คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6 พื้นที่ สงขลา, ตาก, สระแก้ว, ตราด, มุกดาหาร และหนองคาย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
5 พ.ย. 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปด้วยความรวดเร็วตามเป้าหมายนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการจัดให้เช่า ดังนี้
จังหวัด |
ค่าเช่า/ไร่/ปี (ปีแรก) (ปรับ15 % ทุก 5ปี)
|
ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า/ไร่/50ปี (เอกชน และ กนอ.) |
หมายเหตุ |
|
เสนอ กพน. เดิม (8 ต.ค. 58) |
เสนอใหม่ ปรับลด 5o% (ชำระ 5 ปี จ่ายปีที่ 6-10) |
|||
1. สงขลา |
40,000 |
600,000 |
300,000
|
- ปรับปรุงอัตราค่าเช่า 15% ทุก 5 ปี - อัตราค่าเช่าของ กนอ. ลดให้ 30% จากอัตราค่าเช่าของเอกชน - ค่าธรรมเนียมเป็นอัตราขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ที่กำหนดโดยทางราชการ (กนอ. และ เอกชนใช้อัตราเดียวกัน) กรณีผ่อนชำระคิดดอกเบี้ยในอัตราตลาด - ระยะเวลาการเช่า 50 ปี และอาจต่อสัญญาเช่าได้อีก 50ปี - อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามอัตราตลาด |
2. ตาก |
36,000 |
500,000 |
250,000
|
|
3. สระแก้ว |
32,000 |
450,000 |
225,000
|
|
4. ตราด |
24,000 |
320,000 |
160,000
|
|
5. มุกดาหาร |
24,000 |
320,000 |
160,000
|
|
6. หนองคาย |
24,000 |
320,000 |
160,000 |
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการเร่งรัดการลงทุนตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ โดยสาระสำคัญของเรื่อง มี
1. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ตามที่ สกท. เสนอ ดังนี้
1.1 เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และสามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2560 ดังนี้
1.1.1 สำหรับกิจการอื่น ๆ ที่มิใช่กิจการเป้าหมายที่ตั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี หากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี อยู่แล้ว ให้ได้รับการลดหย่อนร้อยละ 50 ในปีที่ 9 – 13 เพิ่มเติม
1.1.2 สำหรับกิจการที่ตั้งในพื้นที่ทั่วไป ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี
1.2 ให้มีผลใช้บังคับเฉพาะกับกิจการในกลุ่ม A (กลุ่มกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนโยบายใหม่)
1.3 ให้มีผลย้อนหลังสำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แม้ได้รับอนุมัติไปก่อนการประกาศใช้มาตรการนี้
2. การปรับปรุงมาตรการเร่งรัดการลงทุนมีดังนี้
2.1 มาตรการนี้ใช้บังคับสำหรับโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และสามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560
2.2 ให้มีผลใช้บังคับเฉพาะกับกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.3 ให้กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม ดังนี้
กรณีที่ |
เงื่อนไข |
สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม* |
|
พื้นที่ทั่วไป |
พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ |
||
1 |
หากมีการลงทุนจริง (ก่อสร้างอาคารและ/หรือซื้อเครื่องจักร) นับตั้งแต่วันที่ประกาศ มีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน |
ยกเว้นเพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
ยกเว้นเพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
2 |
หากมีการลงทุนจริง (ก่อสร้างอาคารและ/หรือซื้อเครื่องจักร) นับตั้งแต่วันที่ประกาศ มีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน |
ยกเว้นเพิ่มเติม 3 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
ยกเว้นเพิ่มเติม 3 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
3 |
หากมีการลงทุนจริง (ก่อสร้างอาคารและ/หรือซื้อเครื่องจักร) นับตั้งแต่วันที่ประกาศ มีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2559 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน |
ยกเว้นเพิ่มเติม 2 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
ยกเว้นเพิ่มเติม 2 ปี + ลดหย่อนร้อยละ 50 5 ปี |
4 |
หากมีการลงทุนจริงไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนภายในปี 2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560 |
ยกเว้นเพิ่มเติม 1 ปี |
ยกเว้นเพิ่มเติม 2 ปี |
*หมายเหตุ :ทุกกรณีที่ได้รับสิทธิเพิ่มเติมรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี
ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการชำระผลประโยชน์ตอบแทนการเช่าในพื้นที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปถึงอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บค่าเช่ากับภาคเอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวม 6 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.ตาก จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.มุกดาหาร และ จ.หนองคาย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะเสนอให้กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 พ.ย. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการร่างทีโออาร์พิจารณาต่อไป โดยอัตราค่าเช่าจะมีการปรับขึ้น 15% ทุกๆ 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 3% แต่หากเป็นการนิคมอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนจะได้รับส่วนลดค่าเช่าเพิ่มอีก 30%
ในส่วนของค่าธรรมเนียมได้กำหนดอัตราใหม่ซึ่งจะลดลง 50% ต่อปี จากอัตราปกติ ขณะที่หากมีการผ่อนชำระจะต้องมีการจ่ายค่าเสียโอกาส หรือ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะมีการกำหนดในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่สูงที่สุด เพราะอยู่ใจกลางเมือง คือ จ.สงขลา ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 40,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปีรวมอยู่ที่ 4.06 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 28,000 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 2.84 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 600,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 9.02 แสนบาท
ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 36,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 3.65 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 25,200 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 2.55 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 500,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 7.52 แสนบาท
สำหรับพื้นที่ จ.สระแก้ว ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 32,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปีรวมอยู่ที่ 3.24 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 22,400 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 2.27 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 450,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.77 แสนบาท
ด้านพื้นที่ จ.ตราด ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 24,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปีรวมอยู่ที่ 2.43 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 16,800 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 320,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.81 แสนบาท
ขณะที่ จ.มุกดาหาร ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 24,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปีรวมอยู่ที่ 2.4 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 16,800 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 320,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.81 แสนบาท
และจ.หนองคาย ค่าเช่าภาคเอกชนอยู่ที่ 24,000 บาท ตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปีรวมอยู่ที่ 2.43 ล้านบาท ส่วนการนิคมฯค่าเช่าอยู่ที่ 16,800 บาท ในปีแรก และตลอดอายุสัญญาเช่า 50 ปี รวมอยู่ที่ 1.7ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งภาคเอกชนและการนิคมฯ โดยหากจ่ายครั้งเดียวจะอยู่ที่ 320,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 50 ปี และหากผ่อนชำระ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.81 แสนบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ