เผด็จการมีจุดอ่อน

Gene Sharp (แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์) 4 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 17751 ครั้ง


แปลจาก Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy (East Boston, MA: The Albert Einstein Foundation, 2010). บทที่ 4


เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กองกำลังฝ่ายต่อต้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยมักดูอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ และไร้พลังอำนาจยิ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับความอยู่ยงคงกระพันซึ่งตัดกับความไร้อำนาจในลักษณะที่ว่ามานี้เองทำให้การต่อต้านที่มีประสิทธิผลดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้มีเพียงเท่านี้

ชี้จุดตายที่ข้อเท้าของอคิลลิส

เทพปกรณัมกรีกยุคคลาสสิกเรื่องหนึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงความเปราะบางของสิ่งที่ดูอยู่ยงคงกระพันได้เป็นอย่างดี สำหรับนักรบอย่างอคิลลิส ไม่มีธนูดอกไหนหรือดาบเล่มใดจะทำร้ายหรือทะลวงผ่านผิวหนังของเขาได้ เล่าขานกันว่าเมื่อครั้งยังเป็นทารก มารดาของอคิลลิสได้ชุบร่างเขาลงในน้ำจากแม่น้ำอมฤตนามว่าแม่น้ำสติกซ์ (Styx) ซึ่งช่วยปกป้องร่างกายของเขาให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง ทว่ามีปัญหาอยู่ประการหนึ่ง เนื่องจากเด็กทารกต้องถูกจับข้อเท้าเอาไว้เพื่อไม่ให้ถูกกระแสน้ำพัดพาไป น้ำอมฤตจึงไม่ได้ท่วมถึงส่วนเล็กๆ ส่วนนั้นของร่างกาย เมื่ออคิลลิสเติบใหญ่ขึ้น ศาสตราวุธของศัตรูดูจะไม่สามารถทำอันตรายแก่เขาได้เลยในสายตาของทุกคน กระนั้นก็ตาม ในสงครามกับกรุงทรอย ผู้ล่วงรู้ถึงจุดอ่อนของเขาได้ชี้นำให้ทหารฝ่ายศัตรูยิงธนูเข้าที่ข้อเท้าอันเป็นส่วนเดียวที่สามารถทำร้ายอคิลลิสได้ การโจมตีดังกล่าวยังผลให้เขาถึงแก่ความตาย จนถึงทุกวันนี้ วลี “ข้อเท้าของอคิลลิส” ยังคงมีความหมายถึงส่วนที่เปราะบางของบุคคล แผนการ หรือสถาบันหนึ่งๆ ซึ่งไม่มีทางป้องกันได้ หากถูกโจมตี

เผด็จการที่โหดเหี้ยมเองก็อยู่ภายใต้หลักการเดียวกันนี้ พวกเขาปราชัยได้เช่นกัน แต่ความปราศชัยจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสูญเสียต้นทุนน้อยที่สุด หากเราสามารถระบุถึงจุดอ่อนของเผด็จการและมุ่งโจมตีไปยังจุดอ่อนเหล่านั้นได้

จุดอ่อนของเผด็จการ

จุดอ่อนต่างๆ ของเผด็จการมีดังต่อไปนี้

1. ความร่วมมือจากฝูงชน กลุ่มก้อน และสถาบันต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบเผด็จการอาจจำกัดหรืออาจถูกถอดถอนคืนกลับไปได้ทุกเมื่อ

2. ข้อบังคับและผลกระทบของนโยบายในอดีตของเผด็จการจะจำกัดความสามารถในการรับและปรับใช้นโยบายที่สร้างความขัดแย้งอื่นๆ ในปัจจุบันอยู่พอสมควร

3. ระบบอาจดำเนินไปจนเป็นกิจวัตร ทำให้ไม่สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ทันท่วงที

4. บุคลากรและทรัพยากรที่จัดสรรไว้แล้วเพื่อภารกิจหนึ่งๆ จะตอบสนองต่อความจำเป็นใหม่ๆ ได้ไม่ง่ายนัก

5. ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กลัวจะทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่พอใจอาจไม่รายงานข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของเผด็จการอย่างแม่นยำหรือครบถ้วนนัก

6. อุดมการณ์อาจเสื่อมสลายลง มายาคติและสัญลักษณ์ของระบบเผด็จการอาจผันแปรไม่แน่นอน

7. หากปรากฏว่าอุดมการณ์อันกล้าแข็งสำแดงตนและมีอิทธิพลต่อทัศนะต่อสภาพความเป็นจริงของคนคนหนึ่ง การยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ตัวเขาขาดความใส่ใจต่อสภาพการณ์ที่แท้จริงและสิ่งที่จำเป็นในปัจจุบัน

8. ประสิทธิภาพและความสามารถของระบบราชการที่เสื่อมถอยลง หรือการกำกับควบคุมที่มากเกินจำเป็น อาจทำให้นโยบายและการทำงานของระบบเผด็จการไร้ประสิทธิผล

9. ความขัดแย้งภายในสถาบัน รวมถึงความบาดหมางและความเป็นปรปักษ์ส่วนบุคคลอาจส่งผลร้ายหรือกระทั่งขัดขวางการทำงานของเผด็จการให้ไม่อาจดำเนินไปได้โดยปกติ

10. ปัญญาชนและนักศึกษาอาจเริ่มกระวนกระวายใจเมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ ข้อจำกัด ความคลั่งลัทธิ และการกดขี่

11. เมื่อเวลาผ่านไป สาธารณชนทั่วไปอาจเริ่มเหนื่อยหน่าย เคลือบแคลงสงสัย และกระทั่งอาจกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเผด็จการ  

12. ความแตกต่างทางภูมิภาค ชนชั้น วัฒนธรรม และชาติกำเนิดอาจแหลมคมยิ่งขึ้น

13. อำนาจบังคับบัญชาตามลำดับขั้นของเผด็จการย่อมไม่มั่นคงในบางระดับเสมอ และบางครั้งอำนาจดังกล่าวจะสั่นคลอนอย่างยิ่ง คนแต่ละคนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตามลำดับขั้นเดิมของตนเท่านั้น แต่อาจเลื่อนขึ้นเลื่อนลงไปยังตำแหน่งอื่นๆ หรืออาจถูกถอดถอนและแทนที่โดยคนใหม่เลยก็ได้

14. ตำรวจและทหารบางกรมกองอาจกระทำการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตนเอง แม้จะเป็นการขัดต่อเจตจำนงของเผด็จการที่อยู่ในอำนาจ ซึ่งการกระทำที่ว่ารวมถึงการทำรัฐประหารด้วย

15. หากเป็นเผด็จการมือใหม่ พวกเขาย่อมต้องใช้เวลาในการลงหลักปักฐาน

16. เมื่อการตัดสินใจจำนวนมากกระทำโดยคนในระบอบเผด็จการเพียงหยิบมือ การตัดสินใจ แนวนโยบาย และการกระทำที่ผิดพลาดจึงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้

17. หากระบอบเผด็จการพยายามเลี่ยงอันตรายเหล่านี้และกระจายอำนาจการควบคุมและการตัดสินใจออกไป อำนาจการควบคุมสั่งการในส่วนกลางอาจเสื่อมถอยลง

โจมตีจุดอ่อนของเผด็จการ

ความรู้เกี่ยวกับจุดอ่อนโดยกำเนิดของเผด็จการช่วยให้ฝ่ายต่อต้านที่นิยมประชาธิปไตยสามารถสร้างความเสียหายให้กับ “ข้อเท้าของอคิลลิส” เหล่านี้ได้อย่างรอบคอบ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน หรือไม่ก็ทำให้ระบบเผด็จการล่มสลายลง

ฉะนั้นจึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่า แม้ภายนอกจะดูแข็งแกร่งเพียงใด แต่ระบอบเผด็จการทุกที่ล้วนแต่มีจุดอ่อน มีความไร้ประสิทธิภาพภายใน มีศัตรูส่วนตัว มีความไร้ประสิทธิภาพเชิงสถาบัน และมีความขัดแย้งระหว่างองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป จุดอ่อนเหล่านี้มีแนวโน้มจะทำให้ระบอบเผด็จการมีประสิทธิภาพลดลงและเปราะบางต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและการต่อต้านอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น ใช่ว่าทุกสิ่งที่ระบอบเผด็จการวางแผนลงมือทำให้ลุล่วงจะสามารถประสบความสำเร็จได้จริงทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ในบางครั้ง แม้แต่คำสั่งการของฮิตเลอร์เองก็ยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติจริงเนื่องจากผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาคัดค้าน ในบางครั้งระบอบเผด็จการยังอาจล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ดังที่เราได้ตั้งข้อสังเกตกันไปแล้ว

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถโค่นล้มเผด็จการได้โดยปราศจากความเสี่ยงและความสูญเสีย การปลดแอกทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ล้วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและความเป็นไปได้ว่าจะต้องเจ็บปวด ทั้งยังต้องอาศัยเวลาในการดำเนินการ และแน่นอนว่าไม่มีวิถีทางใดที่จะการันตีถึงผลสำเร็จอันรวดเร็วในทุกสถานการณ์ กระนั้น รูปแบบของการต่อสู้ที่มุ่งเป้าหมายไปยังจุดอ่อนที่ระบุได้ของเผด็จการย่อมทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้น มากกว่าการมุ่งต่อสู้กับเผด็จการในจุดที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นจุดที่พวกเขาแข็งแกร่งที่สุด คำถามก็คือการต่อสู้ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: