การที่เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในท้องที่ต่างๆนิยมใช้โปรแกรม”ไลน์” ในการส่งข้อมูลผลการจับกุมตลอดจนรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องแก่ผู้บังคับบัญชารวมไปถึงเพื่อนร่วมหน่วยงาน โดยเมื่อข้อมูลเหล่านั้นถูกส่งไป หากเป็นข้อมูลที่สามารถช่วยทำให้เป็นที่น่าสนใจของสังคมก็มักจะมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่นเฟซบุ๊ค ที่หลายหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติไล่ไปตั้งแต่ระดับสถานีจนถึงระดับกองบัญชาการหรือสูงกว่ามีการเปิดเป็นเพจของตัวเอง โดยเจ้าหน้าที่มักจะทำไปเพื่อให้เกิดผลในการป้องกันสังคมไม่ให้คนคิดกระทำความผิด เพราะเห็นถึงผลที่จะตามมา แต่ในการลงข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ที่ถูกจับกุมในหลายครั้ง พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเป็นคนกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ?
เริ่มไปตั้งแต่เรื่องเล็กๆอย่างเช่นการจับกุมมนัส บุญจำนงค์ อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิคในคดีทำให้เสียทรัพย์ ที่มีภาพของเจ้าตัวขณะทำบันทึกการจับกุมหลุดรอดออกมาสู่สาธารณะจนเจ้าตัวออกมาที่จะฟ้องผู้ที่ทำการเผยแพร่ เพราะทำให้เกิดความเสียหาย รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากการจับกุมผู้ต้องหาในคดีต่างๆที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวคนในสังคมอาจมองเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ที่กระทำผิดอาจดูเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจจะทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างอย่างลำบากโดยเฉพาะผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากขึ้นในปัจจุบัน
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ถูกจับกุมออกสู่สาธารณะนั้น หากเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับกุมเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว การเผยแพร่ก็มักจะลงภาพให้เห็นรูปร่างหน้าตา ของกลางที่ใช้ในการกระทำผิด ในบางแห่งก็อาจจะลงไปในรายละเอียดเช่นชื่อ อายุ ที่อยู่ ประกอบกับรายละเอียดข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำผิด แต่ในกรณีของเด็กและเยาวชนกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 130 ที่ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีเด็กและเยาวชนกระทำผิดในหลายๆครั้งมักมีการลงภาพถ่ายที่มีการเซ็นเซอร์หน้าตาออกเพื่อไม่ให้คนจำหน้าเด็กได้ หากแต่เมื่อมองลึกลงไปเจ้าหน้าที่กลับลงรายละเอียดตั้งแต่ชื่อ ที่อยู่ อายุ ตลอดจนบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนลงไปในสื่อเหล่านี้อย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งหลังจากนั้นมักจะมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อว่าและประณามพฤติกรรมการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเหล่านั้นเหมือนกับที่แสดงออกถึงการประณามพฤติกรรมในการกระทำผิดของคนวัยผู้ใหญ่
ในเชิงอาชญาวิทยา เราพบว่าการที่กฎหมายได้บัญญัติถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดก็เพื่อต้องการให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับตัวออกมาเป็นคนดีของสังคมได้ภายหลังจากการที่เข้ารับการฝึกอบรมตามที่ศาลได้ตัดสิน เพราะการที่สังคมไม่รู้ถึงอดีตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดจะทำให้ไม่เกิดเป็นปมในใจกับตัวเด็กจากการที่ถูกคนในสังคมตราหน้าว่าเด็กเหล่านี้เป็นคนเลวหรือคนไม่ดี เพราะเชื่อว่าการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนกระทำไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยเหตุแห่งความอ่อนความสำนึกหรือยังขาดการเรียนรู้ที่ไม่ดีพอ การที่มีผู้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกสู่สาธารณะจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 192 ที่มีบทกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในส่วนนี้นั้นถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะควบคุมไม่ให้รายละเอียดของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดหลุดรอดออกไปสู่สังคมภายนอก เพราะหากคนในสังคมได้รู้ถึงการกระทำผิดของเด็กอย่างกว้างขวาง จะทำให้เกิดการตีตรา (Labeling) และการประณามจนเกิดความอับอาย (Shame) ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาการกระทำผิดซ้ำเพราะไม่มีทางเลือกที่จะเป็นคนดี ซึ่งเมื่ออายุพ้นเกณฑ์เยาวชน ก็จะถูกส่งตัวสู่เรือนจำหรือทัณฑสถาน ซึ่งเมื่อออกมาและไร้ทางเลือก พวกเขาก็จะกลับไปกระทำผิดซ้ำและเข้าสู่วงจรเดิมของการใช้ชีวิตที่ใช้การกระทำผิดกฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้ชีวิตอยู่รอด ที่อาจทำให้เด็กและเยาวชนกระทำผิดเล็กๆในวันนี้ เติบโตไปเป็นอาชญากรผู้มากความสามารถในการกระทำผิดกฎหมายในวัยผู้ใหญ่ได้ในอนาคต
หากมองย้อนกลับไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อลงภาพเด็กและเยาวชนกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางครั้งที่มีการลงข้อมูลไปถึงรายละเอียดในตัวเด็ก ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายเสียเองนั้น อาจถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดผลร้ายกับสังคมในทางอ้อม เพราะเป็นการผลิตซ้ำถึงการตีตราและประณามตัวเด็กเยาวชนกระทำผิด ส่งผลให้เด็กที่แม้ภายหลังจะกลับตัวเป็นคนดี แต่สังคมก็ไม่อาจให้ที่ยืนแก่เขาในการจะประกอบสัมมาอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้อง เพราะเพียงรู้ว่าเคยเป็นเด็กที่เกเร กระทำความผิดมาก่อน ซึ่งคนหลายๆคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวเองเพราะตนไม่ได้เป็นคนกระทำผิด บางทีก็ยังชอบที่จะเห็นการลงข้อมูลเหล่านี้เพื่อเป็นการตอกย้ำถึง”การขจัดคนเลว” ที่ตนสามารถมีส่วนร่วมได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ข้อมูลเหล่านั้นไปสู่สาธารณะ หรือนี่อาจเป็นเพียงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในการโพสต์เนื้อหาเหล่านี้ลงไปในสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่อาจตามมา ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนจึงควรที่จะตระหนักถึงเรื่องเล็กๆอย่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่กระทบกระเทือนไปถึงสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนกระทำผิดตามที่กฎหมายได้คุ้มครอง เพื่อให้เขาเหล่านั้นเติบโตต่อไปได้ในสังคมไทยอย่างมีคุณภาพ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐควรจะคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคมอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่อาจเป็นต้นตอของปัญหาสังคมอื่นๆ โดยยึดถือหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน
ภาพประกอบ ตำรวจโพสต์เรื่องเด็กเยาวชนกระทำผิด
ตัวอย่างการลงข้อความที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ