เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย

4 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 13389 ครั้ง


โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(2553-2557) มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านข้างต้นทั้ง 4 ประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีประมาณ 900,000 ล้านบาท และน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในสิ้นปี 2558 นี้ ปัจจุบันธุรกิจประเภทศูนย์กระจายสินค้า และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากเริ่มสนใจไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากสามารถเข้าถึงแรงงานจำนวนมากและสะดวกในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งนำเข้าสินค้าต่างๆรวมทั้งวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทย

ในอนาคตเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนย่อมจะมีการติดต่อทางธุรกิจ และเชื่อมโยงในด้านวัตถุดิบ และห่วงโซ่อุปทานทางการผลิต (Supply Chain) รวมถึงตลาดผู้บริโภคในประเทศที่เชื่อมต่อกับชายแดนของไทยมากขึ้นนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่มากกว่าการประกอบธุรกิจหรือการลงทุนในพื้นที่ทั่วไปแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาทำงานในโครงการได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นเพื่อรองรับการลงทุน การจัดหาพื้นที่ให้เช่า รวมถึงการตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในที่เดียวกันที่เรียกว่า “One Stop Service หรือ OSS”

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย อยู่ในแผนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ตามประกาศ กนพ. ที่ 2/2558 ของรัฐบาล มีพื้นที่ประกอบด้วย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย โดยข้อมูลจากนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าในด้านศักยภาพนั้นอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ซึ่งสามารถไปทางเหนือเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยทางบกอาศัย 2 เส้นทาง ได้แก่ ถนน R3A (ผ่านด่านเชียงของ และ สปป.ลาว) และ R3B (ผ่านด่านแม่สาย และเมียนมา) สำหรับทางน้ำสามารถขนส่งโดยอาศัยแม่น้ำโขงโดยผ่านท่าเรือเชียงแสน นอกจากนี้สามารถเชื่อมโยงลงมาทางใต้สู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกทางทะเลไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ดังนั้นเชียงรายจึงมีศักยภาพในการให้บริการด้านโลจิสติกส์แก่จีนตอนใต้และพื้นที่ตอนบนของเมียนมาและ สปป.ลาว เพื่อขนส่งสินค้าออกทางทะเลที่แหลมฉบัง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในเชียงรายกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนบนของเมียนมาและ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ นอกจากนั้นอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เครื่องเรือนแปรรูปไม้ มีโอกาสพัฒนาขยายห่วงโซ่มูลค่าการผลิต

ส่วนกิจกรรมที่มีศักยภาพเมื่อแยกตามพื้นที่ มีดังนี้

อำเภอแม่สาย สามารถพัฒนาด่านชายแดนรองรับการค้า การท่องเที่ยว เตรียมพื้นที่จัดตั้งโรงแรม ศูนย์การประชุม ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์ขนส่งมวลชน และศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว

อำเภอเชียงแสน สามารถพัฒนาเป็นเขตการค้าเสรี เขตปลอดภาษีอากร เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีการเตรียมพื้นที่จัดตั้ง ท่าเรือ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและคลังสินค้า พาณิชยกรรม สำนักงานและศุลกากร

อำเภอเชียงของ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การค้า การท่องเที่ยว ศูนย์ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เตรียมพื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์ พาณิชยกรรม และสำนักงานการค้าและศุลกากร

(ที่มา: คู่มือการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ, นักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, มิถุนายน 2558)

รายละเอียดการออกแบบและวางผังเบื้องต้น นิคมอุตสาหรกรรมเชียงของ

แม้ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดการออกแบบและวางผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเชียงของอย่างแน่ชัดและเป็นทางการต่อสาธารณะ (แม้ในรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของประชาชาติธุรกิจเมื่อเดือนมกราคม 2558 ได้ระบุถึงภาพกราฟฟิกจำลองและข้อมูลคร่าว ๆ แต่ก็ยังไม่มีการลงลึกในรายละเอียดของโครงการมากนัก  อ่าน: "เมืองเงิน" ทุ่มพัน ล.ตั้งนิคมเชียงของ ใช้ถนน R3A เชื่อมไทย-ลาวทะลุจีนมองไกลรับเออีซี) แต่จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในรายงาน "การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยแนวคิดเมืองนิเวศ" ได้ระบุถึงการออกแบบวางผังเบื้องต้นของนิคมอุตสาหกรรมเชียงของนั้นได้กำหนดพื้นที่ทั้งหมดไว้ประมาณ 3,130.22 ไร่ (เป็นส่วนพื้นที่อุตสาหกรรม 2,161.82 ไร่)  มีรายละเอียดการออกแบบ “ส่วนพื้นที่สถานีขนส่งและการกระจายสินค้า” และ “ส่วนพื้นที่เขตอุตสาหกรรม” ไว้ดังนี้

การออกแบบและวางผังส่วนพื้นที่สถานีขนส่งและการกระจายสินค้า การออกแบบและวางผังเบื้องต้น กำหนดพื้นที่กิจกรรมของสถานีขนส่งและกระจายสินค้ามีพื้นที่ประมาณ 102 ไร่ เสนอให้มีการตัดถนนทางเข้าโครงการจากทางหลวงหมายเลข 1020 ใช้เป็นเส้นทางหลักในการเข้าพื้นที่โครงการ และเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1174 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายการสัญจรในภาพรวม

การพัฒนาพื้นที่เน้นแนวทางการพัฒนาในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมของพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้า โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน

·      พื้นที่ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่สำนักงานส่วนกลางของพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้ามีพื้นที่ประมาณ 7.78 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนกลางและบริการ

·      พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ของสถานีขนส่งและกระจายสินค้าสำหรับให้เช่าหรือขาย มีพื้นที่ประมาณ 66 ไร่ มี 2 แปลง แปลงละประมาณ 33 ไร่

·      พื้นที่ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับรองรับการขยายตัวสถานีขนส่งและกระจายสินค้าในกรณีที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้าเดิมไม่สามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์และรถบรรทุกสินค้าได้เพียงพอ

สำหรับการออกแบบผังรายละเอียดพื้นที่สถานีส่ง และกระจายสินค้ามีองค์ประกอบหลักคือ สำนักงานส่วนกลาง และพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้า โดยแบ่งระยะการพัฒนาโครงการเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีพื้นที่ 63.75 ไร่ และระยะที่ 2 มีพื้นที่ 38.51 ไร่

องค์ประกอบหลักการออกแบบวางผังพื้นที่ขนส่งและกระจายสินค้า

การออกแบบและวางผังส่วนพื้นที่เขตอุตสาหกรรม การออกแบบและวางผังเบื้องต้น การกำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีพื้นที่ประมาณ 3,130 ไร่ โดยได้กำหนดที่ตั้งพื้นที่สถานีขนส่งและการกระจายสินค้าและใช้เส้นทางเข้าโครงการเดียวกันโดยเชื่อมต่อจากทางหลวงหมายเลข 1020 เชื่อมต่อไปยังทางหลวงหมายเลข 1174 พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมถูกกั้นออกจากพื้นที่สถานีขนส่งและกระจายสินค้าโดยพื้นที่แนวกันชน (Buffer Zone) มีองค์ประกอบของพื้นที่ดังนี้

·      พื้นที่ส่วนที่ 1 พื้นที่ของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศุลกากรและพื้นที่บริการตั้งอยู่บริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ส่วนนี้มีบทบาทเป็นที่ทำงานของพนักงานและใช้สำหรับติดต่อธุรกิจของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ใช้พื้นที่ประมาณ 8 ไร่

·      พื้นที่ส่วนที่ 2 กำหนดเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมสนับสนุนคนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่

·      พื้นที่ส่วนที่ 3 พื้นที่สาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งสนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบกำจัดขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบถนนและระบายน้ำ เป็นต้น พื้นที่ส่วนนี้มีประมาณ 627 ไร่

·      พื้นที่ส่วนที่ 4 กำหนดเป็นพื้นที่นันทนาการ และพื้นที่แนวกันชน (Buffer Area) มีระยะห่างจากแนวพื้นที่ออกไปประมาณ 10 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 315 ไร่

·      พื้นที่ส่วนที่ 5 กำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรมและเขตประกอบการเสรี (IEAT FREE ZONE) มีพื้นที่ประมาณ 2,160 ไร่

สำหรับการออกแบบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีองค์ประกอบหลักคือ สำนักงานส่วนกลาง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียว (Buffer) มีการพัฒนาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ประกอบด้วยการก่อสร้างสำนักงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว รวม 1,005.11 ไร่ มีมูลค่าโครงการทั้งหมดเท่ากับ 1,327,095,726 บาท

ระยะที่ 2 ประกอบไปด้วยการก่อสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว รวม 794.78 ไร่ มีมูลค่าโครงการทั้งหมดเท่ากับ 947,846,424 บาท

ระยะที่ 3 ประกอบด้วยการก่อสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวเท่ากับ 1.330.33 ไร่ มีมูลค่าโครงการทั้งหมดเท่ากับ 1,336,619,740 บาท

องค์ประกอบหลักการออกแบบวางผังพื้นที่อุตสาหกรรม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: