นักเรียน LBGT ถูกรังแก แรงถึงแกล้งข่มขืน บางคนคิดฆ่าตัวตาย-ครูมองแค่เด็กเล่นกัน

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ทีมข่าว TCIJ 3 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 7626 ครั้ง

ในปี พ.ศ. 2539  องค์การอนามัยโลกได้ประกาศรับรอง ปัญหาความรุนแรงในเยาวชนว่า  เป็นปัญหาสาธารณสุขในระดับต้นๆ ที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน  การข่มเหงรังแกเป็นรูปแบบหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในเยาวชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการสำรวจล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2551 กว่า 40 ประเทศทั่วโลก พบว่า มีความชุกโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6-45.2 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 4.8-35.8 ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 11-15 ปี เป็นวัยที่พบการรังแกกันมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มอายุของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา

ข้อมูลจากรายงานโครงการการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศ หรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับ มัธยมศึกษา : รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตราการการป้องกัน ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย โดย ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Plan International Thailand และ UNESCO Bangkok Office. พบว่า กลุ่มนักเรียนที่นิยามตนเองว่า เป็น LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น  มักตกเป็น เหยื่อของการรังแกในกลุ่มนักเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย 

ขณะที่ความเข้าใจต่อการรังแกในหมู่นักเรียน  มักขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้รับรู้ และความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู โดยมักใช้คำว่า ‘หยอกล้อทางวาจา ‘ หรือ ‘เล่นกันในกลุ่มเพื่อน’ ขณะที่ครูในโรงเรียนจะเข้าใจว่าการรังแก จำกัดวงอยู่ที่การต่อสู้ทางร่างกายเท่านั้น

ถูกรังแกเพราะถูกคิดว่าเป็น LGBT

กว่าครึ่งหนึ่งหรือ ร้อยละ 56 ของนักเรียนที่นิยามตนเองว่า เป็น LGBT ระบุถึงสาเหตุการถูกรังแกว่า มาจากเพศสภาพแลเพศวิถีของตน ขณะที่ร้อยละ 25 ของนักเรียนที่ไม่ได้ระบุตนเองว่าเป็น LGBT ระบุถึงสาเหตุของการถูกรังแกว่า เพราะถูกคิดว่าเป็นคนข้ามเพศหรือชอบเพศเดียวกัน  สอดคล้องกับงานวิจัยของ Office of the High Commission on Human Rights (OHCHR) หรือ สำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่า การรับรู้ถึงความชอบเพศเดียวกันและตัวตนข้ามเพศ เป็นสาเหตุให้บุคคลสามารถตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแกได้ โดยรูปแบบการรังแกมีตั้งแต่  ทางวาจา เช่น การด่าทอซึ่งหน้าหรือผ่านทางสื่อออนไลน์  ทางการกระทำ  เช่น การตบตี เตะ  ทางสังคม เช่น การกีดกันออกจากกลุ่ม  และทางเพศ เช่น การลวนลาม

นอกจากการรังแกในรูปแบบดังกล่าว ยังพบว่านักเรียนชายที่เป็นเกย์ ชายรักชาย หรือกระเทย ยังเผชิญกับการรังแกในรูปแบบ “แกล้งข่มขืน” หรือบังคับร่วมเพศเพื่อให้อับอาย ส่วนนักเรียนหญิงที่มีรสนิยม หญิงรักหญิง หรือ ทอม มักเป็นที่ชื่มชอบของเพื่อนๆ น้อยที่สุดในโรงเรียน บางโรงเรียนถึงขั้นมีกลุ่มเกลียดทอม และมักถูกกลั่นแกล้งจากนักเรียนชายบริเวณหน้าห้องน้ำ นักเรียนบางคนกล่าวว่าไม่กล้าเข้าห้องน้ำทั้งวัน ขณะที่อัตราส่วนการตกเป็นเหยื่อของการรังแกในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะเผชิญกับพฤติกรรมการรังแกด้วยวาจามากกว่าในระดับมัธยม ศึกษาตอนปลาย  ขณะที่ด้านอื่นไม่ต่างกันมากนัก

ไม่เพียงแต่ความรุนแรงโดยตรงเชิงกายภาพเท่านั้น  นโยบายหรือกฏระเบียบของโรงเรียนก็ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น นักเรียนข้ามเพศบางคนกล่าวว่า ข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับระเบียบการแต่งกายและการไว้ผมให้ตรงกับเพศกำเนิด ทำให้ตนรู้สึกอึกอัด และถูกบังคับให้ทำตามบรรทัดฐานของเพศตรงข้าม แต่หลายโรงเรียนกลับมองเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งๆ ที่แนวการปฏิบัติดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการรังแกโดยตรง เช่น การบังคับให้นักเรียนหญิงที่เป็นทอม ไว้ผมทรงบ็อบสั้นทำให้ดูเป็นตัวตลกในสายตาของนักเรียนคนอื่นๆ ที่มักจ้องเล่นงานหรือกลั่นแกล้งตนอยู่เป็นประจำ

เพื่อนนักเรียนนิ่งเฉย - ผสมโรง

ปฎิกิริยาของผู้เห็นเหตุการณ์กลั่นแกล้งหรือรังแกเพื่อนนักเรียนที่เป็น LGBT ต่างมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุการณ์และความสัมพันธ์กับผู้ถูกรังแก ซึ่งมีตั้งแต่การนิ่งเฉยเพราะคิดว่าเป็นการเล่นสนุกกันในกลุ่มเพื่อน  เข้าผสมโรงด้วยหรือพยายามห้าม  และแจ้งให้ครู หรือฝ่ายปกครองทราบหากเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง

ขณะที่ผลกระทบกับนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อพบว่า เกือบสองในสามหรือ ร้อยละ 68 ของผู้ถูกรังแกจากสาเหตุการเกลียด กลัว คนรักเพศเดียวกันกล่าวว่า ไม่ได้บอกให้ใครรู้หรือไม่ได้พูดคุยกับใคร และเกือบหนึ่งในสี่ หรือ ร้อยละ 23 กล่าวว่าไม่ทำอะไร  เพราะเหตุผลว่า”บอกใครไปก็เท่านั้น”

คำบอกเล่าของนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อ

“บางคนก็ไม่สนใจ แต่บางคนก็ช่วยห้ามถ้าเป็นเพื่อนสนิท ถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทเขาก็ไม่ยุ่ง ”

“บางทีพวกเขาก็ถ่ายรูปด้วย แล้วโพสต์ลงเฟสบุ๊ค แล้วก็แท็กรูปต่อไปเรื่อยๆ ให้กับเพื่อนในชั้น”

“อยากจะแก้แค้น แต่เราสู้เขาไม่ได้ เพราะพวกเขาแข็งแรงกว่า”

ด้านผลกระทบของการถูกรังแก ส่งผลให้นักเรียนที่ถูกรังแกเกือบ ร้อยละ 23 มีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 31 ขาดเรียนบ่อยครั้งในรอบเดือน  และร้อยละ 7 เคยพยายามฆ่าตัวตายในรอบปี

เก็บเงียบเมื่อถูกรังแก เหตุครูไม่สนใจ-โรงเรียนไร้มาตรการดูแล

ข้อค้นพบของงานวิจัยส่วยที่เกี่ยวกับการป้องกับการรังแกนักเรียน LGBT พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ในไม่มีนโยบาย ป้องกันการรังแกอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งไม่มีโรงเรียนใดที่มีนโยบายป้องกันการรังแกเพราะการเป็น LGBT ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู มองว่าไม่จำเป็นต้องมีนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจว่าการรังแก หมายถึงการ กระทำที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางกายเท่านั้น เช่น ชกต่อย อีกทั้งไม่คิดว่านักเรียน LGBT ตกเป็นเหยื่อของการรังแก หรือหากมีก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการรังแกส่วนใหญ่ไม่ถูกรายงานให้กับครูหรือ ผู้อำนวยการรับทราบ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลายโรงเรียนจะมีครูแนะแนวที่คอยให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคลแก่นักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อ ของการกลั่นแกล้งรังแก แต่นักเรียนที่ถูกรังแกแทบไม่ได้ใช้บริการความช่วยเหลือดังกล่าวมากนัก ซึงนักเรียนบางคนให้เหตุผลว่า เมื่อตนแจ้งครูเกี่ยวกับการรังแกกลับถูกบอกว่าเป็นความผิดของตนเอง

แนะโรงเรียนสร้างพื้นที่ปลอดภัย-ไม่เลือกปฏิบัติ

งานวิจัยนี้ยังมีข้อเสนอสำหรับโรงเรียนว่า ควรกำหนดและบังคับใช้นโยบายที่ห้ามมิให้มีการรังแก พร้อมทั้งกลไกที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมนักเรียนไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบใด มีมาตรการการจัดการกับผู้กระทำพฤติกรรมดังกล่าว โดยไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ - เพศวิถี  รวมทั้งสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนให้กับนักเรียนที่เป็น LGBT

ขณะที่ผู้กำหนดนโยบาย ควรออกแบบนโยบายที่เอื้อให้โรงเรียนสามารถยืดหยุ่นเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับในการแต่งกาย หรือการไว้ทรงผมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังต้องมีการติดตามการบังคับใช้นโยบายด้วย

นับเป็นข้อเสนอที่ท้าทายมายาคติที่ปรากฎในกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครองเกี่ยวกับนักเรียนที่เป็น LGBT เช่น คิดว่า นักเรียน LGBT เป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ ผิดปกติ อารมณ์รุนแรง หรือชอบฝ่าฝืนกฎระเบียบของโรงเรียน

อ่าน 'จับตา': “คำศัพท์เกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5711

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: