ประชาพิจารณ์ 'นิคมลำพูนเฟส 2' คนลำพูนหวั่นปัญหา 'ขยะ-แหล่งน้ำ'

5 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 6823 ครั้ง


	ประชาพิจารณ์ 'นิคมลำพูนเฟส 2' คนลำพูนหวั่นปัญหา 'ขยะ-แหล่งน้ำ'

บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 จัดประชุมแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 3 เผยประชาชนในพื้นที่หวั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบนิคมเสียหาย คาดหากความคิดเห็นสมบูรณ์เตรียมเสนอ EIA ด้านซับเบิร์บเคยเผยนักลงทุน 20-25 รายพร้อมเข้ามาลงทุน ด้านลูกค้าญี่ปุ่นรายเดิมเตรียมขยายฐานลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ หวังจ้างงานเพิ่ม 10,000 คน (ที่มาภาพประกอบ: ประชาชาติธุรกิจ)

5 ส.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 จัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากโครงการมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคบางด้านที่แตกต่างไปจากข้อมูลเดิมที่เคยเสนอในครั้งที่ 2 รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับฟังและสอบถามในรายละเอียดอีกครั้ง โดยภายในงานมีประชาชนเข้ามาร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายนราพจน์ ทิวถนอม ผู้จัดการบริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 2 ที่ผ่านมายังมีข้อบกพร่องในรายละเอียดของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รวมทั้งสาธารณูปโภคบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมจึงต้องนำรายละเอียดดังกล่าวมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมมาพิจารณาและปรับปรุงในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

บรรยากาศจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)

นายนราพจน์กล่าวต่อไปว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 จะช่วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเงินในระดับประเทศ, ภูมิภาค, จังหวัด และครัวเรือน ให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเน้นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร, อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น       

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ พื้นที่โครงการที่จะได้รับผลกระทบจากการปล่อยมลพิษของโรงงาน และระบบการระบายน้ำ เพราะบริเวณโดยรอบส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก กรณีที่มีโรงงานเข้ามาอาจจะมีการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอยากให้ทางโครงการพิจารณาถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณรอบข้างเป็นหลัก นอกจากนี้ยังแสดงความห่วงใยในกรณีระบบการกำจัดของโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องมีความชัดเจนว่าจะไม่มีการลักลอบนำออกมาทิ้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา   

อนึ่ง นิคมอุตสาหกรรมลำพูนแห่งที่ 2 อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 533 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่) อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 300 เมตร และห่างจากตัวเมืองลำพูน 6 กิโลเมตร จำนวน 352 ไร่ 3 งาน 19 ตารางวา ซึ่งหากนิคมอุตสาหกรรมเปิดดำเนินการได้คาดว่าจะสามารถรองรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนได้ราว 20-25 บริษัท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ราว 10,000 คน 

 

เผยนักลงทุน 20-25 รายพร้อมเข้ามาลงทุน ด้านลูกค้าญี่ปุ่นรายเดิมเตรียมขยายฐานลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมเร่งสรุป EIA เสนอ สผ.อนุมัติ คาดเริ่มเดินหน้า

 

แผนผังเบื้องต้นโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 (ที่มาภาพ: ประชาชาติธุรกิจ)

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาประชาชาติธุรกิจรายงานว่านายพรเทพ ภูริพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับบริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด เตรียมลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน แห่งที่ 2 บนเนื้อที่ 370 ไร่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 70 ถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ด้วยงบฯลงทุนกว่า 700 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายมุ่งสู่แนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับรูปแบบของการลงทุนในครั้งนี้เป็นรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งในเรื่องที่ดิน การพัฒนาการก่อสร้างโครงการ และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่โครงการจะดำเนินงานโดย กนอ. ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับเหมือนเดิมทุกประการเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งที่ กนอ.เป็นผู้ดำเนินงาน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งต่างชาติและนักลงทุนไทยจำนวนมาก มีความต้องการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน (แห่งเดิม) แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการกว่า 1,800 ไร่ มีการลงทุนเต็มพื้นที่และไม่สามารถขยายเพื่อรับการลงทุนที่จะเข้ามาใหม่ได้อีก ซึ่งเมื่อบริษัทซับเบิร์บฯมีความพร้อมที่จะลงทุน และโครงการลงทุนมีความเป็นไปได้ในการพัฒนา กนอ.จึงพิจารณาอนุมัติและร่วมดำเนินงานด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน ซึ่งโครงการสามารถรองรับนักลงทุนรายใหม่และนักลงทุนรายเดิมที่อยู่ในนิคมแห่งเดิมที่มีความต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยผลประโยชน์และรายได้ที่บริษัทซับเบิร์บฯ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนจะได้รับก็คือ รายได้จากการขายพื้นที่ และรายได้จากการจัดเก็บค่าบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น

นายพรเทพ กล่าวว่า จำนวนพื้นที่โครงการทั้งหมด 370 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขายจำนวน 270 ไร่ และอีก 100 ไร่ กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน แนวกันชน อ่างเก็บน้ำดิบ เป็นต้น โดยขณะนี้มีกลุ่มทุนญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นลูกค้าเดิมที่ลงทุนในนิคมลำพูนแห่งแรก แสดงความประสงค์ที่จะขยายการลงทุนเพิ่มกว่า 10 บริษัท จำนวนพื้นที่กว่า 100 ไร่ 

ส่วนพื้นที่อีกกว่า 100 ไร่ที่เหลือจะรองรับกลุ่มทุนรายใหม่ ล่าสุดมีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมผลิตจิวเวลรี่มีความต้องการพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน เพื่อตั้งโรงงานราว 30 ไร่ แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงทุนในนิคมแห่งใหม่หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม โครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะสามารถรองรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนได้ราว 20-25 บริษัท คาดว่าจะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ราว 10,000 คน ซึ่งขณะนี้บริษัทซับเบิร์บฯ ซึ่งเป็นเอกชนผู้พัฒนาโครงการได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่เห็นชอบในโครงการและไม่มีการคัดค้าน โดยรายงาน EIA จะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน คาดว่าโครงการจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2558 นี้

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: