ผมมีโอกาสได้เดินทางมาสังเกตการณ์เลือกตั้งของศรีลังกาเป็นเวลากว่าสองอาทิตย์ การเมืองที่นี้ค่อนข้างน่าสนใจ หลังจากที่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ศรีลังกาก็มีสงครามกลางเมืองยืดเยื้ออย่างยาวนานกินเวลากว่า 30 ปี ระหว่างชาวสิงหล ประชาชนส่วนใหญ่ กับกบฎพยัคฆ์ทมิฬ ชาวทมิส่วนน้อยทางภาคตะวันออกและทางตอนเหนือที่อยากแยกตัวเป็นรัฐอิสระ และผู้ที่จบสงครามนี้ได้อย่างเด็ดขาด (ด้วยการสังหารกบฎชาวทมิฬและผู้นำทั้งหมด) คือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ‘มหินทะ ราชปักษา’ จึงทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น และสามารถชนะเลือกตั้งได้ในปี 2005 และในปี 2010
กฎหมายของศรีลังกานั้นให้ประธาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ถึง 6 ปีแต่ไม่เกินสองสมัย ราชปักษาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 1 สมัยเต็ม คือ 6 ปี เขาได้แต่งตั้งพวกพ้องตัวเองเพื่อให้มาเป็นข้าราชการและนักการเมืองระดับสูงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาล ทหาร ตำรวจ สื่อ หรือข้าราชการระดับสูงในสภา ทำให้เขามีอำนาจอย่างเด็ดขาดในทุกๆ ส่วน ถึงกระนั้นเขาก็ยังพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้านจนเป็นที่่นิยมของประชาชนอยู่ดี และทำให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัย ในปี 2014 ราชปักษาได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยก่อนหน้านั้นเขาได้ทำการใช้กฎหมายพิเศษแก้รัฐธรรมนูญฉุกเฉิน (ซึ่งสามารถทำออกมาได้ภายใน 7 วันเท่านั้น) ให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งกี่สมัยก็ได้ไม่จำกัด
สำนักงานของพรรคคู่แข่งถูกทำลาย
การเลือกตั้งก่อนกำหนดครั้งนี้เกิดจากการที่สมัยที่ 2 ในการเป็นประธานาธิบดีของราชปักษาไม่มั่นคง ประชาชนดูเหมือนจะเสื่อมความนิยมในตัวเขา ราชปักษาดำรงตำแหน่งเพียงแค่สี่ปีจึงประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมจากเสียงข้างมากของประชาชน โดยเขาเองเป็นคนเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดด้วยตัวเองตามอำนาจของประธานาธิบดี
ผู้ท้าชิงคนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ไมตรีพะละ ศิริเสนา เขาได้แยกตัวออกมาจากพรรคของราชปักษาและเป็นอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลราชปักษา เขาตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดี ก่อนที่จะมีการเสนอชื่อเพียง 4 สัปดาห์
ประชาชนมารอรับของแจกจากรัฐบาล
กฎหมายการเลือกตั้งที่นี่ค่อนข้างแปลก หลังจากที่มีการเสนอชื่อ (Nomination) ห้ามมีโปสเตอร์ของผู้สมัครหรือพรรคตามท้องถนนเด็ดขาด ตำรวจมีหน้าที่จะต้องเก็บโปสเตอร์ ใบปลิว คัตเอาท์ให้หมด ทว่า กฎหมายนี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับพรรคของราชปักษา ตามท้องถนนยังมีโปสเตอร์ของท่านผู้นำอยู่ทั่วทุกที่ แม้ว่าจะมีการเก็บไป แต่ก็ถูกติดใหม่ทุกวัน กลับกันกับป้ายของพรรคฝ่ายค้านที่ไม่มีให้เห็นเลยตามท้องถนน ในหลายพื้นที่มีการสั่งห้ามติดธงสีอื่นๆ นอกจากสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำพรรคของราชปักษา
พรรคของราชปักษายังใช้ช่วงเวลานี้ แจกจ่ายของให้กับประชาชนโดยอาศัยว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดูแลประชาชน ตามท้องที่ต่างๆ จึงมีการแจกของโดยอ้างว่าเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นจำนวนมาก มีการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนา และแจกโบนัสข้าราชการในช่วงนี้ โดยอาศัยอำนาจจากการเป็นรัฐบาลซึ่งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย
ป้ายคัตเอาท์หน้าสำนักงานของพรรคคู่แข่งถูกทำลายตอนกลางดึก
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นระหว่างหลายๆ พรรคที่ต่างก็มีมวลชนเป็นของตัวเอง สำนักงานพรรคท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายถูกทำลายในตอนกลางคืนเกือบทุกวัน พรรครัฐบาลดูเหมือนว่าจะพยายามอย่างมากในทุกวิถีทางที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้แต่ในช่วงสองวันก่อนการเลือกตั้งที่ห้ามการหาเสียงใดๆ ก็ยังมีรายงานการละเมิดกฎหมายนี้ ยังมีการหาเสียงในบางพื้นที่ และมีการแจกสิ่งของตามหมู่บ้านต่างๆ อยู่
วันที่ 8 มกราคมนี้จะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศศรีลังกา ติดตามกันต่อไปว่าจากการโหมแคมเปญอย่างหนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้พรรคของราชปักษาได้คะแนนเสียงจากประชาชนอีกสมัยหรือไม่ คงได้แต่รอให้ประชาชนของศรีลังกาเป็นคนตัดสิน
หมายเหตุ: รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ ได้รับเชิญจากองค์กรจับตาการเลือกตั้งของศรีลังกา ในฐานะตัวแทนผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากประเทศไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ