บทวิเคราะห์: รัฐธรรมนูญใหม่และสถานการณ์เฉพาะหน้า: อะไรต่อไป?

กานต์ ยืนยง 4 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1858 ครั้ง

ความบิดเบี้ยวสากลบนแรงโน้มถ่วงของอัตลักษณ์ไทยและแนวทางการต่อสู้ของพลังประชาธิปไตย

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์สดกับทางสถานีโทรทัศน์ Channel News Asia ของประเทศสิงคโปร์ คำถามหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสตอบพร้อมกับวิทยากรที่เป็นนักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศ (เสียดายที่ผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) คือการพยากรณ์ว่า แนวโน้มของประเทศไทยหรือจำเพาะเจาะจงลงไปคือรัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร ผมจำได้ทำนองว่า วิทยากรร่วมรายการกับผมท่านนั้นมองสถานการณ์ในแง่ร้าย (หากความทรงจำของผมไม่ผิดพลาด) โดยสรุปออกมาว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยคงจะมีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากขึ้น สมมติฐานนั้นวางอยู่บนฐานที่ว่า ‘กองทัพ’ จะยังเป็นศูนย์กลางอำนาจของประเทศต่อไป โครงสร้างอำนาจของประเทศจะย้อนกลับไปในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือก่อนหน้านั้นคือในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียอีก

ผมจำได้ว่าผมให้คำตอบที่ต่างจากวิทยากรท่านนั้นออกไปว่าเหตุการณ์คงไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่อไปมากกว่า ดูเหมือนเวลาออกจะสั้นไปหน่อยหรือคำตอบของผมคงฟังดูไม่ค่อยหวือหวา อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการจึงตัดจบรายการและผมไม่มีโอกาสอธิบายเพิ่มเติม

บัดนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชุดคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เริ่มเปิดเผยแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ออกมาบ้างแล้ว (โปรดดูรายละเอียดได้ที่ https://www.scribd.com/doc/251616730/New-Constitutional-Architecture) ผมจึงคิดว่าจะใช้พื้นที่นี้ในการอธิบายเหตุผลที่ผมมองว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการยกร่างออกมาอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่วิทยากรร่วมรายการของผมท่านนั้นมอง แต่ลักษณะของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ว่าจะขึ้นอยู่กับ ‘สถานการณ์’ ต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งคือรัฐธรรมนูญใหม่ที่ว่าจะเป็นผลผลิตของการปะทะสังสันทน์กันทางความคิดของสังคมในมุมมองของผมอย่างไร

ก่อนอื่น ผมขอย้อนกลับไปยังบทวิเคราะห์ที่ผมได้เขียนเอาไว้ให้กับ TCIJ ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ปรากฎรูปร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปขึ้นมา ผมได้พูดถึงความน่าจะเป็นของ ‘พิมพ์เขียว’ ของรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดขึ้น http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4315

กรอบการ ‘ออกแบบ’ โครงสร้างในใจของกลุ่มคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1.รูปแบบรัฐสภา

1.1 การคาดการณ์เดิมของผม: กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบแต่งตั้งจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งหมด ที่มาของสมาชิกเหล่านั้นมาจากวิชาชีพ (ส่วนวุฒิสมาชิก ผมไม่ได้พูดถึง ถือให้เป็นคงเดิม)

1.2 แนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ:

1.2.1 กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรไม่เกิน 480 คน จำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ได้มาที่แท้จริงอาจมีจำนวนน้อยกว่านี้ จำนวนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขึ้นอยู่กับผลการลงคะแนนเสียง (เปลี่ยนจากระบบ ‘บัญชีรายชื่อให้เพิ่ม’ มาเป็น ‘บัญชีรายชื่อเติมเต็ม’)

1.2.2 กำหนดให้มีจำนวนวุฒิสมาชิกจำนวน 200 คน โดยที่มาของวุฒิสมาชิกมาจากการสรรหาทั้งหมด (มาจากวิชาชีพ)

1.2.3 ไม่กำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในการลงมติในสภาทำให้พรรคขับออกจากพรรคและพ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร [หรือกำหนดไม่ให้มีระบบ ‘เท้าชิดเส้น’ (Toe the line)]

2.ที่มาของผู้นำรัฐบาลและการกำกับและควบคุมอำนาจของรัฐบาล

2.1 การคาดการณ์เดิมของผม: กำหนดองค์กรที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับแนวทางอุดมการณ์ของประเทศชาติที่อยู่เหนือรัฐสภาอีกขั้นตอนหนึ่ง ในทำนองเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่เคยทำหน้าที่มาแล้ว

2.2 แนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

2.2.1 กำหนดสมัชชาคุณธรรม ตรวจสอบ ไต่สวน และถอดถอน เมื่อนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน มีการละเมิดจริยธรรมของบุคคลสาธารณะ

2.2.2 อำนาจวุฒิสมาชิกเพิ่มขึ้น เช่น เสนอถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการระดับสูงได้

2.2.3 กำหนดให้มีการนำคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดวิกฤตชั่วคราว

กรอบใหญ่ในใจของผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญชุดนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปในการคาดการณ์เดิมของผมเทียบกับแนวทางที่ประกาศออกมาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบอกว่าแนวทางที่ผมคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้มีทิศทางไปทางอนุรักษ์นิยมที่มากกว่า แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของ ‘ที่มา’ และ ‘เหตุผล’ เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญในทิศทางเดียวกัน คือสะท้อนการไม่ไว้ใจพลังการเมืองที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องหาทาง ‘กำกับและลดทอน’ อำนาจนี้ลง เพียงแต่ว่าทิศทางในการใช้อำนาจในการกำกับดูแลนี้มีการกระจายไปยังองคาพยพขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง

ก่อนอื่น ภาพใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยคืออะไร

ผมขอยกปาฐกถาเรื่องการเลือกตั้งของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระองค์วรรณ) ซึ่งได้ทรงบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยและเรื่องหลักการปวงชนเป็นใหญ่ดังนี้ (ส่วนที่เน้นโดยขีดเส้นใต้เป็นของผม)

“สถานภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนั้น มีหลักอันยิ่งใหญ่วางไว้ในมาตรา 20 แห่งรัฐธรรมนูญว่า เปนผู้แทนของปวงชนสยาม มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา (ผู้แทน) ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ ดังนี้ ประชาธิปตัยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ หรือถ้าใช้ศัพท์ในรัฐธรรมนูญ ก็ปวงชนเปนใหญ่ ปวงชนหรือชนส่วนรวมเห็นสมควรอย่างไร นั่นแหละ คือมติหรือเสียงที่เป็นใหญ่

"แต่ปวงชนนั้นเป็นสมมติบุคคล ทำอย่างไรเล่าเราจึ่งจะทราบมติหรือความเห็นของปวงชนได้เล่า? นักปรัชญามีรูโซ (Rousseau) เป็นต้น ถือว่าเสียงที่เป็นใหญ่นั้น คือเสียงของปวงชน (General Will) แต่เสียงของปวงชนไม่จำเป็นต้องเท่ากับเสียงของชนทั้งหมด (Will of All) เพราะเสียงของปวงชนมีสภาพประกอบด้วยเหตุผล แต่เสียงของเอกชนมีฤทธิ์จิตต์ใจจูงไป โดยไม่ประกอบด้วยเหตุผลก็ได้ จึงไม่เปนเสียงที่แท้จริง หรืออีกนัยหนึ่งการนับคะแนนมติเปนคนๆ ไป แล้วเลือกเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นั้น ถ้าจะพูดตามหลักการอันแท้จริงแล้วไม่จำเปนการถูกต้องเสมอไป แต่โดยปรกติและตามทางปฏิบัติไม่มีวิธีอื่นที่จะดีกว่าวิธีนับคะแนนและเลือกเอาข้างมากเปนใหญ่ จึ่งใช้วิธีนี้แต่ใช้เพื่อความสะดวกเท่านั้น

"เพื่อรักษาหลักการที่ว่า เสียงปวงชนเปนใหญ่นั้น ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมา จึ่งถือว่าเปนผู้แทนของปวงชน หาได้เปนตัวแทนของผู้ที่เลือกตนมาไม่ ถ้าเปนตัวแทนแล้ว ตัวการผู้เลือกตั้งก็อาจผูกมัดตัวแทน สั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่นี้ไม่ได้เปนตัวแทน หากเปนผู้แทน ซึ่งมีสิทธิแสดงความคิดเห็นตามที่ตนเห็นสมควร โดยไม่อยู่ในความผูกมัดทางกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งบันดาผู้แทนราษฏรจะพึงจดจำไว้ให้แม่นยำ”

จะเห็นได้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว พระองค์วรรณ (ซึ่งอ้างความคิดของรุสโซมาอีกทอด) ได้เอ่ยถึงหลักการสำคัญคือการเป็น ‘ผู้แทน’ ของปวงชน ไม่ใช่ ‘ตัวแทน’ จึงมีสิทธิแสดงความเห็นตามที่เห็นสมควร โดยไม่ถูกผูกมัด แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ใช้หลักการข้อนี้ สร้างการกำกับดูแลสภาผู้แทนราษฏร (ถ้าเช่นนั้นผู้แทนราษฏรก็ต้องแสดงความคิดเห็น ตาม ‘การกำกับดูแล’ จากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่ได้พูดถึงว่า มีวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีสิทธิในการใช้อำนาจแทรกแซงลงไปอีกชั้นหนึ่ง) แล้วจะถือได้ว่า ‘ผู้แทน’ เหล่านั้นเป็นเสียงของปวงชน (General Will) ได้อย่างไร?

การสร้างอำนาจของชนชั้นนำเข้าแทนที่อำนาจจากเสียงแห่งปวงชน

ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ‘ร่างจำแลงของนายกฯ มาตรา 7’ ก็ดี

...ทั้งหมดก็คือแก่นแท้ของการทำรัฐประหารครั้งนี้

อาการไม่ไว้วางใจ ‘วิจารณญาณ’ ของผู้แทนราษฏร ก้าวขึ้นไปอีกขั้นเมื่อถึงกับระบุลงไปว่า ไม่กำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในการลงมติในสภาทำให้พรรคขับออกจากพรรคและพ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คือผู้แทนราษฏรไม่จำเป็นจะต้องออกเสียงตามมติของพรรค หรือคือไม่จำเป็นต้องอยู่บนแถวหรือเส้นของพรรค ในสำนวนฝรั่งคือ ‘ปลายเท้าชิดเส้น’ (Toe the line) โดยนัยคือการพยายามลดอิทธิพลของพรรค (หรือในความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ คือลดอิทธิพลของเจ้าของพรรคตัวจริง) ในการกำกับเสียงของผู้แทนราษฏรเหล่านี้

หากแต่ในเวทีการเมืองทั่วไป พรรคการเมืองเป็นตัวแทนเสียงจากอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบต่างๆ การกำหนดมติพรรคจึงเป็นการรับประกันให้ผู้ลงคะแนนเสียงได้มั่นใจว่า ผู้แทนฯ ที่พรรคส่งลงเลือกตั้งจะออกเสียงไปตามแนวทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ได้หาเสียงเอาไว้จริง การที่ผู้แทนฯ จะออกเสียงเขาจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลย์ ทั้งความต้องการของประชาชนในฐานเสียงและหลักการที่เป็นไปตามอุดมการณ์พรรคการเมืองที่ตนสังกัด การกำหนดมติพรรคหรือวินัยพรรคจึงเป็นวินิจฉัยของแต่ละพรรคการเมืองในการตกลงกับสมาชิกของพรรคตน ทั้งในแง่รายละเอียดของมติหรือวินัย การทำตามมติหรือวินัยและบทลงโทษผู้ที่ละเมิดต่อมติหรือวินัยเหล่านั้น (ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งขับจากพรรคหรือไม่ส่งลงเลือกตั้งในคราวต่อไป เป็นต้น) หรือแม้แต่บางพรรคการเมืองอาจเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการทำตามมติหรือวินัยพรรคเลยก็ได้ บทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรกำหนดห้ามหรือกำหนดให้มีเรื่อง Toe the line นี้

แต่เรื่องที่หนักที่สุด เห็นจะเป็นการกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางเข้ามาในกรณีที่ ‘เกิดวิกฤต’ ชั่วคราว ข้ออ้างของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ แต่ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ‘ใคร’ เป็นผู้ตีความเรื่อง ‘วิกฤต’ นี้ และสมมติว่าหากมีผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงอำนาจนอกรัฐธรรมนูญจริง คนกลุ่มนั้นจะมีความเห็นในทางเดียวกันเกี่ยวกับการตีความเรื่อง ‘วิกฤต’ ดังกล่าวหรือไม่ หรือถึงที่สุดเห็นด้วยกับคนกลางที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวนั้นหรือไม่

เหตุใดจึงไม่หาวิธีใช้การผลักดันให้เกิดการแก้ ‘วิกฤต’ ในระบบให้ถึงที่สุด? ผมกลับเห็นว่าวัฒนธรรมเรื่อง ‘วิกฤต’ และการใช้การเปลี่ยนแปลงอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ไม่ได้มีความเข้าใจหรือให้ความสำคัญกับหลักการ ‘เสียงแห่งปวงชน’ (General Will) นี้เป็นสำคัญ พูดอย่างสั้นๆ แล้ว สำหรับวัฒนธรรมแบบไทย หากจะเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง ถึงที่สุดแล้วจะมีอะไรไปห้ามได้? การบัญญัติหลักการนายกฯ ชั่วคราวในช่วงวิกฤต ในทางหนึ่งคือ ‘ร่างจำแลงของนายกฯ มาตรา 7’ นั่นเอง

ความจริงก็น่าคิดอยู่ว่า ทั้งที่เคยมีพระราชดำรัสระบุลงไปแล้วว่าการใช้มาตรา 7 ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดนี้ก็ยังหาทางทำให้การใช้มาตรา 7 ถูกกฎหมายขึ้นมาจนได้

ดังนั้น หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว การสร้างอำนาจของชนชั้นนำเข้าแทนที่อำนาจจากเสียงแห่งปวงชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ‘ร่างจำแลงของนายกฯ มาตรา 7’ ก็ดี, การทอนอำนาจของพรรคการเมืองและอำนาจของผู้แทนราษฏรก็ดี, หรือการสร้างสภาคุณธรรมเพื่อให้อำนาจชนชั้นนำในการกำกับทิศทางของรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากเสียงของประชาชนก็ดี ทั้งหมดก็คือแก่นแท้ของการทำรัฐประหารครั้งนี้

การทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปได้ เพราะ-ผมขอให้คำว่า ‘แรงบิดเบนมหาศาลของอัตลักษณ์แบบไทย’

ผมขอให้พิจารณารูปที่ผมดึงมาจากวิดีโอคลิปที่บรรยายเรื่องสนามแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=YByqTYzeJww ว่าจริงหรือไม่ที่หลักการสากลต่างๆ เมื่อถูกนำมาใช้ในบริบทแบบไทย จะถูกบิดเบือนไปโดยอัตลักษณ์แบบไทยนี้เสียหมด

เหมือนกับที่ดาวฤกษ์แสดงการบิดเบือนสนามกาลอวกาศด้วยแรงโน้มถ่วง ดาวเคราะห์ที่มาโคจรรอบดาวฤกษ์ ทั้งที่มันยังเดินทางไปเป็นเส้นตรงก็เพราะการบิดเบือนของสนามแรงโน้มถ่วงนั้น เช่นเดียวกับการบิดเบือนหลักการสากลต่างๆ โดยขอให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงความหมาย (Semiotic Shift) ของคำเหล่านี้

-ประชาธิปไตย-->เสียงแห่งปวงชนเป็นใหญ่-->เสียงชนชั้นนำเป็นใหญ่

-ธรรมาภิบาล (Governance)-->การกระจายอำนาจ, การลดขั้นการบังคับบัญชา, การยอมรับการตรวจสอบจากภายนอกไม่เล่นพวกพ้อง, การยึดคุณค่าสากล-->การไม่ฉ้อราษฏร์บังหลวง

-อำนาจของรัฐสภา-->เสียงส่วนใหญ่ในสภา-->เผด็จการรัฐสภา

-ประชานิยม-->การหาเสียงด้วยนโยบายสาธารณะและการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียง-->การซื้อเสียง, ทุนนิยมสามานย์

สำหรับสองข้อแรก กลายเป็นเป้าหมายของการรัฐประหารครั้งนี้ในการสร้างอุดมคติของรัฐไทย ในขณะที่สองข้อหลังกลายเป็นเงื่อนไขความเลวร้ายของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งมีค่าเทียบเท่ากับความผิดบาปขั้นเลวร้ายในระดับอนันตริยกรรม 5 ประการ คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์) โลหิตุปบาท (การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด) และสังฆเภท (การทำให้พระสงฆ์แตกแยก) จึงอนุญาตให้ (ใครก็ไม่ทราบ) สามารถทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ (หรือถ้าตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะร่างกันนี้ก็คงจะอนุญาตให้ใช้มาตรา 7 จำแลงนั้นได้)

ในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ยังมีสมาชิกของสภาปฏิรูปแห่งชาติบางท่านยังยึดมั่นและซื่อตรงต่อหลักการ จึงได้แสดงความเห็นคัดค้าน ‘นายกฯ มาตรา 7 จำแลง’ อยู่บ้าง และสุดท้ายคงขึ้นอยู่กับเสียงสะท้อนในสังคมที่จะยอมรับการเฉไฉในหลักการเรื่องนี้ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งที่สังคมไทยผ่านการคัดค้านนายกฯ คนนอก อย่างหนักมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี พ.ศ.2535 ทั้งเสียงต้านจากภายในสภาปฏิรูปแห่งชาติเองและเสียงสะท้อนในสังคมเหล่านี้ คงจะทำให้การผลักดันพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามความคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ตามที่ตั้งใจไว้เท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าพลังฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพลังที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมายาวนานเช่นเดียวกัน (โปรดอ่านงานเขียนเรื่อง ‘รุสโซในระบอบปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475-2490’ ของ ศุภชัย ศุภผล ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 35 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557 หน้า 40-79 ประกอบ) คงจะแสดงเสียงคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้อย่างมาก หากรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ออกมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ผมก็คิดว่าการคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ (ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ออกเสียง การไม่ลงประชามติ หรือวิธีการอื่นใด) โดยไม่จำเป็นต้องสนใจคำขู่กรรโชกว่าจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่กว่ามาใช้ ก็เป็นหนทางที่ชอบธรรม ไปจนกระทั่งถึงการหาเสียงด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีที่มีการเลือกตั้งขึ้น ทั้งนี้เพราะนอกจากเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ที่มาของรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไปอย่างชอบธรรม (คือมาจากการทำรัฐประหาร)

นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญก็บิดพริ้วกับหลักการ ‘ธรรมาภิบาล’ ที่ตนยกอ้างขึ้นเสียเอง คือไม่ยอมรับการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมเปิดเผยทรัพย์สินของตนต่อสาธารณะเช่นเดียวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งที่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน และการกำหนดกรอบกติกาที่สมาชิกในสังคมส่วนใหญ่ต้องยอมรับ หาใช่เพียงแค่ ‘ความเห็นทางวิชาการ’ แบบเดียวกับที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ออกมาแก้ต่างนั้นไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: