ชาวอีสาน 12 จังหวัด ร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล หลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ถูกไล่ออกจากพื้นที่ทำกิน-อยู่มาแต่อดีต ทั้งที่มีฐานะยากจนแต่กลับถูกนิยามว่าเป็น “นายทุน” บุกรุกพื้นที่
ต้นดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ประกาศสนองรับนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยยุทธการขอคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดสกลนคร เนื้อที่กว่า 15,700 ไร่ ระบุว่ายุทธการครั้งนี้จะไม่เน้นการทวงคืนผืนป่าจากผู้ยากจน แต่จะเน้นการทวงคืนผืนป่าจากนายทุน ทว่า ปฏิบัติการดังกล่าวกลับไม่เปิดเผยว่ามีผู้ใดบ้างที่ถูกระบุว่าเป็นนายทุน ในขณะที่ชาวบ้านยังคงถูกไล่ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ปลายเดือน มิ.ย.2558 สำนักงานกองสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีนำเสนอข้อมูลวิชาการการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นป่าไม้-ที่ดิน ครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน สกว. เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ที่สำคัญ คือ แนวเขตป่าไม้ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการผ่อนผัน ให้อยู่อาศัยในเขตป่ามาก่อน แต่กลับมีการจับกุมประชาชนที่บุกรุกป่าและใช้แบบจำลองป่าไม้เรียกร้องค่าเสียหายในอัตราสูง นอกจากนั้น บทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบต่างๆ ไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ได้แก่ ประชาชนจำนวนมากไร้ที่ทำกิน และมีปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทุกประเภท รวมถึงที่ดินเสื่อมโทรม ชี้ไทยมีปัญหาระบบข้อมูลและการบริหารจัดการที่ดิน สิทธิในที่ดินและเอกสารสิทธิในที่ดิน ที่ดินถูกทิ้งร้างและเก็งกำไร และระบบภาษีที่ดินขาดประสิทธิภาพ
ทวงคืนผืนป่า ไม่คืนความสุข
ภายหลังรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทรโอชา ประกาศเดินหน้านโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” มีการเผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้ลดปริมาณลงจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่คงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ป่าไม้ และสถานภาพของพืชและสัตว์หลายชนิด
สาเหตุสำคัญของการลดลงของพื้นที่ป่า ถูกระบุว่ามาจากการบุกรุกขยายพื้นที่ทำการเกษตร การบุกรุกจับจองพื้นที่ของนายทุน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ และการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังประเมินสถานการณ์ว่าจะมีแนวโน้มจังหวัด พื้นที่วิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด พื้นที่วิกฤต 33 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ 31 จังหวัด
แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จึงถูกกำหนดโดยมีเป้าหมายในการพิทักษ์รักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือให้มีพื้นที่ป่า128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็น 3 ระยะคือ
- เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดภายใน 1 ปี
- เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี
- เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ภายใน 2 – 10 ปี
ขอความเป็นธรรม หลังอพยพรวมแปดพันกว่าหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีการใช้แผนแม่บทในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของรัฐพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากข้อมูลของ กป.อพช.อีสาน ระบุว่า หากมีการปฏิบัติการตามแผนแม่บทและคำสั่ง คสช. ดังกล่าว คาดว่าจะต้องมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,253 พื้นที่ รวม 8,148 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคอีสาน 352 พื้นที่ 2,300 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 253 พื้นที่ 5,200 หมู่บ้าน ภาคใต้ 468 พื้นที่ 1,080 หมู่บ้าน และภาคกลาง 180 พื้นที่ 920 หมู่บ้าน คำถามสำคัญคือรัฐจะบังคับอพยพชาวบ้านทั้งหมดนี้ไปไว้ที่ไหน เมื่อบังคับอพยพชาวบ้านออกมาแล้ว จะทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านหายจากความยากจนได้อย่างไร
ทั้งนี้ กป.อพช.อีสานชี้ว่า ในส่วนของภาพรวมทั้งประเทศ แผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากถูกดำเนินคดีแล้ว ในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครองมากกว่า 500 คดี ในจำนวนคดีดังกล่าวคิดเป็นคดีของนายทุนเพียง 10 ราย ที่เหลือเป็นคดีของเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด ในพื้นที่ภาคอีสานพบว่าชาวบ้านใน 12 จังหวัด ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยหลังรัฐประหารได้ประมาณหนึ่งเดือน มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจตัดทำลายต้นยางของชาวบ้าน 18 ครอบครัว บนเนื้อที่กว่า 383 ไร่ ในพื้นที่หมู่บ้านโนนเจริญ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และเมื่อเดือนตุลาคม 2557 มีชาวบ้าน 37 ราย ในหมู่บ้านจัดระเบียบป่าไม้ ถูกจับกุมและควบคุมตัวในข้อหาเข้าครอบครองและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขตอำเภอและจังหวัดเดียวกันกับกรณีแรก และกรณีชุมชนบ้านเก้าบาตร ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในชุมชนกรณีสวนป่าโนนดินแดง ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารกดดันให้ 40 ครอบครัว ประมาณ 160 คน ออกจากที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจนทำให้ชุมชนล่มสลายหมดสิ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้สนธิกองกำลัง ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย เข้ามาปิดป้ายประกาศให้อพยพออกจากพื้นที่ คำสั่งดังกล่าวระบุว่าให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศ ขณะที่ชาวบ้านยืนยันไม่ย้ายออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมให้หาทางช่วยเหลือ
ข้องใจนิยามคนจนในพื้นที่เดิมเป็น “นายทุน”
ทั้งนี้ข้อมูลของกลุ่มศึกษาปัญหาที่ดินภาคอีสานยังชี้ด้วยว่า แม้คำสั่งที่ คสช. 66/2557 จะระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ แต่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนกลับได้รับการนิยามว่าเป็นนายทุน ดังนั้นชาวบ้านเหล่านี้จึงไม่ได้รับการคุมครองตามคำสั่งที่ คสช. 66/2557 และในทางปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่กลับมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติตามสำสั่งที่64 มากกว่าคำสั่งที่ 66 คือการทวงคืนผืนป่าอย่างเอาจริงเอาจัง นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในการทวงคืนพื้นที่ป่าในลักษณะที่เป็น 2 มาตรฐาน มีการยึดคืนเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อย ในขณะที่ไม่มีการแตะต้องพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร โดยกลุ่มศึกษาปัญหาที่ดินภาคอีสาน มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้
- ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา
- การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานทางราชการ และประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการพัฒนาของรัฐในแต่ละยุคสมัย ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับรัฐ
- ในกรณีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทดังกล่าว เช่น มีประกาศจังหวัดให้ราษฎรออกจากพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว แล้วกำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่อไป ทั้งนี้ ให้ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตัดสินใจทางนโยบาย
- หลักการแก้ไขปัญหา ควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษี
ชี้นโยบายทวงคืนผืนป่า รื้อฟื้นปัญหาไม่ต่างจากยุค คจก.
นายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้านโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535 และอีกหนึ่ง ความไม่แตกต่างของโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช.นี้ คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบ ความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่ หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
นาย ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว ว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศนั้นสามารถทำได้ในหลายแนวทาง แต่การที่รัฐมองว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าสามารถทำได้ตามแผนแม่บทโดยการเอาชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าออกจากป่าแล้วฟื้นฟูให้ กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งการที่จะอพยพชาวบ้านออกมาจะทำได้หรือไม่นั้น ตนมองว่าน่าจะทำได้ในบางพื้นที่ ที่มีชาวบ้านอยู่จำนวนน้อย แต่ถ้าจะอพยพชาวบ้านในอำเภอภูพาน จังหวัด สกลนคร หรือชาวบ้านในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตป่าทั้งหมดนั้นคงไม่สามารถทำได้ การที่จะเอาประชาชนออกมาแล้วฟื้นฟูป่าให้กลับคืนมาเหมือนเดิมนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การเพิ่มพื้นที่ป่าสามารถทำได้ในพื้นที่เอกชน ในต่างประเทศก็มีการใช้แนวทางนี้โดยหากบุคคลใดมีพื้นที่ป่า มีพื้นที่ของตนมาก สามารถเอามาลดภาษีเงินได้บุคคลได้ ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากกว่าการจะเอาชาวบ้านออกมาแล้วค่อยฟื้นฟูป่าให้กลับคืนมาเหมือนเดิม มองว่าเป็นมาตรการที่แข็งกร้าวเกินไป น่าจะมีการสร้างทัศนคติใหม่ว่า คนสามารถอยู่กับป่าได้โดยไม่ทำลายป่าหรือส่งเสริมให้มีการปลูกป่าในพื้นที่เอกชน
ทั้งนี้จากความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามแผนแม่บทดังกล่าว ทำให้ภาค ประชาชนมีการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านแผนแม่บทและขอให้ยุติการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยของประชาชน เช่น การรณรงค์เดินก้าวแรกของภาคเหนือ แต่ภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญใน การออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆเพราะต้องเสียงต่อการถูกจับกุมและปราบปรามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวชี้ว่า สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการจัดการศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทําลายทรัพยากรป่าไม้แก่ภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทดังกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจคือ เป้าหมายของคสช.ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จะมีความเป็นไปได้แค่ไหน และหากไม่มีกฎอัยการศึก ไม่มีกระบอกปืน สิ่งที่ถูกกดทับไว้ในเวลานี้จะประทุขึ้นมาในภายหน้าหรือไม่
อ่าน 'จับตา': “ปัญหาที่ดินภาคอีสานหลังการทวงคืนผืนป่า”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5658
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ