รายงานเผยภายหลัง คสช.ใช้ศาลทหารดำเนินคดีเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนคำสั่งให้รายงานตัว กรณีมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและคดีเกี่ยวกับการเมือง พลเรือนเกือบร้อยถูกนำขึ้นศาลทหารเข้าคิวพิจารณา ไร้สิทธิประกัน อุทธรณ์ อ้างใช้เพื่อเร่งคดีการเมือง ฮิวแมนไรต์วอทช์ชี้ เผด็จการทั่วโลกยังไม่ใช้ศาลทหาร แนะเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
“ในโลกนี้ไม่มีพลเรือนขึ้นศาลทหาร” นี่คือคำกล่าวที่อาจสรุปสถานการณ์กระบวนการยุติธรรม ที่ใช้จัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองหลายประเทศ ได้อย่างดีที่สุด
แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า การใช้ศาลทหารกับพลเรือนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ก่อนการรัฐประหารประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด เพื่อให้การรักษาความสงบของบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย จึงสมควรใช้กฎอัยการศึกและศาลทหาร
ในอดีต ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ ต่างผ่านประสบการณ์ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความไร้ประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมและการตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองแบบเผด็จการทหารมาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่เคยมีประเทศใด ใช้ศาลทหารกับพลเรือน
ตาราง 1: ตารางเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆและการใช้ศาลทหาร
ประเทศ |
การครองอำนาจ |
การละเมิดสิทธิมนุษยชน |
การใช้ศาลทหาร |
ประเทศฟิลิปปินส์ |
ประธานาธิบดีมากรอส[1] |
การฆ่านอกระบบ การบังคับให้สูญหาย มากกว่า 1,000 กรณี[2] |
ไม่ใช้ |
ประเทศอินโดนีเซีย |
ประธานาธิบดีซูฮาร์โต[3] |
การคอรัปชั่นอย่างร้ายแรง การจำกัดเสรีภาพในการรวมกุม การซ้อมทรมาน และการปราบปรามคนกลุ่มน้อย[4] |
ไม่ใช้ |
ประเทศพม่า |
ประธานาธิบดี |
การปราบปรามชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งทางศาสนา การจับกุมนักโทษทางการเมือง มากกว่า 1,100 คน[6] |
ไม่ใช้ |
ขณะที่ประเทศไทย เมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในคดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ขึ้นสู่ศาลทหาร แต่ในทางปฏิบัติ พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆก็ถูกดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพ
หลังการรัฐประหาร 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557, 38/2557, และ 50/2557 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ความผิดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธ และความผิดอื่นๆที่เกี่ยวโยงกัน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารทั้งหมด
ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก ที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร
พลเรือนในศาลทหาร
แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนถึงจำนวนพลเรือนที่อยู่ภายใต้ศาลทหาร แต่จากการรวบรวมพบว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 70 รายที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร แบ่งเป็น ภาคอีสาน 27 ราย ภาคเหรือ 9 ราย ภาคกลาง 1 ราย และกรุงเทพมหานคร มีอย่างน้อย 32 ราย[7] รวมอย่างน้อย 70 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง
ตาราง 2: จำนวนพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารในคดีต่างๆ[8]
ประเภทคดี |
จำนวนพลเรือนที่ถูกดำเนินคดี |
คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งรักษาความสงบแห่งชาติ |
9 |
คดีฝ่าฝืนข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน |
18 |
คดีครอบครองอาวุธ |
34 |
คดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ |
11 |
ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง |
2 |
อื่นๆ |
2 |
หมายเหตุ: พลเรือน 1 คน อาจถูกดำเนินคดีในหลายคดี เช่น ถูกดำเนินคดีทั้งข้อหาไม่ไปรายงานตัวและข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
กองทัพอ้าง ศาลทหารดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน
ก่อนหน้านี้แม่ทัพภาค 3 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อธิบายถึงวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารว่า ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วยความยุติธรรม ตามที่ทั่วโลกยอมรับทุกประการ แต่เมื่อเปรียเทียบวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารกับศาลยุติรรม พบว่า พลเรือนกลับไม่ได้สิทธิประกันตัว อุทธรณ์ อีกทั้งวิธีพิจารณาคดียังถูกปิดลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังได้
ตาราง 3: แนวทางการปฏิบัติระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน ในคดีการเมือง[9]
|
ศาลพลเรือน (ศาลยุติธรรม) |
ศาลทหาร ภายใต้กฎอัยการศึก |
ผู้ที่ถูกจับ |
ประชาชนทั่วไปที่ทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา |
ประชาชนที่ทำผิดในเรื่อง 1. สถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 3. ครอบครองอาวุธ 4. ความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 5. ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับข้อ 1-4 |
การสอบสวน |
เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สอบสวน โดยต้องรวบรวม 1. พยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา 2. พยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 3. พยานหลักฐานที่บรรเทาโทษผู้ต้องหา |
เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้สอบสวน ในระยะเวลากักตัว 7 วัน ภายใต้กฎอัยการศึก |
ก่อนฟ้องคดี |
หากยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ ผู้ต้องหายังไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ |
ผู้ต้องหาผู้คุมขังในเรือนจำทันที ภายหลังการกักตัว 7 วัน |
ยื่นฟ้อง |
จำเลยมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ไม่มีทนายความ ศาลต้องจัดหาทนายความให้จำเลย เรียกว่า “ทนายขอแรง” |
จำเลยมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากจำเลยไม่มีทนายความ ศาลไม่สามารถหาให้ได้ |
การประกันตัว (ในคดี 112) |
โดยหลักศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว |
โดยหลักศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว |
การพิจารณาคดี เกี่ยวกับความมั่นคง |
1. พิจารณาคดีโดยเปิดเผย ทุกคนสามารถเข้าฟังได้ 2. สามารถจดบันทึกได้ |
1. พิจารณาคดีลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังได้ (ในคดี 112) 2. ห้ามจดบันทึก |
ผู้พิพากษา |
องค์คณะ 3 คน ต้องจบกฎหมายและเนติบัณฑิต |
องค์คณะ 3 คน เป็นทหารทั้งหมด โดยจบกฎหมาย 1 คน และอีก 2 คน ไม่ต้องจบกฎหมาย |
คำพิพากษา (ในคดี 112) |
กรณีรับสารภาพ ลงโทษ 5 ปี |
กรณีรับสารภาพ ลงโทษ 10 ปี |
การอุทธรณ์ฎีกา |
จำเลยสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ |
จำเลยสามารถไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ |
ผู้บังคับบัญชา |
ประธานศาลฎีกา |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม |
จากตารางข้างต้น จึงเห็นได้ว่าการใช้ศาลทหารในเวลาไม่ปกติเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ทำให้ คำพิพากษาหรือคำสั่งจึงยุติอยู่ที่ศาลทหารชั้นต้น เพื่อต้องการให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว[10] สอดคล้องกับความเห็นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่ต้องการคงกฎอัยการศึก ทำให้การสอบสวนต่างๆดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว[11]
จากศาลทหารสู่มาตรา 44
1 เมษายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ในการรักษาความสงบเรียบร้อย อันเป็นการให้อำนาจอย่างไม่มีข้อจำกัดแก่หัวหน้า คสช. ในด้านการใช้ศาลทหาร แม้ว่าเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกจะไม่ทำให้เป็นศาลทหารในสถานการณ์พิเศษ แต่หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2558 จำเลยก็ยังไม่สามารถอุทธรณ์ได้
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558 ซึ่งให้ศาลสามารถตั้งทนายขอแรงให้แก่จำเลยในคดีที่มีโทษร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขดังกล่าวองค์กรสหประชาชาติมีข้อกังวลว่าจะทำให้นายทหารมีอำนาจคุมตัวพลเรือนได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถใช้อำนาจกักขังได้นานถึง 84 วัน อันเป็นการขัดกับหลักการสากล
ฮิวแมนไรต์วอทช์ แนะเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย เห็นว่า หลักการที่สำคัญที่สุดคือพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร และหลักประกันความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลต้องถูกรับรอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในศาลทหารไทย เพราะศาลขาดความเป็นอิสระ ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำศาลทหารมาใช้กับคดีทางการเมือง ซึ่งคือใช้กับพลเรือน ดังนั้น ข้อเรียกร้องมีเพียงอย่างเดียวและไม่สามารถผ่อนปรนได้คือ ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
เพื่อพิจารณาถึงข้อกฎหมายระหว่างประเทศ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้โอนจำเลยในศาลทหารไปสู่ศาลพลเรือน เนื่องจากขัดกับกติการะหว่างเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรายงานของสหประชาชาติได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน[12]
ท้ายสุด กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารที่เกิดขึ้น อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
อ่าน 'จับตา': “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5593
[1] เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (11 กันยายน 2460 - 28 กันยายน 2532) ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ครองอำนาจระหว่าง 30 ธันวาคม 2508 – 25 กุมภาพันธ์ 2529
[2] Karapatan Monitor, https://www.karapatan.org/files/2010_KarapatanMonitor_Jan-March.pdf, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)
[3] ซูฮาร์โต (8 มิถุนายน พ.ศ. 2464 - 27 มกราคม พ.ศ. 2551) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย ครองอำนาจระหว่าง 12 มีนาคม 2510 – 21 พฤษภาคม 2541
[4] Indonesia: Suharto’s Death a Chance for Victims to Find Justice, https://www.hrw.org/news/2008/01/27/indonesia-suharto-s-death-chance-victims-find-justice, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)
[5] พลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า อยู่ในอำนาจตั้งแต่มีนาคม 2554 ก่อนหน้านั้นสหภาพพม่า อยู่ภายใต้การปกครองของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย และพลเอกอาวุโส ซอ หม่อง ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารของพม่า ตั้งแต่กันยายน 2531 – มีนาคม 2554
[6] BURMA 2013 HUMAN RIGHTS REPORT, https://www.state.gov/documents/organization/220394.pdf, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)
[7] ประมวลตัวเลขจาก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์, https://ilaw.or.th/node/3119, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)
[8] อ้างแล้ว.
[9] สภาพปัญหาการพิจารณาคดีภายในศาลทหาร สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “รายงานสถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.wordpress.com/2015/01/23/รายงานสถานการณ์สิทธิขอ/
[10] สายันต์ ขุนขจี. พันตรี. ระบบของศาลทหาร. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พ.ศ. 2549. https://digi.library.tu.ac.th/thesis/la/0417/, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)
[11] พลเอกประยุทธ์" ย้ำ ไม่เลิกกฎอัยการศึก ชี้ทำให้การสอบสวนรวดเร็ว ไม่ต้องขอหมายศาล, https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418715352, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)
[12] Thailand: transfer all civilians to civilian courts, https://www.icj.org/thailand-transfer-all-civilians-to-civilian-courts/, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ