กองทุนประกันสังคมเล็งขอเพิ่มเพดานลงทุนนอก 6 หมื่นล้าน

6 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2547 ครั้ง


	กองทุนประกันสังคมเล็งขอเพิ่มเพดานลงทุนนอก 6 หมื่นล้าน

กองทุนประกันสังคมเตรียมขอรัฐบาลเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท หลังจากคณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบวงเงินดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

6 ก.ค. 2558 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมาว่านายวิน พรหมแพทย์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคมและหัวหน้าการลงทุน สำนักบริหารการลงทุนสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. (SSO) เปิดเผยว่า กองทุนประกันสังคมเตรียมขอรัฐบาลเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท หลังจากคณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบวงเงินดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

"ปัจจุบันการลงทุนในประเทศมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอต่อพอร์ตการลงทุนของประกันสังคมที่ขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน 1 หมื่นล้านบาท/เดือน จึงจำเป็นต้องออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่ม เพราะพันธบัตรในประเทศมีไม่มาก ส่วนหุ้นไทยลงทุนแล้ว 9-10% เกือบเต็มเพดานลงทุนที่ 12%" นายวิน กล่าว

สำหรับทิศทางการลงทุนในต่างประเทศอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและหลายตลาดยังน่าสนใจ โดยการออกไปลงทุนจะทยอยลงทุนตามสภาวะตลาด ซึ่งจากการลงทุนต่างประเทศช่วงที่ผ่านมา 5 เดือนแรกสามารถทำกำไรจากการลงทุนต่างประเทศได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนสูงสุด 14.26% เมื่อเทียบการลงทุนอื่นๆ แต่ตอนนี้วงเงินลงทุนต่างประเทศเหลือเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนในต่างประเทศยังเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 5 ปี (ปี 2557-2561) ที่กองทุนประกันสังคมจะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศอยู่ที่ 30% และในประเทศ 70% จากปัจจุบันลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 3% และลงทุนในประเทศสูงถึง 97%

ปัจุบันมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ ณ วันที่ 31 พ.ค. 2558 มีทั้งสิ้น 3.69 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.84% ของเงินกองทุนประกันสังคมทั้งหมด 1.28 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากเงินลงทุนเริ่มต้น 2.81 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินปันผลสะสม 1,154 ล้านบาท และมีกำไรที่ยังไม่รับรู้ 8,841 ล้านบาท รวมผลตอบแทนสะสมจากการลงทุนในต่างประเทศ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับสัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นพันธบัตรต่างประเทศ 90% และหุ้นต่างประเทศ 10% โดยเป็นกองทุนรวมพันธบัตรต่างประเทศเงินลงทุนประมาณ 3.23 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.2% กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศเงินลงทุนประมาณ 4,600 ล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.3% 

นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมยังมีเงินประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายจนมียอดสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย จากปกติรัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบให้กองทุนปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีแผนคืนเงินให้กองทุนในปีนี้ ทำให้กองทุนมีเงินไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สมาชิก

อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมอยากวิงวอนให้รัฐบาลทุกชุดจ่ายเงินให้กองทุนตามกำหนดเมื่องบประมาณออก เพราะการจ่ายเงินล่าช้าทำให้กองทุนเสียโอกาสในการลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนให้แก่สมาชิกประกันสังคมที่มีมากถึง 13 ล้านคนในขณะนี้ อีกทั้งเงินส่วนที่รัฐบาลค้างอยู่นั้นไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กองทุน

นายวิน กล่าวว่า หากรัฐบาลคืนเงินที่ค้างให้กองทุนประกันสังคมมีแผนนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่จะมีออกมาในอนาคต รวมทั้งลงทุนในตลาดหุ้นไทยและสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนำมาจ่ายคืนให้ผู้ประกันตนผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่เข้าสู่การเกษียณอายุ

"ประเด็นเงินค้างจ่ายของรัฐบาล ขณะนี้ระบุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่สามารถค้างเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้กองทุนประกันสังคม หากร่างผ่านถือเป็นข่าวดี นอกจากช่วยต่อยอดการลงทุนให้กองทุนมีศักยภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยทางการคลังของรัฐบาลที่ดีด้วย" นายวิน กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: