ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างใหม่ หน่วยงาน ICT แห่งชาติ 

8 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1701 ครั้ง

เครือข่ายพลเมืองเน็ต เผยแพร่ข้อมูลผ่านหน้าเพจเฟสบุ๊ค Thai Netizen Network เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 10 ฉบับ ตั้ง 12 หน่วยงานใหม่ ปรับปรุงหน่วยงานเดิม เปลี่ยนโฉมโครงสร้างการกำหนดและกำกับนโยบายไอซีทีไทย อย่างไรก็ตามยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่และความรับผิดของหน่วยงานใหม่ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆดังนี้

 

ขอบคุณรูปภาพจาก Thai Netizen Network

 

ข้อสังเกตเบื้องต้น

1) หน่วยงานจำนวนมากที่จะจัดตั้งใหม่ ถูกกำหนดให้จัดตั้งเป็น “หน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” (เป็นที่คาดว่ารายได้ของหน่วยงานจะไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)

2) การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถูกดูแลโดยหน่วยงานเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ทำให้มีคำถามถึงการตรวจสอบคานอำนาจเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบหรือตามอำเภอใจ ว่าจะทำได้มีประสิทธิภาพเพียงใดถ้าหน่วยงานดูแลเป็นหน่วยงานเดียวกัน

3) ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการกสทช.และสำนักงานกสทช.จะมีอิสระจากรัฐบาลเพียงใดในการกำกับกิจการ เนื่องจากต้องอยู่ใต้กำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

4) การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6มกราคม 2558 ไม่ได้อยู่ในวาระปกติ

 

นโยบายดิจิทัลภาพรวม

- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ปรับปรุงโครงสร้างจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

- คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตั้งใหม่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)

- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ปรับลดอำนาจหน้าที่จากกสทช.เดิม รวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เข้าด้วยกันเหลือคณะเดียว และกำหนดให้การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาและสอดคล้องกับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ)

 

ด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

- คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่)

- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จากการรวมสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าด้วยกัน)

 

ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่)

- คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ตั้งใหม่)

- สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่เดิมอยู่กับสพธอ. และจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)

 

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

- คณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่)

- สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเพิ่มเติมงานส่วนอื่น

 หมายเหตุ: การแบ่งส่วนราชการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีส่วนราชการหนึ่งชื่อคล้ายกันคือ “สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล”)

 

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

- คณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตั้งใหม่)

- กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตั้งใหม่ โดยยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามพ.ร.บ.กสทช.เดิม โดยในโครงสร้างใหม่รายได้จากค่าใบอนุญาต-ค่าธรรมเนียม หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำส่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลร้อยละ 50 และที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: