ไทม์ไลน์ ‘โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทย’

ทีมข่าว TCIJ : 6 ธ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 16247 ครั้ง

ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเกือบ 50 ปีแล้ว  ‘เฉียด’ มากที่สุดคือช่วงทศวรรษที่ 2510-2520 แต่การพบเชื้อเพลิงใหม่ทั้งลิกไนต์และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่คนไทยไม่เอาด้วย ทำให้โครงการยุติไป TCIJ เรียบเรียงไทม์ไลน์โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยตั้งแต่ปี 2509-2558 มาให้ดูกัน 

 

 

 

2509-2521 ช่วง‘เริ่มต้น’ และ‘เฉียด’ มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด

ประเทศไทยเกือบจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วเมื่อช่วงทศวรรษที่ 2510-2520 ที่บริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี (ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)

ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาเกือบ 50 ปีแล้ว  เริ่มจากการการเสนอโครงการโดย ‘การไฟฟ้ายันฮี’ ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ ‘ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ หรือ กฟผ.) เมื่อปี 2509 มีการศึกษาความเหมาะสมและเลือกสถานที่ตั้งในปี 2510 โดย กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัท Burns & Roe จากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ปรึกษา และเลือกสถานที่ 6 แห่งบริเวณรอบอ่าวไทยเพื่อนำมาเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม และความปลอดภัย ซึ่งได้คัดเลือกบริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  ต่อมาในปี 2511 ผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการ พลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) เข้ามาช่วยพิจารณาที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเห็นพ้องสนับสนุนเลือกบริเวณอ่าวไผ่ ด้วยเช่นกัน รัฐบาลยุคนั้นได้อนุมัติให้ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บริเวณอ่าวไผ่นี้ในปี 2512  ต่อมาในปี 2513 มี 5 บริษัท ได้เสนอรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ บริษัท TNPG & KWU, บริษัท Combustion Engineering, บริษัท Westinghouse, บริษัท General Electric และบริษัท Hitachi Ltd. นอกจากนี้ยังมีวางแผนการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งแรงสูงเพื่อรองรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อที่จะใช้เป็นสายส่งเข้ามาส่วนกลางเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการเหมือนจะเดินหน้าไปด้วยดี เมื่อในปี 2515 ได้มีการออกคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณอ่าวไผ่ (พื้นที่ใน ต.สุรศักดิ์ และ ต.ทุ่งสุขลา) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และต่อมาในปี 2516 เริ่มการสำรวจรางวัดที่ดิน จากนั้นจึงมีการจัดซื้อ เวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ซึ่งมีที่ดินที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดประมาณ 1,100 ไร่ และหลังจากนั้น กฟผ. ก็ได้เสนอรัฐบาลเพื่อขออนุมัติเปิดประมูลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 166 ให้เวนคืนที่ใน ต.สุรศักดิ์ และ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ลงนามโดย จอมพล ถ.กิตติขจร ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2515

แต่แล้ว โครงการต้องมาชะงักลงครั้งแรกในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อปี 2517 ซึ่ง กฟผ. ระบุสาเหตุว่าเนื่องจากเศรษฐกิจที่ผันผวนของโลกและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย แต่ก็กลับมาดำเนินการต่อได้ในปี 2519 โดย กฟผ. ได้ขยายการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ขึ้นที่อ่าวไผ่ และจัดทำเอกสารเผยแพร่ไปตามหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และในปีเดียวกันนี้ เริ่มมีการออกแบบสิ่งก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากนั้นในปี  2520 กฟผ. ได้เสนอรายงานโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เพื่อขออนุมัติการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น แต่ก็เริ่มมีความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐขึ้นเมื่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ออกแถลงการณ์ว่าหากรัฐบาลอนุมัติให้ประมูลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว กฟผ. จะต้องวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่จะได้รับว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ทางแพ่งเมื่อเกิดความเสียหายจากนิวเคลียร์ เนื่องจากการหวั่นเกรงอันตรายจากนิวเคลียร์ และในช่วงปลายปี 2520 นี้ก็เริ่มมีกระแสการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากสาธารณชน

ต่อมาโครงการก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา เหตุเพราะถูกต่อต้านในวงกว้าง เนื่องด้วยความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเด็นที่สาธารณชนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีและเรื่องการกำจัดกากของนิวเคลียร์ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ และประชาชนใน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ไม่ยอมรับโครงการนนี้ กอปรกับในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการค้นพบแหล่งลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่ จ.ลำปาง และแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย ทำให้รัฐบาลหันไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนตั้งแต่นั้นมา

2525-2539 ยังมีการศึกษาเงียบ ๆ

ปี 2525 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เริ่มทำการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นในปี 2527 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจเบื้องต้น โดยความช่วยเหลือของ IAEA ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนั้นระบุว่าไทยควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 900 MW ในปี 2547 แต่ต่อมาในปี 2529 ได้เกิดเหตุการณ์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมืองเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย สร้างความตื่นตระหนกเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ในประเทศไทยต้องเงียบลงไปอีกครั้งหนึ่ง

เริ่มมีการขยับตัวในประเด็นนี้อีกครั้งในปี 2533 โดย กฟผ. ได้สรุปสถานการณ์ทรัพยากรพลังงานต่อรัฐบาลในขณะนั้นพร้อมทั้งเสนอแนะให้ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต่อมาในปี 2535 บริษัทที่ปรึกษา คือ New Japan Engineering Consultant จากญี่ปุ่น และ Swiss Power Consultants จากสวิตเซอร์แลนด์ ทำการศึกษาให้ กฟผ. ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยควรเริ่มในปี 2549 ด้วยกำลังผลิต 1,000 MW

จากนั้นช่วงปี 2536 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง สืบเนื่องมาจากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มขยายตัวกว้างขวางเข้าสู่วงการการเมืองของรัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาเรื่องการนำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย รวมทั้งมีการเดินทางไปดูงานด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังต่างประเทศอีกด้วย

และในปี 2539 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่าเรื่องก็เงียบหายไปอีกครั้งหนึ่ง

2549-2554 กลับมาหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. -สะดุดอีกครั้งหลังแผ่นดินไหวญี่ปุ่น

ช่วงปี 2549 กฟผ. เริ่มปัดฝุ่นพิจารณาแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นปี 2550 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารประหารในปี 2549 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 อนุมัติมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือว่าในยุคสมัยใหม่นี้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่มีฉายาว่า 'รัฐบาลขิงแก่' น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยที่ชัดเจนที่สุดนับแต่มีการผลักดันให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยมาร่วมครึ่งศตวรรษ (อ่านเพิ่มเติม: รัฐบาลทหารปลุกผีนิวเคลียร์ “จาก คมช. 2550 ส่งไม้ต่อ คสช. 2558”)

ในปี 2551 คณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ ได้คัดเลือก บริษัท Burns and Roe (อีกแล้ว) เป็นบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากนั้นในปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 (PDP 2007ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ตามมติ กพช. โดยได้มีการปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในปี 2563 และปี 2564 เหลือปีละ 1,000 MW ในปีเดียวกันนี้คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ประเทศจีน อีกด้วย

ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท Burn & Roe ที่ได้ศึกษาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยพิจารณาคัดเลือกจาก 17 พื้นที่ ประกอบด้วย บ้านฝั่งแดง และบางเบิด จ.ประจวบคีรีขันธ์ /บ้านแหลมแท่น บ้านแหลมยาง และ บ้านปากน้ำละแม จ.ชุมพร /บ้านเตล็ด บ้านท้องโหนด บ้านท้องชิง บ้านท้องเนียน และบ้านทุ่งใส จ.นครศรีธรรมราช/ บ้านตะกรบ ที่ อ.ไชยา และคันธุลี ที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี / มะขามเฒ่า จ.ชัยนาท บ้านหาดสอ ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี /บ้านไม้รูด จ.ตราด พนมรอก จ.นครสวรรค์ /และที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี  ได้ผลการศึกษาออกมาว่าจังหวัดที่เหมาะสมแก่การตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฏร์ธานี และชุมพร

ต่อมาปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) โดยในแผนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำนวน 5 โรง กำลังผลิตรวม 5,000 MW (สร้าง 2 โรงแรกในปี 2563 และ 2564) แต่กระนั้นในปี 2554 กพช. กลับประกาศเลื่อนการพิจารณาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป 3 ปี  ซึ่งในปีเดียวกันนี้เกิดเหตุการณ์รั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima-Daiichi ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

2558 กลับมาอีกครั้ง พร้อม‘ร่างพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์’

ล่าสุดหลังจากที่เงียบหายไปในระยะเวลาพอสมควร ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมานี้ ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ก็กลับมาเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องจับตาอีกครั้ง ไล่มาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี พ.ศ. 2558 - 2579 (Power Development Plan หรือ PDP 2015) ซึ่งจากแผน PDP 2015 ระบุว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยแห่งแรกและแห่งที่สองจะเกิดขึ้นในช่วงปลายแผนคือปี 2578 และ 2579 (อ่านเพิ่มเติม :ส่องไทม์ไลน์ผุดโรงไฟฟ้า ตามแผน PDP 2015 รวม 29 โรง หวั่น ‘นิวเคลียร์’ ตามมาแน่)

รวมทั้งในเดือนเมษายน 2558 กระทรวงพลังงานก็เริ่มลงพื้นที่จัดอบรม "โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาทัศนคติ ที่มีต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และสื่อมวลชน ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดยุทธศาสตร์ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ชลบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับจังหวัดยุทธศาสตร์ 20 จังหวัด ได้แก่ ตาก ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี จันทบุรี เพชรบุรี ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ระยอง ฉะเชิงเทรา และพังงา (อ่านเพิ่มเติมการลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในรอบปี 2558 ของกระทรวงพลังงาน [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10])

จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป (อ่านเพิ่มเติม: มาแล้ว! ครม. อนุมัติร่าง 'พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์' ตั้ง 'คกก.นิวเคลียร์' ให้นายกนั่งประธาน และ เปิด 152 มาตรา ‘ร่าง พ.ร.บ. นิวเคลียร์’ ก่อนเข้า สนช.) โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์  จึงเป็นที่น่าจับตาว่าภายใต้รัฐบาลทหาร ชุดนี้ จะสามารถผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เป็นจริง หรือเดินหน้าไปได้ ‘ไกลสุด’ มากแค่ไหน ?

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา: จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกในปัจจุบัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: