รู้จักสื่อใหม่ (New Media)

1 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 35366 ครั้ง


ชนิดของสื่อใหม่

เว็บไซต์ (website)

เว็บไซต์เป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมจากทุกสำนักข่าว เพราะมีต้นทุนในการดำเนินงานไม่สูงมากนักและสอดคล้องกับแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่หันไปใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้สำนักข่าวเกือบทุกแห่งทั่วโลก ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ต่างพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งใช้เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อกับผู้บริโภคข่าว ด้วยบริการกระดานแสดงความคิดเห็น (Web board) และการกด Like ผ่านเว็บไซต์สังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค การพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ยังทำให้เว็บไซต์หรือหน้าเว็บเพจสามารถไปปรากฎอยู่ในเว็บไซต์อื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์หลายประเภทที่มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ คอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและพกพา  แท็บเล็ต และโทรศัพท์ เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน

พัฒนาการของเว็บไซต์

1)  Web 1.0 เป็นยุคแห่งการเริ่มต้น การผลิตเนื้อหาต่างๆ มาจากเจ้าของเว็บไซต์ ผู้ที่ต้องการข้อมูลจะเข้าไปอ่านจากเว็บไซต์หรือค้นหาผ่าน Search Engine การเข้าถึงข้อมูลอยู่ในรูปแบบ “Read-Only” กล่าวคือ  การแสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชมเว็บไซต์เป็นการตอบโต้ทางเดียว ผู้เสนอเนื้อหาหรือเจ้าของเว็บไซต์จะเป็นผู้จัดทำ ค้นหา นำเสนอ โดยผู้อ่านหรือผู้ท่องเว็บมีหน้าที่รับข้อมูล  สารสนเทศเพียงอย่างเดียว แม้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นหรือมีการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ แต่ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อย เช่นอาจมีการรับส่งข่าวสารกันทางอีเมล์ การโต้ตอบ  แบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่างๆ หรือเพียงการดาวน์โหลด เพลง ภาพต่างๆ จากเว็บไซต์  

2)  Web 2.0 เป็นยุคแห่งการเชื่อมการให้บริการข้อมูลข่าวสารอยู่ในรูปแบบ “Read – Write” ซึ่งเป็นการ แสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชม เว็บไซต์ Web 2.0 จึงมีลักษณะการแบ่งปันความรู้ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะเป็นการนำเสนอข้อมูลผ่าน เว็บไซต์เพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังมุ่งให้เกิดการติดต่อสื่อสารให้เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทาให้ผู้ท่องเว็บหรือผู้ใช้บริการมีบทบาทเป็นผู้สร้างเนื้อหาข้อมูลด้วย  โดยเน้นให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเนื้อหา และการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ที่ได้จัดทำขึ้น ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาระหว่างสมาชิก

สื่อสังคมออนไลน์ ( Social Media )

สื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่  เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมของผู้ใช้ไว้ได้ตลอดเวลา และเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันเนื้อหาแบบมัลติมีเดียได้จากอุปกรณ์สื่อสารใกล้ตัว เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น  สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับ ความนิยม เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter), ยูทูป (YouTube), ลิงเคดอิน (LinkedIn) เป็นต้น ผลการสำรวจ ณ พ.ศ. 2556 พบว่า ทั่วโลกมีสมาชิกเฟซบุ๊คทั้งสิ้น 1,000 ล้านบัญชี สมาชิกกูเกิ้ลพลัส 235  ล้านบัญชี สมาชิกทวิตเตอร์มากกว่า 200 ล้านบัญชี สมาชิกลิงเคดอิน 160 ล้านบัญชี และสมาชิกพินเทอเรสต์ 10.4 ล้านบัญชี

ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2556 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (2556) พบว่า ภายในระยะเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76.3 และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 9 มีชั่วโมงการใช้งานต่อสัปดาห์สูงถึง 105 ชั่วโมง ด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้ใช้มีแนวโน้มหันมาใช้อุปกรณ์ที่สามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่มากขึ้น ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ ใช้แท็บเล็ตในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น  กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การใช้งานโซเชียลมีเดีย ในขณะที่กิจกรรมหลักยังคงเป็นการรับส่งอีเมล์ และการค้นหาข้อมูลเช่นเดิม

ปัจจุบัน คนไทยเป็นสมาชิกในเครือข่ายเฟซบุ๊คทั้งสิ้น 24 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊คในการอัพโหลดและแชร์รูปถ่ายในเครือข่าย จนเกิดพฤติกรรม selfies หรือการคลั่งไคล้ในการถ่ายรูปและเผยแพร่รูปตนเองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รองลงมาคือการส่งข้อความระหว่างกันแบบส่วนตัว (Inbox) และอันดับสามเป็นการโพสต์ความคิดเห็นบนหน้าวอลล์ (Wall) เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน และอันดับ 4 คือการ check-in เพื่อบอกสถานที่ที่ไปหรือกิจกรรมที่ทำ

ที่มา

งานวิจัย Re-defining Thailand’s New Media : Challenges in the Changing Political Regime โดยอรรคณัฐ วรรธนะสมบัติ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.prachachat.net/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: