คณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เรียกร้องให้ตรวจสอบและเร่งรัดจัดเก็บภาษี กรณี นำเข้ารถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย ระบุต้องเสียภาษีเป็นเม็ดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้ตรวจสอบแล้ว เป็นการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ไม่ใช่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป (CKD) เพราะได้ยกเลิกไลน์การผลิตในประเทศไทยไปแล้ว (ที่มาภาพประกอบ: wikipedia.org)
5 มี.ค. 2558 คณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ที่มี พล.อ.สำเริง พินกลาง เป็นประธาน พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เรียกร้องให้ตรวจสอบและเร่งรัดจัดเก็บภาษี กรณี นำเข้ารถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และถูกต้องเป็นธรรม
โดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ กรรมการและเลขาธิการ ภตช. ผู้ชำนาญการประจำสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางบริษัทโตโยต้าฯ นำเข้ารถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส โดยไม่ได้ขออนุญาต ต้องเสียภาษีเป็นเม็ดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้ตรวจสอบแล้ว เป็นการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ไม่ใช่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป (CKD) เพราะได้ยกเลิกไลน์การผลิตในประเทศไทยไปแล้ว
นายมงคลกิตติ์ กล่าวอีกว่า นอกจากกรณีนี้แล้ว ภตช. ยังตรวจสอบ พบว่ามีรถยนต์ทั้งยี่ห้อเดียวกันนี้ แต่ต่างรุ่น และรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นค่ายญี่ปุ่น กระทำการในลักษณะเดียวกับโตโยต้า รุ่นพริอุสนี้ ซึ่งประเมินแล้วจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีปีละถึง 6 แสนล้านบาท จึงขอเรียกร้องให้นายสมหมายดำเนินการอุดรูรั่วดังกล่าว
อนึ่งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมานายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าขณะนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กรณีที่บริษัท โตโยต้านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นพรีอุส (Prius) ระหว่างปี 2554-2555 เสียภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรซึ่งมีมูลค่าที่เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนถึง 10,000 ล้านบาทโดยคดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมศุลกากร เนื่องจากบริษัท โตโยต้ามีข้อโต้แย้งและอ้างว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรแล้ว
“ที่ผ่านมา กรมศุลกากรมีประเด็นที่ต้องการตรวจสอบผู้ประกอบการตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากมีการสำแดงภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจพิจารณาได้ว่า ผู้ประกอบการไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเพราะเกิดจากความเข้าใจผิดในข้อกฎหมายจึงทำให้เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง หรืออีกกรณีหนึ่งคือรู้ว่า สิ่งดำเนินการอยู่นั้นผิดแต่มีเจตนาที่จะเสียภาษีไม่ถูกต้อง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อทำให้ราคาสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายถูกกว่าคู่แข่งหรือต้องการเพิ่มกำไรจากการดำเนินธุรกิจ” นายราฆพระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 บริษัท โตโยต้า ถูกกรมศุลกากรดำเนินคดีทางภาษีมาแล้ว โดยบริษัทโตโยต้าต้องเสียภาษีเพิ่มให้แก่กรมศุลกากรเพื่อนำส่งเข้าคลังมากกว่า 800 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงนั้น บริษัท โตโยต้า ได้แจ้งการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่า การเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยกับอินเดีย กรณีที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากอินเดียจะเสียภาษีในอัตราต่ำ แต่บริษัท โตโยต้า กลับนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศสิงคโปร์ โดยอ้างว่า ชิ้นส่วนรถยนต์เหล่านี้มาจากอินเดีย ซึ่งมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้บริษัท โตโยต้า ต้องเสียภาษีและบวกเงินค่าปรับให้แก่กรมศุลกากรเป็นเงินมากกว่า 800 ล้านบาท
ส่วนกรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2555 สำนัก งานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำหนังสือแจ้ง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ใบขนสินค้าเลขที่ A001 05402 07638 โดยตรวจพบผู้นำเข้าสำแดง TOYOTA CKD COMPOMENT PARTS โดยแยกสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดขั้นตอน และใช้สิทธิยกเว้นอากรและอัตราอากรตามาตรา 12 และยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นนั้น ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าที่นำเข้าเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ นำเข้าโดยแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KNOCK DOWN) และปริมาณสอดคล้องต้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ จำนวน 160 คัน กรณีดังกล่าว ไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่า รหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม.ของรถยนต์ TOYOTA รุ่น พรีอุส
ดังนั้น จึงเห็นควรให้สินค้าตามรายการดังกล่าว จัดเข้าเป็นประเภทพิกัด 8703.23.41 เสียภาษีในอัตรา 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลบ.ซม. ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรข้อ 2 (ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่สำเร็จ หากว่า ในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน
ซึ่งในขณะนี้กรมศุลกากรได้หารือกับบริษัท โตโยต้าอย่างใกล้ชิด เพราะการแจ้งการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ของในครั้งนี้ เมื่อรวมค่าภาษีที่ขาดหายไป เช่น อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว รวมเป็นเม็ดเงินที่เสียไว้ไม่ครบถ้วนสูงถึง 10,000 ล้านบาท
สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนของ TOYOTA รุ่น Prius ในครั้งนี้ ทางบริษัทโตโยต้า ได้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งในกรณีนี้ หากนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป (CKD) ที่สามารถนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ได้ทั้งคันนั้น หากขออนุญาตจากกรมศุลกากรก่อนนำเข้า จะเสียภาษีในอัตราภาษีเพียง 30% ขณะที่โตโยต้านำเข้ารถรุ่น Prius โดยไม่ได้ขออนุญาตทำให้ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 80%
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ