ชานันท์ ยอดหงษ์: รักในที่โล่ง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 2 ก.พ. 2558


ความเหมือนกันระว่างควอนตัมฟิสิกส์กับความรักคือความยากและซับซ้อน บางคนอาจเชื่อว่าอย่างหลังยากและซับซ้อนกว่า ไม่ว่าอย่างไร ความรักได้สถาปนาตนเองเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน การไร้รัก-ไร้คู่ไม่ต่างกับการทำบาป

เมื่อความรักเป็นสิ่งจำเป็นและการไร้รักคือบาป พอมีความรักก็จำต้องแสดงออกให้โลกรู้ แต่เพราะความรักเป็นเรื่องส่วนตัว โลกเป็นพื้นที่ของทุกคน มันจึงเกิดการขบเหลี่ยมและชวนขบคิดต่อการปะทะกันของเรื่องส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ

ถ้ายังจำกันได้ คลิปที่คู่รักเพศเดียวกันคู่หนึ่งแสดงความรักบนรถไฟฟ้า จนทำให้มีคนไม่พอใจ เข้าไปต่อว่าต่อขาน เกิดเป็นกระแสสะพัดในโลกโซเชียล มิเดีย ว่าด้วยกาลเทศะ และตอนนั้นเอง มีคนหนึ่งออกมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘กาลเทศะ’

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ คือคนคนนั้น

เขาเชื่อว่า การแสดงความรักในที่สาธารณะเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งและไม่มีใครมีสิทธิด่าทอหรือพิพากษา ทั้งกาลเทศะที่ใครๆ เห็นว่าเหมาะ-ไม่เหมาะ ก็ไม่ได้สถิตนิ่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ ความรัก พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว ค่อยๆ ถูกฝังลงไปในสำนึกประมาณ 100 กว่าปีมานี้เอง

สำหรับชานันท์ ความรักทำให้เกิดเสรีภาพ และไม่มีใครสามารถพรากเสรีภาพไปจากใครได้ แม้แต่กาลเทศะ ส่วนผู้อ่านจะคิด-เชื่อแบบเขาหรือไม่ ก็เป็นเสรีภาพของผู้อ่าน

TCIJ: ตอนที่มีกระแสคู่รักเพศเดียวกันแสดงความรักบนรถไฟฟ้า จนมีคนเข้าไปต่อว่า คุณรู้สึกขัดข้องอย่างไรจนต้องเขียนบล็อก

ชานันท์: ปกติเขียนบล็อกให้สื่อช่องหนึ่งอยู่แล้ว ก็พยายามหาประเด็นที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันนำมาวิเคราะห์เรื่องสังคม เรื่องเพศ เห็นประเด็นนี้มันร้อนมาก เลยเอามาเขียน เขียนคืนนั้นเลย ส่งเขาตอนตีสองตีสาม มันเป็นกรณีที่น่าสนใจ ครั้งแรกที่เห็นตกใจมาก ด้วยความที่สื่อประเภทคลิปมีทั้งภาพ เสียง และเป็นใครถ่ายก็ได้ ประหนึ่งว่าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ยิ่งทำให้เรามีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นั้นมากขึ้น จึงรีบเขียน ยอมรับว่าไม่ได้กลั่นกรองมากนัก ทำให้มีอารมณ์ของผู้เขียนใส่ลงไปด้วย

รู้สึกตกใจ โกรธ และไม่น่าเชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 แล้วยังมีประเด็นแบบนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะสังคมที่เป็นเมืองหลวง ที่มีความหลากหลายเยอะ เหตุการณ์เกิดขึ้นบนรถไฟฟ้าซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวง จึงคิดว่าน่าจะมีการยอมรับความหลากหลายมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาความเป็นไทย กาลเทศะ มาเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา

เมื่อสังคมมีความหลากหลายขึ้น พฤติกรรมการแสดงออกซึ่งความรัก ความสัมพันธ์ รวมถึงการแสดงตัวตนในพื้นที่สาธารณะมันชัดเจน หลากหลาย และถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้น ไม่คิดว่าเราจะเอาคำว่า กาลเทศะ มาโจมตีคนเหล่านี้ สังคมไทยมีทั้งพังค์ สักทั้งตัว ใส่รองเท้าคนละสี หรือแต่งตัวแรงๆ สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ เดินบนท้องถนนได้ การแสดงออกทางความรัก ความใคร่ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าคนในคลิปทำอะไรก่อนหน้านั้นจนถูกด่า แต่จากที่อ่านคร่าวๆ จากหลายสำนักข่าว จากหลายๆ คนที่ออกมาพูด รวมถึงเจ้าของคลิปว่ามีการเกี้ยวพาราสี การแสดงออกซึ่งความรัก คิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปด่าทอเขาขนาดนั้นหรือไล่ให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งในนามของกาลเทศะ

พอดีมีคนเขียนด่าด้วยว่า คุณต้องคำนึงถึงความเป็นไทย กาลเทศะและความเป็นไทยกลายเป็นเครื่องมือขับไล่ ด่าทอ อีกคนหนึ่ง เราจึงรู้สึกขัดหูขัดตา

TCIJ: เรื่องการแต่งตัว สังคมไทยมีความอดทนระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่การแสดงออกซึ่งความรักที่มากเกินไป สังคมไทยอาจจะเห็นว่าในบางพื้นที่มันไม่เหมาะสมหรือเปล่า

ชานันท์: พอพูดคำว่า มากเกินไป ปุ๊บ คำว่า มาก ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน คำว่า มาก-น้อย หรือพอดี มันขึ้นอยู่กับการนิยามของแต่ละบุคคล การที่บอกว่าสิ่งนี้มากเกินไป สุดท้ายแล้วเราใช้อะไรเป็นมาตรฐาน มาตรฐานฉันหรือมาตรฐานเธอ มาตรฐานฉันอาจปล้ำกันในรถเลยก็ได้ หรือแค่จับมือก็มากเกินไปแล้ว มันจึงมีความหลากหลายในเรื่องการตีความมาก-น้อยด้วย

สมมติถ้าเปลี่ยนจากคู่นั้นเป็นผู้ชาย-ผู้หญิงทำบ้าง ปฏิกิริยาจะต่างกันมั้ย หรือว่าเอาเน็ตไอดอลที่เป็นคู่รัก คู่จิ้น ที่หน้าตาดีมากๆ มาทำ ผลลัพธ์จะต่างกันมั้ย หรือว่ามีผู้ชายคุกเข่าขอแต่งงานผู้หญิงบนรถไฟฟ้า เราจะ...อีนี่ทำอะไร ออกไป เราจะทำมั้ย เราอาจจะตบมือแทน ถ่ายคลิปแล้วน้ำตาเล็ดตาม คือมันมีปัจจัยหรือเงื่อนไขหลายอย่างที่ประกอบสร้างขึ้นมา แต่เพราะเป็นคู่นี้ที่เป็นข่าว สังคมจึงอดทนอดกลั้นได้น้อยกว่าหรือเปล่า เวลาที่เราบอกว่าอะไรมากเกินไป มันอาจขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ขึ้นกับตัวสิ่งแวดล้อม หรืออะไรต่างๆ นานาก็ได้

อย่างที่บอกว่าการแสดงตัวตนที่มันหลากหลาย สมมติถ้าเราจะแต่งตัวเป็นพังค์ ทาปากสีดำ ขอบตาดำ คนคนนั้นก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสายตาจับจ้องอยู่แล้ว ต้องยอมรับ มันเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายและรับมือกับมัน แต่เราไม่รู้หรอกว่ามันจะมาหาเราเมื่อไหร่ และมาในรูปแบบไหน แต่เขาอาจไม่ได้คิดว่าการแสดงออกซึ่งความรักแบบนั้นจะทำให้ถูกด่า

TCIJ: การแต่งตัวอาจจะต่างกับการแสดงความรักในที่สาธารณะ เพราะอย่างหลังหมายถึงคุณไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่รู้จักยับยั้งช่างใจ แต่การแต่งตัวไม่เกี่ยวกับวินัยหรือการควบคุมตนเอง

ชานันท์: สังคมทั่วโลกในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เริ่มมีชนชั้นกลางมากขึ้น แล้วบังเอิ๊น บังเอิญที่ชนชั้นกลางไปสมาทานวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูง ที่จะไม่แสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจนว่าฉันรู้สึกอย่างไร มีอารมณ์อย่างไร ต้องการอะไร เพราะการแสดงอารมณ์ความรู้สึกนั้น มันคือธรรมชาติ สังคมมีการแบ่งระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม

ธรรมชาติเป็นสัตว์ เป็นสัญชาติญาณ ไม่ใช่มนุษย์ที่ถูกขัดเกล่า มนุษย์ที่ถูกขัดเกลาแล้ว ธรรมชาติจะน้อยลง วัฒนธรรมจะมากขึ้น เราเชื่อกันอย่างนั้น เจ้าและชนชั้นสูงจะไม่แสดงอารมณ์ให้เห็น จะนิ่งๆ การยกเรื่องการไม่รู้จักยับยั้งช่างใจแสดงให้เห็นถึงจริตหรือการขัดกันทางสังคมที่ห้ามแสดงออกทางอารมณ์ออกมาชัดเจน

เหมือนในศตวรรษที่ 19 จะแบ่งเหตุผลกับอารมณ์ออกเป็นขั้วตรงข้าม เหตุผลก็อยู่นอกบ้าน เหมือนถ้าเรามีแฟน แฟนบ่นว่าทำไมทำแบบนี้ ผู้ชายบางคนอาจจะพูดว่าอย่ามาทำตัวแบบนี้ นี่ไม่ใช่ในบ้านนะ อย่ามาเสียงดังนะ ไปคุยในบ้าน หมายความว่าการแสดงทางอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติจะถูกเก็บไว้ในบ้าน การยับยั้งชั่งใจจึงไปผูกโยงกับเรื่องพื้นที่อีกทีหนึ่ง กรณีที่เกิดขึ้น เราบอกว่าไปทำที่บ้านสิ ไม่ใช่บนรถไฟฟ้า เขาอาจจะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันก็ได้ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว หรือให้เข้าโรงแรม เขาเดินทางด้วยรถไฟฟ้า แต่การเข้าโรงแรมในไทยไม่เหมือนเลิฟ โฮเทล ในญี่ปุ่น สังคมไทยจะเข้าโรงแรมม่านรูดต้องมีรถ จะเดินต๊อกๆๆ เข้าไป ปิดม่าน มันก็เขินอาย มันจึงต้องมีรถเพื่อปกป้อง กำบัง ตัวตนด้วย บนรถไฟฟ้าอาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขาก็ได้ คือพื้นที่สาธารณะบางทีอาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย

TCIJ: สำนึกเรื่องพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย มันมีความเป็นยังไง

ชานันท์: สำนึกการแยกพื้นที่ส่วนตัวกับส่วนบุคคลเริ่มในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 สังคมไทยมีแม่แบบเป็นยุโรป เพราะฉะนั้นจริตต่างๆ ความคิดอ่าน หรืออุดมการณ์ทางการเมือง การแบ่งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวก็มาจากตะวันตก

พอมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ชายก็ออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก พอผู้ชายกลับจากทำงานเหนื่อยๆ ก็ให้ผู้หญิงดูแล มันมีการแยกเรื่องเพศชัดเจน นอกเหนือจากเรื่องอารมณ์ เหตุผล การออกไปทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องของการเข้าสังคม เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของหลักการต่างๆ ขณะที่อยู่บ้านเป็นการพักผ่อน แสดงตัวตน

เช่นเดียวกัน ในสังคมไทยก็มี แต่มีในชนชั้นสูงที่จะแบ่งพระราชฐานฝ่ายในกับฝ่ายนอก ฝ่ายในเป็นที่ของเจ้ากับมเหสี ส่วนราชฐานชั้นนอก เจ้าใช้ทำงานกับบรรดาอำมาตย์ที่เป็นผู้ชายด้วยกัน เป็นการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกับสาธารณะชัดเจน แต่ถ้าเป็นสังคมไทยโบราณ ผู้หญิงกับผู้ชายทำงานด้วยกัน เส้นแบ่งพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนบุคคลมันพร่าเลือนมาก เช่นเดียวกับบทบาทชาย-หญิง ไม่มีสำนึกการแบ่งชัดเจนขนาดนั้น

พอมีชนชั้นกลางมากขึ้น ฐานการผลิตไม่ใช่เกษตรกรรมอีกต่อไป สังคมไทยเพื่อยังชีพก็เปลี่ยนไปเป็นเพื่อการส่งออกด้วย สังคมมีเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามา บ้านในชนบทสมัยก่อนมีมุ้ง นั่นคือความเป็นส่วนตัวของเขาแล้ว มุ้งไม่ใช่ผนังที่แบ่งชัดเจน มันยังมองเห็นได้ ลูกและครอบครัวจะเห็นการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น อย่างน้อยที่สุด เสียงคราง เสียงกระแทกกระทั้นกันก็ต้องได้ยิน มันเป็นเรื่องปกติ

เราเพิ่งจะมาแยกห้องนอนกันเมื่อชนชั้นกลางเกิดขึ้นในตัวเมืองหลวง จึงมีจริตห้องนี้ห้องฉัน ห้องเธอ แบ่งกันไป ใครจะมีเพศสัมพันธ์ก็มีในห้อง ถ้าเราดูวรรณคดีสมัยก่อน ฟาดกันทุกที่เลย เช่น พระลอ พระอภัยมณี ก็เอากันในป่า ในสุมทุมพุ่มไม้ ในคลอง ในน้ำ หรือเรื่องลูกอีสาน เอากันหลังลอมฟาง แต่นั่นเป็นสังคมชนบท ไม่มีการแบ่งห้องนอนชัดเจน อย่างในเรื่องพระลอ พระเอกก็ฟาดสอง หรือนางรื่น นางโรยที่เป็นคนใช้ของพระเพื่อน พระแพง ก็ได้กับนายแก้ว นายขวัญ คนใช้ของพระลอ ไปได้กันในสระน้ำ พอได้กันเสร็จปุ๊บก็พากันไปห้อง พอเสร็จกิจค่อยถามว่าเธอชื่ออะไร มาจากเมืองไหน นี่คือการมีเพศสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะที่ทำกันได้อย่างเปิดเผยและไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อแซ่กันมาก่อนด้วย

แต่สำนึกการแบ่งเรื่องพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวที่มาทีหลังประมาณ 100 ปี มันทำให้จริตของเราเปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาพลอดรักกันในพื้นที่สาธารณะ มันเกิดก่อนศตวรรษที่ 19 นะ เพียงแต่ว่าจริตที่รับพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้ มันเป็นสำนึกใหม่ การแสดงออกความรักในพื้นที่สาธารณะ ยิ่งในปัจจุบันมีโซเชียล มิเดีย เราสามารถอวดผัวกันได้อย่างปกติสุข ไม่มีไรจะบอก แค่รักผัวมาก ไปกินข้าว ไปเที่ยวด้วยกัน ก็อัพรูปขึ้น รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ เราก็แอบดูกันอย่างแพร่หลาย เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวที่ถกเถียงกัน มันเริ่มพร่ามากขึ้น

TCIJ: ในอดีต มุ้งคือกึ่งๆ พื้นที่ส่วนตัว เพราะใครก็เห็นได้ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นผนังที่แยกชัดเจน คุณว่าโซเชียล มิเดีย กำลังจะทำให้กลับไปเป็นมุ้งเหมือนเมื่อก่อนมั้ย

ชานันท์: มันทำลายไปเลย ไม่มีมุ้งแล้ว แต่มันก็ก้ำๆ กึ่งๆ มีนักวิชาการทั่วโลยังถกเถียงกันอยู่ว่า สรุปแล้วมันเป็นการเปิดเผยตัวตนหรืออำพรางตัวตน เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะเปิดเผยแค่ไหน เราก็เลือกที่จะเอาอัตลักษณ์บางอย่างไปเปิดเผยในสื่อ บางคนอาจจะเลือกตอนร้องไห้ เลือกตอนหัวเราะ มันมีการเลือกคำ เลือกเสนอตัวตน เลือกที่จะไม่เปิดเผยบางอย่างด้วย

TCIJ: แล้วสำนึกเรื่องความรักล่ะ มันถูกสร้างและเปลี่ยนแปลงไปยังไง

ชานันท์: ความรักเป็นอะไรที่พูดยากมากเลยนะ มีการถกกันตั้งแต่ก่อนพระเยซูจะเกิด เพลโต้ อริสโตเติ้ล ก็นิยามความรักว่าคืออะไร จนกระทั่งมีหนังเรื่องโอเน็กกาทีฟ รักออกแบบไม่ได้ จนถึงเรื่อง Interstellar สรุปแล้วรักก็สามารถทะลุทะลวงมิติกาลเวลาได้ ความรักถูกนิยามในแต่ละศตวรรษหลากหลายมาก

เราจะไม่มองว่ากาลเทศะคือการคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง

สังคมมองเรื่องกาลเทศะเป็นระเบียบวินัย

ในการบังคับมากกว่าการคำนึงถึงใจเขาใจเรา

ที่สนใจเรื่องความรักทุกวันนี้คือมันมีความเปลี่ยนแปลง มันยากนะ มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ ขนาดเราปากไม่ดี ด่าคนนั้นคนนี้ วิจารณ์ แต่พอเรามีแฟน เราก็จะหงอย เราจะโยนทฤษฎี แนวความคิด อุดมการณ์หลายอย่างทิ้งไปเลย เชื่องมาก แต่รูปแบบการแสวงหาความรักก็เปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนความรักก็คงมี แต่เราค่อยๆ ให้คุณค่า Romanticize มากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน แต่สุดท้ายแล้ว ความรักเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เราจะจัดการกับมันยังไง ในเมื่อมันเป็นเรื่องของปฏิสังสรรค์ระหว่างคนสองคน ถ้าเราเชื่อเรื่องผัวเดียวเมียเดียวนะ พอเป็นเรื่องของคนสองคนปุ๊บ มันก็จัดการยาก เป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่ใช่หน้าที่ มันมีทั้งอารมณ์ที่ถูกจัดการให้เป็นหน้าที่ เหมือนแม่ที่มีหน้าที่ต้องรักลูก ความรักมันคืออารมณ์ แต่มองมันให้เป็นหน้าที่ มันเข้าใจยาก

TCIJ: ความรักในแต่ละยุค ไม่เหมือนกัน?

ชานันท์: สังคมโบราณที่ต้องทำงาน เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว เพศสัมพันธุ์มีไว้เพื่อผลิตแรงงาน คนอายุสิบสองสิบสามก็มีเพศสัมพันธ์แล้ว มีลูกเร็วๆ อายุขัยมนุษย์ตอนนั้นก็ไม่ได้ยืนยาวเหมือนเดี๋ยวนี้ คนจึงมีเพศสัมพันธ์กันเร็ว แต่งงานกันเร็ว แต่ลึกๆ แล้วก็เชื่อนะว่า คนอยู่ด้วยกันต้องมีความผูกพันกัน รวมไปถึงการแสวงหาว่า ฉันจะต้องมีคู่ งานของเพลโต้เรื่อง Symposium ที่อธิบายว่ามนุษย์ต้องคู่กัน เพราะเคยคู่กันอยู่แล้ว แต่ถูกเทพเจ้าแบ่งครึ่ง จึงต้องแสวงหาครึ่งหนึ่งของกันและกัน ในสังคมปัจจุบันมันทำให้เราถวิลหาความรักและขาดมันไม่ได้ จะเป็นจะตาย

เราพยายามบอกว่าจะต้องอยู่กันเป็นคู่ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่กันเป็นคู่ เป็นคู่ผัวตัวเมีย แต่ความเป็นคู่เพิ่งมีมาไม่นานนี้เอง สมัยก่อนเป็นความสัมพันธ์แบบผัวเดียวหลายเมีย อย่างพวกเจ้ามีหลายเมีย เพราะการมีเมียเยอะแสดงถึงบารมี อำนาจทางการเงิน แต่วัฒนธรรมความเป็นคู่เริ่มชัดเจนขึ้นสมัยที่พวกเจ้าเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก เห็นว่าการมีผัวเดียวเมียเดียวเป็นความศิวิไลส์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แต่ทำไม่สำเร็จ เรามีกฎหมายจริงๆ ก็สมัยคณะราษฎร์ที่ระบุว่าต้องมีผัวเดียวเมียเดียว วาทกรรม สิ่งแวดล้อมต่างๆ มันทำให้เราเชื่อเรื่องคู่รักตลอดเวลา

พอผู้หญิงเริ่มมีการศึกษาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ในไทยเริ่มมีนิตยสารผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงเริ่มตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะมีหรือไม่มีคู่ มันมีหลายบทความในยุคนั้นที่ท้าทายว่า ทำไมผู้ชายมีเมียเยอะ ทำไมผู้หญิงต้องแต่งงาน ต้องทำอาชีพนั้นอาชีพนี้ ทำไมถึงเรียนหนังสือไม่ได้ พอผู้หญิงเริ่มตัดสินใจเอง เริ่มหาคู่เอง ไม่ต้องให้พ่อแม่กำหนด ในยุคนั้นเริ่มมีหนังสือความรู้เรื่องเพศ

พอสังคมพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ รับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ก็เลยมีคอลัมน์หาคู่ อย่างมาลัยเสี่ยงรัก ในไทยรัฐ ประมาณปี 2516 มันแสดงให้เห็นว่าการไร้คู่เป็นความทุกข์ มันทรมาน เจ็บปวด คนจึงต้องการหาคู่ ประกาศความต้องการตัวเองผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งผมชอบตรงที่ผู้หญิงเขียนไปว่าฉันชอบผู้ชายแบบนี้ แสดงตัวตน แสดงรสนิยม ประกาศความชอบส่วนบุคคลได้ ไม่มาเหนียมอาย รอผู้ชายมาจีบ คือประกาศเลยว่าชอบผู้ชายสเป็กแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ไม่ต้องเขียนจดหมายมา เสียเวลา

TCIJ: กาลเทศะคือความเหมาะสมในสถานที่หนึ่งและเวลาหนึ่ง คุณเชื่อในนิยามนี้หรือเปล่า

ชานันท์: กาลเทศะคือเวลาและสถานที่ตามบริบททางสังคมที่กำหนดว่าเวลาไหน พื้นที่ไหน ควรทำยังไง แต่อะไรควรไม่ควร มันเป็นเรื่องของระเบียบวินัย แต่คำว่าวินัยในสังคมไทยมีปัญหา มันไม่ใช่วินัยจริงๆ แต่เป็นการบังคับให้ทำ ให้เชื่อ เหมือนทหารบอกว่าคุณต้องมีวินัย วินัยคืออะไร ก็คือทำตามที่ถูกสั่ง คิดเองก็โดนด่า ไม่ได้เกิดจากการคิดเองว่า ถ้าทำแบบนี้ดีหรือไม่ดี จะทำให้คนอื่นรู้สึกยังไง

อย่างการแต่งชุดดำในงานศพ แทบจะกลายเป็นสามัญสำนึกไปแล้วหรือเปล่าไม่รู้ ที่บอกว่าต้องแต่งชุดดำในงานศพ ทั้งที่จริงๆ แล้วก็เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เพิ่งเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 6 ก่อนหน้านั้น การไปงานศพอย่างงานพระเมรุ ไม่ใช่งานศพ ไม่ใช่งานเศร้า แต่เป็นงานมหรสพ มีโขน มีการแสดง เหมือนเราไปปาร์ตี้ ไปสนุกสนาน ไพร่อย่างพวกเรา นานทีจะได้เห็นงานเอิกเกริก คนจะแต่งตัวดีๆ สวยๆ ไม่ได้ไปเศร้ากับเขา ไม่ใช่ญาติเรา มันไม่ใช่สำนึกของคนในยุคนั้น หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าชุดดำไม่ใช่ของไทย แต่ก็เอาเถอะ มันกลายวัฒนธรรมไปแล้ว อันนี้คือกาลเทศะที่ทุกคนชอบพูดถึง ผมก็ไม่กล้าแต่งสีอื่น กลัวโดนเจ้าภาพด่า แล้วก็อยากทำให้คนตายรู้สึกดี ก็เป็นกาลเทศะอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นกาลเทศะที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ ความชอบ มันค่อนข้างเป็นส่วนตัวมากกว่าการแต่งกาย คนบางคนจึงขบถ กาลเทศะในเรื่องเพศของยุคกลาง จะมีเพศสัมพันธ์วันนี้ไม่ได้หรือมีท่านี้ไม่ได้ มันบาป ต้องเป็นท่ามิชชันนารีเท่านั้น นี่คือกาลเทศะในยุคกลาง เราแฮปปี้มั้ยล่ะ ถ้าคนยุคนี้มองย้อนกลับไปยุคกลางจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก จะมายุ่งอะไรกับฉัน

แต่ตอนนี้เราอยู่ในสังคมแบบนี้ ทำไม แค่จับมือ กอดจูบ มันแย่ตรงไหน บางคนอาจจะมองแย่ เลวร้าย ไม่รู้จักมารยาท แต่ถ้าผ่านไปอีกสิบปี มันอาจเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนคนที่ไปว่าเขาก็ถูกด่าว่าปัญญาอ่อน แค่จูบปากกันก็หงุดหงิดแล้วเหรอ  แต่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้จะใช้กฎหรือแบบแผนเดียวมันยาก คุมไม่ได้ คนมีความหลากหลายมากขึ้น การบอกว่าห้ามจูบปากกัน ห้ามกอดกัน มันก็ไม่ได้ มันต้องมีสักคนที่แข็งขืน

TCIJ: ความรักถูกเอาไปเชื่อมโยงกับเซ็กส์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในที่ส่วนตัว มิดชิด สังคมไทยยังมองว่าเซ็กส์เป็นสิ่งที่ต้องปิดบัง

ชานันท์: แต่การจูบปากไม่ใช่การมีเซ็กส์ มันอาจจะเป็น Eroticize Romanticize ไม่ใช่การมีเซ็กส์กัน แต่ลิมิตของแต่ละคนมันต่างกัน ความอดทนของคนก็ต่างกัน

TCIJ: สมมติมีเด็กนักเรียนมัธยมปลายชาย-หญิง เดินมาด้วยกัน ฝ่ายชายก็ล้วงฝ่ายหญิงในที่สาธารณะ คุณจะมองเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร

ชานันท์: ก็เรื่องของเขา... โกหก จริงๆ คืออิจฉา อย่างที่บอก มันอาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขาแล้ว เดี๋ยวพ่อแม่เห็น ขอจับทีหนึ่ง ถ้าผู้หญิงยินยอมนะ ถ้ายินยอมก็เรื่องของเขา ประเทศนี้มีกฎหมายว่าอะไรคืออนาจาร ไม่อนาจาร ไม่ได้ควักเต้าออกมา อย่างนั้นคืออนาจาร แต่ล้วงเข้าไป มีผ้าปิด ไม่รู้ว่าอนาจารหรือเปล่า ทีนี้ บางคนก็อาจบอกว่าให้ไปโรงแรม แต่เด็กมัธยม ค่าขนมเท่าไหร่ จะไล่ไปโรงแรมก็ดูใจร้ายไปหน่อย ถ้าจะด่าเขาให้ไปโรงแรม คนด่าจ่ายตังค์ค่าโรงแรมด้วย ถ้าจ่ายตังค์ให้ไปโรงแรม แล้วไม่ไป อย่างนี้ค่อยน่าโกรธ

TCIJ: การแสดงความรักในที่สาธารณะของคุณ ตราบใดที่ยังไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ ยอมรับได้

ชานันท์: ไม่ใช่ ตราบใดที่ไม่ใช่ความรุนแรงบังคับถือว่ายอมรับได้ ส่วนการมีเพศสัมพันธ์กันในที่สาธารณะมันทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายบังคับไม่ให้ทำ ต่อให้กฎหมายมันเปิดเสรีขนาดนั้น เราก็ไม่กล้าทำ

TCIJ: การแสดงความรักในที่สาธารณะควรมีข้อจำกัดแค่ไหน

ชานันท์: การแสดงความรักในที่สาธารณะมันจำกัดยาก เพราะนิยามของแต่ละคนก็ต่างกัน มันเป็นเรื่องของคนสองคนที่ต้องตกลงกันเอง ถ้าคบกันเป็นหมู่ก็จะยุ่งยากกว่าเดิม หลายคนก็หลายเรื่อง ตราบใดที่เราไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร การล้วงควักก็ทำของเขาเอง เพราะฉะนั้นสำหรับเราคิดว่าไม่มีปัญหา มันเป็นเนื้อตัวร่างกายของเขา แม้กระทั่งเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ ก็มีสิทธิจะแสวงหากำไรจากสิ่งที่เขามี เราเรียนหนังสือมาก็อยากจะใช้สิ่งที่เรียนมาทำงาน เขาก็เหมือนกัน เขาอาจจะมีต้นทุนบางอย่าง ซึ่งก็คือร่างกายของเขา คิดว่ามันไม่ได้เดือดร้อนใคร จึงไม่มีปัญหา แต่คนที่อาจจะดัดจริตไปเอง ไปเดือดร้อนแทนเขา คุณก็ก้มหน้าแชทไปสิ ไม่ใช่ไปถ่ายรูปเขา แล้วเอามาเสียบประจาน

TCIJ: คุณกำลังคิดอยู่บนฐานที่ว่า การแสดงความรักเป็นเสรีภาพในการแสดงออก?

ชานันท์: ใช่ ความรักทำให้เกิดเสรีภาพ อย่างความรักในความรู้ก็นำไปสู่อิสรภาพ ผู้หญิงสมัยก่อนไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกคู่ แต่การแสวงหาความรักของผู้หญิงก็ทำให้มีเสรีภาพที่จะอธิบายตัวตนว่า ฉันชอบผู้ชายแบบนี้ๆ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์พยายามป้องกันไม่ให้คนมีความรักกันในค่าย ในพรรค เพราะมันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบปัจเจก ซึ่งความเป็นปัจเจกบางครั้งมันไปทำลายอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อมวลชน

เราจะเห็นได้ว่า คนที่อ้างว่าฉันทำเพื่อมวลชนจะไม่แสดงเรื่องเพศออกมาให้เห็นมากนัก เช่น ฉันจะทำเพื่อแผ่นดิน หรือเคยถามคนที่เคยเข้าป่าว่ามีตอนนั้นมีแฟนมั้ย เขาตอบว่าไม่ได้ เพราะความรักของเขาต้องอุทิศให้กับอุดมการณ์ อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่องเพศของจิตรไม่ถูกนำมาเปิดเผย เราจะพูดถึงจิตรหรือคนที่เทิดทูนจิตรมากๆ จะไม่พูดถึงความรัก พูดถึงเรื่องเพศของจิตร แต่จะพูดถึงสิ่งที่จิตรทำ

ทุกวันนี้ คนไม่มีความรักต้องเหงา ต้องเป็นโรค ต้องบำบัด หาคู่ไม่ได้ หนังก็พูดถึงความรักตลอดเวลา ไม่มีรักสิ เหงา อย่างหนังของหว่อง กา ไว หนังสือของมุราคามิ ความไม่มีรักจะเหงา เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ จึงรู้สึกว่าฉันต้องมีความรัก เพราะเราอยู่ในโลกของทุนนิยม ซึ่งเราจะไม่รู้สึกว่าเราขาดความรักในพื้นที่ที่ไม่ใช่วัฒนธรรมบริโภค แต่ถ้าอยู่ในร้านกาแฟสด นั่งคนเดียว เหงาจัง

คนโสดจะรู้สึกแย่มากในช่วงเทศกาลเหล่านี้ รวมถึงวาเลนไทน์ด้วย ซึ่งเป็นเทศกาลที่เข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมบริโภค วัฒนธรรมทุนที่ต้องซื้อของขวัญแจกกัน ไปเดท ไปหาร้าน นั่งเสพ นั่งบริโภค นี่เป็นเรื่องของชนชั้นกลางมากๆ นะครับ ถ้าเป็นชนชั้นอื่น ดอกไม้ วันวาเลนไทน์ ความหมายก็ต่างกันแล้ว ถ้าเราไปปากคลองตลาด ความหมายของดอกไม้ ดอกกุหลาบ ต่างกันมากเลย เด็กซื้อดอกไม้ไปให้แฟน แต่คนที่ทำมาหากิน ดอกไม้คือสินค้า ความรักจึงถูกผูกขาดกับชนชั้นกลางมากๆ ชนชั้นสูงอีกเรื่องหนึ่ง คนรวย คนชั้นสูง แต่งงานกันเพื่อสร้างเครือข่าย สร้างอำนาจ

TCIJ: ทุกวันนี้ ‘ความเหมาะสม’ ยังมีสองมาตรฐานอยู่ โดยขึ้นกับเพศ...

ชานันท์: และชนชั้นด้วย ถ้าเป็นคนหล่อ หรูหรา จูบปากกัน คนจะรู้สึกว่าดูดีจังเลย แต่ถ้าเป็นคุณลุงขายล็อตเตอรี่เมื่อกี้ มากับเมีย จูบปากกัน ทำไมไม่ไปทำมาหากินล่ะ ก็จะมีมาตฐานในการมอง ในการตัดสินที่แตกต่างกันออกไป คนหลากหลายทางเพศก็จะมีบรรทัดฐานการตัดสินที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน

เรื่องความเหมาะสมเป็นเรื่องที่พูดยากจริงๆ เป็นส่วนบุคคลมาก พอเราให้สัมภาษณ์วันนี้ปุ๊บ อีก 10 เดือนข้างหน้าเราอาจจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปก็ได้ เอ๊ะ ทำแบบนี้ได้ยังไง หรืออาจจะปล้ำกันเลย ตบมือเชียร์

สุดท้ายแล้ว เราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนที่เราจะไม่เข้าไปตัดสิน ไม่กล้า ไม่มีสิทธิด้วย เพราะเราไม่ได้เดือดร้อน อย่างคนอุ้มหมา หอมแก้มหมา หรือแม่-ลูก คนไม่รู้สึกอะไร แต่พอเป็นความรักระหว่างหนุ่มสาวคนจะโยงเรื่องอิโรติกเข้าไปด้วย เราจะรีบผลักมันเข้าไปในห้องนอนแล้ว นี่คือจริตของสังคม อย่างเรารู้ว่าบรรทัดฐานในสังคมเป็นแบบนี้ เราก็จะเลือกสถานที่และความถี่ในการทำ

TCIJ: นี่ก็แสดงว่ากาลเทศะมันฝังอยู่ในสำนึก

ชานันท์: ใช่ๆ เราหนีมันไม่ได้ ถึงบอกว่าเราจะไม่กล้าใส่เสื้อสีฉูดฉาดไปงานศพ เพราะเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่การกลัวโดนด่าก็คือกาลเทศะแบบบังคับ เราต่างมีมาตรฐานที่ต่างกันไป

คนเราควรจะมีความอดทนมากกว่านี้หรือเปล่า หรือเคารพซึ่งกันและกัน พอพูดถึงกาลเทศะ มันแปลว่าสิ่งที่สังคมกำหนดแล้ว เป็นบรรทัดฐานประหนึ่งกฎหมายหรือภาษาที่เราจะต้องใช้มัน แต่เราจะไม่มองว่ากาลเทศะคือการคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง สังคมมองเรื่องกาลเทศะเป็นระเบียบวินัยในการบังคับมากกว่าการคำนึงถึงใจเขาใจเรา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: