เมื่อใดจึงมีอำนาจ

Gene Sharp (แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร) 21 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2386 ครั้ง


แปลจาก Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy (East Boston, MA: The Albert Einstein Foundation, 2010). บทที่ 3


แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร อำนาจแบบใดที่เพียงพอจะช่วยให้ฝ่ายต่อต้านนิยมประชาธิปไตยโค่นล้มเผด็จการและเครือข่ายขนาดใหญ่ของทหารและตำรวจได้ คำตอบอยู่ที่การทำความเข้าใจอำนาจทางการเมืองที่บ่อยครั้งถูกละเลย การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวให้ถ่องแท้จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยาก ความจริงพื้นฐานบางประการเป็นเรื่องค่อนข้างง่ายด้วยซ้ำไป

นิทานสอนใจเรื่อง “เจ้านายลิง”

นิทานสุภาษิตจีนที่เขียนในศตวรรษที่ 14 โดยหลิวจือ เป็นตัวอย่างที่ช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองที่ถูกมองข้ามได้เป็นอย่างดี[1]:

ในรัฐศักดินาของแคว้นฉู มีชายชราคนหนึ่งมีชีวิตด้วยการเลี้ยงลิงไว้รับใช้ ผู้คนในแคว้นฉูเรียกเขาว่า “จูกง” (เจ้านายลิง)

เช้าของแต่ละวัน ชายชราจะเรียกลิงมารวมที่ลานบ้าน แล้วจึงเรียกลิงตัวที่อายุมากที่สุดให้เดินนำไปยังภูเขาเพื่อเก็บผลไม้จากพุ่มไม้และต้นไม้ โดยมีกฎว่าลิงแต่ละตัวจะต้องให้ผลไม้ที่เก็บได้หนึ่งในสิบส่วนแก่ชายชรา ลิงตัวใดที่ทำไม่ได้จะโดนเฆี่ยนตีอย่างทารุณ ลิงทุกตัวล้วนแต่ทรมานและขื่นขม แต่ไม่กล้าเรียกร้อง

วันหนึ่ง เจ้าลิงน้อยตัวหนึ่งถามลิงตัวอื่นๆ ว่า “ชายชราเป็นผู้ปลูกต้นและพุ่มผลเหล่านั้นทั้งหมดหรือ” ลิงตัวอื่นๆ ตอบว่า “ไม่นะ พวกมันเติบโตเองตามธรรมชาติ” ลิงตัวน้อยถามต่อว่า “หากชายชราไม่อนุญาต เราจะเก็บผลไม้ทั้งหมดนั้นไม่ได้หรือ?” ลิงตัวอื่นๆ ตอบว่า “ไม่นะ เราทุกคนทำได้” ลิงตัวน้อยจึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราต้องไปขึ้นอยู่กับชายชราด้วยล่ะ ทำไมเราทุกคนต้องรับใช้เขาด้วย”

ก่อนที่ลิงน้อยจะได้จบถ้อยแถลงของตน ลิงตัวอื่นๆ ก็ตาสว่างและตื่นขึ้นจากความหลับใหลโดยทันที

ในคืนของวันเดียวกันนั้น เมื่อเห็นว่าชายชราหลับแล้ว ฝูงลิงจึงพังรั้วกรงทั้งหมดที่ห้อมล้อมพวกมันไว้ และทำลายมันทิ้งทั้งหมด พวกมันนำผลไม้ทั้งหมดที่ชายชราเก็บไว้ในเสบียง ติดตัวเข้าป่าไปด้วย และไม่หวนกลับไปอีกเลย ชายชราเสียชีวิตในที่สุดเนื่องจากขาดอาหาร

หยูลี่จือ กล่าวว่า “มนุษย์บางพวกบนโลกนี้ปกครองประชาชนโดยใช้เล่ห์กล แต่ไม่ใช้หลักคุณธรรม พวกเขาไม่เหมือนกับเจ้านายลิงผู้นี้หรือ พวกเขาไม่ตระหนักถึงความหัวรั้นเหลวไหลของตน ทันทีที่ประชาชนของพวกเขาตาสว่าง เล่ห์กลของพวกเขาจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป”

แหล่งอำนาจทางการเมืองที่จำเป็น

หลักการของเรื่องนี้ไม่ยากเลย เผด็จการต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชนที่พวกเขาปกครอง หากปราศจากประชาชน พวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องและรักษาแหล่งอำนาจทางการเมืองได้ แหล่งอำนาจทางการเมืองเหล่านี้ ได้แก่

  1. สิทธิอำนาจ: ความเชื่อในหมู่ประชาชนว่าระบอบเผด็จการเป็นสิ่งชอบธรรม และพวกเขามีหน้าที่ทางคุณธรรมในการยินยอมต่อระบอบดังกล่าว
  2. ทรัพยากรมนุษย์: จำนวนและความสำคัญของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความยินยอม ความร่วมมือ และความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง
  3. ทักษะและความรู้: ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเผด็จการในการทำบางสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะ โดยทักษะและความรู้นั้นมาจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความร่วมมือ
  4. ปัจจัยที่จับต้องไม่ได้: ปัจจัยทางอุดมการณ์และปัจจัยทางจิตวิทยาซึ่งอาจทำให้ประชาชนยินยอมและสนับสนุนผู้ปกครอง
  5. การคว่ำบาตร หรือการลงโทษรูปแบบต่างๆ ที่เอาไว้ข่มขู่หรือจัดการกับผู้ที่ขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อให้มั่นใจว่าความยินยอมและความร่วมมือที่จำเป็นจะยังอยู่ และทำให้ระบอบยังคงอยู่และสามารถดำเนินนโยบายของตนได้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการให้ความยินยอมกับระบอบ  ความจำนนและยอมตามของประชากร ความร่วมมือจากประชาชนเหลือคณานับและจากสถาบันจำนวนมากในสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือของเผด็จการเสมอไป การให้ความร่วมมือ การยอมตาม และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จะเพิ่มทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการใช้อำนาจให้มากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มพูนศักยภาพในการใช้อำนาจของรัฐบาล

อีกด้านหนึ่ง การลดคะแนนนิยมและถอนความร่วมมือเชิงสถาบันที่มีให้แก่เผด็จการและผู้ก้าวร้าวต่าง ๆ จะช่วยลดและตัดการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางอำนาจซึ่งผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องใช้ หากปราศจากทรัพยากรเหล่านี้ อำนาจของผู้ปกครองจะอ่อนแอลงและแหลกสลายไปในที่สุด

โดยธรรมชาติแล้ว เผด็จการจะเปราะบางต่อการกระทำและความคิดที่เป็นภัยคุกคามต่อขีดความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของตน ดังนั้น เผด็จการจึงมีแนวโน้มที่จะคุกคามและลงโทษผู้คนที่ขัดขืน ประท้วงต่อต้าน หรือไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านั้น  การกดขี่ปราบปรามหรือกระทั่งความโหดร้ายทารุณไม่ได้ดึงเอาความยอมจำนนและความร่วมมือที่จำเป็นต่อการทำงานของระบอบกลับมาได้เสมอไป

ถ้าต่อให้มีการปราบปราม แต่แหล่งอำนาจยังถูกจำกัดและตัดขาดไม่ให้เข้าถึงได้นานพอ ผลลัพธ์ในระยะแรกอาจเป็นความสับสนอลหม่านภายในระบอบเผด็จการ สิ่งนี้มีแนวโน้มนำไปสู่การบั่นทอนอำนาจของเผด็จการให้อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา นานวันเข้า การตัดขาดการเข้าถึงแหล่งอำนาจจะสามารถทำให้ระบอบเป็นอัมพาต ไร้สมรรถภาพ หรือในกรณีร้ายแรงที่สุด อาจนำไปสู่การล่มสลายได้ อำนาจเผด็จการจะตาย ไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากความหิวโหยอดอยากอำนาจ

ด้วยเหตุนี้เอง ระดับเสรีภาพหรือความเป็นทรราชของรัฐบาลใดก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นภาพสะท้อนเจตจำนงภายในหมู่ผู้ถูกปกครองกันเองที่ต้องการจะเป็นอิสระ และความสามารถในการต่อต้านที่เทียบกับความพยายามในการกดผู้ถูกปกครองลงเป็นทาส

ตรงกันข้ามกับความเห็นของคนจำนวนมาก แม้แต่บรรดาเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ยังต้องพึ่งพาประชากรและสังคมที่ตนปกครอง ดังที่ Karl W. Deutsch นักรัฐศาสตร์ได้ระบุไว้เมื่อปี 1953 ว่า:

“อำนาจเบ็ดเสร็จแข็งแกร่งก็ต่อเมื่อมันมิได้ถูกใช้บ่อยเกินไป หากอำนาจเบ็ดเสร็จต้องถูกใช้กับประชากรทั้งหมดตลอดเวลา มีแนวโน้มว่ามันจะทรงพลังอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จต้องใช้พลังอำนาจเพื่อจัดการกับผู้อยู่ใต้ปกครองมากกว่ารัฐบาลรูปแบบอื่น ระบอบดังกล่าวจึงอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องอาศัยพฤติการณ์เชื่อฟังที่พึ่งพาได้ในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังต้องสามารถพึ่งพาแรงสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประชากรที่มีจำนวนมากพอเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงคราวจำเป็นอีกด้วย”[2]  

John Austin นักทฤษฎีกฎหมายในศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษ ได้อรรถาธิบายถึงสถานการณ์ของเผด็จการเมื่อเผชิญหน้ากับประชาชนที่เสื่อมศรัทธาเอาไว้ Austin เสนอว่า ถ้าหากประชากรเกือบทั้งหมดมุ่งมาดในการทำลายรัฐบาลและเต็มใจที่จะทนทานต่อการปราบปรามเพื่อกระทำการดังกล่าว เมื่อนั้น ความแข็งแกร่งของรัฐบาล รวมไปถึงผู้สนับสนุนรัฐบาล ย่อมไม่สามารถสงวนรักษารัฐบาลอันเป็นที่เกลียดชังให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่ามันจะได้รับการสนับสนุนต่างชาติก็ตาม Austin สรุปส่งท้ายว่า ประชาชนที่แข็งขืนไม่อาจถูกบังคับให้กลับไปอยู่ในสภาวะการจำยอมหรืออยู่ภายใต้การปกครองได้ตลอดไป[3]

Niccolo Machiavelli ได้เสนอไว้ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้วว่า เจ้าผู้ปกครอง (the prince) “ผู้ซึ่งมีสาธารณชนทั้งหมดเป็นศัตรูไม่มีวันดำรงตนให้ปลอดภัยอยู่ได้ และยิ่งความโหดร้ายของเขามากขึ้นเท่าไหร่ ระบอบของเขานั้นไซร้จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น”[4]

การประยุกต์ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ในทางการเมืองและในทางปฏิบัติได้รับการสาธิตเป็นตัวอย่างแล้วโดยกลุ่มชาวนอร์เวย์ผู้ต่อต้านการรุกรานจากนาซี ดังที่อ้างถึงในบทที่ 1 และโดยกลุ่มชาวโปแลนด์ ชาวเยอรมัน ชาวเชก ชาวสโลวัก และคนสัญชาติอื่น ๆ อีกมากที่ต่อต้านการรุกรานและความเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ และช่วยให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปล่มสลายลงได้ในท้ายที่สุด แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เหตุการณ์การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงย้อนกลับไปได้ถึง 494 ปีก่อนคริสตกาลเมื่อสามัญชน (plebeians) ถอดถอนความร่วมมือจากบรรดาชนชั้นนำชาวโรมัน[5] การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงถูกใช้โดยประชาชนในหลากหลายโอกาส ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย รวมไปถึงหมู่เกาะแปซิฟิก และทวีปยุโรป

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสามประการที่เป็นตัวกำหนดระดับที่อำนาจของรัฐบาลจะถูกควบคุมหรือไม่ถูกควบคุมจึงได้แก่ (1) ความปรารถนาเชิงสัมพัทธ์ของประชากรในการจำกัดอำนาจของรัฐบาล (2) ความแข็งแกร่งเชิงสัมพัทธ์ขององค์การและสถาบันอิสระของผู้อยู่ใต้ปกครองในการร่วมกันถอดถอนแหล่งที่มาของอำนาจ และ (3) ความสามารถเชิงสัมพัทธ์ของประชากรในการปฏิเสธไม่มอบความยินยอมและการสนับสนุนให้กับเผด็จการ

ศูนย์กลางของอำนาจประชาธิปไตย

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยคือการมีกลุ่มและสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐบาลจำนวนมากที่เป็นอิสระจากรัฐ ตัวอย่างของสิ่งเหล่านี้ เช่น ครอบครัว องค์การศาสนา สมาคมทางวัฒนธรรม สโมสรกีฬา สถาบันทางเศรษฐกิจ สหภาพแรงงาน สมาคมนักศึกษา พรรคการเมือง หมู่บ้าน สมาคมเพื่อนบ้าน ชมรมคนทำสวน องค์กรสิทธิมนุษยชน ชมรมดนตรี ชุมชนวรรณกรรม ฯลฯ องค์กรเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรเองและช่วยในการบรรลุความต้องการที่จำเป็นของสังคมด้วย

ยิ่งกว่านั้น องค์กรเหล่านี้ยังมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งยวด พวกมันได้สร้างกลุ่มและรากฐานเชิงสถาบันที่ซึ่งประชาชนสามารถมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของสังคมของตนและต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มอื่นๆ หากกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ กิจกรรม และวัตถุประสงค์ของกลุ่มตนอย่างไม่เป็นธรรม ปัจเจกที่ถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวและไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าว โดยปกติแล้วจะไม่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อภาคส่วนอื่นของสังคมได้ ยิ่งเป้าหมายเป็นรัฐบาลแล้วยิ่งสร้างผลกระทบได้น้อยกว่ามาก และแน่นอนว่าหากเป้าหมายเป็นเผด็จการเสียแล้ว ปัจเจกยิ่งไม่สามารถสร้างผลกระทบอะไรต่อมันได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หากอำนาจอิสระ (autonomy) และเสรีภาพขององค์กรต่างๆ ที่ว่านี้สามารถถูกพรากไปได้โดยเผด็จการ ประชากรจะไม่สามารถดูแลตนเองได้พร้อมกับที่เผด็จการมีอำนาจบาดใหญ่ขึ้น หากสถาบันต่างๆ เหล่านี้โดยตัวมันเองสามารถถูกควบคุมโดยระบอบศูนย์กลางได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือถูกแทนที่ได้โดยสถาบันใหม่ที่ได้รับการควบคุมเสียแล้ว พวกมันสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อครอบงำทั้งสมาชิกแต่ละคน รวมถึงอาณาบริเวณดังกล่าวของสังคมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอำนาจอิสระและเสรีภาพของสถาบันพลเมืองอิสระ (ที่อยู่นอกจากควบคุมของรัฐบาล) สามารถถูกรักษาหรือทวงคืนกลับมาได้ สถาบันเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการใช้การแข็งขืนทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง คุณลักษณะร่วมของบรรดาตัวอย่างที่อ้างถึงข้างต้น ที่ซึ่งเผด็จการได้ถูกทำให้แตกสลายหรืออ่อนแอลงไปนั้น คือการใช้การขืนต้านทางการเมืองในระดับมวลชนอย่างกล้าหาญโดยประชากรและสถาบันต่างๆ ของตน

ดังที่กล่าวไว้แล้ว ศูนย์กลางอำนาจเหล่านี้ได้สร้างรากฐานทางสถาบันซึ่งประชาชนทั้งหมดสามารถสำแดงแรงกดดันหรือต่อต้านการควบคุมของเผด็จการได้ ในอนาคต พวกมันจะกลายเป็นฐานโครงสร้างที่ขาดไม่ได้ของสังคมที่เสรี  ด้วยเหตุนี้ ความเป็นอิสระ รวมถึงการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของศูนย์กลางอำนาจเหล่านี้จึงมักเป็นเงี่อนไขก่อนที่การต่อสู้ปลดแอกจะประสบความสำเร็จ

ถ้าหากเผด็จการประสบความสำเร็จในการทำลายหรือควบคุมองค์การอิสระของสังคมโดยส่วนใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ผู้ต่อต้านจำต้องสร้างกลุ่มหรือสถาบันทางสังคมขึ้นทดแทน หรือสอดแทรกการควบคุมอย่างเป็นประชาธิปไตยกลับเข้าไปในองค์กรที่ยังเหลือรอดหรือถูกควบคุมเพียงบางส่วน ในช่วงการปฏิวัติฮังการี เมื่อ ค.ศ. 1956 – 1957 สภาประชาธิปไตยทางตรงปรากฏตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทั่งร่วมกันเพื่อก่อตั้งระบบสมาพันธ์ของสถาบันและโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการ (governance) ทั้งหมดเป็นเวลาหลายสัปดาห์  ในโปแลนด์ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 บรรดาคนงานได้รักษา Solidarity Union ที่ผิดกฎหมายเอาไว้ และในบางกรณี ยังเข้าควบคุมสหภาพแรงงานของทางการที่ถูกครอบงำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ด้วย พัฒนาการทางสถาบันดังกล่าวสามารถส่งผลลัพธ์ทางการเมืองที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งได้

แน่นอนว่า ไม่มีสิ่งใดในนี้เลยที่บอกว่าการบั่นทอนหรือทำลายเผด็จการเป็นงานง่าย หรือบอกว่าความพยายามทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้จะปราศจากการบาดเจ็บล้มตาย เพราะพวกที่ยังรับใช้เผด็จการอยู่มีแนวโน้มจะโจมตีตอบโต้เพื่อพยายามบังคับให้ประชากรกลับไปให้ความร่วมมือหรือเชื่อฟังเผด็จการดังเดิม

อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจข้างต้นมีความหมายว่าการบ่อนทำลายเผด็จการอย่างสุขุมรอบคอบเป็นสิ่งเป็นไปได้อย่างแน่นอน เผด็จการเองมีคุณลักษณะเฉพาะที่ส่งผลให้พวกมันเปราะบางเป็นอย่างยิ่งต่อการขืนต้านทางการเมืองที่ปฏิบัติการอย่างมีทักษะ ขอให้เราพิจารณาคุณลักษณะเหล่านี้ในรายละเอียดต่อไป



[1] นิทานเรื่องนี้แต่เดิมมีชื่อว่า “ปกครองโดยเล่ห์กล” มาจาก อู่ลี่จือ เขียนโดย หลิวจือ (ค.ศ. 1311-1375) และได้รับการแปลโดย Sidney Tai ขอสงวนลิขสิทธิ์ไว้ด้วยประการทั้งปวง อู่ลี่จือยังเป็นนามปากกาของหลิวจืออีกด้วย ฉบับแปลได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน Nonviolent Sanctions: News from the Albert Einstein Institution (Cambridge, Mass), Vol. IV, No. 3 (Winter 1992-1993), p. 3.  

[2] Karl W. Deutsch, “Cracks in the Monolith,” in Carl J. Friedrich, ed., Totalitarianism (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 1954), pp.313-314.

[3] John Austin, Lectures on Jurisprudence or the Philosophy of Positive Law (Fifth edition, revised and edited by Robert Campbell, 2 vol., London: John Murray, 1911 [1861]), Vol. I, p. 296.

[4] Niccolo Machiavelli, “The Discourses on the First Ten Books of Livy,” in The Discourses of Niccolo Machiavelli (London: Routledge and Kegan Paul, 1950), Vol. I, p.296.

[5] โปรดดู Gene Sharp, The Politics of Nonviolent Action (Boston: Porter Sargent, 1973), p.75 และตัวอย่างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ปรากฏบ่อยอยู่ในหนังสือ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: