ในประเทศตะวันตกรวมทั้งประเทศในเอเซีย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น ผู้ที่จะขอรับการผ่าตัดได้จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินวินิจฉัยและการรักษาจากจิตแพทย์ แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อรวมทั้งใช้ชีวิตในเพศที่ต้องการเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน จากนั้นจิตแพทย์จึงจะออกหนังสือรับรองว่า ผู้ป่วยนั้นมีความเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ศัลยแพทย์จึงสามารถทำผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้ จากนั้นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดในประเทศเหล่านั้นก็สามารถร้องขอให้รัฐเปลี่ยนสถานะทางเพศตามกฎหมายให้กับผู้ป่วยได้
สำหรับในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีกฎเกณฑ์การประเมินวินิจฉัยผู้ที่ขอรับการผ่าตัดโดยเคร่งครัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้พบจิตแพทย์หรือแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ ศัลยแพทย์แต่ละคนมีเกณฑ์คัดกรองประเมินผู้ป่วยที่ขอรับการผ่าตัดแปลงเพศแตกต่างกัน ไม่ว่าเรื่องอายุขั้นต่ำของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ต้องได้รับการดูแลด้านจิตเวชมาก่อน ระยะเวลาในการใช้ฮอร์โมนก่อนผ่าตัด ระยะเวลาที่ต้องใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้าม อย่างไรก็ตามก็ไม่เคยเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการแปลงเพศ อีกทั้งมีผู้ป่วยชาวต่างชาติจากทั่วโลกเดินทางเข้ามารับการผ่าตัดแปลงเพศมากขึ้นทุกปี จนกระทั่งเกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตัดลูกอัณฑะให้กับวัยรุ่นจำนวนมาก ทำให้แพทยสภาเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรักษาด้วยการแปลงเพศเหมือนในประเทศอื่นๆ โดยมีความคาดหวังดังนี้
ประการที่หนึ่ง บุคคลข้ามเพศรวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติด้านเอกลักษณ์ทางเพศอื่นๆ (Gender Identity Disorder) จะเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และได้รับการดูแลดีขึ้นและครอบคลุมมากขึ้นจากบุคลากรการแพทย์ต่างๆ อาทิ ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การให้ความรู้ความเข้าใจและการบำบัดรักษา ทั้งส่วนผู้ป่วยเอง ครอบครัว สังคม จากจิตแพทย์ ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องผลข้างเคียงและข้อระมัดระวังในการใช้ฮอร์โมนจากแพทย์ต่อมไร้ท่อ สุดท้ายคือ ได้รับการรักษาจากศัลยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดแปลงเพศ
ประการที่สอง มีการรักษาและส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพให้กับแพทย์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสัมนาและออกหนังสือแนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ แพทย์ต่อมไร้ท่อ และศัลยแพทย์ ในการรักษาเพื่อแปลงเพศเป็นมาตรฐาน ลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย กรณีเกิดปัญหาจากการรักษาเพื่อแปลงเพศในอนาคต
ประการที่สาม ช่วยให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศมากขึ้น ในอดีตคงเป็นที่ทราบกันว่า บุคคลข้ามเพศถูกมองในเชิงลบและถูกกันออกจากสังคมมากเพียงใด แต่จากนี้ไป หลังบุคคลข้ามเพศได้รับการดูแลด้านการแพทย์จนมีคุณภาพ ชีวิตดีขึ้น ก็จะมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถตามศักยภาพของแต่ละคนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ประการที่สี่ จากการประสานงานและจัดการประชุมสัมนาร่วมหลายครั้งของแพทยสภากับราชวิทยาลัยจิตแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ และกุมารแพทย์ รวมทั้งส่วนราชการอื่นๆ อาทิ ศาลฏีกา กองทัพ กระทรวงต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอัยการ ก.พ. สภาทนายความ ฯลฯ น่าจะเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้รัฐพิจารณาการออกหรือแก้กฎหมาย เพื่อให้บุคคลข้ามเพศมีสิทธิต่างๆดีขึ้น หรือถึงกับเปลี่ยนสถานะทางเพศตามกฎหมายเป็นเพศใหม่หลังผ่าตัดได้
ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้มองภาพออกว่า การบังคับใช้ข้อบังคับแพทยสภา เรื่องหลักเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. 2552 จะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างไร
แน่นอนว่า นับจากปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป ก่อนที่บุคคลข้ามเพศแต่ละคนจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้นั้น จะต้องมีกระบวนการที่ใช้เวลามากขึ้น ขั้นตอนมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จิตแพทย์ และแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ รวมทั้งสูตินรีแพทย์จำนวนหนึ่ง ที่ไม่เคยต้องมีส่วนในการรักษาเพื่อแปลงเพศ ก็จะต้องสละเวลาเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น
ศัลยแพทย์จะผ่าตัดแปลงเพศให้กับผู้ป่วยได้ ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีหนังสือรับรองจากจิตแพทย์ 2 ท่าน หรือในกรณีผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการผ่าตัด ก็จะต้องผ่านการคัดกรองและประเมินจากจิตแพทย์ไทย 1 ท่านก่อน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะช่วยคัดกรองให้ผู้ที่เหมาะสมจริงๆเท่านั้นที่จะได้รับการรักษาด้วยการแปลงเพศอย่างถาวร วงการแพทย์ของประเทศไทยก็จะได้รับความเชื่อถือในสายตาของนานาชาติมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘ฮอร์โมน’ จากความเป็นทอมสู่ความเป็นชาย ซื้อเอง ฉีดเอง
ที่มา
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย
แพทยสภา
ขอบคุณรูปภาพจาก http://blogs.hrhero.com/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ