ไปสู่เศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์เชิงประวัติ: ข้อคิดเกี่ยวกับทุนในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 1)

Thomas Piketty (แปลโดย ดิน บัวแดง) 14 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 3515 ครั้ง


แปลจากบทความ Thomas PIKETTY, “Vers une économie politique et historique : Réflexions sur le capital au XXIe siècle,” Annales. Histoire, Sciences sociales, 70-1, 2015, p. 125 – 138. ผู้แปลคงชื่อคนทั้งหมดไว้ตามที่เขียนในต้นฉบับ และได้คงเชิงอรรถไว้ตามต้นฉบับ บทความนี้ทยอยแปลโดยแบ่งเป็น 3 ตอน การแบ่งนี้เป็นการแบ่งของผู้แปล และเป็นการแปลบทความครั้งแรกของผู้แปล หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้แปลขอรับเอาไว้ทั้งหมด 


ผมไม่สามารถคาดหวังอะไรที่ดีไปกว่าหนังสือรวมบทความเล่มนี้ อันเป็นหนังสือที่อุทิศให้กับงานของผมโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ สาขาวิชา และผมก็ชื่นชอบงานของพวกเขาเหล่านั้นเช่นกัน[1] เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะให้ความเป็นธรรมกับความรุ่มรวยของหนังสือเล่มนี้โดยการตอบทุกประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาในทุกๆ บทความเนื่องจากพื้นที่มีจำกัด หลังจากกล่าวถึงข้อเสนอต่างๆ ของผมอย่างรวดเร็วแล้ว ผมอยากจะขยายความบางประเด็นที่ไม่ได้ถูกเน้นในหนังสือ โดยชี้ให้เห็นประวัติของทุนในหลายๆ ด้านและความสัมพันธ์ทางอำนาจ

 

ปกหนังสือ 'Annales. Histoire, Sciences sociales'

ทุนกับสังคมศาสตร์

ก่อนอื่น ผมอยากจะอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ผมพยายามเสนอในงานของผม และดูที่ทางของงานชิ้นนี้ในประวัติของสังคมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิธีวิจัยและสำนักคิดหลายสำนัก งานของผมเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของทุน การกระจายความร่ำรวย และความขัดแย้งที่เกิดจากการกระจายความร่ำรวยที่ไม่เท่าเทียม จุดประสงค์แรกของผมคือการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของทรัพย์สินและรายรับจากกว่า 20 ประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 (ต้องขอบคุณงานของนักวิจัยที่เคยทำเรื่องนี้มาก่อนกว่า 30 คน โดยเฉพาะ Anthony Atkinson, Emmanuel Saez, Gilles Postel-Vinay, Jean-Laurent Rosenthal, Facundo Alvaredo และ Gabriel Zucman) ความตั้งใจแรกคือการนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้มีลักษณะต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากหลักฐานเหล่านี้ ผมเสนอบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่สามารถสร้างความเข้าใจวิวัฒนาการของแต่ละประเทศตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้น ผมจึงพยายามคิดวิเคราะห์การกระจายความร่ำรวยและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้นทางสังคมให้อยู่ในกรอบของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เศรษฐศาสตร์การเมืองในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะที่เขียนขึ้นโดย Thomas Malthus, David Ricardo และ Karl Marx เริ่มจัดวางคำถามเกี่ยวกับการกระจายความร่ำรวยให้อยู่ใจกลางการวิเคราะห์ ผู้เขียนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวิวัฒนาการทางสังคมอันลึกซึ้งรอบตัวเขา Malthus ได้แรงบันดาลใจจาก Arthur Young ในเรื่องความยากลำบากของชนบทฝรั่งเศสช่วงก่อนการปฏิวัติ และเขาเกรงว่าการเพิ่มขึ้นอย่างล้นเกินของประชากรจะนำมาซึ่งความทุกข์ยากและการปฏิวัติอันวุ่นวาย Ricardo เริ่มต้นด้วยเรื่องราคาที่ดินหรือผลกระทบของหนี้สาธารณะที่สะสมอยู่ในสหราชอาณาจักรยุคหลังสงครามนโปเลียน ขณะที่ Marx มองอย่างถูกต้องเรื่องความไม่สมดุลอย่างยิ่งระหว่างวิวัฒนาการของกำไรกับรายได้ในระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แม้พวกเขาเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นระบบเพื่อศึกษาวิวัฒนาการเหล่านั้น แต่ยังดีที่อย่างน้อยผู้เขียนเหล่านี้ยังตั้งคำถามได้ตรงประเด็น ตลอดศตวรรษที่ 20 บ่อยครั้งที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามจะแยกตัวออกจากสังคมศาสตร์สาขาอื่น ๆ (ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้) และละเลยฐานทางสังคมและการเมืองของเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ดี ยังมีนักเขียนบางคน โดยเฉพาะ Simon Kuznets และ A. Atkinson ที่มุ่งมั่นทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการกระจายตัวของรายรับและทรัพย์สิน งานวิจัยของผมถือว่าเป็นความต่อเนื่องจากงานเหล่านี้ และพยายามที่จะขยายการเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปสู่ฐานทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวางขึ้น (การขยายนี้ง่ายขึ้นมากด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เข้าถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางชิ้นที่นักวิจัยรุ่นก่อนๆ เข้าไม่ถึง[2])

ผมพยายามเช่นกัน ที่จะรื้อฟื้นธรรมเนียมบางอย่างที่เคยมีอยู่อย่างชัดเจนในสาขาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสำนักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาของโลกภาษาฝรั่งเศสช่วงปี 1930 – 1970 นั่นก็คืองานจำนวนมากเกี่ยวกับประวัติของราคา เงินเดือน รายรับ และความร่ำรวย ในศตวรรษที่ 18 – 19 ผมคิดถึงงานที่ยิ่งใหญ่ของ François Simiand, Ernest Labrousse, และ Adeline Daumard[3] น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งเคยเขียนกันอย่างต่อเนื่องเป็นชุด ๆ ได้ยุติไปก่อนจะถึงศตวรรษที่ 20 ด้วยซ้ำ และโดยส่วนมากก็ยุติด้วยข้ออ้างแย่ ๆ ทั้งสิ้น[4] งานของผมได้รับแรงบันดาลใจจากงานทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของทุนทางวัฒนธรรมและความแตกต่างของรายได้ โดยเฉพาะงานของ Pierre Bourdieu และ Christian Baudelot แม้ว่าจะเป็นงานที่ต่างสาขากัน แต่ผมเชื่อว่างานเหล่านี้สามารถมาเสริมเติมเต็มกันได้[5]

นอกจากนี้ ผมพยายามจะเสนอในหนังสือเล่มนี้ว่ามันเป็นไปได้ และในความเป็นจริงคือจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะศึกษาวิวัฒนาการของภาพแทน (Representaion) ที่ส่วนรวมรับรู้เรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและทางการเงิน โดยดูผ่านการถกเถียงสาธารณะ ความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งวรรณคดีหรือภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าการวิเคราะห์ระบบภาพแทนต่าง ๆ เหล่านี้และความเชื่อเกี่ยวกับการกระจายรายรับและทรัพย์สิน แม้ว่าจะเป็นเพียงการริเริ่มและยังไม่สมบูรณ์ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เข้าใจพลวัตของความไม่เท่าเทียม เงินและการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมของมันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมโดยตัวมันเอง และไม่สามารถจะศึกษาด้วยวิธีการแบบเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวได้ ในแง่นี้ งานของผมพยายามจะรวบรวมงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมุมมองต่อความเท่าเทียมและความไม่เท่าเทียม ทั้งในสาขาสังคมวิทยาการเมืองและประวัติศาสตร์ความคิด[6]

ด้วยเหตุนี้ ข้อสรุปหลักของงานชิ้นนี้คือว่า

“จงระแวงมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์ที่แข็งกระด้าง: ประวัติศาสตร์ของการกระจายความร่ำรวยนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นการเมืองอย่างลึกซึ้งเสมอ และไม่สามารถจะลดทอนจนเหลือเพียงกลไกทางเศรษฐศาสตร์ได้ […] ประวัติของความไม่เท่าเทียมนั้นขึ้นอยู่กับภาพแทนที่ประกอบสร้างขึ้นโดยตัวแสดงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ขึ้นอยู่กับความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวแสดงต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อตัวเลือกต่างๆ ของส่วนรวม มันประกอบสร้างขึ้นโดยการรวมเอาตัวแสดงต่างๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน”[7]

บทบาทหลักของการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทางเศรษฐกิจนั้นชัดเจนอย่างยิ่งหากเราศึกษาวิวัฒนาการของการกระจายรายรับและทรัพย์สินในตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 การลดลงของความไม่เท่าเทียมกันในประเทศตะวันตกช่วงทศวรรษ 1900 – 1910 และ 1950 – 1960 นั้นอธิบายได้ด้วยด้วยสงครามและการปฏิวัติที่เกิดขึ้นมากในช่วงนั้น อีกทั้งสามารถอธิบายได้ด้วยการประนีประนอมทางสังคมและทางสถาบันที่เกิดเพื่อตอบสนองเหตุการณ์เหล่านี้ ในลักษณะเดียวกันนี้ ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 – 1980 ก็เป็นผลมาจากปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายและเชิงสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องภาษีและการเงิน ผมพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าระบบความเชื่อเรื่องการกระจายรายรับและทรัพย์สิน รวมทั้งเรื่องระบบการทำงานของเศรษฐกิจและสังคมนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากหากเราต้องการเข้าใจโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันในศตวรรษที่ 18 และ 19 ของทั้งสังคม แต่ละประเทศมีประวัติส่วนตัวของตัวเองในเรื่องความไม่เท่าเทียม และผมพยายามแสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของชาติและการรับรู้ของแต่ละประเทศในเรื่องพัฒนาการทางเศรษฐกิจและทางประวัติศาสตร์ของตนเองนั้น เป็นส่วนสำคัญในปฏิสัมพันธ์สัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างพลวัตของความไม่เท่าเทียมกันกับวิวัฒนาการของการรับรู้และของสถาบันต่าง ๆ[8]

ด้วยเหตุนี้ จึงมีรูปแบบของการเมืองและของสถาบันที่หลากหลาย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงรูปแบบต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในเรื่องพลวัตของความไม่เท่าเทียมและสมควรจะได้รับการศึกษาให้มากขึ้น ทั้งในเชิงจุดกำเนิด ในเชิงภูมิปัญญา ในเชิงการเมือง และในเชิงปฏิบัติ ผมเน้นบทบาทของสถาบันการศึกษาและวิธีการที่สถาบันเหล่านี้สามารถเพิ่มหรือลดความไม่เท่าเทียมกัน[9] ผมยังดูสถาบันที่เกี่ยวกับภาษี โดยเฉพาะการกำเนิดอย่างยากลำบากและเปราะบางของการเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สิน[10] นอกจากนี้ สถาบันของรัฐและสถาบันทางสังคมการเมืองหลายๆ สถาบันก็มีบทบาทสำคัญ: พัฒนาการของรัฐสวัสดิการในความหมายกว้าง[11], ระบบทางการเงิน ธนาคารกลาง และเงินเฟ้อ, กฎหมายแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ และการต่อรองของส่วนรวม, การเวนคืนกับการถือครองของปัจเจก, ทาสและแรงงานบังคับ, ระบบการปกครองภายในบริษัทและสิทธิของพนักงาน, กฎระเบียบเกี่ยวกับการเช่าที่พัก การควบคุมราคา และภาษีที่เกินขอบเขต, การลดทอนขั้นตอนอันซับซ้อนทางการเงินและการไหลเวียนของทุน, การเมืองเรื่องการค้าและเรื่องแรงงาน, กฎระเบียบเรื่องมรดกและระบบทรัพย์สิน, การเมืองของประชากรศาสตร์และครอบครัว, และอื่นๆ ซ฿่งผมจะกล่าวถึงบางเรื่องเหล่านี้ในหัวข้อถัดไป



[1] ผมต้องขอบคุณ Annales ที่รวบรวมบทความต่าง ๆ และขอบคุณนักเขียนบทความเหล่านั้นสำหรับความตั้งใจและเวลาที่พวกเขาทุ่มเทให้งานของผม

[2] ดูงานสองชิ้นที่ถือเป็นรากฐาน: Simon KUZNETS, Shares of Upper Income Groups in Income and Savings, New York, National Bureau of Economics Research, 1953; Anthony ATKINSON et Alan HARRISON, Distribution of Personal Wealth in Britain, Cambridge, Cambridge University Press, 1978. ขั้นตอนที่แตกต่างกันของการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลเหล่านั้น ผมได้สรุปไว้ในหนังสือของผม Thomas PIKETTY, Le capital au XXIe siècle, Paris, Éd. du Seuil, 2013, p. 39-46.

[3] ดูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Francois SIMIAND, Le salaire, l’évolution sociale et la monnaie. Essai de théorie expérimentale du salaire, introduction et étude globale, Paris, Alcan, 1932; Ernest LABROUSSE, Esquisse du mouvement des prix et des revenus en France au XVIIIe siècle, Paris Dalloz, 1933 ; Jean BOUVIER, François FURET et Marcel GILLET, Le mouvement du profit en France au XIXe siècle. Matériaux et études, Paris/La Haye, Mouton, 1965 ; Adeline DAUMARD (dir.), Les fortunes françaises au XIXe siècle. Enquêtes sur la répartition et la composition des capitaux privés à Paris, Lyon, Lille, Bordeaux et Toulouse d’après l’enregistrement des déclarations de successions, Paris/La Haye, Mouton, 1973.

[4] ดู T. PIKETTY, Le Capital…, op. cit., p. 948-950.

[5] ดูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pierre BOURDIEU et Jean-Claude PASSERON, Les héritiers. Les étudiants et la culture, Paris, Éd. de Minuit, 1964; Id., La reproduction. Eléments pour une théorie du système d’enseignement, Paris, Éd. de Minuit, 1970 ; Christian BAUDELOT et Anne LEBEAUPIN, « Les salaires de 1950 à 1975 dans l’industrie, le commerce et les services », Paris, INSEE, 1979.

[6] ดูตัวอย่างของสาขาที่ต่างกันมาก ๆ เป็นต้นว่า Michèle LAMONT, Money, Morals and Manners: The Culture of the French and American Upper-Middle Class, Chicago, University of Chicago Press, 1992; Jens BECKERT, Inherited Wealth, trad. Par T. Dunlap, Princeton, Princeton University Press, [2004] 2008 ; Pierre ROSANVALLON, La société des égaux, Paris, Éd. Du Seuil, 2011 ; Jules NAUDET, Entrer dans l’élite. Parcours de réussite en France, aux Etats-Unis et en Inde, Paris, PUF, 2012.

[7] T. PIKETTY, Le Capital…, op. cit., p. 47.

[8] ดูโดยเฉพาะอย่างกรณีการปฏิวัติแบบอนุรักษ์นิยมของพวก Anglo-Saxons ซึ่งวิเคราะห์ไว้ใน ibid., chap. 2 et 14.

[9] ibid., chap. 8 et 13.

[10] ibid., chap. 14 et 15.

[11] ibid., chap. 13. เกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการและบทบาทของการใช้จ่ายเพื่อลดความไม่เท่าเทียมและขั้นตอนของการพัฒนา ดู Peter H. LINDERT, Growing Public: Social Spreading and Economic Growth since the Eighteenth Century, New York, Cambridge University Press, 2004.

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: