ชาวเน็ตเรียกร้องให้บริษัทยากิลิแอดฯ ที่ขายยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วยราคาเม็ดละประมาณ 3 หมื่นบาทหยุดการผูกขาดตลาด โดยขอให้บริษัทฯ ถอนคำขอสิทธิบัตรทุกฉบับในประเทศไทย เพื่อให้ไทยสามารถผลิตหรือนำเข้ายาที่มีคุณภาพทัดเทียมในราคาที่เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิต (ที่มาภาพ: Change.org)
5 มิ.ย. 2559 แคมเปญใหม่สร้างโดยผู้ใช้ Change.org เรียกร้องให้บริษัทยากิลิแอดฯ ที่ขายยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วยราคาเม็ดละประมาณ 3 หมื่นบาทหยุดการผูกขาดตลาด โดยขอให้บริษัทฯ ถอนคำขอสิทธิบัตรทุกฉบับในประเทศไทย เพื่อให้ไทยสามารถผลิตหรือนำเข้ายาที่มีคุณภาพทัดเทียมในราคาที่เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิต ทั้งนี้ ยาของบริษัทกิลิแอดฯ เป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในท้องตลาดเรียกร้องให้กิลิแอดฯ หยุดผูกขาดตลาด
เจ้าของแคมเปญกล่าวว่า ข้อเรียกร้องต่อบริษัทยาเช่นนี้เคยสำเร็จมาแล้วในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส 7 ชนิด ภายใต้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพฯ ของตน
นายสมศักดิ์ (นามสมมติ) อายุ 44 ปี อาสาสมัครเครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดมุกดาหาร และผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีกล่าวว่า
“บริษัทยาเขาคิดเก็งกำไรเกินไป เค้าทำเหมือนค้ากำไรบนความเป็นความตายของคน คนป่วยต้องการยาตัวนี้มาก ผมอยากให้ยาถูกลง คนที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีก็จะได้มีโอกาสรอดชีวิต”
โดยรายละเอียดทั้งหมดของแคมเปญ "บริษัทกิลิแอดฯ หยุดผูกขาดตลาดยารักษาตับอักเสบซี" มีดังต่อไปนี้
กิลิแอด...หยุดโกยกำไรบนชีวิตผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ด้วยยาราคา 30,000 บาทต่อเม็ด
กรมทรัพย์สินทางปัญญา... ต้องมีสำนึกรับใช้ประชาชน หยุดเอื้อประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ
สถานการณ์โลก: ราคายาแพงสุดเอื้อมและขัดขวางบริษัทคู่แข่ง
โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็ง ตับ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงด้านสาธารณสุขอย่างหนึ่งของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคทั้งสองโรคนี้ ที่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบซีและไม่ได้รับการรักษาประมาณ 7 แสนคนต่อปี และคาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทั่วโลกอยู่อีกประมาณ 150 ล้านคน
ปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมียาใหม่ที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ โดยที่ใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นลง และแทบไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งแตกต่างจากยาเดิมที่ใช้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างสิ้นเชิง
ปัญหาสำคัญ คือ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีน้อยคนนักที่จะได้รับการรักษาด้วยยาใหม่นี้ เพราะราคาที่แพงแสนแพง ยาใหม่ที่ชื่อ “โซฟอสบูเวียร์” (Sofosbuvir) ที่ขายในสหรัฐฯ มีราคาประมาณ 2.5 ล้านบาทสำหรับการรักษาเป็นเวลา 3 เดือนจนหาย หรือ 30,000 บาทต่อเม็ด ยาหนึ่งเม็ดมีราคาเท่ากับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังหนึ่งเครื่อง และต้องกินทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนยาใหม่นี้ยังไม่มีขายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย
นอกจากปัญหาเรื่องราคา บริษัทกิลิแอดฯ (Gilead Sciences, Inc.) ที่ผลิตและขายยาโซฟอสบูเวียร์ ได้ขอรับสิทธิบัตรยาดังกล่าวในประเทศต่างๆ เพื่อกีดกันผู้ผลิตรายอื่น ทั้งๆ ที่ทั่วโลกกำลังตั้งคำถามว่ายาดังกล่าวสมควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรหรือไม่ เพราะ “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ไม่ชัดเจน
บริษัทยาในอินเดียสามารถผลิตและจะขายยาตัวเดียวกันได้ในราคา 300 บาทต่อเม็ด นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจมีราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด
ทว่าความหวังที่จะพึ่งบริษัทยาในอินเดียก็ถูกดับลง เมื่อบริษัทยากิลิแอดฯ ทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญยักษ์ใหญ่ในอินเดีย 11 บริษัท สัญญาเหล่านั้นระบุเงื่อนไขให้บริษัทยาอินเดียผลิตยาโซฟอสบูเวียร์ได้และขายต่อในราคาที่ถูกลงได้ แต่จำกัดให้ขายให้เฉพาะบางประเทศที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาอีก 51 ประเทศ ซึ่งมีผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีรวมกันมากกว่า 50 ล้านคน ไม่มีสิทธิ์ที่จะซื้อยาโซฟอสบูเวียร์ในราคาถูกจากผู้ผลิตในอินเดียได้ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น
สถานการณ์ในไทย: ยาใหม่ที่ถูกกีดกันและระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
ถึงแม้ว่าการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วยยาฉีดที่ชื่อ “แพ็กกิเลท อินเตอร์เฟอรอน” จะอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบบัตรทองของไทยแล้วก็ตาม แต่ปัญหาอาการข้างเคียงที่รุนแรงรวมถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่ต่ำ เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาโซฟอสบูเวียร์
เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลไทยจะต่อสู้กับปัญหาการระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากราคาของยาโซฟอสบูเวียร์ยังคงแพงลิบลิ่วอยู่เช่นนี้ ทางเลือกที่จะนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียก็ถูกปิดตายแล้ว เนื่องจากสัญญาที่บริษัทกิลิแอดฯ ลงนามกับบริษัทยาอินเดีย ทางเลือกที่จะผลิตเองภายในประเทศก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะอุปสรรคในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การคัดค้านสิทธิบัตรของยาโซฟอสบูเวียร์ก็เป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี ในขณะที่เรามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องรักษาให้ทันเวลา
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าและไร้คุณธรรมอย่างที่สุด ทั้งๆ ที่รู้ว่ามียารักษาให้หายขาดได้ แต่คนอีกหลายล้านที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีกลับไม่มีโอกาสใช้ยาเพียงเพราะการผูกขาดตลาด
บริษัทกิลิแอดฯ ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์แล้วในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และทะยอยยื่นคำขอฯ สำหรับยาเดิมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีมากถึง 5 คำขอ ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลการขอจดสิทธิบัตรของไทยก็กลายอุปสรรคสำคัญต่อการคัดค้านการออกสิทธิบัตรยาดังกล่าว
ข้อเรียกร้อง
ตัวแทนภาคประชาสังคมได้เข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 เพื่อแสดงความกังวลและยื่นจดหมายและเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. บริษัทกิลิแอดฯ (Gilead Sciences, Inc.) ต้องถอนคำขอสิทธิบัตรทุกฉบับในประเทศไทย และต้องหยุดการผูกขาดตลาดโดยอาศัยสัญญาที่ทำกับบริษัทยาชื่อสามัญ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและส่งเสริมให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีได้รับการรักษาด้วยยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพได้ทันเวลา
2. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรตระหนักถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุขของคนไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ควรคำนึงถึงแต่การปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทยาข้ามชาติ และต้องนำคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยาที่ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2556 มาใช้อย่างเคร่งครัดในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรก่อนอนุมัติ เพื่อไม่ให้มีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพและไม่สมควรได้รับการคุ้มครองได้รับการอนุมัติ ออกมามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการสร้างระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็งและสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ
3. กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องกำหนดกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ชัดเจน และประกาศให้สาธารณะทราบเพื่อติดตามเฝ้าระวังได้สะดวก นอกจากนี้ ยังต้องเผยแพร่ข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้วผ่านแว็บไซด์ของกรมฯ ให้แก่สาธารณะ ทั้งนี้ การเผยแพร่ต้องกระทำให้ทันเวลาและมีเนื้อหาสมบูรณ์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรได้ทันในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
4. กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณานำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือ Compulsory Licensing มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เพื่อให้มีการผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพโดยไม่แสวงหากำไรเกินควรบนความเจ็บป่วยของประชาชน
>>คลิ๊กที่นี่เพื่อร่วมลงชื่อ<<
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ