐกถาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องแบบต่อเทอมประมาณ 3,000 บาท แสดงความเห็นว่า

“ก่อนจะตอบคำถามว่าเครื่องแบบนักเรียนจำเป็นหรือไม่ ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไรจากการศึกษา เครื่องแบบนักเรียนก็ไม่ใช่จะไร้ประโยชน์ไปโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าคิดว่าการศึกษาต้องการการพัฒนาด้านศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความรักเรียนของนักเรียน  แน่นอนว่าเครื่องแบบไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ในทางตรงกันข้าม มันกลับอาจเป็นอันตรายต่อผลสำเร็จของการศึกษาด้วยเสียอีก”

พริษฐ์คิดว่า เครื่องแบบนักเรียนนอกจากจะไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นแล้ว ยังน่าจะสร้างผลในทางตรงกันข้ามเสียอีก เพราะการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียนไม่ใช่แค่จำกัดความคิด จำกัดการแสดงออกผ่านสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างการแต่งกาของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังสร้างความรู้สึกว่าโรงเรียนบีบบังคับ เมื่อประกอบกับเหตุปัจจัยอื่นๆ ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่มีแต่การบังคับ อาจทำให้นักเรียนเบื่อครู เบื่อโรงเรียน และการเรียน

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านขายเครื่องแบบนักเรียนย่านบางลำภู  แสดงความเห็นว่า

“ชุดนักเรียนประหยัด ย้อนถามว่าชุดเที่ยวลูกซื้อปีหนึ่งกี่ชุด คุณเปลี่ยนปีหนึ่ง เดือนหนึ่งกี่ชุด แต่ชุดนักเรียนซื้อ 3 ชุดแล้วก็จะทู่ซี้ให้ลูกใช้ 3 ปี เด็กเวลาเดินเข้าไปในโรงเรียน ถ้าเป็นชุดเที่ยว แบรนด์มาอย่างนี้ เด็กก็มีความอยากของเขา เห็นเพื่อนแต่งตัวสวยๆ ก็อยากมีบ้าง ก็ต้องให้ไปกระตุกกระโปรงแม่เขา แล้วถ้าต้องใส่ชุดอย่างนี้ไปโรงเรียนทุกวัน แม่เด็กจะเสียเงินมากแค่ไหน แล้วชุดพวกนี้ก็ไม่ได้ทนเหมือนชุดนักเรียน”

ดูเหมือนว่าคำบอกเล่าของผู้ค้ารายนี้กับประสบการณ์ของวารินทร์จะสอดคล้องกันโดยบังเอิญ อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ว่า ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงทุกคนจะต้องประพฤติเหมือนกัน แต่งกายเหมือนกัน เพราะมันคือความเหมือน (Sameness) ไม่ใช่ความเท่าเทียม (Equality) แต่ความเท่าเทียมคือการที่ทุกคนได้รับสิทธิพื้นฐาน การสนับสนุนขั้นพื้นฐานเท่ากัน ใครที่มีต้นทุนด้อยกว่าต้องได้นับการดูแลเป็นพิเศษให้มีศักยภาพแข่งกับคนอื่นได้

“ต่อให้คุณจับทุกคนมาใส่ชุดนักเรียนเหมือนกัน ยี่ห้อเครื่องเขียน กระเป๋า รองเท้าเหมือนกัน แต่การไปโรงเรียนกวดวิชา รสนิยม หรือนามสกุลก็เอามาเป็นประเด็นกันได้ยู่ดี ที่สำคัญที่สุด เมื่อนักเรียนออกจากโรงเรียนสู่โลกภายนอกที่ไม่มีเครื่องแบบ ก็ต้องเจอกับสภาพที่คุณเรียกว่าไม่เท่าเทียมอยู่ดี ดังนั้น ถ้าจะสร้างเด็กให้มีจิตวิญญาณความเสมอภาค ก็ควรสอนเรื่องการไม่ดูถูกคนอื่น คุณควรสอนเด็กถือกระเป๋าราคาแพงให้ไม่เหยียดเพื่อนที่ไม่ได้ถือ ไม่ใช่ไปริบของเขา ส่วนเด็กจะใช้ของถูกของแพงก็ควรที่จะให้ผู้ ปกครองเป็นคนตัดสินใจ โดยมีครูและโรงเรียนเป็นผู้ให้ความสนับสนุนในการสร้างจิตสำนึกความประหยัดมากกว่าที่จะให้โรงเรียนเข้าไปยุ่งโดยตรง”

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นเรื่องควรใส่เครื่องแบบหรือไม่คงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อีกมาก ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ดูจะมีเหตุผลที่น่ารับฟัง

อย่างไรก็ตาม  แม้การไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนจะประหยัดงบประมาณแผ่นดินเพิ่มได้อีกปีละ 1.2 หมื่นล้านอันอาจนำไปใช้พัฒนาการศึกษาในด้านอื่นๆได้อีกมาก  แต่หากวิธีการและรูปแบบการใช้งบประมาณ  ยังคงเป็นเช่นนี้  ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเงิน 1.2 หมื่นล้านจะถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า

ประเด็นจึงอยู่ที่ การปรับปรุงการบริหารการศึกษาของไทยให้เกิดประสิทธิภาพต่างหาก

อ่าน 'จับตา': “ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5865

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: