จี้ผู้ว่าฯ คุม อปท.จัดหา CCTV หลังผลสอบ สตง. พบชายแดนใต้จัดซื้อส่อพิรุธ

ทีมข่าว TCIJ 5 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 3711 ครั้ง

กรมส่งเสริมการปกครองซักซ้อมแนวทางจัดหากล้องวงจรปิด (CCTV) ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้กำกับดูแล อปท. อย่างใกล้ชิด หลัง สตง. พบการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ 10 หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้สงขลาและสตูล ไม่รัดกุม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์-ไม่บูรณาการเชื่อมเครือข่าย ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เรื่อง “ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดหากล้องวงจรปิดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยในหนังสือฉบับนี้ระบุว่า เนื่องด้วยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 แจ้งว่า ได้ตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (หรือ CCTV) ของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดสงขลาและสตูล ซึ่งผลการตรวจสอบมีข้อสรุปว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวในหลายขั้นตอนไม่รัดกุมเท่าที่ควร เช่น แนวทางหรือวิธีการในการจัดทำราคากลางเพื่อจัดหาระบบกล้องวงจรปิด, การตรวจรับหรือการตรวจจ้างระบบกล้องวงจรปิด ประสิทธิภาพของกล้องวงจรปิด และการบูรณาการเพื่อประโยชน์ร่วมกันของกล้องวงจรปิด

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แนบรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินฉบับนี้มาให้เป็นแนวทางปฏิบัติแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัด และยังกำชับให้ผู้ว่าราชการและนายอำเภอ ลงไปกำกับดูแลการดำเนินการจัดหากล้องวงจรปิดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระเบียบ และหนังสือสั่งการอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

สรุปรายงานการตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดสงขลาและสตูล

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินระบุในรายงาน "การตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดสงขลาและสตูล" ว่าจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบมาเป็นระยะเวลานานและมีความรุนแรงมาก รัฐต้องใช้งบประมาณและกำลังคนเป็นจำนวนมากที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งงบประมาณแต่ละปีก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐเองก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการบูรณาการกันมากนัก รวมทั้งมีความซ้ำซ้อน ซึ่งทำให้ไม่ประหยัดต่องบประมาณ

ทั้งนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ลงไปตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2556 จำนวน 287,372,776 บาท แบ่งเป็น จ.สงขลา 270,175,776 บาท และ จ.สตูล 17,197,000 บาท

โดยการสุ่มตัวอย่างศึกษานั้น ได้ทำการศึกษาส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนส่วนท้องถิ่นใน จ.สงขลาและ จ.สตูล จำนวน 10 หน่วยงาน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบไปด้วย จ.สงขลา 8 หน่วยงาน (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, เทศบาลนครหาดใหญ่, เทศบาลตำบลจะนะ, องค์การบริหารส่วนตำบลท่าม่วง, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา, อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะโดยตำบลขุนตัดหวาย) และ จ.สตูล 2 หน่วยงาน (กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล และองค์การบริหารส่วนตำบลเจ๊ะบิลัง) รวมทั้งหมด 18 โครงการ รวมมูลค่า 185,103,526 บาท ตรวจสอบสังเกตการณ์ 873 ตัวจากกล้องวงจรปิดทั้งหมด 895 ตัว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินใช้ระยะเวลาการตรวจสอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึง มกราคม 2557 สรุปผลการตรวจสอบที่สำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐจังหวัดชายแดนใต้ไม่รัดกุมเท่าที่ควร

ในการจัดทำราคากลางนั้นพบว่า แนวทางหรือวิธีการจัดทำราคากลางเพื่อจัดหากล้องวงจรปิดไม่รัดกุมเท่าที่ควร พบ 8 หน่วยงานใช้วิธีการสอบถามราคาจากผู้มีอาชีพรับจ้างแล้วนำมาจัดทำราคากลาง โดยไม่นำข้อมูลราคาตลาดจากสื่ออื่นๆ มาประกอบการจัดทำราคากลางด้วย ซึ่งเมื่อเทียบคุณสมบัติและราคาจากการสืบค้นราคาจากอินเตอร์เน็ตแล้วพบว่า ราคากลางของ 8 หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบนั้นมีมูลค่าสูงกว่าราคาจากอินเตอร์เน็ตถึง 1.15-4.75 เท่าเลยทีเดียว เช่น กล้อง KOWA รุ่น KW 909 IR ราคาสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต 5,900 บาท แต่ราคากลางสูงถึง 28,000 บาท, กล้อง Hi-View  รุ่น Hi 793 ราคาสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต 4,500 บาท แต่กลับตั้งราคากลางไว้สูงถึง 14,200 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าวิธีการตรวจรับหรือตรวจการจ้างระบบกล้องวงจรปิดไม่รัดกุมเท่าที่ควร โดยพบ 7 หน่วยงานใช้สัญญาที่มีการส่งมอบเพียงงวดเดียว รวมทั้งวิธีการตรวจรับหรือตรวจการจ้างงานนั้นพบ 7 หน่วยงานไม่ทำการตรวจรับกล้องวงจรปิดก่อนทำการติดตั้ง โดยไม่มีแผนผังและแบบแปลนวงจรระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งกล้องวงจรปิด ระบุรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) ของกล้องวงจรปิด การเดินสายนำสัญญาณ ชนิดของสายนำสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พบว่ามีถึง 4 สัญญาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในขั้นตอนการตรวจรับอุปกรณ์แต่ละรายการ ปรากฏหลักฐานว่ามีการตรวจรับพัสดุพร้อมลายมือชื่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปถ่ายอุปกรณ์แต่ละรายการประกอบใบตรวจรับพัสดุ และไม่มีบันทึกการเบิกอุปกรณ์แต่ละรายของผู้ขายเพื่อไปทำการติดตั้ง ส่วนเทศบาลนครหาดใหญ่สัญญาเลขที่ 15/2554 มีการตรวจรับพัสดุ และมีรูปถ่ายอุปกรณ์แต่ละรายการประกอบแต่ไม่มีบันทึกการเบิกอุปกรณ์แต่ละรายของผู้ขายเพื่อไปทำการติดตั้งเช่นกัน เป็นต้น

ทั้งนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินระบุว่าความไม่รัดกุมเช่นนี้ จะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐมีความเสี่ยงที่อุปกรณ์กล้องวงจรปิดจะไม่มีคุณสมบัติเป็นไปตามสัญญาที่แนบมากับใบเสนอราคา

ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการจัดหากล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์

จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบหน่วยงานภาครัฐ 10 หน่วยงานยังดำเนินโครงการจัดหากล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถบำรุงรักษาให้กล้องวงจรปิดทุกตัวให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา มีเพียง 4 หน่วยงานเท่านั้นที่การตรวจสอบพบว่าระบบกล้องวงจรปิดสามารถแสดงภาพได้ครบทุกตัว ส่วนอีก 6 หน่วยงานมีกล้องบางตัวไม่สามารถแสดงภาพหรือใช้ประโยชน์ได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ประมาณ 32,282,841.49 บาท หากพิจารณาเทียบเป็นจำนวนกล้องจากทั้งหมดที่ตรวจสอบ 873 ตัว ปรากฏว่ามีกล้องจำนวน 675 ตัวเท่านั้นที่สามารถแสดงภาพและใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ยังพบว่ามีกล้องวงจรปิดที่ให้รายละเอียดภาพไม่ชัดเจนครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของป้ายทะเบียนรถ ที่จะนำไปสู่การเฝ้าระวังปราบปรามการก่อการร้าย อาชญากรรม และความผิดทางจราจร โดยจากการตรวจสอบดูภาพย้อนหลังของรายละเอียดภาพที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดของทั้ง 10 หน่วยงาน พบว่าแม้จะสามารถบันทึกวัตถุ ยี่ห้อรถ และสีได้ แต่ไม่สามารถบันทึกป้ายทะเบียนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน รวมทั้งในเวลากลางคืนยังมีอุปสรรคในแง่ที่แสงไฟจากยานพาหนะส่งผลให้ภาพไม่ชัดเจน เนื่องจากมีการสะท้อนของกล้องวงจรปิด

ซึ่งการที่ไม่สามารถแสดงป้ายทะเบียนและการบันทึกภาพไม่ชัดเจนในเวลากลางคืนนั้น จะเป็นอุปสรรคต่อการเฝ้าระวังปราบปรามการก่อการร้าย อาชญากรรม และความผิดทางจราจร ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ รวมถึงคุณสมบัติในการเก็บข้อมูลของกล้องวงจรปิดพบว่าจากการตรวจสอบระยะเวลาในการบันทึกข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ 10 หน่วยงาน มี 6 หน่วยงานที่กล้องวงจรปิดมีศักยภาพบันทึกภาพย้อนหลังไว้ในระยะเวลาที่น้อยกว่า 30 วัน มีเพียง 4 หน่วยงานสามารถบันทึกภาพได้มากกว่า 30 วัน

ข้อตรวจพบที่ 3 หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ที่ดำเนินโครงการในพื้นที่เดียวกันยังไม่บูรณาการเพื่อประโยชน์ร่วมกันของระบบกล้องวงจรปิด

หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกันยังไม่บูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของระบบกล้องวงจรปิด โดยจากการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการจัดหากล้องวงจรปิดเอง 8 หน่วยงานได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, เทศบาลนครหาดใหญ่, เทศบาลตำบลนาทวี, เทศบาลตำบลจะนะ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าม่วง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา อำเภอจะนะโดยตำบลขุนตัดหวาย และองค์การบริหารส่วนตำบลเจ๊ะบิลัง จังหวัดสตูล พบว่ามี 7 หน่วยงานไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้มีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายหรือใช้ประโยชน์ร่วมกันกับหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

รวมทั้งยังพบว่ายังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดซ้ำซ้อนในจุดเดียวกัน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากับเทศบาลนครหาดใหญ่บนเสาไฟฟ้าต้นเดียวกัน บริเวณสามแยกชัย อำเภอหาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า การติดตั้งซ้ำซ้อนกันนี้สุ่มเสี่ยงต่อการซ้ำซ้อนในการบันทึกภาพและเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

อ่าน 'จับตา': “เปิดข้อมูลการติดตั้ง CCTV ของ 10 หน่วยงานรัฐชายแดนใต้ (สงขลา-สตูล)”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5493

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: