สแกนลายพราง: เจาะใจกองทัพบกไทย ไฉนยึด‘สมเด็จพระนเรศวร’เป็นสัญลักษณ์

ทีมข่าว TCIJ 6 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 9114 ครั้ง

ในบรรดาบูรพกษัตริย์ไทยนั้นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบคนสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่โดดเด่นมากที่สุดพระองค์หนึ่งก็คือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งสถาบันหลักของประเทศไทยอย่าง“กองทัพบก” ยึดถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพบกมาเกือบทุกยุคทุกสมัย TCIJ จะขอนำเสนอถึงเหตุปัจจัย เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของ โลกทัศน์กองทัพไทย  นับจากช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ที่กองทัพบกทวีบทบาทเป็นผู้เล่น (actor) สำคัญในการเมืองไทย และกลายมาเป็นสถาบันหลักของประเทศจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง เนื้อหาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ TCIJ เรียบเรียงมาจากวิทยานิพนธ์ของ เฉลิมพล แซ่กิ้น เรื่อง "พระนเรศวร : วาทกรรมจากอดีตที่แปรเปลี่ยนไปสู่วาทกรรมเชิงสัญลักษณ์แห่งกองทัพบกไทย" วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2550

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนึ่งในประติมากรรม ณ อุทยานราชภักดิ์ โดยประติมากรเผยแนวคิดออกแบบ
องค์นเรศวรอุทยานราชภักดิ์ประทับยืนนิ่งปลายเท้าจิกดิน-หอกปักดิน
สื่อความหนักแน่นรักษาแผ่นดิน (ที่มาภาพ: Twitter @duangtip_TPBS)

จอมพล ป. กับการสร้างชาติผ่านพระนเรศวร

แม้การยกย่องสมเด็จพระนเรศวร จะมีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มานานแล้วก็ตาม แต่ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระนเรศวรในยุคการเมืองสมัยใหม่ที่เรารับรู้กัน น่าจะได้รับอิทธิพลที่สร้างมาในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา

รัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจากกองทัพบกคนสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นผู้นำที่หยิบยกเรื่องราวของพระนเรศวรมาใช้ประโยชน์ต่อตนเอง โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นมันสมองคนสำคัญ แนวนโยบาย "ชาตินิยม" ของจอมพล ป. นั้นต้องการที่จะปลูกฝังความเป็น "ชาติ" ไทยให้แก่ประชาชน โดยพยายามอิงกับประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้  สร้างรากเหง้าแห่งที่มาของความเป็นไทย และให้คนในสังคมภาคภูมิใจเกียรติยศของชาติตน ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการ "สร้างชาติ" เพื่อนำไทยไปสู่ความเป็นมหาอำนาจ และยุคของการใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศภายใต้ "ลัทธิเชื่อผู้นำ"

ในยุคของ จอมพล ป. นั้นยังมีการสร้างภาพของศัตรูอย่างพม่าให้เป็นโจรผู้ปล้นอกราชของชาติไทยไปในเวลาเดียวกันด้วย เพื่อกระตุ้นให้คนไทยรู้สึกสำนึกถึงความรักชาติให้มากขึ้น โดย "ชาติ" คำนี้คือนามธรรม เสมือนชุมชนในจินตนาการที่มีคนจำนวนมากนับเอาว่าตนเป็นพวกเดียวกัน มีรากเหง้าที่มาหรือความสัมพันธ์ร่วมกัน ทุกคนผู้เป็นสมาชิกในชาติล้วนต้องคำนึงถึงส่วนรวมหรือประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ภาพของพระนเรศวรในยุคของ จอมพล ป. จึงถูกเน้นไปในมิติดังกล่าว พระนเรศวรถูกทำให้เป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย ผ่านสื่อโฆษณา วิทยุ หนังสือพิมพ์ นวนิยาย ละครอิงประวัติศาสตร์ ตำรา และแบบเรียนต่าง ๆ

กองทัพหลังกบฏแมนฮัตตัน และการใช้พระนเรศวรเป็นสัญลักษณ์มากยิ่งขึ้น

เรือหลวงศรีอยุธยา ขณะถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักในเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน (ที่มาภาพ: wikipedia.org)

การเมืองของกองทัพไทยระหว่างปี พ.ศ. 2475-2494 นั้นยังมีภาพการขับเคี่ยวกันของทัพบกและกองทัพเรือ แต่หลังจาก “กบฏแมนฮัตตัน” ก็ดูเหมือนว่ากองทัพบกจะสถาปนาอำนาจนำอย่างเด็ดขาดในกองทัพไทย โดยเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันเป็นความพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยฝ่ายกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ. 2494 ซึ่งถือเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวงที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันนั้นนำโดยทหารเรือชั้นผู้น้อยที่ไม่พอใจในกรณีที่รัฐบาลที่ฝ่ายกองทัพเรือให้ความสนับสนุน ถูกกองทัพบกและตำรวจร่วมมือกันโค่นล้ม รวมทั้งความไม่พอใจที่ฝ่ายกองทัพเรือเคยได้รับจากกรณีกบฏวังหลวง  (อ่านเพิ่มเติม: กรณีกบฏแมนฮัตตัน จากวิกิพีเดีย และ เหตุการณ์การเมืองสามเส้า จากสถาบันพระปกเกล้า)

หลังจากเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน (พ.ศ. 2494) แล้ว ทำให้กองทัพบกสามารถขึ้นสู่อำนาจการปกครองได้อย่างเต็มที่ เรื่องราวและวาทกรรมพระนเรศวร ถูกนำกลับเข้ามาใช้เป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจ แม้การยึดโยงพระนเรศวรกับกองทัพ   จะเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม ส่วนการยึดโยงพระนเรศวรของกองทัพบกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น เริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้เริ่มสถาปนาวันที่ 25 มกราคม ที่ในขณะนั้นเชื่อกันว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำการศึกกอบกู้เอกราชมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา (คำนวณเทียบและพิสูจน์โดย นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ แต่ปัจจุบันได้มีการคำนวณใหม่ ก็ปรากฏว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม) โดยกองทัพบกยึดถือเอาวันที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรนี้มาเป็นวันกองทัพบกเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่กองทัพ นอกจากนี้ กองทัพยังมองว่ากองทัพบกไทยได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งชาติไทยของบรรพบุรุษอีกด้วย

อนึ่ง ปัจจุบันได้มีการคำนวณใหม่ ก็ปรากฏว่าวันที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำการศึกกอบกู้เอกราชมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ต่อมาจึงมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันกองทัพบก รวมทั้งกระทรวงกลาโหมก็ได้มีการกำหนดให้วันกองทัพไทยมาเป็นวันที่ 18 มกราคม ด้วยเช่นกัน (ดูเพิ่มเติม: จับตา: ‘วันกองทัพบก’ และ ‘กองทัพไทย’)

การสถาปนาอำนาจอย่างมั่นคงในยุคจอมพลสฤษดิ์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2497-2506 หัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2501 และนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2502-2506) ถือว่าเป็นอีกบุคคลที่เป็นตัวแทนของกองทัพบกในการยึดโยงส่งเสริมกองทัพบกเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 (ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และได้ครองยศ พลเอก) ถือว่าเป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ได้หยั่งรากฐานทางอำนาจอย่างมั่นคงในกองทัพบก จนถึงช่วงที่ได้ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในปี พ.ศ. 2501 ได้มีการประพันธ์เรื่องราวงเกียรติประวัติของสมเด็จพระนเรศวรเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับกองทัพบกหลายประการ เช่น การเปลี่ยนวันกองทัพบกไทยมาเป็นวันที่ 25 มกราคม การบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์, การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์เป็นรูปสมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารออกศึก, การสร้างศาลและพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร ณ บริเวณที่เชื่อว่าเป็นพระราชวังจันทร์ จ.พิษณุโลก (ภายใต้การสนับสนุนของจอมพลสฤษธิ์เอง พ.ศ. 2502) และการบรรจุหลักสูตรจู่โจมหรือที่เรียกว่าหลักสูตรเสือคาบดาบของทหารบก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วกองทัพบกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ยังได้นำสัญลักษณ์ของกองทัพบกอย่างสมเด็จพระนเรศวรมาใช้เป็นสะพานผูกมิตรเชื่อมกับกองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉาน เพื่อให้กองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉานช่วยต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์และเป็นรัฐกันชนให้ประเทศไทย ทำให้พระนเรศวรได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในยุคที่คอมมิวนิสต์เฟื่องฟู และเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอริราชศัตรูใดๆที่จะเข้ามารุกล้ำดินแดนตามแนวชายแดนของประเทศไทยในขณะนั้น

สัญลักษณ์ยึดโยงสมเด็จพระนเรศวรที่กองทัพบกมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน

พระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถูกนำไปตั้งชื่อสถานที่และสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากมายในประเทศไทย แต่หากพูดถึงความพยายามสร้างสัญลักษณ์เพื่อยึดโยงกับกองทัพบก เฉพาะที่กองทัพบกเองเป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน มีตัวอย่างดังนี้

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ (ที่มาภาพ: wikipedia.org)

พระเจดีย์ยุทธหัตถีและอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช การสร้างอนุสาวรีย์และบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2495 นั้น เป็นความพยายามของกองทัพบกที่จะพลิกฟื้นเรื่องราวของพระนเรศวรให้มีความโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ของชาติ โดยในประกาศเชิญชวนบริจาคเงินสมทบทุนสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีและอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่าเป็นเจดีย์ "องค์สำคัญของชาติ" ที่คนในชาติไทยพึงที่จะเข้ามามีส่วนร่วม พึงที่จะมีการสำนึก และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวร มีการกล่าวเชิญชวนปลุกจิตสำนึกให้มีความรู้สึกภาคภูมิใจกับกิจกรรมการบูรณเจดีย์ครั้งนี้ของกองทัพบกผู้เป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ที่มาภาพ: army3.mi.th)

ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 3 มีชื่อว่าค่ายนเรศวร และมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรประดิษฐานคู่ค่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยจากเอกสารของกองประวัติศาสตร์ทหารบกนั้น ได้ระบุสาเหตุแห่งการใช้ชื่อค่ายว่านเรศวรว่า เพราะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถ มีน้ำใจพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทรงเป็นนักรบและเป็นแม่ทัพผู้รอบรู้ในยุทธศาสตร์ตลอดจนยุทธวิธีต่าง ๆ เป็นเลิศ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จออกทำศึกสงคราม จะเสด็จนำหน้ากองทัพทรงทุ่มเทพระวรกาย เพื่อประชาชนและประเทศ ชาติตลอดมา จึงกล่าวได้ว่าตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ไม่ได้เสวยมณียสุข เริ่มจากต้องเสด็จไปเป็นองค์ประกัน ณ ราชสำนักพม่า ตั้งแต่พระชนม์เพียง 9 พรรษา พอพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษาก็ต้องรับพระราชภาระอันหนักยิ่งจากพระราชบิดา คือครองเมืองพิษณุโลก หลังจากนั้นพระองค์ต้องฝ่าคมอาวุธอยู่ในสมรภูมิเรื่อยมาตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์เสด็จสวรรคตในขณะที่พระชนมายุได้เพียง 50 พรรษาเท่านั้น โดยไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่จะสืบสันตติวงศ์ จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ประดุจดั่งพระสยามเทวาธิราชได้อัญเชิญให้พระองค์มาถือกำเนิดเพื่อช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไทยให้แผ่ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ด้วยกุศลผลบุญที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้สร้างไว้อย่างมากมายมหาศาลต่อชาติและประชาชนชาวไทยในครั้งนั้น ยังประทับอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรของพระองค์ ทั้งยังรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

หลักสูตรจู่โจมรบพิเศษ "เสือคาบดาบ" ของกองทัพบก (ที่มาภาพ: dstd.mi.th)

หลักสูตรเสือคาบดาบ สัญลักษณ์ของเสือคาบดาบนี้ได้มาจากเรื่องราวของพระนเรศวรที่ได้ระบุไว้ว่า พระนเรศวรใช้พระโอษฐ์คาบพระแสงดาบคาบค่ายแล้วปีนค่ายทัพของหงสาวดี ซึ่งชื่อ “เสือคาบดาบนี้” ถูกนำมาใช้เป็นชื่อหลักสูตรที่ริเริ่มขึ้นมาในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยหลักสูตรเสือคาบดาบนี้จะฝึกความเป็นผู้นำหน่วย ความทรหด อดทนของทหารที่เข้ารับการฝึก ถือเป็นหลักสูตรการฝึกที่มีความลำบากและเหนื่อยยากที่สุดของกองทัพบก หลักสูตรนี้มีความคล้ายกับหลักสูตรแรงเยอร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

เหรียญพระนเรศวร "ตองโข่" รุ่นแรก (ที่มาภาพ: pramuangnue.com)

 

เหรียญบูชารูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช "ตองโข่" รุ่นแรก จอมพลสฤษ ธนะรัชต์กับเจ้าน้อยซอยั่นต๊ะ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา 1,000 เหรียญ ประมาณปี พ.ศ.2502-2503 เพื่อสนองความเชื่อในเรื่องพระนเรศวรผู้เป็นวีรบุรุษนักรบและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของไทใหญ่และไทยสยาม โดยเหรียญนี้มีชื่อพระนเรศวรเป็นตัวอักษรไทใหญ่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญ ปัจจุบันเหรียญรุ่นแรกนี้ทหารไทใหญ่ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์หายาก โดยผู้ครอบครองมีแต่นักรบกู้ชาติไทใหญ่รุ่นแรก ๆ เท่านั้น

กองทัพบกได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนสร้าง
"อุทยานราชภักดิ์" เพื่อความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (ที่มาภาพ: rta.mi.th)

โครงการอุทยานราชภักดิ์ กองทัพบกระบุว่าเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีวัตถุ ประสงค์เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณ สมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศในโอกาสที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่ 1.พ่อขุนรามคำแหง 2.สมเด็จพระนเรศวร 3.สมเด็จพระนารายณ์ 4.สมเด็จพระเจ้าตากสิน 5.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 6.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ 7.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อุทยานราชภักดิ์ นี้จัดสร้างภายในพื้นที่ของกองทัพบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยกองทัพบกได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อีกด้วย

โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช บริเวณ‘ทุ่งยั้งทัพพระองค์ดำ’
(ที่มาภาพ: http://blogazine.pub/blogs/dulyapak)

โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช บริเวณ‘ทุ่งยั้งทัพพระองค์ดำ’ ในบทความ "‘ทุ่งยั้งทัพพระองค์ดำ’ โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช" ของ ดุลยภาค ปรีชารัชช ระบุว่ากองทัพบกมีโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของวีรกษัตริย์ รวมถึงใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยองค์พระบรมรูปจะมีลักษณะทรงม้าศึก กำหนดสร้างขึ้นในพื้นที่ของกองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบรรดาผู้นำกองพลต่างเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คืออดีต 'ทุ่งยั้งทัพพระองค์ดำ' หรือ 'King Neresuan's Staging Ground' ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่งยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประชุมพลก่อนกองทัพสมเด็จพระนเรศวรจะเคลื่อนกำลังบุกโจมตีกรุงอังวะผ่านเส้นทางเมืองเวียงแหงและเมืองนายในรัฐฉาน

นายทหารจากกรมกำลังพลทหารบก นำกำลังพลเข้าชมภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 5 (ที่มาภาพ: http://dop.rta.mi.th/)

ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้คนของกองทัพบกเป็นนักแสดงนำในบทสำคัญ โดยพันโทวันชนะ สวัสดี (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รับบทเป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพันเอกวินธัย สุวารี (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งโฆษกกองทัพบก) รับบทเป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากนี้กำลังพลของกองทัพบกก็ถือว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบทุกภาค

การร้อยรัดยึดโยงสมเด็จพระนเรศวรมาเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพบก

ในวิทยานิพนธ์ "พระนเรศวร : วาทกรรมจากอดีตที่แปรเปลี่ยนไปสู่วาทกรรมเชิงสัญลักษณ์แห่งกองทัพบกไทย" ของ เฉลิมพล แซ่กิ้น ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การนำวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมาใช้เป็นวันกองทัพบก และภายหลังได้ขยายความหมายของวันดังกล่าวให้กลายเป็นวันกองทัพไทย ถือเป็นการสร้างสัญลักษณ์ทางอำนาจที่กองทัพบกแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของตน  ส่งผลให้สถานะของกองทัพบกดูโดดเด่น และเสมือนว่าจะดำรงสถานภาพเป็นกองทัพแห่งชาติที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติมากกว่าเหล่าทัพอื่น ๆ ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามร้อยรัดเกียรติประวัติของพระนเรศวรเข้ากับสถานะของกองทัพบกนั้น ด้วยเพราะกองทัพบกเองได้มองว่าสิ่งที่พระนเรศวรทรงกระทำไว้นั้นก็คือสิ่ง ๆ เดียวกันกับที่กองทัพบกได้กระทำ คือการรักษาไว้ซึ่งเอกราช ปกป้องรักษาบ้านเมือง เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ภารกิจของพระนเรศวรในอดีตกับภารกิจของกองทัพบกในปัจจุบันนั้น คือสิ่งเดียวกัน พระนเรศวรทำเพื่อชาติบ้านเมือง กองทัพบกก็ทำเพื่อชาติบ้านเมือง พระนเรศวรไม่ใช่ทหารเรือ ทหารอากาศ และไม่ใช่ตำรวจ แต่ประเด็นคือพระนเรศวรคือทหารบก และก็มีกองทัพบกของไทยในยุคอดีตเป็นเครื่องมือในการรักษาบ้าน เมือง ซึ่งความเป็นทหารบกนี้ก็สืบต่อมาจากยุคของพระนเรศวรมาเป็นกองทัพบกในปัจจุบันนั่นเอง และด้วยภาพตรงนี้เองจึงเป็นสิ่งที่กองทัพบกพยายามจะนำมาร้อยรัดยึดโยงให้เข้ากับสถานภาพของสถาบันตนเอง ด้วยภาพจากพระนเรศวรเช่นนี้ จึงส่งผลให้กองทัพบกโดดเด่นและมีความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศชาติให้รัฐไทยมั่นคงดังครั้งสมัยสมเด็จพระนเรศวร และด้วยเหตุที่กองทัพบกมองสถานภาพตนเองว่ามีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร มีรากฐานมายาวนาน มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองมากที่สุด จุดนี้จึงทำให้เกิดภาพจำของกองทัพบกในฐานะกองทัพแห่งชาติที่มีความสำคัญ มีอำนาจ มีเกียรติภูมิและมีคุณประโยชน์เหนือเหล่าทัพอื่น ๆ ในประเทศ

อ่าน 'จับตา': “ ‘วันกองทัพบก’ และ ‘กองทัพไทย’ ”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5771

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: