คสช. เตรียมฟื้นเส้นทางเดินเรือ พัทยา-ชะอำ-หัวหิน หลังเลิกเพราะไม่คุ้มทุน

8 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1886 ครั้ง


	คสช. เตรียมฟื้นเส้นทางเดินเรือ พัทยา-ชะอำ-หัวหิน หลังเลิกเพราะไม่คุ้มทุน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมฟื้นโครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. และมี กรมเจ้าท่า หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพหลัก เร่งศึษาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ขณะที่เอกชน เสนอลงทุน 4 ปี 4 พันล้านบาท หลังโครงการเดิมยกเลิก เหตุไม่คุ้มทุน และเป็นเส้นทางอันตราย (ที่มาภาพ: be2hand.com)

8 พ.ค. 2559 ในรายงานพิเศษของประชาชาติธุรกิจ เผยแผร่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมฟื้นโครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. และมี กรมเจ้าท่า หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพหลัก เร่งศึษาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ขณะที่เอกชน เสนอลงทุน 4 ปี 4 พันล้านบาท หลังโครงการเดิมยกเลิก เหตุไม่คุ้มทุน และเป็นเส้นทางอันตราย 

เร่งศึกษาให้เสร็จ 30 วัน 

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เส้นทางเดินเรือดังกล่าว มีผู้ประกอบการเดินเรืออยากจะให้ทบทวนโครงการ ซึ่งฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เห็นว่า เส้นทางนี้จะเกิดประโยชน์ในการขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยว จึงสั่งตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด มีฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.ร่วมศึกษากับกรมเจ้าท่าโดยให้กรมเจ้าท่า เร่งศึกษารายละเอียดโครงการให้เสร็จภายใน 12-13 เดือน จากกรอบเวลาปกติต้องใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือน เนื่องจากมีผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2555 สำหรับโครงการนี้ กรมเจ้าท่า ตั้งงบประมาณปี 2558-2559 จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มต้นโครงการได้หลังเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป 

ขณะที่รูปแบบของโครงการ พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า ให้กรมเจ้าท่าออกแบบให้เป็นท่าเรือมาตรฐาน รองรับรถยนต์ได้ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ พร้อมการบริการเชิงพาณิชย์ด้วย คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจออกแบบ 1 ปี โดยจะต้องเลือกท่าเรือที่เหมาะสมทั้ง 2 ฝั่ง และจะมีท่าเรือหลัก ท่าเรือสำรอง และหากเป็นไปได้จะใช้ท่าเรือของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากต้องการให้เป็นท่าเรือสำหรับสาธารณะ จะทำให้การบริการไม่แพงมาก ส่วนการให้บริการเดินเรือนั้น จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานเดินเรือ 

ประหยัดเวลาเดินทาง

พล.อ.อ.ประจิน ยอมรับว่าการลงทุนช่วงแรกจะสูง แต่ค่าใช้จ่ายด้านบริการและซ่อมบำรุงจะลดลง และในระยะยาวจะส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพราะเส้นทางเรือจะเป็นเส้นทางลัดในการเดินทางและขนส่งสินค้าใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขณะที่ทางรถยนต์จะต้องวิ่งอ้อมไปจากชลบุรี ผ่านสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง

เบื้องต้นจุดเหมาะสมสำหรับท่าเรือฝั่งตะวันตก จะอยู่บริเวณหัวหิน, ปึกเตียน, ชะอำ จ.เพชรบุรี, ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ส่วนฝั่งตะวันออก บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเทียบเรือเกาะลอย ศรีราชา คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและจัดหาผู้ให้บริการเดินเรือภายใน 3 ปี แต่หากเลือกท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้วการพัฒนาจะเหลือประมาณ 1 ปีครึ่ง 

เปิดผลศึกษาเดิมปี 55

ส่วนผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการของกรมเจ้าท่า เมื่อปี 2555 สรุปจุดที่เหมาะสมคือ แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี และหาดปึกเตียน จ.เพชรบุรี ระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะเป็นการให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่ในระยะเริ่มต้น

โดยเป็นเรือที่มีความสามารถในการเดินทะเลได้ตลอดปี และมีความปลอดภัยจากคลื่นในฤดูกาลมรสุม โดยใช้เรือบรรทุกผู้โดยสารได้คราวละ 280 คน กินน้ำลึก 3 เมตร ยาว 40 เมตร กว้าง 7 เมตร ขนาด 250 ตันกรอส และความเร็วเดินทาง 18 นอต 

รูปแบบการลงทุน ทางภาครัฐและเอกชนจะร่วมลงทุน โดยรัฐจะลงทุนสร้างท่าเรือใหม่หรือใช้ท่าเรือที่มีอยู่เดิม เช่น ท่าเรือแหลมบาลีฮาย (พัทยาใต้) ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าจอดเรือโอเชี่ยนมารีน่า ท่าเรือชลประทานซีเมนต์ (ชะอำ) ท่าจอดเรือภัทรมารีน่า (ปราณบุรี) ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน ท่าเทียบเรือปราณบุรี ส่วนท่าเรือใหม่ที่อาจพัฒนาเพิ่ม เช่น หาดปึกเตียน และบริเวณปากร่องน้ำทางเข้าท่าเรือชลประทานซีเมนต์ ด้านเอกชนจะรับสัมปทานเช่าท่าเรือและพัฒนาการเดินเรือเองทั้งหมด ภายในระยะเวลา 10 ปี 

เอกชนเสนอลงทุน 4 ปี 4 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันมี บริษัท สยามอิสเทอร์น ลอยิสติคส์ เทอร์มินอล จำกัด มาเสนอแนวคิด รูปแบบโครงการและการลงทุนแบบครบวงจร ให้กับ "กรมเจ้าท่า" พิจารณาความเป็นไปได้ จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2559-2562) ด้วยเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท โดยแยกการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ปี 2559-2560 จะเป็นการต่อเรือ สร้าง Home Port และเทอร์มินอล ปี 2560-2561 เริ่มเดินเรือในเส้นทางพัทยา-หัวหิน-ปราณบุรี และปี 2561-2562 ขยายเส้นทางเป็นบางปู-หัวหิน-ปราณบุรี และบางปู-พัทยา

ย้อนเหตุโครงการสะดุด

โครงการเดินเรือเฟอร์รี่เส้นทาง พัทยา-ชะอำ-หัวหิน เคยเปิดให้บริการมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน 

โดยสายเรือรายล่าสุดที่ให้บริการ ได้แก่ Thai Living บริการโดยเรือเฟอร์รี่แบบ High Speed Catamaran จำนวน 1 ลำ ให้บริการ 2 เที่ยว/สัปดาห์ จะออกเดินทางจากท่าเรือโอเชี่ยน มารีน่าใช้เวลาเดินเรือ 3 ชั่วโมงครึ่งถึงท่าเรือปากน้ำปราณบุรี ซึ่งบริษัทจัดรถบริการส่งผู้โดยสารถึงหัวหินและชะอำ คิดอัตราค่าบริการขาเดียว 1,500 บาท และค่าบริการขาไปและกลับ 2,900 บาท และค่าบริการคิดเหมารายครอบครัวขาเดียว 4,500 บาท และ 8,700 บาทสำหรับขาไปและกลับ 

ขณะนั้นบริษัทไม่มีการให้บริการขนส่งสินค้า เนื่องจากตัวเรือถูกออกแบบให้รองรับการขนส่งผู้โดยสาร ที่ผ่านมา ผู้มาใช้บริการเป็นชาวต่างชาติ กลุ่มยุโรป และได้หยุดให้บริการเดินเรือจากพัทยา-หัวหินตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากมีผู้โดยสารมีน้อย มีลูกค้าเพียงต่างชาติ  การเดินเรือข้ามระหว่างพัทยา-ชะอำ-หัวหิน ขาดความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากไม่มีเกาะที่สวยงาม ไม่สามารถแข่งขันกับการขนส่งทางถนนได้ และปัญหาคลื่นลมพายุทะเลฝั่งชะอำและหัวหิน จะมีคลื่นที่ใหญ่กว่าที่ฝั่งพัทยา

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: