เปิดโรดแมป‘นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ’ จับตา 9 ประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทีมข่าว TCIJ 4 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5910 ครั้ง

นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ เป็นหนึ่งในโครงการของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (อ่านเพิ่มเติม “จับตา : เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย”) โดยมีบริษัทเมืองเงิน ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ ซึ่งประเมินกันว่าน่าจะเริ่มโครงการได้ตั้งแต่ปี 2561 ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าพื้นที่โครงการจะตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงราย-เชียงของ ระหว่าง ต.สถาน-ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ประมาณ 10-15 กิโลเมตร  ซึ่งพื้นที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ไม่มีการตั้งถิ่นฐานในลักษณะชุมชนอยู่อาศัย ในด้านผังเมืองนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ตามผังเมืองรวมของชุมชนเชียงของ ขอบเขตพื้นที่โครงการ ทิศเหนือและทิศใต้ติดต่อกับเขตพื้นที่เกษตรกรรม ทิศตะวันออกติดต่อกับแนวทางหลวงหมายเลข 1020 และทิศตะวันตกติดต่อกับแนวห้วยร่องปึงและถนนภายในพื้นที่ชุมชน

ข้อมูลจากบริษัทเมืองเงิน ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2558 ระบุว่าบริษัทได้เซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งจะใช้งบประมาณจัดหาประมาณ 1,000 ล้านบาท จากนั้นจะมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และแผนผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเชียงของเพื่อเสนอให้ กนอ.อนุมัติ และประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมตามขั้นตอน ส่วนงบประมาณในภาพรวมนั้นอยู่ระหว่างรอการอนุมัติผังการจัดตั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรอการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจากรัฐบาลเพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ

ปมที่ดิน ใช้พื้นที่เท่าไรกันแน่ ปรับแผนเช่ารัฐแทนกว้านซื้อ

แม้ว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและข้อมูลจากสื่อมวลชนจะระบุว่า แรกเริ่มโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของจะใช้พื้นที่ 479 ไร่ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของจะใช้พื้นที่ทั้งหมดเท่าไรในอนาคตเมื่อโครงการเสร็จสิ้น โดยในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาผู้บริหารของบริษัทเมืองเงิน ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เองยังระบุว่า ได้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงของเอาไว้บนพื้นที่ประกาศผังเมืองรวม จ.เชียงราย จำนวน 12,000 ไร่ เขต ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย แต่จะมีพื้นที่สำหรับการเตรียมการพัฒนาเอาไว้เบื้องต้นก่อนจำนวน 400 ไร่

จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใน รายงาน "การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยแนวคิดเมืองนิเวศ" ได้ระบุถึงการออกแบบวางผังเบื้องต้นของนิคมอุตสาหกรรมเชียงของนั้นได้กำหนดพื้นที่ทั้งหมดไว้ประมาณ 3,130.22 ไร่ (เป็นส่วนพื้นที่อุตสาหกรรม 2,161.82 ไร่) เลยทีเดียว

ทั้งนี้หลังการประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งที่ 17/2558  เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 โดยให้เพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นที่ราชพัสดุ ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นขอเช่าใช้ประโยชน์เพื่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าได้ปรับแผนการลงทุนใหม่โดยจากเดิมที่จะทำการซื้อที่ดินรวบรวมมาดำเนินโครงการประมาณ 2 พันไร่ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องราคาที่ดินสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้และไม่สามารถเจรจาขอลดราคาลงได้ จึงหันมาขอใช้สิทธิเช่าที่ดินรัฐในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายดำเนินโครงการแทน เพื่อสนองนโยบายของ คสช. ทั้งนี้พบว่ากลุ่มชาวบ้านเองก็ได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นนี้บ้างแล้ว (อ่านเพิ่มเติม: คน 'เชียงของ' ต้านโค่นป่า 1,700 ไร่ สร้าง 'เขตเศรษฐกิจพิเศษ' ทหารพรานให้ปลดป้ายประท้วง)

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้บริหารของบริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 9 - 12 สิงหาคม 2558) ระบุว่าเดิมทีมีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ ในพื้นที่ทุ่งสามหมอน ริมถนนเชียงราย-เชียงของ พื้นที่ที่ดำเนินการจะเป็นทุ่งนารอยต่อตำบลสถานกับตำบลศรีดอนชัย โดยวางแผนว่าจะรวบรวมที่ดินให้ได้เบื้องต้นประมาณ 2,000 ไร่ สำหรับการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ  เฟสแรกจะใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่วนเฟสที่ 2 จะใช้พื้นที่อีกประมาณ 1,500 ไร่ พัฒนาให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากนั้นหากมีการพัฒนาเต็มพื้นที่แล้ว ก็จะมีโครงการขยายเข้าไปในพื้นที่ที่เหลือต่อไป แต่ว่าโครงการก็ดูเหมือนจะเงียบหายไปสักระยะหนึ่ง หลังการรวบรวมที่ดินเริ่มมีปัญหาไม่สามารถเจรจาขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาที่บริษัทกำหนดได้ จนทำให้วงเงินที่จะใช้ซื้อที่ดินในเบื้องต้นเกินวงเงินที่ตั้งไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทไปเป็นจำนวนมาก จากนั้นบริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ในการที่จะขอรับสิทธิในการเช่าที่ดินของรัฐเพื่อการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงที่บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะขอใช้พื้นที่ มีการสำรวจแล้วว่าเป็นที่ดินรัฐที่เหมาะสมกับการลงทุน โดยที่ดินแปลงแรก เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์บ้านทุ่งงิ้ว ตำบลสถาน จำนวนเนื้อที่ 531-3-27 ไร่  ที่ดินแปลงนี้ ตามแผนจะดำเนินการพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นไปตามพันธะสัญญาที่ทาง กนอ.ได้กำหนดให้บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ดำเนินการ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าตามระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ อีกทั้งยังจะเป็นการรองรับการค้าการลงทุนภายในกลุ่มประชาคมอาเซียน ส่วนแปลงที่ 2 จะเป็นที่ดินทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์บุญเรือง ตำบลบุญเรือง ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 3,021-1-75 ไร่  แปลงนี้ทราบจากคณะทำงานสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ด้านการจัดหาที่ดินของรัฐสำหรับเอกชน และหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ว่า ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการขอใช้ที่ดินเพื่อการศึกษาและวิจัยไปแล้วประมาณ 1,226 ไร่ ที่ดินที่เหลือทั้งหมด บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะขอใช้พัฒนาเป็นสถานที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ โดยจะเป็นอุตสาหกรรมสะอาดตามที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายกำหนด

9 ประเด็นควรจับตาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ในรายงาน "การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยแนวคิดเมืองนิเวศ" ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำการศึกษานิคมอุตสาหกรรมเชียงของ โดยระบุถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของนั้นแบ่งการประเมินผลกระทบตามลักษณะโครงการ ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่สถานีขนส่งและการกระจายสินค้า

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของการพัฒนาพื้นที่โครงการเป็นนิคมอุตสาหกรรมพบว่า กิจกรรมของนิคมอุตสาหกรรมที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3,130 ไร่ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างจนถึงระยะดำเนินการ โดยประเด็นผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ การก่อให้ เกิดมลพิษทางน้ำและมลพิษทางอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุม ติดตามตรวจสอบผลกระทบ  ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่พัฒนาโครงการจากพื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว) มาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ปัญหาการขยายตัวของชุมชนอย่างไม่มีระเบียบการจัดการขยะมูลฝอย ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่โครงการเป็นนิคมอุตสาหกรรมมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 9 ประเด็น ดังนี้

1. คุณภาพอากาศ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณอำเภอเชียงของ พ.ศ. 2547 พบว่ามีดัชนีคุณภาพอากาศ ได้แก่ ปริมาณฝุ่นละออง (TSP) ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM-10) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และโอโซน (O3) มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการมีลักษณะเป็นพื้นที่แอ่งที่ลุ่มซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศเฉพาะของภาคเหนือ ทำให้การระบายอากาศจะต้องมีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่อนุญาตให้เข้ามาตั้งในพื้นที่ ต้องไม่เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางอากาศมาก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิด Volatile Organic (VOCs) เป็นต้น

2. ทรัพยากรน้ำผิวดิน ในการดำเนินการของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงเข้ามาเก็บกักในบ่อพักน้ำโครงการเพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ดังนั้นการนำน้ำดังกล่าวมาใช้จะต้องดำเนินการในฤดูฝน เพื่อป้องกันและลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำระหว่างชุมชนกับโครงการ สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในห้วยร่องบึงที่อยู่ทางด้านท้ายพื้นที่โครงการ และในแม่น้ำอิง มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 4 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค และบริโภคโดยผ่านการฆ่าเชื้อและปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน และการอุตสาหกรรมนั้นจะต้องควบคุมคุณภาพน้ำ โดยดัชนีคุณภาพน้ำที่เป็นปัญหา ได้แก่ บีโอดี แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม ดังนั้นในการดำเนินโครงการที่จะมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย ทางโครงการต้องจัดเตรียมระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการควบคุมประสิทธิภาพในการบำบัดและมีการปล่อยน้ำทิ้งให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ควรมีการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้รดน้ำในพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ปริมาณน้ำทิ้งที่ปล่อยลงสู่แหล่งรองรับ (ห้วยร่องปึง) มีน้อยที่สุด รวมทั้งควรพิจารณาประเภทอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมสะอาด และใช้น้ำในกระบวนการผลิตน้อยเข้ามาตั้งในพื้นที่โครงการ

3. ธรณีวิทยาและแผ่นดินไหว พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 ข ความรุนแรงน้อยกว่า VII-VIII เมอร์คัลลี่ เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ดังนั้นการก่อสร้างจะต้องดำเนินการออกแบบอาคารให้รับแรงสั่นสะเทือน ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นที่ที่ดินที่รองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ของกระทรวงมหาดไทย

4. ระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ ระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ ของลุ่มน้ำอิงเชื่อมต่อกับลุ่มน้ำโขงซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธ์สัตว์น้ำสูงมาก พบว่ามีชนิดของสัตว์น้ำอย่างน้อย 69 ชนิด และยังเป็นสัตว์น้ำที่ถูกจัดให้มีสถานภาพถูกคุกคามจำนวน 9 ชนิด โดยเฉพาะปลาบึกและปลาสะนากยักษ์ ซึ่งมีสถานภาพเป็นปลาเฉพาะถิ่นด้วย นอกจากนี้แม่น้ำอิงยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนและเป็นแหล่งทำประมงของประชาชนในอำเภอเชียงของ ดังนั้นโครงการจะต้องมีการควบคุมการระบายน้ำทิ้งให้มีค่าได้ตามมาตรฐาน หรือมีการนำกลับมาใช้ใหม่ในโครงการ เพื่อลดปริมาณการระบายน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำของแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการด้วย

5. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในการดำเนินโครงการการก่อให้เกิดการเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตร (นาข้าวและข้าวโพด) เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างถาวร ดังนั้นในการออกแบบโครงการและสิ่งปลูกสร้างภายในควรเน้นให้มีความกลมกลืนกับสภาพโดยรอบเพื่อลดความขัดแย้งกับสภาพพื้นที่เดิม นอกจากนี้เมื่อมีโครงการทำให้ประชาชนมีกิจกรรมต่าง ๆ เข้ามาในบริเวณพื้นที่โครงการ ซึ่งทำให้พื้นที่ของอำเภอเชียงของเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรมีการประสานงานกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงรายในการวางผังเฉพาะสำหรับพื้นที่นี้ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและควบคุมการเจริญเติบโตของพื้นที่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

6. การจราจร เมื่อมีโครงการจะทำให้ปริมาณการจราจรสูงขึ้นเนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ถนนของชุมชน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนในช่วงเวลาเช้าและเย็น แต่เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณการจราจรของทางหลวงหมายเลข 1020 ซึ่งเป็นถนนสายหลัก บริเวณพื้นที่โครงการค่อนข้างเบาบาง รวมทั้งในปี พ.ศ. 2551 กรมทางหลวงมีแผนที่จะขยายทางหลวงหมายเลข 1020 เป็นถนนที่มี 4 ช่องทางการจราจร เพื่อรองรับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ดังนั้นจะทำให้ผลกระทบดังกล่าวลดลง อย่างไรก็ตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณจราจรมากคือ การเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งสภาพผิวจราจรที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ทางโครงการควรกวดขันพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎจราจร (ด้านการจำกัดความเร็ว) และจำกัดน้ำหนักบรรทุกไม่ให้เกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด

7. การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม ในปัจจุบัน พื้นที่ก่อสร้างหรือดำเนินโครงการทั้งหมดยังไม่มีระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ดังนั้นลักษณะการก่อสร้างโครงการที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นผิวแข็งอาจจะส่งผลต่อการกีดขวางทางน้ำธรรมชาติ ประกอบกับในปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ริมน้ำมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมจากการเอ่อล้นของแม่น้ำอิงเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ดังนั้นการออกแบบโครงการต้องมีมาตรการป้องกันน้ำท่วม และไม่ส่งผลกระทบต่อการกีดขวางการระบายน้ำตามธรรมชาติ

8. ระบบการจัดการขยะ ปัจจุบันพื้นที่โครงการและใกล้เคียงยังไม่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ดังนั้นการออกแบบโครงการที่กำหนดให้มีระบบกำจัดโดยวิธีการเผาจะช่วยลดผลกระทบต่อระบบการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อย่างไรก็ตามทางโครงการจะต้องมีมาตรการควบคุมการทำงานของเตาเผาอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ เป็นต้น

9. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมและการยอมรับของชุมชน การพัฒนาโครงการทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม สภาพความเป็นอยู่จากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมือง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นโดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชนภายในชุมชนในการเข้ามาทำงานในโครงการ

ทั้งนี้การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและครัวเรือนถ้ามีการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมยังมีความกังวลเรื่องการจัดการปัญหามลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชน ดังนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานที่ถูกต้องครบถ้วนกับชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่มีผลกระทบแต่อยู่ในระดับต่ำและสามารถป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้แก่ ผลกระทบต่อทรัพยากรดิน นิเวศวิทยาบนบก ผลกระทบจากเสียงและฝุ่นละออง การได้รับการบริการด้านสาธารณูปโภค และระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร อาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสาธารณะสุข ทั้งนี้ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) จึงควรให้ความสำคัญกับ 9 ประเด็นดังที่กล่าวมา

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นบริเวณพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้า

ในส่วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นบริเวณพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้านั้น การพัฒนาสถานีขนส่งและกระจายสินค้านั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง จากการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) โดยพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเป็นสถานีขนส่งและกระจายสินค้าขนาดพื้นที่ประมาณ 102 ไร่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเกษตรกรรม (นาข้าว) มาเป็นพื้นที่รองรับการขนส่งสินค้าโดยปรับพื้นที่เป็นพื้นที่ผิวแข็ง ลานกว้าง มีการยกพื้นที่ให้สูงกว่าระดับพื้นดินเดิม และมีการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่เป็นขนาดเล็กและมีความสูงไม่มาก และมีแรงงานส่วนหนึ่งเข้ามาทำงาน ดังนั้นผลกระทบสำคัญจากการพัฒนาสถานีขนส่งและกระจายสินค้ามี 2 ประเด็น ซึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งอาจกีดขวางทางน้ำและปริมาณการจราจรที่หนาแน่นขึ้นกว่าในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ดังนี้

  • การจราจร การดำเนินการของสถานีขนส่งและกระจายสินค้ามีกิจกรรมหลักคือ การรองรับสินค้าผ่านพิธีศุลกากร การขนส่งและการกระจายสินค้า ทั้งขาเข้า-ขาออก ที่จะขนผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ สปป.ลาว และภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย มีผลทำให้ยานพาหนะโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงที่เข้า-ออก พื้นที่โครงการ รวมถึงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1020 และทางหลวงหมายเลข 1 มีปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงมีแผนจะขยายทางหลวงหมายเลข 1020 จาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องการจราจร เพื่อรองรับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ดังนั้นผลกระทบต่อความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรจะลดลง แต่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อมีปริมาณจราจรหนาแน่น ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ถนน รวมทั้งสภาพพื้นผิวจราจรได้รับความเสียหาย ดังนั้นทางโครงการควรกวดขันพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎจราจรและจำกัดน้ำหนัก บรรทุกไม่ให้เกินพิกัดที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

  • การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมจากการพัฒนาโครงการมาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือการระบายน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ และการกีดขวางการระบายน้ำตามธรรมชาติ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่โครงการจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้ โดยการออกแบบระบบระบายน้ำออกจากโครงการและการก่อสร้างพื้นที่โครงการไม่ให้กีดขวางเส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติ สำหรับผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นอื่น ๆ พบว่ามีผลกระทบแต่อยู่ในระดับต่ำ หรือเป็นผลกระทบที่สามารถลดผลกระทบได้ด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อ่าน 'จับตา': “เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5817

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: