ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยระบุนักปั่นบนถนนใหญ่ในไทยมีประมาณ 100,000-200,000 คน มีความเสี่ยงและมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 10,000 คน แนะเลี่ยงขี่บนถนนใหญ่ ทางหลวง เวลาเช้า ขณะที่เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจต้องมีความจริงจัง (ที่มาภาพ: tourismthailand.org)
5 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ศ.เกียรติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมากล่าวถึงกรณีเหตุการเสียชีวิตของนักปั่นจักรยานที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าการขี่จักรยานต้องแยกประเภทนักปั่นออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
1. นักปั่นจักรยานทีมชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีรถนำหน้าทั้งหน้าและหลัง การเลือกเส้นทางขับขี่จะทำในที่โล่งปลอดรถยนต์ หรือจักรยาน ทำให้เราจะไม่เคยพบข่าวนักปั่นจักรยานทีมชาติเสียชีวิตเลยที่ผ่านมา
2. นักปั่นจักรยานทั่วไป ส่วนใหญ่จะขับขี่บนในถนนใหญ่ร่วมกับรถยนต์ทั่วไปที่วิ่งความเร็ว 60-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด โดยคาดว่าทั่วประเทศจะมีนักปั่นจักรยานกลุ่มนี้ประมาณ 100,000-200,000 คน แต่ที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 10,000 คน
3. นักปั่นจักรยานในระดับครัวเรือน กลุ่มนี้จะขับขี่ในชุมชน มีความปลอดภัย เพราะใกล้บ้าน ไม่ได้มีการออกพื้นที่ห่างไกล
ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร. ธงชัย ระบุว่ากลุ่มที่ 2 ถือว่ามีพฤติกรรมและความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งลำพังอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถป้องปรามได้ทั้งหมด และหากมีความจริงจังการบังคับใช้กฎหมาย อุบัติเหตุต่าง ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น คนขับขี่รถยนต์ก็จะมีความระมัดระวัง และเอื้อเฟื้อมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรมีการประเมินสถานการณ์ ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุด้วย โดยควรเลี่ยงการขับขี่จักรยานบนถนนหลวงและถนนสายหลักที่มีความเร็วสูง ควรไปขี่ในพื้นที่โล่งแทน และไม่ควรขับขี่ในตอนเช้ามากนักเนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังห่วงว่าการเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการขี่จักรยานทำให้คนรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าออกมาขับขี่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ