ความเป็นกลางทางเน็ต

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล 7 ม.ค. 2558


เวลาจินตนาการถึงอินเทอร์เน็ต เรามักจะนึกถึงระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมหาศาลทั่วโลกเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริง อินเทอร์เน็ตประกอบไปด้วยเครือข่ายย่อยๆ จำนวนมากมายเชื่อมต่อกันผ่านทางรูปแบบการสื่อสารที่เป็นมาตรฐานเปิด เครือข่ายย่อยเหล่านี้รวมตั้งแต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) หน่วยงานที่มีการต่ออินเทอร์เน็ต เช่น มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน ไปจนถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายย่อย เช่น หอพักที่มีบริการอินเทอร์เน็ตและร้านเน็ตคาเฟ่ เป็นต้น

เครือข่ายย่อยๆ ที่เป็นของทั้งเอกชนและของรัฐเหล่านี้ ต่างมีอิสระในการดูแลบริหารจัดการระบบภายในเครือข่ายตนเอง ทั้งการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ภายใต้ผู้ผลิตที่หลากหลาย การจัดการการเชื่อมต่อภายในเครือข่ายและการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นๆ รวมไปถึงมาตรการจัดการการเข้าใช้เครือข่ายในรูปแบบที่เจ้าของระบบเครือข่ายนั้นเห็นว่าเหมาะสม แต่สิ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันเหมือนเป็นเครือข่ายหนึ่งเดียวคือ ข้อตกลงที่ทำให้ข้อมูลไหลผ่านระหว่างเครือข่ายย่อยๆ เหล่านี้เสมือนเป็นเครือข่ายใหญ่เดียวกัน

ข้อมูลจากเว็บไซต์หนึ่งๆ เช่น บทความจากเว็บไซต์ไทยพับลิก้า สถานะของเพื่อนบน Facebook หรือคลิปวิดีโอจาก YouTube ก่อนที่จะปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือของผู้อ่านนั้น ต้องเดินทางผ่านเครือข่ายที่มีเจ้าของหลากหลายที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยรับส่งเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเว็บไซต์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา

ตัวอย่างการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้สองคนที่ผ่านตัวกลางที่เป็นเครือข่ายย่อยต่างๆ

เนื่องจากโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตมีลักษณะดังที่กล่าวมา ภาระหน้าที่ของเครือข่ายย่อยในการนำส่งข้อมูลในฐานะตัวกลางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำให้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือ สภาวะที่ทุกคนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตมองเห็นอินเทอร์เน็ตรวมถึงข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตเหมือนๆ กัน

ภาระและบทบาทของตัวกลาง

นับวันรูปแบบการส่งรับข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจะทวีความหลากหลาย (มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมากระหว่างผู้ใช้มากขึ้น แทนที่จะเป็นการรับส่งข้อมูลกับเว็บไซต์แบบรวมศูนย์) มีขนาดของข้อมูลที่ต้องส่งและรับใหญ่ขึ้น (จากข้อความไปเป็นรูปและเสียงรวมไปถึงวิดีโอ) และมีความต้องการความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูลที่มากขึ้น (เช่น การสนทนาด้วยวิดีโอที่ต้องการให้การสนทนาไม่กระตุกหรือขาดช่วง) ความต้องการในการใช้งานที่มากขึ้นเหล่านี้ทำให้ภาระของเครือข่ายย่อยที่เป็นตัวกลางนั้นมากขึ้น เช่น ต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ หรือต้องปรับปรุงหรือเพิ่มค่าเช่าสายสัญญาณเพื่อขยายขนาดช่องสัญญาณ เพื่อป้องกันปัญหาช่องสัญญาณเต็ม

นอกจากนี้ ในหลายๆ กรณี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นตัวกลางจะต้องรับส่งข้อมูลที่นำไปสู่รายได้ให้กับบริษัทอื่นๆ โดยไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ เลย เช่น ในกรณีของโปรแกรมสื่อสารด้วยวิดีโอที่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ หรือการที่บริษัทเช่น Google ได้เงินค่าโฆษณาจากการที่มีผู้ชมคลิปบน YouTube ในขณะที่เครือข่ายตัวกลางต้องรับภาระส่ง-รับข้อมูลวิดีโอปริมาณมหาศาล

แรงกดดันต่อผู้ให้บริการเครือข่ายย่อยและโอกาสทางธุรกิจทำให้เกิดความพยายามที่จะจัดการการใช้งานเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพการให้บริการและในแง่ของด้านการหารายได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เครือข่ายย่อยมีการให้บริการการสื่อสารด้วยเสียง ผู้ให้บริการอาจมีการปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้เครือข่ายใช้โปรแกรมสื่อสารด้วยเสียงของบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง หรืออาจจะมีความพยายามปิดกั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer) ที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนแฟ้มข้อมูลระหว่างผู้ใช้ในเครือข่ายโดยตรง เพราะว่ามีการใช้งานช่องสัญญาณที่สูงมาก การปิดกั้นดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการกีดกันทางเน็ต

การกีดกันทางเน็ตนั้นเกิดขึ้นได้เมื่ออุปกรณ์ในระบบเครือข่ายสามารถคัดกรองข้อมูลที่วิ่งผ่านปริมาณมหาศาลได้ว่าข้อมูลใดจะปล่อยให้ไหลผ่านไปยังผู้ใช้ปลายทาง ข้อมูลใดจะถูกปิดกั้น ด้วยเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้นในการประมวลผลข้อมูล เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการเครือข่ายย่อยรวมถึงรัฐสามารถดำเนินการคัดกรองข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกของการเริ่มมีการปิดกั้นเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย หน่วยย่อยสุดที่สามารถปิดกั้นได้คือทั้งเว็บไซต์ ไม่นานนักระบบก็สามารถปิดกั้นเว็บไซต์เพียงบางหน้าได้ (เช่น เราสามารถเข้าวิกิพีเดียได้ แต่มีบางหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้)

นอกจากการปิดกั้นแล้ว อุปกรณ์เครือข่ายในปัจจุบันยังสามารถบริหารจัดการการใช้งานช่องสัญญาณได้ละเอียดมากขึ้น เช่น สามารถเลือกได้ว่าจะอนุญาตให้ข้อมูลประเภทใดใช้ช่องสัญญาณมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถบริหารจัดการช่องสัญญาณได้อย่างเหมาะสม

เมื่อใดมีการใช้คำว่า ‘เหมาะสม’ เมื่อนั้นก็ย่อมเกิดข้อถกเถียง ตัวอย่างเช่น ภายใต้ระบบดังกล่าว ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถตกลงกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่จะปล่อยให้ข้อมูลไหลผ่านได้เร็วเป็นพิเศษกว่าเว็บไซต์อื่นๆ โดยอาจจะมีเงื่อนไขว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องชำระค่าใช้จ่ายพิเศษ เป็นต้น ในกรณีของการให้บริการวิดีโอออนไลน์ที่ประสิทธิภาพในการรับชมมีผลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้อย่างมาก ความไม่เป็นกลางที่เกิดขึ้นนี้อาจมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจเลยก็ได้

ตัวอย่างที่ผู้ให้บริการเลือกปฏิบัติโดยปรับลดความเร็วของ Video Service A ลงในขณะที่ปล่อยให้ Video Service B เชื่อมต่อด้วยความเร็วปกติ

ความสามารถในการคัดกรองข้อมูลและบริหารจัดการช่องสัญญาณนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างข้อตกลงพิเศษทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเว็บไซต์แล้ว ผู้ให้บริการอาจจะเพิ่มเงื่อนไขในการคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลากหลายรูปแบบ เช่น ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ใช้งานแบบราคาถูกอาจจะเข้าชมเว็บวิดีโอออนไลน์ได้ช้ากว่ากรณีที่ผู้ใช้สมัครบริการแบบราคาแพง ในขณะที่เว็บไซต์อื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ความเร็วเท่าๆ กัน หรืออาจจะมีการรวมเว็บไซต์พิเศษเข้าเป็นกลุ่มโปรโมชั่น เป็นต้น

การปิดกั้นการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตบางประเภทหรือการเลือกปฏิบัติในการนำส่งข้อมูลโดยตัวกลางเป็นตัวอย่างของความไม่เป็นกลางทางเน็ต ซึ่งมีผู้เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับทั้งแนวคิดดั้งเดิมที่ต้องการให้อินเทอร์เน็ตเป็นระบบเปิดและเป็นธรรม และแนวคิดการออกแบบพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตที่ต้องการให้ตัวกลางทำหน้าที่ส่งรับข้อมูลไปยังปลายทางโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นข้อมูลอะไร ส่งมาจากไหน และส่งไปถึงใคร

หลักการความเป็นกลางทางเน็ต

ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) คือหลักการที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษใดๆ เช่น จะต้องไม่สนใจว่าข้อมูลเป็นของผู้ใช้คนใด เนื้อหาเป็นอย่างไร มาจากเว็บไซต์ใด หรือทำงานบนโปรแกรมประยุกต์ใด เป็นต้น

หลักการดังกล่าวก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อรองรับหลักการดังกล่าว

กลุ่มผู้สนับสนุนหลักการความเป็นกลางทางเน็ต มีตั้งแต่บุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาอินเทอร์เน็ต เช่น Vinton Cerf ผู้ร่วมคิดค้นรูปแบบการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต และ Tim Berners-Lee ผู้คิดค้นเว็บ และบริษัทรายใหญ่มากมาย เช่น Yahoo, Amazon, Netflix, Wikipedia และ Microsoft ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าร่วมสนับสนุนหลักการนี้

ผู้สนับสนุนหลักการดังกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และระบุว่าอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นกลางนั้น ในแง่ของผู้ให้บริการอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ให้บริการที่สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมสำหรับข้อตกลงพิเศษ ที่เปรียบเสมือนการได้วิ่งในช่องทางพิเศษ (fast lane) ได้ กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ความไม่เป็นธรรมนี้จะทำลายการพัฒนานวัตกรรม

ส่วนในแง่ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้น สภาวะความไม่เป็นกลางทางเน็ตอาจทำให้ตัวกลางสามารถควบคุมการกระจายของข้อมูลได้ โดยเลือกให้เว็บไซต์ใดสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วหรือเข้าถึงได้ช้า หรือกระทั่งปิดกั้นการเข้าถึงของข้อมูลบางประเภทได้ การดำเนินการดังกล่าวขัดกับความต้องการให้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่เปิดและอนุญาตให้ข้อมูลต่างๆ เผยแพร่ได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทางฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการความเป็นกลางทางเน็ตนั้น นอกจากจะมีกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ยังมีวิศวกรเครือข่ายระดับแนวหน้าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Bob Kahn ซึ่งเป็นผู้รวมคิดค้นรูปแบบการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต (ร่วมกับ Vinton Cerf ซึ่งสนับสนุนหลักการนี้) กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับหลักการความเป็นกลางทางเน็ตนั้นกล่าวว่า การพยายามทำให้ตัวกลางในการส่งข้อมูลมีความเป็นกลางนั้นกลับจะเป็นการทำลายนวัตกรรมใหม่ทางอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ อินเทอร์เน็ตภายใต้การออกแบบเดิมพบกับปัญหาในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของการรับประกันคุณภาพการสื่อสาร ความพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นกลาง เป็นความพยายามที่จะรักษาอินเทอร์เน็ตแบบเดิมๆ เอาไว้ และอาจจะเป็นข้อจำกัดที่จะขัดขวางนวัตกรรมใหม่ๆ ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ภาพอนาคตที่เลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยอมให้เครือข่ายต่างๆ สามารถบริหารจัดการรับข้อมูลแบบเลือกปฏิบัติได้ เช่น การที่ผู้คนจะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนได้ถ้าไม่จ่ายเงิน หรือการที่อินเทอร์เน็ตจะถูกแบ่งเป็นส่วนสำหรับผู้ใช้ร่ำรวยกับผู้ใช้ยากจนนั้น กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยึดหลักความเป็นกลางบางคนก็เห็นว่าเป็นการมองโลกแบบขาว-ดำเกินไป ทั้งนี้ธุรกิจจะไม่ทำอะไรที่ขัดกับความต้องการอย่างมากของผู้ใช้ และนอกจากนี้ ธุรกิจที่แข่งขันกันและพยายามจะสร้างรายได้จะไม่ปล่อยให้เกิดสภาวะที่มีช่องว่างดังกล่าวแน่นอน โดยน่าจะมีธุรกิจที่พยายามจะเข้ามาในช่องว่างระหว่างอินเทอร์เน็ตสุดโต่งทั้งสองข้าง เป็นต้น

บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยังกล่าวว่า การแบ่งระดับการบริการตามต้นทุนนั้น เป็นธรรมชาติของงานขนส่งโดยทั่วไป รวมทั้งรายได้จากการจัดระดับการให้บริการนั้นจะสามารถนำมาใช้พัฒนาเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของอินเทอร์เน็ตได้ และในกรณีที่จะมีการออกกฎหมายนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้กล่าวว่าในระบบที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนานั้นการกำกับดูแลที่มาเร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงได้

กรณีของซีโร่เรทติ้ง (Zero-rating)

ในหลายๆ ประเทศ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านทางอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง Facebook และ Google ได้สร้างข้อตกลงกับผู้ให้บริการในหลายๆ ประเทศที่จะไม่คิดค่าข้อมูลในการใช้บริการของตนผ่านทางโครงการที่เรียกว่า Facebook Zero และ Google Free Zone ในกรณีของประเทศไทย DTAC ได้มีข้อตกลงกับ Facebook ในการดำเนินงานโครงการ Facebook Zero ในขณะที่ AIS ได้มีข้อตกลงให้บริการ Google Free Zone

การที่ผู้ให้บริการเลือกปฏิบัติที่จะไม่คิดค่าบริการการใช้งานข้อมูลสำหรับการใช้งานบางบริการ ที่เรียกรวมๆ กันว่าแนวปฏิบัติซีโร่เรทติ้งนี้ แม้ช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ก็ขัดกับหลักการความเป็นกลางทางเน็ตอย่างชัดเจน เพราะทำให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือข้อมูลเหล่านี้ได้เปรียบผู้ให้บริการอื่นๆ ผู้สนับสนุนหลักการความเป็นกลางทางเน็ตหลายคนกล่าวว่าการทำซีโร่เรทติ้งนี้ ผู้ไม่มีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตแบบเต็มรูปแบบก็จะมองแค่ว่าอินเทอร์เน็ตคือ Facebook หรือ Google เป็นต้น และการแก้ปัญหาอัตราค่าใช้จ่ายในการใช้บริการข้อมูลของโทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาสูงโดยวิธีสร้างข้อตกลงพิเศษนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแต่อย่างใด

นอกจากบริษัทที่แสวงหากำไรทั้งสองบริษัทแล้ว เว็บไซต์สารานุกรมเสรี Wikipedia ภายใต้การเรียกร้องจากผู้ใช้ได้เริ่มโปรแกรมที่เรียกว่า Wikipedia Zero โดยมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนหนึ่งที่จะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้วิกิพีเดียได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ Wikipedia ประกาศอย่างชัดแจ้งว่าสนับสนุนหลักการความเป็นกลางทางเน็ต โครงการ Wikipedia Zero กลับดำเนินการขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว

ทางมูลนิธิ WikiMedia ผู้ดำเนินการดูแลเว็บไซต์ Wikipedia ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว โดยกล่าวว่าเป้าหมายหลักของมูลนิธิคือการเผยแพร่ความรู้ ดังนั้นโครงการ Wikipedia Zero นั้น แม้จะขัดแย้งกับหลักการอื่น ก็ยังเป็นการดำเนินการเพื่อจุดประสงค์ตั้งต้น นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ เช่น มูลนิธิจะไม่มีการรับหรือจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ จะรองรับผู้ให้บริการทุกเจ้าโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือจะต้องไม่นำ Wikipedia Zero ไปรวมเป็นกลุ่มโปรโมชั่นอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งได้ระบุว่าทางเลือกนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น และอีกไม่นานราคาการใช้งานข้อมูลน่าจะถูกลง จนไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ Wikipedia Zero อีกต่อไป

แน่นอนว่าเงื่อนไขดังกล่าวตอบข้อสงสัยด้านการเงินได้ แต่ผู้สนับสนุนด้านหลักการความเป็นกลางหลายคนก็ยังผิดหวังกับทางเลือกนี้ของวิกิพีเดีย โดยเทียบการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการนำพลาสเตอร์ไปแปะให้กับผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนเท่านั้นเอง มูลนิธิ Electronics Frontier (EFF) ได้กล่าวว่า “ถึงแม้จะชื่นชมความตั้งใจในกรณีของ Wikipedia Zero แต่บริการแบบซีโร่เรทติ้งเป็นการประนีประนอมที่อันตราย”

ความเป็นกลางทางเน็ตกับประเทศไทย

พัฒนาการของเทคโนโลยี นอกจากจะขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ แต่ก็มักจะทำให้เกิดข้อหัวข้อถกเถียงใหม่ขึ้นเสมอ

ในขณะที่โลกอินเทอร์เน็ตอยู่ระหว่างการถกเถียงในประเด็นหลักการความเป็นกลางทางเน็ต ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังคงต้องมีชีวิตอยู่กับการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ภายในสภาวะที่ผู้ใช้งานเครือข่ายถูกเฝ้าสอดส่องดูแล ก็ได้มีความพยายามขยายการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเข้ารหัส เพื่อที่จะป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและหลีกเลี่ยงความพยายามของตัวกลางในหลายๆ กรณีที่จะพยายามปิดกั้นข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเข้าถึง Facebook ผ่านทางรูปแบบการเข้าใช้ https ที่มีการเข้ารหัสข้อมูล ผู้ให้บริการเครือข่ายตัวกลางจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ ดังนั้น การจะปิดกั้นเว็บไซต์ที่ให้บริการแบบเข้ารหัส เช่น Facebook นั้นจะไม่สามารถดำเนินการแยกเป็นเพจหรือเป็นบางส่วนได้ แต่จะต้องปิดทั้งเว็บไซต์ ซึ่งมีผลกระทบมากเกินกว่าจะมีผู้ให้บริการรายใดยินยอมเป็นต้น

ตัวอย่างข้างต้น อาจทำให้เราคิดว่าประเด็นด้านความเป็นกลางทางเน็ตนั้นอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวจากผู้ใช้ในประเทศไทย (เพราะว่ายังคงติดอยู่กับปัญหาการเข้าถึงเว็บต่างๆ อยู่) อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนอกจากจะเป็นประเด็นด้านแนวคิดพื้นฐานแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของอินเทอร์เน็ต ทั้งในด้านเทคนิคและด้านธุรกิจ เมื่อบทสรุปของข้อถกเถียงออกมา ไม่ว่าจะด้วยข้อตกลงหรือข้อกฎหมาย ย่อมจะมีผลต่อทางเลือกอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

•บทความ Net Neutrality

•ข่าวที่ ComCast กับบริษัทวิดีโอออนไลน์มีข้อตกลงพิเศษเกี่ยวกับใช้ช่องสัญญาณ:

• เส้นเวลาของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกลางทางเน็ต

•ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการความเป็นกลางทางเน็ต เช่นFarber และ Katz, Hold Off On Net Neutrality, Pepper, Network Neutrality: Avoiding a Net Loss

•คำวิจารณ์กรณี Facebook Zero เช่น Mike Ludwig, When Facebook Is the Internet: Zero-Rating and the Global Net Neutrality Debate

•คำแถลงจากวิกิพีเดียในประเด็นของวิกิพีเดียซีโร่กับความเป็นกลางทางเน็ต

•คำวิพากษ์วิจารณ์กรณีวิกิพีเดียซีโร่ เช่น Raegan MacDonald, Wikipedia Zero and net neutrality: Wikimedia turns its back on the open internet, Jeremy Malcolm, Net Neutrality and the Global Digital Divide

ที่มา: http://thaipublica.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: